วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

การถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง


การคัดเลือกเชื้อเห็ดขยายพันธุ์และการถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง

เชื้อเห็ดที่เลี้ยงบนอาหารวุ้นเมื่อมีการเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นก็ยังเป็นเชื้อที่อ่อนอยู่ ไม่ควรนำไปใช้ แต่ถ้าทิ้งไว้หลายวันแล้วเชื้อยังไม่ลามเต็มผิวหน้าวุ้น ซึ่งแสดงว่าเส้นใยเดินผิดปกติ เพราะอาจมีเชื้ออื่นปะปนอยู่ ก็ไม่ควรนำมาใช้เช่นกัน ระยะของเชื้อที่เหมาะจะนำมาใช้คือระหว่าง 7 – 10 วัน ไม่ควรเก็บไว้นานกว่านี้เพราะจะเหนียวแก่อ่อนตัวลง ถ้าเชื้อหมดอายุต้องเริ่มต้นเขี่ยเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดใหม่เหมือนวิธีแรก

การถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง

ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่นึ่งเรียบร้อยแล้ว จะยังเป็นเพียงเมล็ดพืชที่ต้มแล้วเท่านั้นถ้ายังไม่ใส่เชื้อเห็ดลงไป เราจึงต้องเอาเชื้อเห็ดจากขวดอาหารวุ้นที่ได้คัดเลือกและเตรียมไว้แล้ว นำมาถ่ายเชื้อหรือต่อเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างเสียก่อนจึงนำไปใช้ได้

การเขี่ยเชื้อจากอาหารวุ้นลงในขวดเชื้อ การปฏิบัติก็ทำเช่นเดียวกันกับการทำอาหารวุ้น คือต้องทำภายในตู้เขี่ยเชื้อ โดยเลือกขวดเชื้อที่เส้นใยเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นใหม่ ๆ ใช้เข็มเขี่ยลนไฟให้ร้อนแดง ตัดเอาอาหารวุ้นที่มีเส้นใยติดมาด้วยให้ชิ้นมีขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ถ้าชิ้นเล็กไปอาจจะแห้งเสียก่อนที่เชื้อจะเจริญออกมา ทำนองเดียวกันถ้าชิ้นโตเกินไปก็อาจทำให้คับปากขวด ทำให้ทำงานไม่สะดวก นำวุ้นวางลงในขวดตรงกลางเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้วิธีเอนขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างเอนกระจายลงแบนราบเล็กน้อย แล้วจึงวางวุ้นลงไปตรงกลาง พอตั้งขวดเมล็ดข้าวฟ่างก็จะกลบชิ้นวุ้นตรงกลางขวดพอดี

การวางเชื้อวุ้นในเมล็ดข้าวฟ่างลักษณะดังกล่าว เส้นใยเห็ดจะเจริญเป็นวงกลมกระจายกันได้ทั่วทั้งขวด เป็นวิธีที่นิยมมากกว่าการวางวุ้นลงด้านบนของเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งเส้นใยเห็ดจะเจริญลามมาจากด้านบนลงมาใช้สำลีอุดปากขวดเช่นเดิม แล้วใช้กระดาษปิดทับรัดด้วยยางทำเช่นนี้ทุกขวด ตามจำนวนที่ต้องการ

นำขวดเชื้อไปวางเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ เพื่อรอให้เส้นใยเจริญเต็มขวด อาจนำไปวางในห้องที่มืดก็ได้เพราะมีรายงานว่าเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เจริญเติบโตได้ดีในขณะที่ไม่มีแสง ประมาณ 8 – 12 วัน เส้นใยก็จะเจริญเต็มเมล็ดข้าวฟ่าง เชื้อที่เส้นใยเจริญเต็มขวดใหม่ ๆ อยู่ในระยะที่แข็งแรงมากเหมาะที่จะนำไปใช้งาน ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป เพราะจะทำให้ความแข็งแรงลดลงเรียกว่าเชื้อแก่ และยิ่งเก็บไว้นานนอกจากมีโอกาสที่เชื้อจะมีเชื้อปนได้ง่าย เชื้อจะเหนียวมากขึ้น การตัดหรือถ่ายเชื้อเมื่อเวลาใช้ก็ทำได้ไม่ค่อยสะดวก

