วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

โรคและแมลงศัตรูเห็ดที่เพาะในถุงพลาสติก




ราดำทำลายก้อนเชื้อเห็ด


โรคและแมลงศัตรูเห็ดที่เพาะในถุงพลาสติก
การเพาะเห็ดในถุงพลาสติกย่อมมีโรคแมลงศัตรูเห็ดระบาดไม่มากก็น้อย รวมทั้งเชื้อราปนเปื้อน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากถุงเห็ดชำรุดมาก่อนปัญหาที่พบเสมอได้แก่
1. เชื้อราปนเปื้อนที่พบได้แก่ ราเขียว Trichoderma sp. ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบรวดเร็ว ทำให้เชื้อเห็ดชะงักการเจริญเติบโต ราดำ Aspergillus niger เกิดในถุงที่มีอาหารเสริมสูง ราสีส้ม Neurospora และราเมือกสีเหลือง
Physarum polycepharum พบตามถุงเห็ดที่วัสดุเพาะเน่าและภายในโรงเห็ดมีความชื้นสูง โรงเพาะเห็ดไม่มีอากาศถ่ายเทพอ ถ้ามีราปนเปื้อนมากควรงดใส่น้ำตาลและแป้ง
2. หนอนแมลงหวี่เซียริดหรือแมลงหวี่เห็ดปีกดำ พวกนี้มีลำตัวสีขาวใสหรือสีเขียวอ่อน หัวมีสีดำยาวประมาณ 5 – 7 ซ.ม. เคลื่อนไหวเร็วและกินจุมาก ตัวอ่อนจะกัดกินเส้นใยเห็ด
3. ศัตรูอื่นๆ มีระบาดบ้างแต่ละท้องถิ่น เช่นเห็ดหมื่นปีหรือเห็ดหลินจือมีเพลี้ยไฟชนิดหนึ่งระบาด ทำให้ดอกเหี่ยวและสีคล้ำและมีด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่งเจาะดอกเห็ด

ศัตรูเห็ดนางรม - นางฟ้า
เห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้า มีคุณสมบัติทางกลิ่นที่ดึงดูดโรคและแมลงศัตรูเห็ดได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมีศัตรูเห็ดรบกวนหลายชนิด เช่น
1. หนูและแมลงสาบ เริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ระยะเชื้อและดอกเห็ดการกำจัดควรใช้ยาเบื่อหรือกาวดัก
2. ไร ตัวไรจะดูดกินน้ำเลี้ยงระยะก้อนเชื้อและดอกเห็ด ทำให้ผลผลิตลดลง พบว่าการระบาดของไรมีมากเมื่อความ ชื้นต่ำ จึงควรให้ความชื้นอย่างสม่ำเสมอ การไม่ปล่อยให้เกิดการหมักหมมของก้อนเชื้อบริเวณโรงเพาะ ก็เป็นการลดจำนวนไรได้ทางหนึ่ง การปราบไรควรเน้นเรื่องความสะอาดและการป้องกันมากกว่าการใช้สารเคมีเพราะจะเป็นอันตรายมาถึงคนกินเห็ดได้
3. แมลงหวี่ เกิดกับดอกเห็ดที่อายุมากแมลงหวี่จะเข้ามาตอมและวางไข่เป็นหนอนแล้วแพร่พันธุ์ ควรนำก้อนเชื้อชนิดนี้ออกจากโรงเพาะ
4. โรคจุดเหลือง พบในเห็ดที่มีอายุมากที่ตกค้างในการเก็บหรือเป็นเพราะน้ำที่ใช้รดสกปรก โดยเฉพาะเมื่ออากาศร้อนจัด
5. ราเมือก มีลักษณะเป็นสายสีเหลือง มีกลิ่นคาวจัด สามารถระบาดโดยสปอร์ได้ ควรป้องกันโดยการเอาก้อนเชื้อที่หมดอายุและเศษวัสดุในเรือนเพาะออกอย่าให้เกิดการหมักหมม

ปัญหาที่พบเสมอในการเพาะเห็ดนางรม - เห็ดนางฟ้า
ในการเพาะเห็ดนางรม – เห็ดนางฟ้า ก็มีปัญหาเช่นเดียวกับการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ ซึ่งพอจะจำแนกได้ดังนี้
1. เส้นใยไม่เจริญลงในถุงขี้เลื่อย หลังจากที่ได้ใส่เชื้อเห็ดลงไปสาเหตุเกิดจาก
- หัวเชื้อเห็ดไม่มีคุณภาพหรือหมดอายุ
- ปุ๋ยหมักมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเห็ด ตลอดจนมีความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป
- ปุ๋ยหมักแฉะเกินไปและเกิดจุลินทรีย์อื่นๆ ขึ้นปะปน
2. เส้นใยเดินบางมาก ในบางครั้งหลังจากบ่มเชื้อแล้วเส้นใยเจริญทั่วก้อนแต่เดินบางมาก ทำให้เกิดดอกเห็ดได้น้อย อาจเกิดจาก
- การขาดอาหารเสริมอาหารน้อยเกินไป
- การนึ่งฆ่าเชื้อไม่หมดยังมีเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ เจริญอยู่
- ใช้วัสดุเพาะที่ไม่เหมาะกับเห็ดชนิดนี้
3. เส้นใยเดินเพียงครึ่งถุง แล้วไม่เดินต่อไปอีก
- ปุ๋ยหมักก้นถุงชื้นหรือเปียกแฉะเกินไป
4. ออกดอกช้าเกิดจาก
- นำก้อนเชื้อไปเปิดดอกในขณะที่เส้นใยยังไม่รัดตัว
- การถ่ายเทอากาศไม่ดี
- เชื้อเห็ดอ่อนเกินไป จากการต่อเชื้อมาแล้วหลายครั้ง
- ความชื้นไม่เพียงพอ
5. ดอกเห็ดเล็กไม่โตและให้ผลผลิตต่ำ
- เชื้ออ่อนแอ ต้องคัดหรือเลี้ยงเนื้อเยื่อใหม่
- อาหารภายในถุงไม่เพียงพอเพราะดอกเห็ดเกิดเป็นดอกเล็กๆ ขึ้นจำนวนมาก
6. เกิดเป็นดอกช้าและไม่เจริญเติบโต มีอาการเหี่ยวเฉาตาย
- เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายขณะเปิดถุงเนื่องจากโรงเรือนสกปรก
- มีน้ำขังในถุงมากเกินไป

การแก้ปัญหาการเพาะเห็ดในโรงเรือน
1. ควรมีการพักโรงบ่มและโรงเพาะเห็ดประมาณ 1 เดือนหมุนเวียนกัน ล้างโรงเห็ดให้สะอาด
2. ฉีดพ่นยาป้องกันศัตรูเห็ดเป็นครั้งคราวเมื่อพักโรงเห็ด
3. ใช้ปูนขาวโรยพื้นเป็นครั้งคราว
4. เก็บถุงเห็ดที่หมดสภาพแล้วนำไปทิ้งให้ไกลจากสถานที่ ที่เพาะเห็ด วัสดุเพาะเห็ดที่หมดสภาพแล้วของเห็ดบางชนิดนำไปเป็นปุ๋ยต้นไม้ได้เลย เช่นวัสดุเพาะเห็ดนางรม เป็นต้น แต่วัสดุที่เพาะเห็ดหลินจือมีความเสี่ยงต่อการไปทำลายต้นไม้ยืนต้น จึงไม่ควรนำไปใช้เป็นปุ๋ย ควรนำไปใช้อย่างอื่นหรือเผาทำลาย
การเพาะเห็ดในถุงปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากสิ่งต่างๆ ดังนี้
1. ถุงพลาสติกมักมีตำหนิทำให้มีเชื้อปนเปื้อนสูง
2. การนึ่งยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีเชื้อปนเปื้อนมาก
3. โรงพักก้อนเชื้อไม่สะอาด มีไรไข่ปลาระบาดทั่วไปในก้อนถุง
4. ก้อนเชื้อรดน้ำมาก น้ำเข้าไปขังแฉะทำให้ก้อนเชื้อภายในถุงเน่า หนอนแมลงวันวางไข่ ตัวอ่อนกัดกินทำลายเส้ยใยและดอกเห็ด
5. โรงเพาะเห็ดมีการถ่ายเทอากาศไม่เพียงพอ ความชื้นสูงมีราเมือกระบาด
6. ไม่มีการพักโรงเรือนเพาะเห็ด ทำให้มีศัตรูเห็ดสะสม

