วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

โครงการคืนเห็ดโต่งฝนสู่ธรรมชาติ (2555-2557)

โครงการคืนเห็ดโต่งฝนสู่ธรรมชาติ (2555-2557)
เห็ดโต่งฝนเป็นที่นิยมรับประทานของชาวชนบท ในอดีตพบได้ทั่วไปในป่าธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบลุ่มแม่น้ำโขง แต่ในปัจจุบันไม่มีให้เห็นอีกแล้ว สามารถพบได้ในป่าธรรมชาติ ประเทศ สปป. ลาว เท่านั้น ถึงแม้ว่าเห็ดชนิดนี้จะสามารถนำมาเพาะให้เกิดดอกเห็ดได้ง่ายเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
วัตถุประสงค์
            1.เพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อเห็ดโต่งฝนสู่ธรรมชาติในพื้นที่เป้าหมาย
            2.เพื่อศึกษาการเกิดดอกเห็ดในพื้นที่เป้าหมายหลังจากการเพิ่มปริมาณเชื้อเห็ดลงไป
วิธีการดำเนินงาน
1.ประชาสัมพันธ์โครงการและคัดเลือกเกษตรกร โรงเรียน ที่สนใจเข้าร่วมโครงการโดยเงื่อนไขต้องมีป่าปลูก หรือป่าธรรมชาติ หรือสวน ที่หน้าดินไม่ถูกทำลาย พื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ไร่
            2.เพาะเห็ดโต่งฝนในพื้นที่เป้าหมาย โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ ในช่วงฤดูฝน แบ่งเป็น 3 รุ่น คือ
เดือน  พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม
            3.สังเกตการเกิดดอกเห็ด อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด สภาพแวดล้อมอื่นๆ และจดบันทึก
            4.เพิ่มปริมาณเชื้อเห็ดในพื้นที่โดยให้ดอกเห็ดปล่อยสปอร์
            5.สังเกตการเกิดดอกเห็ดรอบใหม่จากสปอร์ในพื้นที่
สถานที่ดำเนินงาน อำเภอจัตุรัส  จังหวัดชัยภูมิ
ผู้รับผิดชอบ นายอนันท์  กล้ารอด
ผลการดำเนินงาน (2555-2556)
            เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2 ราย  โรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่ง พื้นที่สาธารณะ 1 แห่ง




แปลงเพาะโรงเรียนประถมศึกษา



นักเรียนศึกษาการเกิดดอกเห็ดจากการเพาะเลียนแบบธรรมชาติ






แปลงเพาะพื้นที่สาธารณะหมู่บ้าน







แปลงเพาะของเกษตรกร

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555




กิจกรรมเพาะเห็ดโต่งฝน






เตรียมปุ๋ยหมักสำหรับเพาะในกระบะ



วัสดุเพาะใช้เปลือกข้าวโพดและฟางข้าว


เพาะแบบฝังดินลงแปลง


หมักวัสดุเพาะไว้ 7 วัน กลับกองทุก 3 วัน


เพาะแบบลงแปลงต้องคลุมด้วยผ้าแสลน




ก้อนเชื้อเห็ดที่เส้นใยเดินเต็มถุงนำพลาสติดออกก่อนนำไปเพาะ









เพาะในกระบะต้องรักษาความชื้นสัมพัทธ์ให้ได้มากกว่า 80% 


ดอกเห็ดอายุ 2 วันเหมาะสำหรับนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ







เพาะในถุงปุ๋ย



                                                                         เพาะในแปลง





เห็ดโต่งฝน คำว่าโต่งฝน  หรือ  ต่งฝน เป็นภาษาอีสาน แปลว่าภาชนะรองรับน้ำฝน  เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ดอกเห็ดจะเจริญงอกงามได้เร็ว ดอกมีขนาดใหญ่จนสามารถใช้รองน้ำฝนได้เมื่อฝนตก นั่นเอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lentinus gigeatus   เห็ดสกุลเลนตินัส  (Lentinus)   นี้ ที่เราคุ้นเคยกัน ได้แก่ เห็ดหอม   เห็ดขอนขาว  เห็ดกระด้าง   และเห็ดตีนปลอก เป็นเห็ดดอกใหญ่ รสชาติดี ในธรรมชาติ เห็ดโต่งฝน จะขึ้นได้ดีในดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูง ดินอุดมสมบูรณ์ มีความชื้นสูง อากาศร้อนอบอ้าว พบมากในฤดูฝน แหล่งที่เคยมีเห็ดชนิดนี้ขึ้นมาก่อน ก็จะขึ้นงอกงามในบริเวณเดิมนั้น