หัวเชื้อชนิดนี้สามารถที่จะนำไปใช้จำหน่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการนำไปลงในก้อนเชื้อได้ทันทีหรืออาจนำมาใช้ใส่ลงในก้อนเชื้อภายในฟาร์มเองก็ได้ การเพิ่มหรือขยายหัวเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่าง ก็มีหลักการเดียวกันกับการเพิ่มจำนวนเชื้อบนอาหารวุ้น คือไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อวุ้นมาเขี่ยใส่เพื่อให้ได้จำนวนมาก ๆ เพียงแต่ใช้หัวเชื้อจากขวดที่เส้นใยเจริญเต็มที่แล้ว ถ่ายใส่ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ประมาณขวดละ 20 – 30 เมล็ด โดยใช้ช้อนที่มีปากแคบและด้ามยาว ตักหรือเทออกมาจากขวดที่มีเส้นใยเจริญเต็มแล้วลงในขวดเมล็ดข้าวฟ่าง ได้ตามจำนวนที่ต้องการ แต่ต้องทำในตู้เขี่ยเชื้อเช่นกันและที่สำคัญต้องไม่ต่อเชื้อมากรุ่นเกินไปเพราะจะทำให้เชื้ออ่อนลงได้ ถ้าหากเห็นว่าเชื้อเริ่มอ่อนลงแล้ว ก็ควรเอาเชื้อจากอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ใหม่ ทำเช่นนี้เราก็จะได้หัวเชื้อที่อยู่ในสภาพแข็งแรง

การเลี้ยงเชื้อเห็ดกับเมล็ดข้าวฟ่าง



การเลี้ยงเชื้อเห็ดกับเมล็ดข้าวฟ่าง

หัวเชื้อเห็ดเป็นสิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดทุกชนิด ธุรกิจเชื้อเห็ดนอกจากจะมีการทำก้อนเชื้อเห็ดขาย

การเพาะให้เกิดดอก อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการผลิตหัวเชื้อเห็ดขาย เมื่อมีการผลิตก้อนเชื้อมากเท่าใดจำนวนหัวเชื้อเห็ดก็ต้องมีการผลิตมากขึ้นตามไปด้วย

การทำหัวเชื้อเห็ดมีขั้นตอนที่ง่ายขึ้นกว่าการเพาะเนื้อเยื่อ โอกาสที่เชื้อจะเสียมีน้อยลงเพราะเส้นใยเห็ดเริ่มอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับวัสดุหมักในธรรมชาติมากขึ้น วัสดุที่จะนำมาใช้ทำหัวเชื้อเห็ดส่วนใหญ่คือเมล็ดพืช ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่าย เช่น เมล็ดข้าวฟ่าง เมล็ดข้าวโพด เมล็ดข้าวเปลือก แต่ที่นิยมและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือเมล็ดข้าวฟ่างเท่านั้น

ขั้นตอนการปฏิบัติการผลิตหัวเชื้อเห็ด

นำเมล็ดข้าวฟ่างมาต้มจนสุกนิ่มพอดีอย่าให้ถึงกับเละ เพราะถ้าเละมากเมื่อกรอกใส่ขวดมักจะเกิดการแฉะก้นขวด และมีโอกาสที่เชื้อราต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อต้มจนสุกพอดีและได้จำนวนตามที่ต้องการแล้ว

จึงนำไปใส่ตระแกรงกรองเอาน้ำออกให้หมด ถ้าหากเมล็ดข้าวฟ่างแฉะมากควรเกลี่ยกระจายผึ่งแดดพอแห้ง ก่อนนำมากรอกใส่ขวด หากนำเอาขี้เลื่อยที่แห้งสนิทและร่อนแล้วจำนวนเล็กน้อยค่อย ๆ ผสมลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วร่อนเอาขี้เลื่อยออกครั้งหนึ่งก่อนกรอกลงขวด ก็จะทำให้เมล็ดข้าวฟ่างกรอกลงขวดได้ง่ายขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหาเมล็ดข้าวฟ่างแฉะได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามหากมีความชำนาญในการต้มเมล็ดข้าวฟ่างแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ขี้เลื่อยผสมเลยก็ได้ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหัวเชื้อเห็ดไม่นิยมผสมขี้เลื่อยมักใช้เมล็ดข้าวฟ่างล้วน ๆ

การกรอกเมล็ดข้าวฟ่าง จะกรอกลงไปเพียงครึ่งขวดหรือประมาณ 2 ใน 3 ของขวด เพื่อช่วยให้เส้นใยเจริญได้รวดเร็ว การกรอกเมล็ดข้าวฟ่างใส่ขวดควรใช้กรวยสวมปากขวดจะช่วยให้กรอกได้ง่ายขึ้นและเพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวฟ่างเปื้อนปากขวด ถ้าหากเปื้อนปากขวดก็ควรเช็ดปากขวดให้สะอาดและแห้ง

