วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์





การเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดต้องทำในตู้เพาะเลี้ยงที่สะอาดและปลอดเชื้อ

ความหมายของการแยกเชื้อเห็ด

การแยกเชื้อเห็ดคือ การนำเอาดอกเห็ดหรือสปอร์มาเพาะให้เห็ดเจริญขึ้นเป็นเส้นใยเพื่อใช้ขยายพันธุ์ไปทำหัวเชื้อต่อไป งานในขั้นนี้จะเลี้ยงเส้นใยเห็ดบนวุ้น PDA. การแยกเชื้อเห็ดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากสปอร์ วิธีนี้นิยมทำกันเฉพาะนักวิชาการที่ต้องการศึกษาสายพันธุ์เห็ด
และการผสมพันธุ์ โดยการแยกสปอร์เดี่ยวบนอาหารวุ้น โดยเฉพาะเห็ดที่มีดอกบาง เช่น เห็ดหูหนู ไม่นิยมทำกันในระดับฟาร์มหรือเกษตรกร
2. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อ ซึ่งทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อเยื่อในลำต้นเห็ดมาเลี้ยงบน อาหารวุ้น เรียกว่า วิธี “ทิชชูคัลเจอร์” ใช้กับเห็ดดอกขนาดใหญ่ และสามารถตัดเนื้อเยื่อมาเลี้ยงได้ง่ายเหมาะกับเห็ดนางรม - เห็ดนางฟ้า เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากและได้ผลตรงตามพันธุ์เดิมทุกประการ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแยกเชื้อเห็ด

1. เข็มเขี่ยเชื้อ ทำด้วยโลหะผสม ซึ่งมีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว เย็นเร็ว ด้ามทำด้วยอลูมิเนียม เวลาใช้ต้องฆ่าเชื้อเสียก่อน โดยการลนไฟที่ปลายลวดเข็มเขี่ยเชื้อจนร้อนแดง แล้วทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำไปตัดเนื้อเยื่อจากดอกเห็ด
2. ตะเกียงแอลกอฮอล์ ใช้สำหรับลนไฟฆ่าเชื้อเข็มเขี่ยและเครื่องมือในการปฏิบัติงานให้สะอาดโดยใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ เพราะร้อนเร็วไม่มีควัน
3. ตู้เขี่ยเชื้อ เป็นตู้ที่สร้างขึ้นมาสำหรับงานด้านนี้โดยเฉพาะลักษณะของตู้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบ ด้านหน้าตัดเป็นรูปคางหมูและติดกระจกให้สามารถมองเห็นสิ่งของและปฏิบัติงานภายในได้ มีช่องตรงกลางทำเป็นประตูเปิดปิดสำหรับยกขวดเชื้อเข้าออก ด้านข้างของประตูทั้งสองเจาะรูสำหรับใช้มือล้วงเข้าไปปฏิบัติงานในตู้ได้ โดยมีผ้าทำเป็นปลอกสำหรับหุ้มมือ ป้องกันลมภายนอกพัดเข้ามาภายใน
เวลาใช้ก็ยกสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าไปไว้ภายในแล้วปิดช่องเสียไม่ให้ลมพัดเข้าไป แต่ด้านบนของตู้ควรมีช่องให้อากาศหรือลมร้อนระบายออกได้เล็กน้อย ก่อนใช้งานจะต้องเช็ดตู้ฆ่าเชื้อภายในให้ทั่วด้วยแอลกอฮอล์เสียก่อน บางทีอาจใช้หลอดไฟอุลตร้าไวโอเล็ตมาติดภายในตู้เวลาไม่ได้ใช้งาน ก็เป็นการฆ่าเชื้อในตู้นี้ได้อีกมาก

การคัดเลือกดอกเห็ดขยายพันธุ์




ดอกเห็ดที่นำมาขยายพันธุ์ต้องสมบูรณ์และเป็นดอกอ่อน


การคัดเลือกดอกเห็ดสำหรับขยายพันธุ์

เราจะเลือกดอกเห็ดที่มีลักษณะสมบูรณ์ เป็นดอกที่โตแข็งแรง ดอกใหญ่ น้ำหนักดอกมาก เนื้อแน่น ก้านดอกมีลักษณะแข็งแรงหรือโคนต้นหนา อายุประมาณ 3 วัน หรือก่อนปล่อยสปอร์ 1 วัน ( สำหรับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า ) ดอกเห็ดที่จะนำมาแยกเชื้อนี้อย่าให้เปียกน้ำเป็นอันขาด ดอกเห็ดต้องสะอาดไม่ปนเปื้อนเศษวัสดุเพาะซึ่งถ้าเป็นดอกที่เพิ่งเก็บเอามาจากแปลงใหม่ ๆ ยิ่งดี สำหรับเห็ดฟางต้องเป็นดอกตูมปลอกหุ้มดอกยังไม่เปิด ดอกเห็ดมีขนาดใหญ่เนื้อแน่น น้ำหนักดีและสะอาด เห็ดหูหนูต้องมี ดอกใหญ่เนื้อหนา สดสะอาดและเก็บมาใหม่ ๆ เพื่อง่ายในการลอกเปลือกออกเอาเนื้อเยื่อภายในดอกเห็ด
มาเพาะเลี้ยง

การเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดอกเห็ด





อาหารเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดต้องสะอาดปลอดเชื้อ

อาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์

เห็ดเป็นราขนาดใหญ่ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงเองได้แบบพืชที่มีสีเขียวทั่วไป อาหารและ พลังงานได้จากการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุที่ได้จากซากพืชที่ผุเปื่อยเป็นปุ๋ยอยู่ในดิน อาหารที่เห็ดได้จากซากพืชก็คือน้ำตาลในรูปของน้ำตาลกลูโคส เซลลูโลส แป้ง ซึ่งน้ำตาลบางชนิดมีสูตรโครงสร้างที่ซับซ้อน เช่น แป้ง เชื้อเห็ดบางชนิดมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารเหล่านี้ได้อย่างดี อาหารจะถูกดูดซึมเข้าไปทางผนังเซลล์ นอกจากน้ำตาลแล้วก็มีโปรตีนและแร่ธาตุอาหารอื่นๆ อีก ในการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์นั้นจำเป็นต้องผสมวุ้นลงไปด้วยเพื่อทำหน้าที่พยุงเส้นใยให้เจริญบนผิว และให้ความชื้นในระหว่างการเจริญเติบโต
วิธีการเตรียมอาหารวุ้น PDA.

การเตรียมอาหารวุ้น PDA สูตรอาหารที่ใช้กันมากคือ อาหารวุ้น PDA (Potato Dextrose Agar PDA) ซึ่งสามารถเตรียมได้ง่ายและมีราคาถูก มีส่วนผสมดังนี้
มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 200 กรัม
น้ำตาลกลูโคสหรือเดกซ์โทรส 20 กรัม
วุ้นผง 15 – 20 กรัม
น้ำกลั่นหรือน้ำฝน 1,000 กรัม
สำหรับมันฝรั่งอาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทนได้ เช่น มันชนิดต่างๆ ที่มีในท้องถิ่น เมล็ดข้าว ผักต่างๆ ถั่วฝักยาว น้ำต้มผัก ข้อสำคัญส่วนผสมที่นำมาใช้เมื่อเวลาต้มไฟอ่อนๆ แล้วจะไม่ขุ่นหรือเปื่อยเละไปก่อน
1. มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็กขนาด 1 X 1 X 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ชั่งให้ได้น้ำหนัก 200 กรัม
2. นำมันฝรั่งไปต้มไฟอ่อน ๆ กับน้ำที่ตวงไว้ 1,000 ซีซี. ( 1 ลิตร ) เป็นเวลา 20 นาที อย่าใช้ไฟแรงจะทำให้น้ำต้มมันฝรั่งขุ่น
3. กรองเอาแต่น้ำใสมาใส่วุ้นผงที่ชั่งไว้ 15 กรัม ตั้งไฟอ่อน ๆ คอยคนอยู่เรื่อย ๆ จนวุ้นละลายใช้เวลาประมาณ 20 นาที แล้วแต่ชนิดของวุ้นที่ละลายเร็ว หรือละลายช้า ในการละลายวุ้นระวังอย่าให้ไหม้หรือวุ้นเดือดออกนอกหม้อ
4. ใส่น้ำตาลกลูโคสที่ชั่งไว้ 20 กรัม คนให้น้ำตาลละลาย ยกลงจากไฟ
5. ใช้กระบอกตวงดูถ้าปริมาณไม่ถึง 1 ลิตร ให้เติมน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นลงไปจนครบ 1 ลิตร แล้วคนให้ทั่ว อาหารที่ผสมแล้วควรจะวัดค่าความเป็นกรดด่างของอาหาร เพื่อให้อาหารวุ้นมีค่า pH ประมาณ 5 – 6 ก่อนที่จะนำไปบรรจุหลอดแก้วทดลองหรือขวดแบน
6. กรอกวุ้นที่ได้ใส่หลอดหรือใส่ขวด อย่าให้วุ้นเปื้อนปากหลอดหรือปากขวดเอาสำลีอุดจุกแล้วเอากระดาษหุ้มมัดยางให้แน่น
7. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใช้เวลา 20 นาที
8. เสร็จแล้วนำออกมาทิ้งไว้ประมาณว่าวุ้นเกือบแข็งตัว ก็นำหลอดหรือขวดมาเอียงเพื่อเพิ่มเนื้อที่ผิว
อย่าเอียงเร็วเกินไปเพาะจะทำให้มีหยดน้ำเกาะที่ผิววุ้นและข้างหลอดหรือข้างขวดมากเกินไป