ต้นกำเนิดมาจากลาวงอกงามดีที่ไทย

เห็ดโต่งฝน มีถิ่นกำเนิดในประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว(สปป.ลาว)
 ลักษณะดอกเห็ดเมื่อเล็กคล้ายถ้วยหรือกรวย  ดอกมีขนาดเล็กตั้งแต่เท่าถ้วยเล็กๆ จนถึงขนาดฝ่ามือหรือใหญ่เท่าหมวกก็มี ดอกโตเต็มที่ขอบดอกหยักและม้วนขึ้น มีลักษณะดอกคล้ายเห็ดเป๋าฮื้อ  หมวกดอกทรงร่ม สีครีม ในช่วงดอกตูมจะมีรูปร่างกลม ๆ มีขนอ่อน ๆ สีน้ำตาลอ่อน เมื่อดอกโตขึ้น ปลายดอกจะบานเต็มที่ สีจะจางลงเป็นสีครีมขาว และแผ่แบนออกเต็มที่ ส่วนก้านดอกจะใหญ่แข็งและเหนียว เวลานำไปปรุงอาหารต้องปอกเปลือกที่ก้านออกก่อน เมื่อปรุงสุกแล้ว จะทำให้ก้านเห็ดอ่อนนุ่ม

ดอกเห็ดที่เกิดจากบริเวณดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูง ดอกจะใหญ่มาก บางดอกหนักมากกว่า
1 กิโลกรัม  เพาะได้โดยการทำก้อนเชื้อเหมือนเห็ดถุงทั่วๆไป ชอบความชื้นสูง โดยเฉพาะในฤดูฝน แต่การเปิดดอก ให้นำก้อนเชื้อเห็ดโต่งฝนมาฝังในถุงปุ๋ยที่ใส่ดินร่วนผสมกับอินทรียวัตถุในปริมาณ 1:1 หรือฝังลงในดินที่ปูรองพื้นด้วยปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว หรือเพาะในตะกร้าก็ได้ โดยเพาะลงดินเลียนแบบธรรมชาติ สถานที่เพาะเห็ดนี้ จะต้องอยู่ในที่ร่ม เช่นใต้ร่มไม้ใหญ่ อากาศค่อนข้างเย็น  รดน้ำแบบปลูกผัก เห็ดจะงอกภายใน 40 วัน เก็บผลผลิตได้ 4 - 6 เดือน ผลผลิต 1.5-5 กก./ถุงปุ๋ย และเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 1 สัปดาห์

เห็ดโต่งฝนเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นเห็ดที่เพาะง่าย เมื่อนำดอกอ่อนระยะดอกเห็ดรูปกรวยมาเขี่ยเชื้อ แล้วประยุกต์วิธีการเพาะ ก็ให้ผลดี มีการเพาะเห็ดชนิดนี้มานานพอสมควรแล้ว ไม่ต้องสร้างโรงเรือนสำหรับเปิดดอกเห็ดเหมือนเห็ดนางรม นางฟ้า สามารถเพาะแบบเดียวกับเห็ดตีนแรดคือฝังดินตื้นๆ พร้อมกับโรยเมล็ดพันธุ์ผักไปด้วย ได้ทั้งเห็ดได้ทั้งผัก ยังสามารถปลูกในถุงปุ๋ยที่ตัดมุมก้นถุงทั้งสองข้างออก แล้วคลุมทับก้อนเชื้อเห็ดด้วยดินร่วนผสมปุ๋ยอินทรีย์
  สามารถวางถุงเพาะเห็ดกลางแจ้งในหน้าฝนหรือใต้ร่มไม้ฤดูที่ฝนไม่ตก แดดไม่แรง การรดน้ำเห็ดเท่ากับการรดน้ำให้แก่ต้นไม้ไปในตัว น้ำที่ผ่านก้อนเชื้อเห็ด ยังช่วยให้ต้นไม้ได้รับอาหารเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง
การปรุงอาหารจากเห็ดโต่งฝน นั้น จะต้องลอกเอาเนื้อหุ้มก้านดอกออกเสียก่อน ไม่เช่นนั้น มันจะมีลักษณะคล้ายยางขมเฝื่อนติดในลำคอ คล้ายยางที่หุ้มเมล็ดมะม่วงหิมพานต์  ซึ่งเป็น
ลักษณะเฉพาะ หรือ เป็นความโดดเด่นเฉพาะตัวของเห็ดโต่งฝน ยางขมนั้น เป็นสารสำคัญที่มีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรค  คือมีสาร เบต้ากลูแคน ที่ช่วยสร้างภูมิต้านทาน และต่อต้านอนุมูลอิสระ คาดว่าในอนาคตไม่ไกล เห็ดโต่งฝน จะก้าวขึ้นมาเป็นเห็ดเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่มีศักยภาพในเชิงธุรกิจเพื่อการนำมาสกัดสารเบต้ากลูแคนในอนาคตได้ เพราะมีวิธีการเพาะที่ไม่ยุ่งยาก แถมเห็ดที่ได้ ก็ดอกโตมาก คุ้มค่าน่าลงทุนเป็นได้ทั้งอาหารและยา