ใช้สำลีอุดปากขวดให้แน่นพอดี ไม่ให้หลวมหรือคับเกินไปใช้กระดาษหุ้มทับสำลีอีกชั้นหนึ่งแล้วรัดด้วยยางเพื่อป้องกันสำลีเปียกเวลานึ่ง นำขวดเชื้อไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันให้มีความดัน 15 ปอนด์ต่อ ตารางนิ้ว นาน 30 นาที นึ่งเสร็จแล้วจึงนำออกมาปล่อยให้เย็นสนิท เพื่อรอการนำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ที่เลี้ยงในอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ต่อไป

การผลิตหัวเชื้อเห็ด


เตรียมเมล็ดข้าวฟ่าง บรรจุขวดและฆ่าเชื้อ 121 องศาเซลเซียส เวลา 30 นาที
คัดเลือกเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ

ถ่ายเชื้อเห็ดในสภาพปลอดเชื้อ


การเจริญของเชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่าง


การผลิตหัวเชื้อเห็ด

การทำหัวเชื้อก็เพื่อขยายเชื้อบริสุทธิ์ จากที่เพาะเลี้ยงบนวุ้นให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอและมีสัดส่วนกับวัสดุที่จะใช้เพาะให้เป็นดอกเห็ด วัสดุที่ใช้ทำหัวเชื้อได้แก่กากพืชที่มีจำนวนมากหรือเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว กากถั่ว ขี้เลื่อย เปลือกบัว ซังข้าวโพด ไส้นุ่น ขุยมะพร้าว ผักตบชวาแห้ง เป็นต้น หรือจะใช้เมล็ดธัญพืช เช่น เมล็ดข้าวสาลี เมล็ดข้าวเจ้า เมล็ดข้าวเหนียว วัสดุที่นำมาใช้บางชนิด ต้องเติมอาหารเสริมเพื่อให้มีอาหารที่ช่วยให้เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเร็ว เช่น รำข้าว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ปุ๋ยเคมี วัสดุบางชนิดจำเป็นจะต้องทำการหมักให้เปื่อยเสียก่อน เช่น หัวเชื้อเห็ดฟางส่วนมากนิยมทำจากปุ๋ยหมักโดยใช้เปลือกบัวผสมกับขี้ม้า หมักเปลือกบัวจนเปื่อย การหมักจะต้องหมั่นทำการกลับปุ๋ยบ่อย ๆ เพื่อให้ปุ๋ยเปื่อยเร็วในระหว่างการหมักก็ให้ใส่อาหารเสริมลงไปด้วย เช่น ไส้นุ่น การหมักจะใช้เวลา 3 – 4 อาทิตย์ แล้วบรรจุถุงพลาสติกเพื่อนำไปนึ่งฆ่าเชื้อก่อนที่จะใส่เชื้อบริสุทธิ์ การบรรจุถุงพลาสติกจะต้องอัดให้แน่นพอสมควรและทำช่องว่างตรงกลางโดยเจาะเป็นรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 2 เซนติเมตร ลึกลงไปประมาณ 1/5 ของถุง เพื่อเตรียมหยอดเชื้อบริสุทธิ์ที่จะขยายต่อไป

ถ้าเป็นเมล็ดธัญพืชอาจจะแช่น้ำให้เปลือกนิ่ม หรืออาจจะต้องต้มให้สุกพอนิ่มสำหรับเมล็ดพืชที่มีเปลือกและเนื้อแข็ง เช่น เมล็ดข้าวฟ่าง แล้วจึงบรรจุใส่ขวดนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่ง ฆ่าเชื้อแบบเดียวกับการนึ่งฆ่าเชื้อในการเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ แต่งต้องใช้เวลานานกว่าการนึ่งอาหารวุ้น ( ใช้เวลาประมาณ 30 นาที )

ถ้าเพาะเห็ดหูหนูหรือเห็ดหอม สูตรอาหารก็เปลี่ยนแปลงไปเช่น ใช้ขี้เลื่อยผสมรำ การเปลี่ยนมาใช้ขี้เลื่อยก็เพราะเห็ดหูหนูชอบขึ้นบนไม้ผุจำพวกไม้เนื้ออ่อน ควรจะใช้ขี้เลื่อยชนิดเดียวกับไม้ที่เพาะ แต่ส่วนมากเลือกไม่ได้เพราะเรานำขี้เลื่อยที่เหลือใช้จากการเลื่อยไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งมีปัญหาเห็ดขึ้นได้ไม่ดี เพราะอาจจะเจอขี้เลื่อยไม้เนื้อแข็งหรือขี้เลื่อยของไม้ที่มียางบางชนิด ปัจจุบันมีการใช้จุกไม้แทนขี้เลื่อย เมื่อเชื้อเห็ดเดินเต็มจุกไม้ก็ไปตอกในท่อนไม้ที่เจาะรูไว้