การเก็บดอกเห็ด




การเก็บดอกเห็ด
การเกิดดอกเห็ด ก้อนเชื้อเห็ดหลังจากที่ได้ทำการรดน้ำในโรงเพาะไปแล้ว ประมาณ 1 – 3 สัปดาห์ ก็จะเกิดเป็นดอกเล็กๆ ขึ้น ในช่วงนี้การรดน้ำทำได้ตามปกติ หลังจากนั้นประมาณ 4 – 5 วัน ดอกเห็ดจะโตเต็มที่ให้เก็บได้ ดอกเห็ดในช่วงนี้การรดน้ำต้องระมัดระวังด้วยคือ ต้องรดน้ำน้อยลงไม่ควรฉีดน้ำมากเกินไปจนเปียกเพราะดอกเห็ดจะฉ่ำมากทำให้คุณภาพไม่ดีเมื่อส่งตลาดทั้งยังเสียเร็วและเก็บไว้ได้ไม่
การเก็บดอกเห็ด วิธีสังเกตดอกเห็ดที่โตพอดี อาจสังเกตได้จากขอบดอกคือดอกที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ ดอกเห็ดจะม้วนตัวเข้าหากัน แต่เมื่อโตเต็มที่ก็จะคลี่ออกควรเก็บในช่วงนี้ การเก็บจะถอนออกมาแล้วแล้วค่อยแต่งที่โคนต้น ด้วยการตัดเศษทิ้งไปแต่เห็ดมักมีรอยช้ำตอนจับลำต้นขึ้นมาจึงอาจใช้วิธีตัดแทน การตัดอาจใช้ได้ทั้งมีดคมหรือกรรไกร เมื่อตัดแล้วจึงเอาเศษที่โคนต้นออกออกจากก้อนเชื้อหรือไม่เอาออกก็ได้
การเก็บรักษาดอกเห็ดสด เห็ดนางรมเก็บได้ไม่นาน ควรใช้ทำอาหารในวันเดียวหลังจากที่ตัดมาแล้ว การเก็บควรนำเข้าตู้เย็นโดยเอาถุงพลาสติกอย่างขุ่นมาขยี้แล้วใส่น้ำเขย่า เพื่อให้มีหยดน้ำเล็กติดภายในถุงเทน้ำทิ้งแล้วเอาดอกเห็ดใส่รัดด้วยยาง ถ้าเก็บในห้องธรรมดาหรือใส่ถุงวางขาย ควรเจาะถุงพลาสติกให้เป็นรูระบายอากาศและไอน้ำจะเก็บได้นานขึ้น สำหรับเห็ดนางฟ้าภูฐานนั้นจะเก็บได้นานกว่าเห็ดนางรม คือสามารถเก็บข้ามวันในตู้เย็นได้ 3 – 4 วันอย่างไรก็ตาม เห็ดทั้ง 2 ชนิดนี้การเก็บข้ามวันจะทำให้รสชาติด้อยลงคือขมและสีออกเหลืองขึ้น
สำหรับเห็ดหูหนู ถ้าดูแลได้เหมาะสมตั้งแต่กรีดถุงจนถึงเก็บดอกเห็ด จะใช้เวลา 10 – 15 วัน ก็เก็บเห็ดได้ เห็ดหูหนูที่แก่ได้ที่แล้วควรรีบเก็บทันทีเวลาเก็บจะต้องใช้มือเด็ดออกมาทั้งโคนเห็ดด้วย แล้วใช้มีดเฉือนตัดเอาส่วนโคนที่มีวัสดุเพาะเลี้ยงติดมาด้วยทิ้งไป นำไปตากแดดหรืออบแห้งทันที ถุงก้อนเชื้อที่เก็บเห็ดหมดแล้วให้หยุดฉีดน้ำชั่วคราวเพื่อรักษาความชื้นให้เหมาะสม ช่วยให้หน่อเห็ดใหม่งอกได้เร็วขึ้นอีก ระยะเวลาการผลิตเห็ดหูหนูแต่ละรุ่นใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ปกติถุงก้อนเชื้อ 1 ก.ก. จะได้ผลผลิต 300 – 600 กรัม ให้ผลผลิตมากกว่าการเพาะเลี้ยงด้วยท่อนไม้ถึง 3 เท่าขึ้นไป
ผลผลิตเห็ดนางรม – นางฟ้า ในปัจจุบันนิยมใช้ก้อนเชื้อขนาด 1 ก.ก. จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 4 – 6 รุ่น บางกรณีอาจมากกว่านี้ รุ่นที่ 2 – 3 ขึ้นไป ดอกเห็ดจะสมบูรณ์และผลผลิตสูงกว่ารุ่นแรกและรุ่นหลังนี้ ผลผลิตเห็ดที่ควรได้รับโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ระหว่าง 300 – 350 กรัมต่อถุง การดูแลรักษาและเก็บดอกเห็ดจะทำกันประมาณ 2 - 3 เดือน หรือจนกว่าจะหมดอายุอาหารในก้อนเชื้อ ก้อนที่หมดอายุแล้วจะมีสีดำนิ่มเหลวเละควรนำออกไปจากโรงเพาะเห็ด ล้างทำความสะอาดโรงเพาะให้สะอาดเสียก่อน แล้วจึงเอารุ่นใหม่เข้ามาแทน มีรายงานว่าวิธีการเติมปุ๋ยยูเรียกับดับเบิลซุปเปอร์ฟอสเฟตอัตราปุ๋ย 1 ขีด ต่อน้ำ 10 ลิตร ละลายในน้ำรดเห็ดนางรมที่เริ่มสร้างดอก เพียงวันละครั้งสลับไปพร้อมๆ กับน้ำธรรมดา จนกระทั่งดอกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว จึงงดการให้ปุ๋ย จะทำให้ได้ผลผลิตเห็ดโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การพักก้อนเชื้อระยะหนึ่ง หลังจากที่เก็บดอกเห็ดแล้วเพื่อให้เส้นใยส่วนที่ถูกใช้ไปเจริญเติบโตได้ปกติ แล้วรดน้ำตามเดิมก็จะช่วยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

การจัดการในระยะเก็บดอกเห็ดและหลังการเก็บดอกเห็ด
การเพาะเห็ดสิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษก็คือความสะอาด ทุกขั้นตอนจะต้องรักษาความสะอาดอย่าให้เกิดความหมักหมม มิฉะนั้นจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงการจัดการด้านนี้ครอบคลุมไปถึงกระทั่งวัสดุเพาะที่หมดอายุและทิ้งไปแล้ว โดยเฉพาะโรงเรือน ถ้าหากมีการระบาดของศัตรูเห็ดได้อย่างรวดเร็ว โรงเรือนที่เป็นโรงเดี่ยวขนาดใหญ่แม้ว่าจะสะดวกแต่เมื่อเกิดโรคระบาดแล้วความเสียหายจะเร็วและลุกลามได้มากกว่าโรงเรือนที่แยกเป็นโรงๆ
ก้อนเชื้อที่หมดอายุแล้วมักจะเป็นที่สะสมของเชื้อศัตรูเห็ดต่างๆ การหมักหมมก้อนเชื้อนี้ไว้ใกล้โรงเพาะจำนวนมากๆ มักจะส่งผลถึงความเสียหายในระยะยาว จึงควรจัดการของเหลือทั้งหมดนี้โดยการนำไปทิ้งในที่ไกลๆ
จากโรงเพาะหรืออย่างน้อยควรหาวิธีแปรสภาพให้เป็นปุ๋ยสำหรับใช้ปลูกพืชต่อไป
การเกิดลักษณะที่ผิดปกติของดอกเห็ด เท่าที่พบในเมืองไทยมี 2 แบบคือ ดอกเห็ดเป็นหลอดยาวขึ้น พบได้ประปราย ซึ่งเกิดจากการเก็บก้อนเชื้อไว้ในที่มีกาซคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาก แบบที่สองดอกมีขนาดโต แต่ดอกหุบอยู่ไม่บานออกหรือบานออกเพียงเล็กน้อย สาเหตุเกิดจากกาซชนิดนี้เช่นกัน การแก้ไขต้องทำให้โรงเรือนมีการถ่ายเทอากาศ โดยทำที่ระบายให้กาซนี้ระบายออกเสียบ้าง ดอกเห็ดรุ่นต่อไปก็จะมีสภาพปกติเช่นเดิม

การกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ในการเพาะเห็ด



การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในถุงวัสดุเพาะเห็ด


การกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ในการเพาะเห็ด
การเพาะเห็ดทุกชนิดและทุกขั้นตอน จะต้องทำโดยปราศจากเชื้อศัตรูเห็ดทุกชนิด เพราะถ้ามีเชื้ออื่นเข้ามามันจะขึ้นแข่งขันแย่งอาหารหรือสร้างสารที่จะเป็นอันตรายต่อเห็ดได้ต้องระมัดระวังเรื่องรักษาความสะอาด มิฉะนั้นการเพาะเห็ดอาจล้มเหลวได้ดังนั้นผู้เพาะเห็ดจำเป็นต้องทราบถึงเทคนิคและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเห็ด
เชื้อและการกำจัดเชื้อ ในการเพาะเห็ดมีเชื้ออยู่ 2 พวกใหญ่ที่พบและเกี่ยวข้องกับการเพาะเห็ดมากที่สุดคือเชื้อราและบัคเตรี เชื้อรามีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งในอากาศ โดยปลิวไปตามลม ฝุ่นละอองเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในรูปของสปอร์ ซึ่งอาหารของเห็ดทุกชนิด มีสภาพความเหมาะสมที่จะเกิดเชื้อราได้ง่ายอยู่แล้ว ราเจริญโดยต่อกันเป็นเส้นใยแบบเห็ด จึงเจริญได้บนอาหารที่เป็นชิ้นเล็กๆ และไม่เปียกมาก ในลักษณะเดียวกับการเจริญของเห็ด ทั้งยังทนกับความแห้งแล้งและทนแสงได้ แต่เราสามารถกำจัดเชื้อราได้โดยความร้อนให้หมดสิ้นได้ในน้ำเดือดธรรมดาที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส
การเพาะเห็ดนางฟ้า - นางรม มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อราและต้องกำจัดคือ การฆ่าเชื้อในปุ๋ยหมัก ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ 3 ของการเพาะเห็ดเราไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อให้หมดจดเสียทีเดียว อาจฆ่าเฉพาะที่จะเป็นผลเสียกับเห็ดในขั้นตอนนี้เท่านั้น การฆ่าเชื้อแบบนี้เรียกว่า การพาสเจอร์ไรส์ ส่วนบัคเตรีนั้นมักแพร่กระจายในน้ำและฝุ่นละอองเป็นส่วนใหญ่ บัคเตรีเจริญได้ในอาหารที่เปียกหรือมีน้ำมาก ถ้าอาหารแห้งหรือหมาดก็ไม่สามารถเจริญได้อย่างเห็ดรา สปอร์ของบัคเตรีสามารถทนความร้อนได้มากกว่าเชื้อรา ดังนั้นการกำจัดด้วยความร้อนก็ต้องใช้ความร้อนที่มีขนาดและเวลาแตกต่างกันออกไป
การกำจัดบัคเตรีที่ทนร้อนเป็นพิเศษ จะต้องใช้ความร้อน 121 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที ขึ้นไปจึงกำจัดได้ในการเพาะเห็ดนางรม - นาง ฟ้า มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อบัคเตรีเพื่อให้เชื้อนี้หมดคือ การฆ่าเชื้อบนอาหารวุ้นสำหรับเลี้ยงเชื้อเห็ดและใช้ในการฆ่าเชื้อหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 1 และ 2 ของงานเพาะเห็ด อันเป็นการฆ่าเชื้อบัคเตรีทุกชนิดให้ตายไปโดยสิ้นเชิง เรียกว่าการ สเตอริไรส์
นอกจากนี้แล้ว เรายังมีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นภาชนะในการปฏิบัติงาน เช่นตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ มีดหรือแม้กระทั่งมือของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากเราจะใช้ไฟจากตะเกียงแอลกอฮอล์ เป็นตัวฆ่าแล้ว ยังนำแอลกอฮอล์มาเช็ดอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย
การฆ่าเชื้อด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ใช้ฆ่าเชื้อในตู้เขี่ยเชื้อหรือตามผิวสิ่งต่างๆ ที่มีการทะลวงของแสงมีน้อย แต่ในทางปฏิบัติจริงยังมีน้อยจึงไม่นิยมกระทำในระดับฟาร์มทั่วๆ ไป
การพาสเจอร์ไรส์ ในการเพาะเห็ดเราจะพาสเจอร์ไรส์อาหาร ปุ๋ยหมักหรือก้อนเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อและเห็ดอื่นๆ ที่จะเป็นศัตรูต่อเห็ดนางรม – นางฟ้า ได้ซึ่งรวมทั้งแมลงและสัตว์เล็กๆ ในถุงปุ๋ยด้วยโดยการใช้หม้อนึ่ง ซึ่งอาจเป็นหม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง หม้อนึ่งแบบดัดแปลง หรือหม้อนึ่งความดันแบบต่างๆ โดยการต้มน้ำให้เดือดขึ้นเป็นไอไปฆ่าเชื้อก้อนเชื้อที่วางไว้ด้านบน การฆ่าเชื้อจะใช้ความร้อน 80 – 100 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาอย่างต่ำ 2 ช.ม.
การสเตอริไรส์ การฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้ เป็นการฆ่าเชื้อศัตรูเห็ดให้ตายหมดอย่างสิ้นเชิง ปกติจะใช้หม้อนึ่งความดันไอน้ำเท่านั้นไม่สามารถใช้หม้อนึ่งลูกทุ่งได้ โดยนึ่งที่ความดันไอน้ำให้มีความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นาน 15 นาทีขึ้นไปแต่ถ้าจำนวนเชื้อมีมากก็ต้องนึ่งให้นานกว่านี้เช่น ถ้านึ่งขวดอาหารวุ้นจะใช้เวลานึ่งที่ความดันขนาดนี้ 15 นาที ถ้านึ่งหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างต้องใช้เวลา 25 – 30 นาทีเป็นต้น
หม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง หม้อนึ่งชนิดนี้มีราคาถูกเหมาะสำหรับฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลาง เป็นเครื่องมือที่สามารถทำขึ้นเองได้ นิยมใช้ถังจารบีที่มีขนาดเดียวกับถังน้ำมันสองร้อยลิตรแต่หนากว่าและมีฝาแยกออกมาเป็นอิสระพร้อมเข็มเข็ดรัดฝา สามารถซื้อหาได้ตามร้านอุปกรณ์เพาะเห็ด ควรใช้ยางในรถจักรยานยนต์ที่ไม่ใช้แล้วมาผ่าใช้หุ้มปากถังแทนปะเก็น เพื่อให้สามารถปิดได้สนิทขึ้น ตรงกลางฝาเจาะรูด้วยตะปูขนาด 3 นิ้ว เพื่อทำเป็นที่ระบายไอน้ำ ก้นถังทำเป็นตะแกรงรองวัสดุนึ่ง ให้สามารถยกเข้าออกได้สำหรับวางก้อนเชื้อไม่ให้เปียกน้ำโดยทำให้สูงจากก้นถังประมาณ 10 ซ.ม. การนึ่งปฏิบัติเช่นเดียวกับหม้อนึ่งความดันแบบทั่วไปคือ ใส่น้ำลงไปจนปริ่มตะแกรง แต่ก่อนนำก้อนเชื้อลงวางเรียงควรใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองรอบๆ ขอบถังเสียก่อนเพื่อไม่ให้ถุงพลาสติกจากก้อนเชื้อละลายติดกับหม้อนึ่งเมื่ออุณหภูมิร้อนจัด
เมื่อวางก้อนเชื้อจนเต็มแล้ว ปิดฝาและรัดสายรัดให้แน่นต้มน้ำให้เดือดจนไอพุ่งออกจากรูที่เจาะตรงกลางฝาอย่างสม่ำเสมอแล้วนึ่งไปนานประมาณ 1 ช.ม. เมื่อครบกำหนดแล้วก็ให้นำก้อนเชื้อออกมาวางในอุณหภูมิปกติเป็นเวลา 12 ช.ม. แล้วนำไปนึ่งอีกทำเหมือนเดิมอีก 2 ครั้ง รวมเป็น 3 ครั้ง ก็จะสามารถฆ่าเชื้อต่างๆ ที่เป็นศัตรูเห็ดได้เช่นเดียวกับหม้อนึ่งความดันเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ทำความร้อนอาจใช้ไม้ฟืน หรือใช้แกลบโดนการทำเตาแบบเตาเศรษฐกิจซึ่งใช้ได้ผลดี
การนึ่งฆ่าเชื้อถุงวัสดุเพาะเห็ด เมื่อเตรียมถุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันหรือหม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง เพื่อฆ่าเชื้อต่างๆ ที่เป็นศัตรูเห็ดเวลาในการนึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของหม้อนึ่งและจำนวนก้อนเชื้อ อาจนึ่งเพียง 2 ช.ม. สำหรับการนึ่งเชื้อจำนวนน้อยและนึ่ง 4 – 6 ช.ม. สำหรับจำนวนเชื้อมากการนึ่งเชื้อจำนวนมากต้องระวังและแน่ใจว่าสามารถฆ่าเชื้อได้ทั่วถึง หลังจากนึ่งเรียบร้อยแล้ว นำก้อนเชื้อออกมาวางเรียงกันให้เย็นสนิทเสียก่อน เพื่อรอการเขี่ยเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่างลงถุงต่อไป