ธรรมชาติของเห็ดโต่งฝน


เป็นเห็ดที่เจริญเติบโตโดยอาศัยอยู่ภายในท่อนไม้ที่ถูกกลบฝังดินอยู่ โดยมันจะย่อยเศษไม้ เศษพืช แล้วใช้เป็นอาหารในการเจริญเติบโต  เมื่อเส้นใยมีจำนวนมาก ดินมีความชื้นพอดี จะสร้างดอกเห็ดขึ้นมาเหนือผิวดิน ลักษณะคล้ายถ้วยในขณะเล็กแล้วค่อย ๆ บานออก จนรองรับฝนได้

การเพาะในจัตุรัสวิทยาคาร

เก็บเห็ดโต่งฝนดอกอ่อนอายุประมาณ
2-3 วัน ระยะดอกคล้ายรูปกรวยนำเนื้อเยื่อก้านดอกมาเพาะเลี้ยงในอาหารวุ้น PDA. เนื้อเยื่อจากดอกอ่อนจะให้เส้นใยเห็ดที่แข็งแรงเจริญเร็วมาก เขี่ยเชื้อเห็ดแล้ว นำมาเลี้ยงในอาหารวุ้นแบบเห็ดทั่วๆไป ใช้เวลา 8-10 วัน เส้นใยเดินเต็มอาหารวุ้น  แล้วขยายเชื้อไปเลี้ยงในหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้เวลา 12-15 วัน เส้นใยเดินเต็มเมล็ดข้าวฟ่าง  เมื่อเชื้อเจริญเต็มเมล็ดข้างฟ่างแล้ว ก็เพาะลงถุงขี้เลื่อยหรือปุ๋ยหมักผสมขี้เลื่อยรำละเอียด และปูนขาว เหมือนสูตรการเพาะเห็ดทั่วๆ ไปสำหรับที่โรงเรียนในท้องถิ่นมีเปลือกข้าวโพดแห้งจำนวนมากเป็นผลผลิตจากลานรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อสีข้าวโพดเอาเมล็ดแล้วผลพลอยได้เป็นเปลือกข้าวโพดและซังข้าวโพด จำนวนมหาศาลซังข้าวโพดขายเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิง ส่วนเปลือกข้าวโพดเผาทิ้งทำให้เกิดมลพิษ จึงได้นำมาทดลองเพาะเห็ด จนได้สูตรที่เหมาะสมดังนี้ เปลือกข้าวโพดแห้ง 100 ก.ก. น้ำ 65 ก.ก. ผสมทีละน้อยให้เข้ากันเนื่องจากการดูดซับน้ำมีน้อย หมักไว้ 21 วัน กลับกองหมักทุก 3 วัน เพื่อให้เปลือกข้าวโพดอ่อนตัว กองหมักคลุมด้วยผ้าพลาสติก วันที่ 22 ผสมรำละเอียด 5 ก.ก. ปูนขาว 2 ก.ก. (สูตรนี้เพาะเห็ดนางรม นางฟ้า เป๋าฮื้อได้) บรรจุถุงเพาะเห็ด นำไปนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เวลา 3 ช.ม. นำออกจากถังนึ่งทิ้งไว้ให้เย็น ใส่หัวเชื้อเห็ดโต่งฝนที่เตรียมไว้ ปล่อยให้เส้นใยเจริญเต็มถุง ใช้เวลาประมาณ 35 - 45 วัน สำหรับฤดูร้อน  ส่วนฤดูหนาวจำนวนวันจะเพิ่มขึ้น แล้วพักตัวเพื่อให้เส้นใยรัดตัวคล้ายแผ่นสีขาว ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็พร้อมต่อการฝังดินให้เกิดดอกเห็ด    โดยนำไปเพาะแบบแปลง หรือเพาะในกระสอบถุงปุ๋ย  หรือกระบะเพาะ  หรือใช้สูตร  เปลือกข้าวโพด  50  ก.ก.  ฟางข้าว  50  ก.ก.  น้ำ  65 ก.ก. ผสมทีละน้อยให้เข้ากันเนื่องจากการดูดซับน้ำมีน้อย หมักไว้  7 วัน กลับกองหมักทุก 2 วัน เพื่อให้วัสดุเพาะอ่อนตัว กองหมักคลุมด้วยผ้าพลาสติก วันที่ 8 ผสมรำละเอียด 5 ก.ก. ปูนขาว 2 ก.ก. (สูตรนี้เพาะเห็ดนางรม นางฟ้า เป๋าฮื้อได้)  บรรจุถุงนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ 