ปัจจุบันการทำหัวเชื้อนิยมใช้หม้อนึ่งแบบลูกทุ่งและบรรจุปุ๋ยหมักในถุงพลาสติก การใช้ความดัน ไอน้ำต่ำกว่า ดังนั้นการใช้หม้อนึ่งชนิดนี้จึงต้องใช้เวลานึ่งนาน ส่วนมากหม้อนึ่งลูกทุ่งนิยมทำด้วยถัง 200 ลิตร

และใช้กาซต้มหรือถ่าน ใช้เวลา 3 – 4 ชั่วโมง ถ้าหม้อนึ่งมีขนาดใหญ่กว่านี้ ก็ต้องเพิ่มเวลาการนึ่ง เป็น 6 – 8 .. เมื่อวัสดุในขวดหรือในถุงพลาสติกผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ต้องทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงใส่ เชื้อบริสุทธิ์ลงไปโดยตัดเชื้อบริสุทธิ์ขนาด 0.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใส่เชื้อเห็ดลงไปอยู่ตรงกลางขวดหรือถุงการใส่ต้องทำอย่างระมัดระวังในห้องสะอาด นำไปเก็บในห้องบ่มเชื้อ 10 – 15 วัน เชื้อจะเดินเต็มขวดหรือถุงพร้อมที่จะนำไปเพาะให้เป็นดอกเห็ด หัวเชื้อเห็ดไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 2 เดือน เพราะเชื้อจะแก่เกินไปควรใช้ภายใน 1 อาทิตย์ หลังจากเชื้อเดินเต็มวัสดุ การทำหัวเชื้อจากเมล็ดธัญพืชเชื้ออาจเดินช้ากว่าปุ๋ยหมักควรเขย่าขวดหลังจากใส่เชื้อบริสุทธิ์แล้ว 4 – 5 วัน


วิธีการรักษาความสะอาดในการผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์

วิธีการรักษาความสะอาดในการผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์

สิ่งที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ด คือ ต้องรักษาความสะอาดตั้งแต่เริ่มต้นถ้าขั้นตอนการผลิตไม่สะอาดจะทำให้เชื้อเห็ดไม่บริสุทธิ์ เมื่อนำไปเพาะให้ออกดอกจึงทำให้ไม่ได้ผลผลิต ตามเป้าหมาย เหตุที่เห็ดไม่ออกดอกเพาะมีเชื้อชนิดอื่นปะปนมา ในการผลิตเห็ดให้ได้มาตรฐานจำเป็นต้องรักษาความสะอาดทั้งในระยะการเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ การเพาะหัวเชื้อ การเพาะในวัสดุหรือแปลง ซึ่งแยกเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

การรักษาความสะอาดในการผลิตเชื้อบริสุทธิ์ ในการผลิตเชื้อบริสุทธิ์จะต้องใช้ห้องเพาะเชื้อที่สะอาด ไม่มีฝุ่นละออง ควรมีตู้กระจกสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อโดยเฉพาะ ซึ่งมีช่องให้มือเข้าไปทำงานได้สะดวก และมีฝาเปิดเพื่อนำเอาเครื่องมือเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์เข้าไปไว้ภายในตู้ก่อนทำการเพาะเลี้ยงเชื้อ เมื่อจะทำการเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์จะต้องเช็ดภายในตู้ให้สะอาด ล้างมือและเช็ดมือให้สะอาดก่อนลงมือทำงาน เครื่องมือทุกชนิดจะต้องสะอาด และทุกครั้งที่มีการใช้เข็มเขี่ยเชื้อ มีด ปากคีบ จะทำการฆ่าเชื้อโดยการจุ่มในแอลกอฮอล์แล้วลนไฟฆ่าเชื้อบริเวณที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ด

เครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น จานแก้ว หลอดแก้ว จะต้องอบฆ่าเชื้อในตู้อบความร้อนแบบอบแห้ง

( hot air oven ) โดยใชความร้อนสูง 120 – 140 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 3 – 4 ชั่วโมง แต่ที่ใช้ทั่วไปคือ 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง หรือจะนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันไอน้ำแบบนึ่งอาหารวุ้น ก็ได้ก่อนนึ่งควรห่อเครื่องมือด้วยกระดาษเสียก่อน