หลักการและขั้นตอนเพาะเห็ด

หลักการและขั้นตอนเพาะเห็ด
หลักในการเพาะเห็ดเบื้องต้นก็คือ การศึกษาสภาพต่างๆ ในธรรมชาติของเห็ดนั้นๆ แล้วนำเห็ดนั้นมาเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันกับธรรมชาติ แต่เนื่องจากการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดที่เราเพาะ ต้องมีการแข่งขันกับเชื้อเห็ดที่มีอยู่ในธรรมชาติด้วย มันอาจเจริญแข่งขันสู้กับเห็ดอื่นๆ ในธรรมชาติไม่ได้ ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้เส้นใยเห็ดที่เราต้องการเพาะชนะเห็ดอื่นๆ ก็คือเราจะต้องกำจัดเห็ดอื่นให้น้อยลงหรือใส่เชื้อเห็ดที่ต้องการลงไปมากหรือทั้งสองวิธีควบคู่กับไป เราจึงได้มีการทำเชื้อเห็ดเพื่อใช้ในการนี้ขึ้น
การเพาะเห็ดแบ่งขั้นตอนการเพาะออกเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน
1. การแยกเชื้อเห็ดและเลี้ยงเชื้อเห็ดบนอาหารวุ้น
2. การทำหัวเชื้อเห็ดเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง
3. การทำก้อนเชื้อวัสดุเพาะเห็ดในถุงพลาสติก
4. การเพาะให้เกิดดอก
แม้ว่าการเพาะเห็ดจะมีขั้นตอนใหญ่ๆ 4 ขั้นตอนซึ่งแต่ละขั้นตอนก็มีลักษณะของการใช้งานที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของมันเอง แต่ต้องเข้าใจว่าผู้เพาะเห็ดไม่จำเป็นต้องทำทุกขั้นตอนดังกล่าวนี้ ในปัจจุบันฟาร์มเห็ดต่างๆ จะเป็นฟาร์มใหญ่ที่ผลิตก้อนเชื้อจำนวนมากก็ไม่ได้ทำเช่นนี้ เพราะงานด้านนี้ได้มีการแบ่งงานกันทำอย่างมีระบบอยู่แล้ว ผู้ที่จะเพาะเห็ดใหม่จึงไม่จำเป็นต้องทำเองทุกขั้นตอน งานบางขั้นตอนอาจเป็นงานที่ยุ่งยากแต่นำมาใช้งานได้น้อย เช่น การแยกเชื้อเห็ดบนอาหารวุ้น การลดขั้นตอนที่ยุ่งยากนี้ก็ทำได้โดยเพียงแต่หาซื้อจากผู้ผลิตเชื้อชนิดนี้เท่านั้น เท่าที่เป็นอยู่จะพบว่าผู้ผลิตหัวเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างมีหน้าที่ผลิตเชื้อนี้จำหน่ายให้แก่ผู้ทำก้อนเชื้อ และจะแยกเชื้อเห็ดบนอาหารวุ้นไว้ใช้เฉพาะในการขยายหรือปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น
ส่วนผู้ผลิตก้อนเชื้อ ก็มีหน้าที่ผลิตก้อนเชื้อ สำหรับใช้เพาะเอาดอกเห็ดหรือเพื่อจำหน่ายก้อนให้แก่ผู้ที่จะนำไปเปิดเอาดอกรายย่อยมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ผลิตทั้งก้อนเชื้อและหัวเชื้อ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเพาะเห็ด อาจเชื้อก้อนเชื้อเห็ดเพียงจำนวนน้อยมาทดลองเพาะก่อนเมื่อมีความชำนาญดีแล้วจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น


ขั้นตอนการผลิตก้อนเชื้อเห็ด
สูตรอาหารก้อนเชื้อเห็ด
ขี้เลื่อยไม้ยางพารา (ไม่ต้องหมัก) 100 ก.ก.
รำละเอียด 5 ก.ก.
ปูนขาว 1 ก.ก.
ยิปซัม 2 ก.ก.
ดีเกลือ 0.2 ก.ก.
ปรับความชื้นในวัสดุเพาะประมาณ 60 – 65 %

1. นำส่วนผสมข้างต้นผสมให้เข้ากันด้วยมือหรือเครื่องผสม ปรับความชื้นประมาณ 60 - 65 % โดยการเติมน้ำลงไปพอประมาณ
2. ใช้มือกำขี้เลื่อยขึ้นมาบีบให้แน่น แล้วสังเกตว่าถ้ามีน้ำซึมออกมาตามร่องนิ้วแสดงว่าเปียกไป ให้เติมขี้เลื่อยแห้ง ถ้าไม่มีน้ำซึมให้แบมือออก ขี้เลื่อยจะรวมกันเป็นก้อนแล้วแตกออก 2 – 3 ส่วนแสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าแบมือแล้วขี้เลื่อยไม่รวมตัวกันเป็นก้อน แสดงว่าแห้งไปให้เติมน้ำลงไปอีก
3. เมื่อผสมคลุกเคล้าส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ให้บรรจุขี้เลื่อยใส่ถุงพลาสติกทนร้อน น้ำหนักบรรจุ 8 – 10 ขีด 2 ใน 3 ของถุงกดและทุบให้แน่นพอประมาณ ใส่คอขวด(คอถุง) รัดด้วยหนังยาง จุกสำลี
4. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ช.ม.
5. นำถุงออกมาพักให้เย็นในที่สะอาด เปิดจุกสำลี ต่อเชื้อที่ต้องการลงตรงคอถุง
6. นำถุงเชื้อเห็ดไปบ่มไว้ในที่สะอาด มีการถ่ายเทอากาศสะดวกพ่นยาฆ่าแมลงวันเส้นใยจะเดินจนเต็มถุงระยะเวลาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด
7. เมื่อเส้นใยเดินเต็มถุงแล้ว คัดเอาเฉพาะถุงที่ไม่มีการการปนเปื้อนมาเปิดในโรงเรือนเปิดดอก เพื่อให้เกิดดอกเห็ดต่อไป ภายในโรงเรือนต้องสะอาด มีการถ่ายเทอากาศดี มีแสงสว่างพอสมควร และเก็บความชื้นได้ดีพอสมควร ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนประมาณ 70 % ขึ้นไป