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ดอกเห็ด


ส่วนประกอบของดอกเห็ด

เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกเห็ดรา Fungi มีการเจริญเติบโตแบบเส้นใย จากนั้นเส้นใยรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเป็นตุ่มดอกเห็ด แล้วเจริญเติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อเห็ดโตเต็มที่ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้

วงจรชีวิตของเห็ด

วงจรชีวิตของเห็ดมี 2 แบบ




วงจรชีวิตเห็ดแบบไม่ต้องผสม (Homothallic)
วงจรชีวิตเห็ดที่เริ่มจากสปอร์แบบนี้ แต่ละสปอร์สามารถเจริญเป็นดอกเห็ดจนครบวงจรชีวิตได้เอง เริ่มต้นด้วยแต่ละสปอร์จะงอกเป็นเส้นใยเรียกว่าเส้นใยระยะที่ 1 เส้นใย ระยะที่ 1 จะมีจำนวนนิวเคลียสเพียง 1 นิวเคลียสในแต่ละเซลล์ เมื่อเส้นใยระยะที่ 1 เจริญอยู่ระยะหนึ่งก็จะมีการพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นเส้นใยระยะที่ 2 ซึ่งมีนิวเคลียส 2 นิวเคลียสในแต่ละเซลล์ เส้นใยระยะที่ 2 นี้เองที่จะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ แล้วค่อยๆ เจริญเติบโตจนเป็นดอกเห็ดที่สามารถสร้างสปอร์ได้อีก สปอร์ของดอกเห็ดแต่ละสปอร์ก็จะสามารถเจริญเป็นดอกเห็ดต่อไปอีกหมุนเวียนเป็นวงจรดังกล่าวมาแล้ว


วงจรชีวิตเห็ดแบบต้องผสมHeterothallic
เห็ดบางชนิดสร้างสปอร์แตกต่างจากแบบแรก คือ แต่ละสปอร์ไม่สามารถเจริญเป็นดอกเห็ด คงเจริญเป็นได้เฉพาะเส้นใย ซึ่งเราเรียกว่าเส้นใยหมัน เส้นใยหมันก็คือเส้นใย ระยะที่ 1 ซึ่งไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นเส้นใยระยะที่ 2 การเกิดเส้นใยระยะที่ 2 จึงต้องอาศัยการผสมเส้นใยที่เจริญเป็นเส้นใยในระยะที่ 1 การผสมเส้นใยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเส้นใยระยะที่ 1 ที่จะมาผสมกันนั้นจะต้องเป็นเส้นใยจาก สปอร์อื่นที่จะรวมเข้ากันได้เท่านั้น (Compatible) เมื่อเส้นใยทั้งสองรวมกันแล้วก็จะมีการพัฒนาเส้นใยเป็นเส้นใยระยะที่ 2 ซึ่งจะเจริญเติบโตรวมเป็นกลุ่มก้อนดอกเห็ดต่อไป

เห็ดเกิดขึ้นได้อย่างไร



เห็ด(mushrooms)