อาหารผสมวุ้นที่ได้เพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ลงไปแล้ว จะต้องนำไปเก็บรักษารอให้เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นเส้นใย ซึ่งจะต้องกินเวลาประมาณ 5 – 7 วัน ก่อนที่จะนำไปใช้ต่อไปซึ่งระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจำเป็นจะต้องหาที่เก็บที่สะอาด เช่นบนชั้นวางของ หรือในตู้เก็บที่มีการป้องกันศัตรูหลายชนิด เช่น มด ไรเห็ด มิให้เข้าไปในอาหาร เพราะศัตรูดังกล่าวนอกจากจะทำลายเส้นใยเห็ดแล้ว ยังนำเอาเชื้อชนิดอื่นปะปนเข้าไปด้วย ทำให้เชื้อเห็ดไม่บริสุทธิ์

ในการเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์โดยการนำเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดวางในจานหรือในขวดอาหารเลี้ยงเชื้อที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว การรักษาความสะอาดเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังให้มาก ในระหว่างการถ่ายเชื้อและเก็บเชื้อบริสุทธิ์ ทุกครั้งที่มีการเขี่ยย้ายเส้นใยเห็ด เข็มเขี่ยจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโดยการจุ่มในแอลกอฮอล์และลนไฟ ข้อสำคัญต้องรอให้เครื่องมือเย็นลงเล็กน้อยจึงจะเขี่ยเชื้อ มิฉะนั้นเส้นใยเห็ดจะถูกความร้อนทำลายได้

ในการเปิดจุกสำลีขวดเพาะเลี้ยงเชื้อ ก็ต้องลนไฟฆ่าเชื้อที่ปากขวดเสียก่อน การเปิดจานแก้วที่มีอาหารเพาะเลี้ยงเชื้ออย่าเปิดกว้างมาก เพราะจะทำให้เชื้อชนิดอื่นในอากาศปะปนเข้าไปได้ง่าย ควรแง้มฝาบนแต่เพียงเล็กน้อยเมื่อจะปิดฝาก็ควรทำด้วยความระมัดระวังและเบามือ ถ้าห้องเก็บเชื้อมีเชื้อชนิดอื่น ๆ และศัตรูมาก ก็ควรทำการอบฆ่าศัตรูต่าง ๆ เสีย โดยใช้ความร้อนจากท่อไอน้ำร้อน หรือแสงอัลตราไวโอเลตหรือสารเคมี

การขยายเชื้อบนอาหารวุ้น

การขยายเชื้อบนอาหารวุ้น

เชื้อเห็ดบนอาหารวุ้นนี้เราจะใช้สำหรับเป็นสต็อคเก็บเชื้อ หรือเพื่อเป็นการขยายพันธุ์เห็ดซึ่งในทางปฏิบัติจะทำกันนาน ๆ ครั้ง และสามารถขยายหรือเพิ่มจำนวนได้การเพิ่มจำนวนเชื้อวุ้นนี้อาจไม่จำเป็นต้องทำไว้มาก ๆ อาจทำไว้พอเพียงแก่การใช้ในครั้งหนึ่ง ๆ และเผื่อเสียเล็กน้อย

ถ้าต้องการเพิ่มจำนวนให้มาก ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นแยกเอามาจากดอกเห็ดอีก แต่จะใช้วิธีตัดเอาเส้นใยในอาหารวุ้นที่เจริญเต็มขวดแล้วประมาณ 1 ตารางเซนติเมตร ใส่ลงบนผิวหน้าขวดวุ้นเปล่า ๆ โดยใช้วิธีการเดียวกับการแยกเนื้อเยื่อ เส้นใยก็จะไปเจริญในขวดเชื้อวุ้นขวดใหม่ต่อไป แต่ข้อควรระวังในการ ถ่ายเชื้อหรือต่อเชื้อเห็ดก็คือ เราไม่ควรต่อเชื้อเกิน 5 – 6 ครั้ง เพราะจะทำให้เชื้ออ่อนลง ดังนั้นการ ถ่ายเชื้อเห็ด เมื่อเห็นว่าได้ทำการต่อเชื้อไปหลายครั้งแล้ว ควรจะต้องใช้เนื้อเยื่อจากดอกเห็ดโดยตรงมาเขี่ยใส่อาหารวุ้นอีกครั้ง มิฉะนั้นแล้วเชื้อจะอ่อนลง จนทำให้ผลผลิตลดลงได้