การเลือกซื้อหัวเชื้อเห็ด




การเลือกซื้อหัวเชื้อเห็ด

1. ลักษณะของเชื้อเห็ดที่ดี
1.1 ต้องมีความบริสุทธิ์ในสายพันธุ์
1.2 เส้นใยเชื้อเห็ดเดินขาวเต็มขวด
1.3 เชื้อเห็ดไม่แก่ - อ่อนเกินไป
1.4 อาหารที่ใช้เลี้ยงเชื้อเห็ดต้องมีคุณภาพดี
1.5 ไม่มีเชื้อราอื่นปะปน
2. การเลือกซื้อเชื้อเห็ด
2.1 เชื้อเห็ดอยู่ในภาชนะที่สะอาด เหมาะสม
2.2 เชื้อเห็ดมีเส้นใยขาวฟูเดินเต็มขวด
2.3 เลือกซื้อเชื้อเห็ดที่บริสุทธิ์ ไม่มีราอื่นปะปน
2.4 เลือกซื้อเชื้อเห็ดที่ไม่มีความชื้นมากเกินไป ดูจากน้ำที่เกิดขึ้นภายในภาชนะบรรจุเชื้อเห็ด
2.5 เลือกซื้อเชื้อเห็ดในขนาดอายุที่เหมาะสมนำไปเพาะ ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป

การเขี่ยเชื้อเห็ดจากหัวเชื้อลงถุงวัสดุเพาะเห็ด

ก้อนเชื้อที่ได้จากการนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ยังถือว่าเป็นเพียงก้อนเชื้อเปล่าๆ หรือเป็นเพียงถุงขี้เลื่อยธรรมดาเท่านั้นไม่สามารถนำไปใช้เพาะเอาดอกได้ จนกว่าจะมีการนำเอาหัวเชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่างที่ทำขึ้นหรือซื้อเตรียมไว้ล่วงหน้า มาเขี่ยลงไปในก้อนเชื้อนี้เสียก่อน
หัวเชื้อที่ดีนั้น ควรเป็นหัวเชื้อที่เส้นใยเห็ดเจริญเต็มขวดใหม่ๆ ไม่มีราสีต่างๆ ปนไม่เป็นเชื้อแก่จนเส้นใยย่อยตัวเองเป็นน้ำสีเหลืองตามปกติการถ่ายเชื้อจากขวดเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างนั้น จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการแยกเนื้อเยื่อ หรือการถ่ายเชื้อจากวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่างคือจะต้องปฏิบัติภายในตู้เขี่ยเชื้อ แต่เนื่องจากการทำก้อนเชื้อจำนวนมากอาจมีจำนวนหลายร้อยหลายพันก้อนต่อครั้ง ก้อนเชื้อยังมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ดังนั้นจึงไม่นิยมทำในตู้เขี่ยเชื้อ อีกประการหนึ่งเชื่อว่าหัวเชื้อที่เจริญบนเมล็ดข้างฟ่างและที่เจริญบนก้อนเชื้อนั้น มีสภาพแวดล้อมของอาหารที่ใกล้เคียงกับเส้นใยเห็ดบนวัตถุธรรมชาติ ซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่าที่เจริญบนวุ้น การถ่ายเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่างลงในถุงก้อนเชื้อ จึงไม่จำเป็นต้องทำกันในตู้เขี่ยเชื้อ เพียงแต่เป็นที่สะอาดและลมสงบส่วนใหญ่มักทำกันในฟาร์ม บางฟาร์มอาจมีห้องกั้นพิเศษสำหรับเขี่ยเชื้อโดยตรง
การปฏิบัติ วางก้อนเชื้อเรียงกันเป็นแถวให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก เปิดเอากระดาษที่หุ้มสำลีอยู่ออก แต่ยังไม่ต้องเปิดจุกสำลีและระวังไม่ให้สำลีหลุดออกจากคอขวด ควรเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ให้ทั่ว นำเอาขวดหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างที่คัดเลือกไว้แล้วใช้มือเขย่าในขณะที่ยังปิดจุกสำลีอยู่ เพื่อให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายดีเสียก่อน ถอดจุกสำลีที่ขวดเมล็ดข้าวฟ่างออกนำปากขวดไปลนไฟจากตะเกียงแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ถ้าเมล็ดข้าวฟ่างในขวดยังไม่ร่วน จะใช้ช้อนตักเข้าไปในขวดเพื่อเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างในขณะที่ปากขวดยังลนไฟอยู่ ในมืออีกข้างหนึ่งเปิดจุกสำลีก้อนเชื้อ แล้วเทหัวเชื้อลงไปในถุงประมาณ 10 – 20 เมล็ด จากนั้นจึงรีบปิดจุกสำลีทันทีไม่ต้องใช้กระดาษปิดทับ แต่ควรแน่ใจว่าปิดจุกสำลีได้แน่นพอ ถุงต่อไปก็ทำเช่นเดียวกันทุก 3 – 4 ถุงควรลนปากขวดด้วยตะเกียงแอลกอฮอล์อีกครั้งหนึ่ง หัวเชื้อที่เปิดขวดออกมาแล้วควรใช้ให้หมดหากมีเหลือไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป เพราะเชื้ออาจเสียได้ เฉลี่ยแล้วหัวเชื้อขวดหนึ่งๆ จะใช้เขี่ยเชื้อลงถุงได้ประมาณ 50 - 60 ถุงสำหรับเห็ดนางฟ้าภูฐาน บางแห่งจะใช้หัวเชื้อมากกวานี้คือประมาณ 25 – 30 ก้อนต่อเชื้อหนึ่งขวด ทั้งนี้เพื่อให้เชื้อเจริญแล้วและเชื้อเสียน้อย

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหูหนู

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหูหนู
1. อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดหูหนูคือ 28 – 38 องศาเซลเซียส
2. การฉีดน้ำ หลังจากกรีดถุงแล้วต้องเอาใจใส่ และรักษาความชื้นในโรงเรือนให้ดี ความชื้นสัมพัทธ์ต้องอยู่ที่ประมาณ 85 % อาจใช้ผ้าพลาสติกล้อมปิดรอบๆ ชั้นเพาะเลี้ยงเพื่อรักษาความชื้นโดยต้องคอยเลิกผ้าพลาสติกวันละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อให้ระบายอากาศได้ดีขึ้น แต่ไม่ต้องฉีดน้ำตั้งแต่กรีดถุงจนถึงระยะที่เกิดตุ่มดอก ที่สำคัญคือ ภายในห้องต้องมีความชื้นมากขึ้น และเมื่อดอกเห็ดโตแล้วให้ฉีดน้ำตามความเหมาะสมปริมาณน้ำที่ฉีดต้องให้อยู่ในระดับที่กลีบดอกชุ่มชื้น ขอบกลีบเห็ดไม่เหี่ยว
3. แสงแดด แสงแดดที่เพียงพอ จะช่วยให้ดอกเห็ดหูหนูมีสีเข้มแข็งแรงและโตเร็ว แต่ต้องเป็นแสงแดดที่สาดกระจาย

สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดอกเห็ดเมืองร้อน
อุณหภูมิภายในโรงเรือนเปิดดอก ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 20 – 30 องศาเซลเซียส ดอกเห็ดจะเจริญได้ดีที่สุด ความชื้นภายในโรงเพาะเห็ดควรมีไม่ต่ำกว่า 80 % ถ้าไม่มีความชำนาญในการสังเกตอาจใช้เครื่องมือวัดความชื้นที่เรียกว่า ไฮโดรมิเตอร์ แล้วนำตัวเลขที่เครื่องไปเปรียบเทียบกับตาราง ก็สามารถอ่านค่าของความชื้นได้ความชื้นมากเกินไป ทั้งความชื้นที่อยู่บนวัสดุเพาะหรือในอากาศ โดยเฉพาะในกรณีแรกย่อมมีผลในด้านการชะงักการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดคืออาจทำให้ขาดออกซิเจนได้ เส้นใยก็ไม่เจริญเติบโตหรือตายได้ทำนองเดียวกันกับที่ปล่อยให้แห้งเกินไปจนขาดน้ำสำหรับการละลายสารอาหารในก้อนเชื้อ
การถ่ายเทอากาศ เห็ดทุกชนิดในขณะที่กำลังสร้างเส้นใยและเกิดดอก เห็ดต้องการออกซิเจนสูงมากแต่ในระยะที่สร้างเส้นใยจะทนการขาดออกซิเจนได้ดีกว่าระยะที่เกิดดอกเห็ด โรงเรือนที่ดีจะต้องจัดให้อากาศถ่ายเทได้ดีโดยเฉพาะโรงเรือนขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้มีการสะสมของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ มากเกินไป ถ้ามีกาซนี้มากดอกเห็ดจะมีลักษณะลำต้นยืดยาว ดอกอาจหุบหรือไม่ยอมบานออก
แสง เห็ดหลายชนิดไม่จำเป็นต้องได้รับแสงเลย เพราะมันไม่สามารถปรุงอาหารเองได้อย่างไรก็ตามแสงมีความจำเป็นต่อการทำให้ดอกเห็ดสมบูรณ์หรือเพื่อให้เกิดดอกเห็ดเร็วขึ้น เห็ดนางรม – นางฟ้า เมื่อได้รับแสงจะปล่อย สปอร์ จากดอกเห็ดได้ดีแต่ถ้าไม่ได้รับแสงก้านดอกจะยาวออกดอกเล็กและให้ผลผลิตต่ำ
ฤดูปลูก เห็ดนางรม – นางฟ้า ขึ้นได้ดีในหน้าฝนและหน้าหนาว แต่ไม่ควรหนาวจัดเกินไปฤดูปลูกเห็ดชนิดนี้ภาคกลางทำได้ทั้งปี ส่วนภาคเหนือและอีสานดีเฉพาะหน้าฝนหน้าร้อนผลผลิตจะลดลง ส่วนภาคใต้เพาะได้ตลอดปี เห็ดนางฟ้าภูฐานไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศมาก ถ้าอากาศเย็นดอกเห็ดจะออกดอกเร็วมีสีเข้ม แต่ถ้าอากาศร้อนการออกดอกจะช้าลงและมีสีซีด