เห็ด (Mushrooms) เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่ง ในปัจจุบัน เห็ดจัดจำแนกไว้ในอาณาจักรรา (Kingdom Fungi หรือ Eumycota) แตกต่างจากการจัดจำแนกในอดีตที่จัดเห็ดราเป็นพืชชั้นต่ำที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) เหมือนอย่างพืช จึงไม่สามารถใช้แสงแดดมาสังเคราะห์อาหารได้อย่างพืช ราได้รับอาหารจากการดูดซึมอาหารที่ย่อยสลายแล้วด้วยเอนไซม์ เห็ดเป็นราขนาดใหญ่ซึ่งมีการเจริญเติบโตเป็นเส้นใย เมื่อถึงระยะที่จะสืบพันธุ์เส้นใยจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนดอกเห็ดเพื่อสร้างสปอร์ไว้กระจายพันธุ์ต่อไป ดอกเห็ดมีรูปร่างสวยงามแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด เช่น บางชนิดมีรูปร่างเหมือนร่มกาง บางชนิดมีรูปร่างเหมือน ต้นปะการัง บางชนิดมีรูปร่างเหมือนรังนก ดอกเห็ดมีขนาดตั้งแต่เล็กเท่าหัวไม้ขีดไฟจนถึงขนาดใหญ่ สีสดสวยสะดุดตาและสีกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม บางชนิดมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน แต่บางชนิดก็มีกลิ่นเหม็นทำให้เวียนศีรษะได้ แหล่งกำเนิดของเห็ดแต่ละชนิดแตกต่างกัน บางชนิดเกิดในป่าบนภูเขา บนพื้นดินในทุ่งนา บนตอไม้ บนพื้นดินที่มีจอมปลวก บนพืชหรือบนเห็ดด้วยกัน เห็ดบางชนิดรับประทานได้ บางชนิดเป็นเห็ดมีพิษถ้าเก็บมารับประทานอาจเสียชีวิตได้ เพราะพิษของเห็ดเข้าไปในระบบเลือดซึ่งกระจายไปทั่วร่างกาย ไม่ตกค้างในกระเพาะ แต่เห็ดมีพิษบางชนิดก็อาจทำให้มึนเมาและ อาเจียรซึ่งมีวิธีแก้ไขโดยทำให้อาเจียรโดยเร็วทำให้ไม่ถึงกับเสียชีวิต
ดอกเห็ดสดมีน้ำอยู่มากถึง 90% นอกจากนี้ก็มีโปรตีน ไขมัน เกลือ และแร่ธาตุ ซึ่งมีวิตามินบี 1 และบี 2 มากกว่าวิตามินอื่นๆ ยกเว้นเห็ดที่มีสีเหลือง มีวิตามินเอมาก เห็ดทั่วๆ ไปชอบขึ้นบนอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อยผุพัง เช่น ตามพื้นดินในป่าที่มีใบไม้ผุเปื่อยตกหล่นอยู่ตามกองปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือทุ่งนาที่มีหญ้าผุเปื่อย ยกเว้นเห็ดบางชนิดที่ขึ้นเฉพาะแห่งและมีอาหารพิเศษด้วย เช่น เห็ดโคน ซึ่งขึ้นเฉพาะที่ที่มีรังปลวกอยู่ใต้ดินเท่านั้น เห็ดบางชนิดเจริญร่วมกับรากพืชแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเห็ดสามารถช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ให้แก่พืช เห็ดส่วนมากนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารที่สังเคราะห์ขึ้นได้ ยกเว้นเห็ดโคนเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเห็ดต้องมีอาหารพิเศษจากปลวก หรืออาจเป็นเพราะเรายังไม่ทราบสูตรอาหารหรือ สภาพแวดล้อมที่แท้จริงของเห็ดชนิดนี้ การศึกษาเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นเห็ดที่มีรสอร่อยมาก ปัจจุบันมี อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดอื่น ได้แก่ เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดหอม เห็ดกระดุมหรือเห็ดฝรั่งชนิดที่ ใช้ทำ เห็ดกระป๋อง ซึ่งได้ขยายกิจการกว้างขวางขึ้น เห็ดจึงมีทั้งให้ประโยชน์และให้โทษ เห็ดที่ให้ประโยชน์ได้แก่เห็ดที่นำมารับประทานได้ในรูปของอาหาร สมุนไพร และช่วยการเจริญเติบโตของพืช เห็ดที่ให้โทษ ได้แก่ เห็ดจำพวกมีพิษ ทำลายพืชอาศัยและเนื้อไม้

สภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทยเหมาะกับการเจริญเติบโตของเห็ดมาก ฉะนั้น โดยเฉพาะใน ฤดูฝนจึงมีเห็ดชุกชุมตามภาคต่าง ๆ เห็ดบางชนิดมีกลิ่นหอมรสหวานไม่แพ้เห็ดฟางหรือเห็ดโคน เช่น เห็ดหอม เห็ดจั่น จึงมีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าการเพาะเห็ดรสดีชนิดอื่นๆ กันมากขึ้น รวมทั้งการเสาะแสวงหาเห็ดที่จะนำมาใช้ทางการแพทย์
กลุ่มเส้นใย (Mycelium) ก่อนที่จะเป็นดอกเห็ด เราจะเห็นบริเวณนั้นมีเส้นใยราสีขาวก่อตัวหรือรวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่ ซึ่งเราเรียกเส้นใยรวมกันอยู่นี้ว่า Mycelium เห็ดบางชนิดจะมีเส้นใยรวมตัวกันเป็นก้อนแข็งอยู่ที่โคนก้านดอกหรือเป็นเส้นหยาบมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เห็ดบางชนิดมีเส้นใยละเอียดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นลักษณะดังกล่าว โดยปกติ เส้นใยของเห็ดจะเป็นสีขาวนวลแทรกซึมอยู่ตามที่มันอาศัย