การนำไปใช้งานตามปกติเราจะไม่ใช้เชื้อวุ้นไปถ่ายลงในก้อนเชื้อในถุงพลาสติกโดยตรงทีเดียว เพราะเป็นวิธีที่สิ้นเปลืองและยุ่งยากมาก มีค่าใช้จ่ายสูงและโอกาสที่เชื้อจะเสียมีมากเพราะเชื้อชนิดนี้มีอาหารที่สมบูรณ์จากแผ่นวุ้น ซึ่งโอกาสที่เชื้ออื่นจะเข้ามาปะปนในขณะที่ถ่ายลงก้อนเชื้อได้ง่าย แต่เราจะนำเอาเชื้อวุ้นไปถ่ายลงในขวดหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างเสียก่อน เพื่อเพิ่มจำนวนเส้นใยเห็ดได้มากไปอีกหลายเท่าตัวก่อนที่จะนำเอาหัวเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่างจำหน่ายหรือไปใช้ในการทำก้อนเชื้อเห็ด

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

วิธีการเขี่ยเนื้อเยื่อเห็ด

วิธีการเขี่ยเนื้อเยื่อ

ก่อนทำการแยกเนื้อเยื่อ ควรล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้ง ซึ่งขณะนั้นภายในตู้เขี่ยเชื้อเราได้เตรียมสิ่งของต่าง ๆ ที่จะใช้ไว้เรียบร้อยแล้ว คือดอกเห็ดที่จะใช้แยกเนื้อเยื่อ ขวดอาหารวุ้น PDA. เข็มเขี่ยเชื้อ และตะเกียงแอลกอฮอล์

ในขั้นแรกให้เอาเข็มเขี่ยจุ่มแอลกอฮอล์ แล้วลนไฟจนปลายเข็มเขี่ยร้อนแดง ทิ้งไว้ให้ลวดเย็นในอากาศประมาณ 10 วินาที ขณะที่รอให้เข็มเย็นนั้น ก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งและนิ้วส่วนที่เหลือจากจับเข็มเขี่ยจับดอกเห็ดขึ้นมาฉีก จากขอบดอกลงมาตามแนวยาวให้ดอกเห็ดแยกออกเป็น 2 ซีก โดยต้องระมัดระวังไม่ให้ส่วนของมือหรือสิ่งใด ๆ ไปแตะต้องสัมผัสก้านดอกหรือส่วนกลางของดอก บริเวณเนื้อเยื่อที่เพิ่งฉีกออกมา ใช้เข็มเขี่ยตัดเนื้อเยื่อดอกเห็ดออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตรงส่วนที่อยู่ระหว่างบริเวณก้านดอกกับหมวกดอก ซึ่งเป็นส่วนที่เนื้อเยื่อสมบูรณ์ที่สุด เนื้อเยื่อดอกเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า ค่อนข้างเหนียวกว่าดอกเห็ดชนิดอื่น ๆ ต้องใช้เข็มเขี่ยที่แข็งและคม และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เมื่อได้เนื้อเยื่อมาแล้ว ก็ให้วางดอกเห็ดที่มือข้างที่จับลงเปลี่ยนมาจับเอาขวดวุ้น PDA. นี้จะต้องเลือกและเตรียมไว้จากขวดที่ไม่มีเชื้ออื่นปะปน อาหารควรเตรียมเอาไว้ไม่นานวุ้นยังไม่ยุบตัวหรือเหี่ยวลงไป และไม่มีฝุ่นละอองจับ ใช้มือจับขวดวุ้น PDA. ให้ก้นขวดอยู่ในอุ้งมือ เคลื่อนขวดวุ้นเข้าไปหามือที่จับเข็มเขี่ย และอย่าพยายามที่จะเคลื่อนมือที่จับเข็มเขี่ยอยู่ จากนั้นจึงใช้นิ้วก้อยกับฝ่ามือที่จับเข็มเขี่ย จับเอาจุกสำลีที่ปากขวดดึงออกเบา ๆ นำปากขวดลนไฟกับตะเกียงแอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อที่อาจติดอยู่ในบริเวณนั้นกับเพื่อเผาสำลีที่ติดอยู่ แล้วจึงนำเอาเชื้อเห็ดสอดเข้าไปในขวด วางลงบนผิวกลางอาหารวุ้น ลนไฟที่คอปากขวดอีกครั้งหนึ่ง แล้วปิดจุกสำลีไว้เช่นเดิม ทำเช่นนี้ทุกขวดตามต้องการ นำขวดเชื้อนี้ไปวางเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติเพื่อรอให้เส้นใยเจริญเต็มอาหารวุ้น หรือประมาณ 7 – 10 วัน เส้นใยเห็ดนางรมก็จะเจริญเต็ม ผิวหน้าวุ้น ในกรณีที่จำเป็นต้องเก็บไว้นานหลายวันควรหากระดาษปิดทับสำลีที่อุดปากขวดอยู่แล้วใช้ยางรัด จะทำให้วุ้นแห้งช้าลง เราสามารถนำเนื้อเยื่อของสายพันธุ์ดอกเห็ดบริสุทธิ์ ที่ตรงตามสายพันธุ์เดิมไปใช้ขยายพันธุ์ หรือไปต่อลงในหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างได้ต่อไป