การพักถุงก้อนเชื้อเห็ด




การพักถุงก้อนเชื้อ
ก้อนเชื้อเห็ดหลังจากที่เขี่ยเชื้อแล้ว เราจะนำก้อนเชื้อนี้ไปบ่มเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ หรือในโรงบ่มที่ทำไว้โดยเฉพาะเพื่อรอให้เส้นใยเจริญเติบโตลามเต็มถุง ปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ แล้วแต่ชนิดของเห็ดมีรายงานจากบางฟาร์มว่าเห็ดนารมในระยะบ่มเชื้อจะเจริญได้ดีในห้องที่ไม่มีลมโกรกและมีกาซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปกติ ส่วนเห็ดนางฟ้าภูฐานโรงเรือนควรมีแสงสว่างน้อย หากมีแสงมากการเกิดดอกจะเร็วกว่าปกติ เห็ดที่ออกยังไม่ค่อยสมบูรณ์ ระยะบ่มที่มาตราฐานคือ 22 – 28 วัน ยกเว้นในฤดูหนาวใช้เวลาเพียง 15 – 20 วันเท่านั้นก้อนเชื้อที่ดีเส้นใยเห็ดจะเจริญลามอย่างสม่ำเสมอเป็นสีขาวทั่วทั้งก้อน หากเส้นใยเดินชะงักหรือไม่เดินลงมา ซึ่งอาจเกิดจากมีเชื้อราต่างๆ ขึ้นปะปนจากการนึ่งไม่ทั่วถึงหรือในระหว่างการเขี่ยเชื้อ ซึ่งแสดงว่าเชื้อเสียลักษณะก้อนเชื้อที่แฉะบริเวณก้นถุง ก็เป็นก้อนเชื้อที่เสียแล้วเช่นกันควรคัดออกทิ้งไป

การเปิดถุงก้อนเชื้อเห็ด
การเปิดถุงก้อนเชื้อเห็ด ก่อนนำก้อนเชื้อที่เจริญดีแล้วไปเพาะและรดน้ำ จะต้องทำการเปิดถุงซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกันคือ
1. การพับหรือม้วนปากถุงลงมา โดยพับให้ปากถุงลงมาจนกว่าก้อนเชื้ออาหารโผล่เล็กน้อยแล้วรดน้ำ การทำแบบนี้ได้ผลดีเมื่อเป็นหน้าฝนหรือหน้าหนาวที่อากาศชื้น ถ้าเป็นหน้าแล้งอาจได้ผลน้อย
2. การเปิดปากถุงโดยใช้มีดตัดปากถุงใต้คอขวด ซึ่งเมื่อตัดแล้วจะเหลือเฉพาะถุงพลาสติกบริเวณปากถุงที่แคบลง วิธีนี้พบว่าได้ดอกเห็ดน้อยกว่าวิธีแรก แต่ดอกเห็ดมีน้ำหนักดีกว่า
3. การกรีดข้างถุง เป็นวิธีที่นิยมพอๆ กับวิธีแรกโดยใช้มีดกรีดข้างถุงให้เป็นทางยาวลงมา หรือกรีดเป็นรูปกากบาท 4 – 7 แห่งกระจายรอบถุง ข้อดีของวิธีนี้คือน้ำมักไม่ขังและมีโรคแมลงรบกวนน้อย วางบนชั้นได้ทั้งแบบตั้ง วางธรรมดาและแขวนไว้กับเชือกห้อยลงมาก็ได้
4. การเจาะรูก้อนเชื้อ ใช้มีดที่มีปลายแหลมเจาะข้างๆ ถุงรอยเล็กๆ พอเส้นใยรัดตัวมันก็จะสร้างดอกเห็ดตามรอยที่เจาะไว้ มักได้ดอกเห็ดที่สมบูรณ์และขาวสะอาด
5. การเปิดก้อนเชื้อทั้งก้อน นำก้อนเชื้อที่เปลือยทั้งก้อนไปวางไว้บนชั้นหรือในภาชนะพวกตระกร้าแล้วรดน้ำได้เลยดอกเห็ดจะออกดอกได้ทุกส่วนรอบก้อนแต่ก้อนจะแห้งเร็วมากจึงต้องรดน้ำบ่อย บางครั้งต้องเอาฟางหรือต้นข้าวโพดป่นวางทับเพื่อเก็บความชื้น การเกิดดอกเห็ดจะเร็วและหมดไปเร็วด้วยเช่นกัน
6. การเปิดเอาเฉพาะสำลีและคอถุงออก แล้วทำปากถุงให้เหมือนเดิม เป็นวิธีที่ใช้กับเห็ดนางฟ้าภูฐานมาก แต่ควรกรีดข้างถุงสัก 2 รอยเพื่อป้องกันน้ำขัง

การเกิดดอกเห็ดในธรรมชาติของเห็ดนางรม-เห็ดนางฟ้า

การเกิดดอกเห็ดในธรรมชาติของเห็ดนางรม - นางฟ้า
เมื่อสปอร์ของดอกเห็ดจากดอกที่แก่จัด ปลิวไปตามลมตกในที่ชื้นมันก็จะงอกออกมาถ้าหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมและมีอาหารเพียงพอเส้นใยงอกจากสปอร์ก็จะเจริญและพัฒนาต่อไป จนกระทั่งสามารถสร้างดอกเห็ดได้อีกแต่ในธรรมชาตินั้นมีเห็ดชนิดอื่นๆ อยู่อย่างมากมายและมีการแข่งขันแย่งอาหารกันเสมอ ถ้าเห็ดนางรม – นางฟ้าเจริญดีชนะเห็ดอื่นๆ มันก็จะสร้างดอกเห็ดได้ จึงเป็นเหตุให้มีเห็ดขึ้นเป็นฤดูกาลไป มากน้อยตามช่วงเวลาที่ต่างกัน ในด้านการเพาะเราจึงหาวิธีปรับภาวะที่เหมาะสมให้กับเห็ดชนิดนี้เพื่อจะเพาะให้ได้มากที่สุด มันก็จะเจริญดีหรือช่วยกำจัดคู่แข่งขันให้ก็จะทำให้ได้เห็ดที่เพาะขึ้นไดตามต้องการ

การรดน้ำและให้ความชื้น
การรดน้ำและให้ความชื้น การรดน้ำในโรงเรือนควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศแห้งก็ควรรดน้ำมากขึ้นเพื่อรักษาความชื้นในโรงเรือนให้ได้นานที่สุด
เครื่องมือรดน้ำใช้ได้ทั้งฝักบัวฝอยละเอียดตักรดหรือใช้สายยางธรรมดาแต่มีฝักบัวติดอยู่ที่ปลาย สเปรย์ฝอยละเอียดก็ใช้ได้การรดน้ำไม่ควรรดมากจนโชกหรือมีน้ำขังเพราะจะทำให้ก้อนเชื้อเน่า ถ้ามีน้ำขังต้องกรีดถุงก้อนเชื้อหรือเทน้ำทิ้ง
เห็ดนางฟ้าภูฐานต้องการความชื้นสูงมากกว่าเห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้าพันธุ์ธรรมดาดังนั้นผู้เพาะเห็ดต้องคำนึงถึงข้อนี้ด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางรม-เห็ดนางฟ้า

1. อุณหภูมิ ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยคือ 28 – 38 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของดอกเห็ดคือ 28 – 35 องศาเซลเซียส เห็ดจะเจริญเติบโตเร็วและจะเจริญเติบโตช้าลงเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส
2. ความชื้น ในระยะการเจริญเติบโตของเส้นใย ต้องหมั่นดูให้วัสดุเพาะเลี้ยงมีน้ำอยู่ประมาณ 60 – 70 % ส่วนในระยะออกดอกจะต้องการความชื้น 70 – 75 % และระยะที่กำลังเจริญเติบโตเป็นดอกเห็ดต้องการความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 80 – 90 % ถ้าในอากาศมีความชื้นต่ำ เห็ดจะชะงักการเจริญเติบโต ดอกเห็ดจะมีขนาดเล็กและบาง ผิวแห้งแตก
3. อากาศ ถ้าอยู่ในสภาพที่มีกาซออกซิเจนไม่เพียงพอและมีกาซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นมาก เส้นใยเห็ดจะไม่สามารถก่อตัวเป็นตุ่มดอกเห็ดได้ หรือไม่ก้านเห็ดก็เล็กเรียวยาว มีการแตกกิ่งก้านไม่พัฒนาเป็นดอกเห็ดหรือดอกเห็ดอาจมีรูปร่างผิดปกติได้
4. แสงแดด เส้นใยเห็ดไม่ต้องการแสงแดดเพื่อการเจริญเติบโต แต่ระยะที่เป็นตุ่มดอกเห็ดกลับต้องการแสงสว่างสำหรับการเจริญเติบโต ถ้าไม่ได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอ เห็ดจะงอกแต่ก้านเห็ดเรียวยาว ดอกเห็ดจะมีสีซีดและบางครั้งอาจมีก้านเห็ดงอกจากบนก้านเห็ดอีกที
5. ความเป็นกรดด่าง (ค่าpH) เห็ดนางรมชอบสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเป็นกรด ค่าpH ที่เหมาะสมที่สุดคือ 5.5
6. สารอาหาร เห็ดนางรมมีความสามารถในการย่อยสลายเส้นใยของพืชมาเป็นอาหารได้ดีมาก วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น เปลือกนุ่น เศษฝ้าย เศษไม้ ชานอ้อย ฟางข้าว ล้วนแต่นำมาใช้เป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ได้ทั้งนั้น

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552

การเจริญเติบโตเห็ดสกุลเห็ดหิ้งที่ป่าชุมชนตำบลหนองฉิม อ.เนินสง่า จ.ชัยภูมิ


การเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด

เส้นใยเห็ดเริ่มรวมตัวกัน



เส้นใยเห็ดรวมตัวกันเป็นก้อนดอกเห็ด


ดอกเห็ดระยะเจริญเติบโต



ดอกเห็ดโตเต็มที่มีการปล่อยสปอร์


เห็ดสกุลเห็ดหิ้งพบได้ทั่วไปตามต้นไม้เนื้อแข็งที่มีชีวิตและต้นไม้ที่ตายแล้ว ในป่าชุมชนตำบลหนองฉิม อำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ ผู้เขียนได้ทำการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลพบว่าเห็ดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีความชื้นสูง และอากาศร้อน การเจริญเป็นช่วงๆ ตามสภาพพายุฝนเข้าและมีฝนตกความชื้นสูงสังเกตได้จากวงการเจริญของดอกเห็ด เมื่อหมดฤดูฝนอากาศแห้งเห็ดจะหยุดเจริญเติบโตและตายในที่สุด แต่สภาพของดอกเห็ดจะคงอยู่ระยะหนึ่งและถูกแมลงทำลาย เห็ดชนิดนี้ชาวบ้านนำมาบริโภคโดยกินนำต้มเห็ดเป็นยาสมุนไพรแต่เห็ดต้องขึ้นบนต้นไม้ที่ไม่เป็นพิษเท่านั้น

วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

โรงเรือนเพาะเห็ด

โรงเรือนเพาะเห็ด

1. การเลือกทำเลสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด
1.1 เป็นที่น้ำไม่ท่วม
1.2 เป็นที่อยู่ใกล้ถนน
1.3 ไม่ควรเป็นที่โล่งเกินไป
1.4 ที่กว้างพอสมควรเพื่อการขยายกิจการในวันข้างหน้า
1.5 อยู่ใกล้ที่พัก
1.6 อยู่ใกล้แหล่งน้ำสะอาดและมีน้ำสะอาดตลอดปี
2. วัตถุประสงค์ของการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด
2.1 เพื่อเก็บรักษาความชุ่มชื้น
2.2 ป้องกันลมโกรกและแสงแดด
2.3 สะดวกในการเข้าไปปฏิบัติงาน
2.4 ป้องกันขโมยและสัตว์อื่นๆ เข้าไปรบกวน
2.5 ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คำนึงถึงความประหยัด
3. แบบของโรงเรือน
3.1 แบบถาวร อายุใช้งานนานหลายปี
3.2 แบบชั่วคราว อายุใช้งาน 1 – 3 ปี


โรงเรือนเพาะเห็ด
เห็ดนางรม – นางฟ้า เจริญได้ดีในระยะเป็นดอกเห็ดในที่อากาศมีความชื้นสูงขนาด 80 % ขึ้นไปจึงจำเป็นต้องเพาะในโรงเรือนที่เก็บความชื้นได้ ถ้ามีโรงเรือนเก่าก็อาจนำมาดัดแปลงใช้เพาะได้เช่นกันภายในโรงเรือนทำเป็นชั้นหรือเป็นแผง ไม่กำหนดสูตรว่าจะต้องทำเป็นแบบใด ขอเพียงแต่ใช้วางก้อนเชื้อเห็ดได้มากถุงและเอื้อมมือเข้าไปทำงานได้สะดวกเป็นพอ ลักษณะของโรงเรือนอาจเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่หรือเป็นโรงเล็กหลายโรง ฝา หลังคา สามารถมุงด้วยจากหรือหญ้าคาได้ไม่ต้องลงทุนทำเป็นกระเบื้อง ขอเพียงแต่ให้เก็บความชื้นได้ดี ถ้าไม่แน่ใจเรื่องความชื้น ควรใช้ผ้าพลาสติกกรุทับภายในอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นผนัง
โรงเรือนควรเป็นพื้นคอนกรีต อย่างน้อยก็เป็นพื้นทราย ไม่ควรเป็นพื้นดินเพราะจะทำให้แฉะได้ภายหลัง ควรมีประตูให้สามารถลำเลียงก้อนเชื้อเข้าออกได้สะดวก มีช่องระบายอากาศออกได้ ปัจจุบันนิยมทำเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ ทำที่วางด้วยไม้ไผ่รวกไม่ทำเป็นชั้น แต่ใช้ไม้ไผ่ประกอบเป็นรูปตัวเอหรือรูปสามเหลี่ยมทรงสูง แล้วก้อนเชื้อซ้อนขึ้นไปให้ก้อนเชื้อหันปากถุงออกทั้งสองด้านของที่วาง ชั้นแบบนี้ประหยัดเนื้อที่และประหยัดค่าทำชั้นมาก ทั้งสะดวกในการทำงานดีด้วย
การเพาะก้อนเชื้อเห็ดจำนวนน้อยหรือเป็นงานอดิเรก โดยซื้อก้อนเชื้อมาเพาะนั้นไม่จำเป็นต้องทำโรงเรือนก็ได้ อาจใช้ตู้หรือลังไม้ ใช้ผ้าพลาสติกปิดโดยรอบ นำก้อนเชื้อเข้ามาวาง ยกไปวางในที่มุมอับไม่ถูกแดดก็ใช้ได้