ชนิดของเชื้อจุลินทรีย์และการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์

ชนิดของเชื้อจุลินทรีย์และการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์

การเพาะเห็ดทุกชนิดและทุกขั้นตอน จะต้องทำโดยปราศจากเชื้อศัตรูเห็ดทุกชนิด เพราะถ้ามีเชื้ออื่นเข้ามามันก็จะขึ้นแข่งขันแย่งอาหารหรือสร้างสารที่จะเป็นอันตรายต่อเห็ดได้ ดังนั้นต้องระมัดระวังเรื่องการรักษาความสะอาดให้ดี มิฉะนั้นแล้วการเพาะเห็ดอาจล้มเหลวได้ดังนั้นผู้เพาะเห็ดจำเป็นต้องทราบถึงเทคนิคและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเห็ดทุก ๆ ขั้นตอน

เชื้อและการกำจัดเชื้อ

ในการเพาะเห็ดมีเชื้ออยู่ 2 พวกใหญ่ที่พบและเกี่ยวข้องกับการเพาะเห็ดมากที่สุดคือ เชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรามีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งในอากาศ โดยปลิวไปตามลมฝุ่นละออง เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ

ในรูปของสปอร์ ซึ่งอาหารของเห็ดทุกชนิด มีสภาพความเหมาะสมที่จะเกิดเชื้อราได้ง่ายอยู่แล้ว ราเจริญโดยต่อกันเป็นเส้นใยแบบเห็ด จึงเจริญได้บนอาหารที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ และไม่เปียกมากในลักษณะเดียวกับการเจริญของเห็ด และยังทนความแห้งแล้งและทนแสงได้ แต่เราสามารถกำจัดเชื้อราได้โดยความร้อนให้หมดสิ้นได้ในน้ำเดือดธรรมดาที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส

การเพาะเห็ดมีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อราและต้องกำจัดคือ การฆ่าเชื้อในปุ๋ยหมัก ซึ่งอยู่ในขั้นตอน ที่ 3 ของการเพาะเห็ด เราไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อให้หมดจดเสียทีเดียว อาจฆ่าเฉพาะที่จะเป็นผลเสียกับเห็ดในขั้นตอนนี้เท่านั้น การฆ่าเชื้อแบบนี้เรียกว่า การ พาสเจอร์ไรส์ ส่วนแบคทีเรียนั้นมักแพร่กระจายในน้ำและฝุ่นละอองเป็นส่วนใหญ่ แบคทีเรียเจริญได้ในอาหารที่เปียกหรือมีน้ำมาก ถ้าอาหารแห้งหรือหมาดก็ไม่สามารถเจริญได้แบบเห็ดและรา สปอร์ของแบคทีเรียสามารถทนความร้อนได้มากกว่าเชื้อรา ดังนั้นการกำจัดด้วยความร้อนก็ต้องใช้ความร้อนที่มีขนาดและเวลาแตกต่างกันออกไป

การกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ทนร้อนเป็นพิเศษ จะต้องใช้ความร้อน 121 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที

ขึ้นไปจึงกำจัดได้ในการเพาะเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า มีขั้นตอนฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพื่อให้เชื้อนี้หมดคือการฆ่าเชื้อบนอาหารวุ้นสำหรับเลี้ยงเชื้อเห็ดและใช้ในการฆ่าเชื้อหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 1 และ 2 ของงานเพาะเห็ด อันเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียทุกชนิดให้ตายไปโดยสิ้นเชิง เราเรียกว่าการ สเตอริไรส์

นอกจากนี้แล้วเรายังมีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์และเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นภาชนะในการปฏิบัติงาน เช่น ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ มีด มือของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากเราจะใช้ไฟจากตะเกียงแอลกอฮอล์เป็นตัวฆ่าแล้ว ยังนำแอลกอฮอล์มาเช็ดอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย

การฆ่าเชื้อด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ใช้ฆ่าเชื้อในตู้เขี่ยเชื้อ หรือตามผิวสิ่งต่าง ๆ ที่การทะลวงของแสงมีน้อย แต่ในทางปฏิบัติจริงยังมีน้อยจึงไม่เป็นที่นิยมกระทำในระดับฟาร์มทั่ว ๆ ไป

การพาสเจอร์ไรส์

ในการเพาะเห็ดเราจะพาสเจอร์ไรส์อาหาร ปุ๋ยหมักหรือก้อนเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อและเห็ดอื่น ๆ ที่จะเป็นศัตรูต่อเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า ซึ่งรวมทั้งแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ในถุงปุ๋ยด้วยโดยการใช้หม้อนึ่ง ซึ่งอาจเป็นหม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง หม้อนึ่งแบบดัดแปลง หรือหม้อนึ่งความดันแบบต่าง ๆ โดยการต้มน้ำให้เดือดขึ้นเป็นไอไปฆ่าเชื้อก้อนเชื้อที่วางไว้ด้านบน การฆ่าเชื้อจะใช้ความร้อน 80 – 100 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลา อย่างต่ำ 2 ชั่วโมง

การสเตอริไรส์

การฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้ เป็นการฆ่าเชื้อศัตรูเห็ดให้ตายหมดอย่างสิ้นเชิง ปกติจะใช้หม้อนึ่งความดัน ไอน้ำเท่านั้น ไม่สามารถใช้หม้อนึ่งลูกทุ่งได้ โดยนึ่งที่ความดันไอน้ำให้มีความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นาน 15 นาที ขึ้นไปแต่ถ้าจำนวนเชื้อมีมากก็ต้องนึ่งให้นานกว่านี้ เช่น ถ้านึ่งขวดอาหารวุ้นจะใช้เวลานึ่งที่ความดันขนาดนี้นาน 15 นาที ถ้านึ่งหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างต้องใช้เวลา 25 – 30 นาที เป็นต้น


การฆ่าเชื้ออาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด

วิธีการฆ่าเชื้ออาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด

การฆ่าเชื้อ เมื่อบรรจุอาหารผสมวุ้นลงในหลอดแก้วหรือขวดแบนแล้ว เอาเข้าหม้อนึ่งความดันปิดฝาแล้วต้มให้น้ำเดือดเพื่อไล่อากาศภายในหม้อนึ่งความดันออกให้หมดก่อนที่จะเพิ่มความดันข้อควรระวังในขั้นตอนนี้ก็คือต้องปิดฝาหม้อนึ่งความดันให้สนิทแน่น มิให้มีไอน้ำรั่วไหลออกมาได้ และใส่น้ำเท่าที่ต้องการ เมื่อน้ำเดือดไล่อากาศออก ให้ใช้ไฟแรงปานกลาง รอให้ไอน้ำไล่อากาศออกหมดแล้วโดยสังเกตได้จากไอน้ำที่ออกมาทางรูปล่อยไอน้ำบนฝาจะคงที่สม่ำเสมอ ปล่อยไว้เช่นนี้ประมาณ 5 นาที แล้วปิดรูที่ไล่อากาศเพื่อให้ภายในหม้อนึ่งมีความดันไอสูงจนถึง 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว โดยตรวจดูที่สเกล เมื่อครบ 15 ปอนด์ แล้วให้เริ่มจับเวลานึ่งไปจนครบเวลา 20 นาที ข้อควรระวังในขั้นตอนนี้ก็คือต้องระวังให้ ความดันไอคงที่อยู่ที่ 15 ปอนด์ ตลอดเวลา 20 นาที โดยปรับไฟให้มีความร้อนปานกลางและคงที่ เพื่อให้ความดันคงที่อย่าใช้ ไฟแรง เพราะจะทำให้ความดันไอสูงเกินต้องการ ซึ่งทำให้ต้องมีการปรับความดัน บ่อย ๆ จะทำให้เชื้อชนิดอื่น ๆ ที่อาจติดไปในอาหารวุ้นไม่ตายและจะขึ้นบนอาหารทำให้อาหารเสียก่อนที่จะใช้เพาะเลี้ยงเชื้อเห็ด

เมื่อใช้ความดันไอครบ 20 นาที แล้วปิดไฟทิ้งไว้ให้ความดันลดลงจนถึง 10 ปอนด์แล้วจึงเปิดรูไล่อากาศให้ความดันลดลงอีกจนเกือบเป็น 0 แล้วจึงเปิดออก อย่าลดความดันโดยการเปิดรูไล่อากาศออกในทันที เพราะจะทำให้อาหารเสียและวุ้นเดือดขึ้นมาเปียกจุกสำลี ต้องให้ความดันค่อย ๆ ลดลงเอง เปิดฝาออกแล้วเอาอาหารวุ้นออกมาวางบนพื้นที่ลาดเอียง เพื่อทำให้มีผิววุ้นมาก เมื่อวุ้นแข็งตัวเหมาะสำหรับการขยายเส้นใยเห็ดแล้วจึงนำไปใช้สำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดต่อไป