การทำความสะอาดโรงเรือนเพื่อเตรียมการเพาะเห็ด
หลังจากที่เก็บผลผลิตหมดแล้ว ให้นำก้อนเชื้อเห็ดออกจากชั้นเพาะเห็ดให้หมด ทำการล้างชั้นเพาะเห็ด โรงเรือนเพาะเห็ด ด้วยผงซักฟอกแล้วล้างด้วยน้ำจนสะอาด ปล่อยทิ้งให้แห้ง 2 – 3 วัน จึงทำการอบไอน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 70 – 80 องศาเซลเซียส นาน 3 ช.ม. เพื่อฆ่าเชื้อราและศัตรูเห็ดที่หลงเหลืออยู่ หากปล่อยโรงเรือนทิ้งไว้นานเกินไป เมื่อจะทำการเพาะเห็ดครั้งใหม่ให้ทำความสะอาดและอบไอน้ำร้อนเสียก่อน จึงนำก้อนเชื้อเห็ดเข้าไปทำการเปิดดอก


วัสดุที่ใช้ในการเพาะเห็ด

วัสดุที่ใช้ในการเพาะเห็ด
วัสดุที่ใช้ในการเพาะเห็ดนางฟ้า – นางรม การเพาะเห็ดนางฟ้า – นางรม สามารถเพาะได้ด้วยวิธีง่ายๆ โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างมากมายหลายชนิด นำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพาะได้ อาจใช้วัตถุดิบเดี่ยวๆ หรือผสมกันหลายๆ อัตราส่วนเป็นวัสดุเพาะเช่นฟาง ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว ไส้นุ่น เศษใบไม้ใบหญ้า หรือแม้แต่วัสดุที่ใช้เพาะเห็ดอื่นๆ แล้วก็สามารถนำมาเพาะเห็ดนางรมนางฟ้าได้
นอกจากนี้เราอาจเติมสารอาหารลงไปคลุกเคล้าผสมด้วยเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้น อาหารเสริมก็มีรำละเอียด รำหยาบ กากถั่วป่น ในอัตราประมาณ 3 – 10 % โดยน้ำหนักก็ได้
การเติมสารเคมีบางชนิดในรูปของเกลืออนินทรีย์ เช่นแมกนีเซียมซัลเฟต แอมโมเนียมซัลเฟต ยิปซั่ม ปุ๋ยดับเบิลซุปเปอร์ฟอสเฟตลงไปในกองปุ๋ยหมัก เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเห็ดนั้น แม้ว่าโดยหลักการแล้วเห็ดไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ไดโดยตรง แต่เมื่อเติมปุ๋ยเหล่านี้ลงไปในกองปุ๋ยหมัก จุลินทรีย์จำพวกบัคเตรีหลายชนิดจะเจริญได้ดีขึ้นและบางส่วนของปุ๋ยได้กลายเป็นอินทรีย์วัตถุในตัวของบัคเตรี ซึ่งเห็ดจะสามารถนำไปใช้ในภายหลังได้
เห็ดที่เพาะในท่อนไม้ได้ สามารถนำมาพัฒนาเพาะในถุงให้ผลผลิตดีและเป็นที่นิยมกันมาก โดยใช้ขี้เลื่อยเป็นวัสดุเพาะ ขี้เลื่อยที่หาง่ายในปัจจุบันได้แก่ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ขี้เลื่อยไม้ก้ามปูหรือไม้ฉำฉา บางชนิดต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมหรือต้องเพาะในที่มีอากาศเย็น เช่นเห็ดหอม ขี้เลื่อยของไม้บางชนิดมียาง จำเป็นต้องหมักกับน้ำและปูนขาวไว้ 4 – 5 วัน ก่อนที่จะนำมาใช้ขี้เลื่อยของไม้บางชนิดเช่นไม้ยางพาราถึงแม้จะมีน้ำยางแต่ก็นำมาใช้ได้เลยไม่ต้องผ่านการหมักนาน ก่อนนำขี้เลื่อยมาใช้ควรหมักน้ำไว้ 1 – 2 คืน จะดีกว่าใช้ขี้เลื่อยแห้ง
เนื่องจากในขี้เลื่อยมีอาหารน้อย จึงนิยมเพิ่มอาหารเสริมจำพวกคาร์โบไฮเดรท เช่น น้ำตาล แป้งข้าวเจ้าหรือแป้งข้าวโพด หรือแป้งข้าวเหนียว จำพวกโปรตีน เช่น รำละเอียด กากถั่ว และบางแห่งใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ช่วย เช่น ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟตในรูปของหินฟอสเฟตหรือปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตเป็นต้นและดีเกลือซึ่งช่วยในการย่อยอาหารของเห็ด บางแห่งใช้ยิปซัมซึ่งช่วยในการปรับความเป็นกรดหรีอด่างในวัสดุเพาะนอกจากนี้ ยังให้ธาตุแคลเซี่ยมแก่เห็ดด้วยทำให้เส้นใยแข็งแรงส่วนใหญ่จะใช้ปูนขาว สูตรอาหารจะแตกต่างกันไปการเพิ่มสูตรอาหารจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เหมาะสำหรับการเพาะเห็ดที่มีราคาเช่น เห็ดหอม เห็ดหมื่นปีหรือเห็ดหลินจือ แต่ควรใช้อาหารเสริมวิทยาศาสตร์แต่น้อย เพราะถ้าใช้มากปุ๋ยจะมีความเข้มข้น มีผลทำให้เส้นใยเจริญเติบโตช้าหรือหยุดชะงัก สูตรอาหารที่นิยมใช้กันมีดังต่อไปนี้



สูตรที่ 1 (สำหรับเห็ดที่มีราคาถูก เช่น เห็ดนางรม)

ขี้เลื่อย 100 ก.ก.
รำละเอียด 3 – 5 ก.ก.
ปูนขาว 1 ก.ก.
ดีเกลือ 0 – 2 ก.ก.
น้ำ 60 – 70 %

สูตรที่ 2 (สำหรับเห็ดที่มีราคา เช่น เห็ดหอม)

ขี้เลื่อย 100 ก.ก.
รำละเอียด 3 – 5 ก.ก.
น้ำตาล 1 – 3 ก.ก.
แป้งข้าวเหนียว 1 – 2 ก.ก.
ยิปซัม 0.5 – 1 ก.ก.
ปูนขาว 1 ก.ก.
ดีเกลือ 0.2 ก.ก.
น้ำ 60 – 70 %
หมายเหตุ สูตรนี้จะใช้แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด แทนแป้งข้าวเหนียวก็ได้ และจะใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีโปรตีนสูงใส่เสริมก็ได้เล็กน้อย เช่นกากถั่วเหลืองแต่ต้องใช้ปริมารไม่ควรเกิน 1 – 5 % การเพิ่มสารอาหารจำพวกนี้หากมากเกินไปจะมีข้อเสียที่มีราปนเปื้อนเกิดขึ้นสูง ทำให้ก้อนเห็ดเสียได้ง่าย


สูตรที่ 3


ขี้เลื่อย 100 ก.ก.
ปุ๋ยยูเรีย 1 ก.ก.
น้ำตาล 1 – 3 ก.ก.
ปูนขาว 1 ก.ก.
ดีเกลือ 0.2 ก.ก.
ปุ๋ยฟอสเฟต 1 ก.ก.
น้ำ 60 – 70 %
สูตรนี้ควรหมักขี้เลื่อยกับน้ำและปุ๋ยยูเรียไว้ก่อน และถ้าเป็นขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณที่ไม่ทราบว่าเป็นขี้เลื่อยไม้อะไรบ้าง ควรจะหมักขี้เลื่อยและมีการกลับกอง 2 – 3 อาทิตย์ต่อครั้ง ใช้เวลาหมักประมาณ 1 – 2 เดือน จึงนำมาใช้จะทำให้เส้นใยเดินดีเพราะขี้เลื่อยเปื่อยบ้างแล้ว อีกประการหนึ่งปุ๋ยยูเรียจะให้ กาซแอมโมเนียซึ่งเป็นอันตรายต่อเส้นใยเห็ด ควรหมักไว้จนไม่มีกลิ่นจึงนำมาใช้