การเพาะในแปลง

แปลงที่ฝังก้อนเชื้อ จะเป็นใต้ร่มไม้หรือกลางแจ้งก็ได้   ความลึกให้พอฝังก้อนในแนวตั้ง แล้วกลบดินลึกอีก  1-2 นิ้ว  วางก้อนเชื้อเห็ดที่แกะถุงพลาสติกออกแล้ว เรียงติดกัน  5-6  ก้อนหรือมากกว่า วางติดกันไป เส้นใยจะประสานกันเอง   ดินที่คลุมผสมปุ๋ยอินทรีย์ด้วย   รดน้ำให้ชุ่มชื้น เมื่อฝนไม่ตก  แต่อย่าให้น้ำขังแฉะ  หรือจะนำก้อนเห็ดมาเพาะในดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ที่ใส่ในถุงปุ๋ยตัดมุมก้นถุงเพื่อให้ระบายน้ำได้ดี  ดินผสมรองพื้นหนา 6 นิ้ว วางก้อนเชื้อเห็ดที่แกะถุงพลาสติกออกแล้ว เรียงติดกัน  5 ก้อน/ถุง ใส่ดินผสมลงด้านข้างและกลบด้านบนหนา 2 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม จัดวางในร่มทำโครงไม้ไผ่ข้างบน คลุมด้วยผ้าสแลนพรางแสง 80% ใช้ฟางคลุมทับผ้าสแลนเพื่อรักษาความชื้น หลังจากนั้นประมาณ 35-40 วัน ดอกเห็ดจะงอก  นับเป็นเห็ดที่เพาะได้ง่าย ไม่มีวิธีที่ยุ่งยากนัก หากทำการคลุมดิน และรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เห็ดโต่งฝนจะผลิออกมาเป็นกอ จำนวน 2-12 ดอก/กอ น้ำหนัก 1-3 กก. ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุปลูก การเพาะลงถุงจะให้ผลผลิตดีกว่าเพาะลงแปลง เนื่องจากสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมปัจจัยต่างๆ ได้ง่าย

เทคนิคการเพาะเห็ดโต่งฝนลงแปลง

การเลือกพื้นที่ พื้นที่จะใช้ทำแปลงเพาะเห็ดโต่งฝน นั้น ต้องเป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม ทำแปลงขนาด
1 X 2 เมตร  เป็นพื้นที่เรียบ เมื่อรดน้ำ น้ำไหลสะดวก ไม่ท่วมขัง

ใช้ปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว หรืออินทรียวัตถุ เช่นใบไม้แห้ง วัชพืช ปุ๋ยคอก ใส่ลงในแปลงที่เตรียมไว้แล้วใช้ดินร่วนกลบ รดน้ำให้ชุ่ม หมักไว้เป็นเวลา
2 เดือน เป็นการรองปุ๋ยอินทรีย์ก่อนเพาะเห็ด

นำก้อนเชื้อเห็ดโต่งฝนที่เส้นใยเดินเต็มแล้ว เอามาถอดเอาถุงพลาสติกออกก่อน จึงนำก้อนเห็ดที่ได้ไปจัดเรียงลงในแปลงเพาะ (แปลงขนาด 1 X 2 เมตร จะเรียงได้จำนวน 200 ก้อน )ใช้ดินกลบเล็กน้อย เอาฟางคลุมแปลงเพาะอีกครั้ง เพื่อเก็บความชื้น และพรางแสงแดด

หลังจากนั้น ต้องทำโครงไม้ไผ่ครอบแปลง ข้างบนคลุมด้วยผ้าสแลนพรางแสง
80% ใช้ฟางคลุมทับผ้าสแลนเพื่อรักษาความชื้น และต้องรดน้ำให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ แต่อย่าให้แฉะ ในฤดูฝน ฝนตกบ่อยก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ
หลังจากนั้นประมาณ 35 - 40 วัน ดอกเห็ดจะงอก ควรเก็บเห็ดในวันที่ 4 เห็ดจะมีคุณภาพดี เห็ดจะหมุนเวียนออกดอกได้ 4 - 6 เดือน ขึ้นอยู่กับการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ดินมีอินทรีย์วัตถุสูง อุดมสมบูรณ์ มีความชื้นสูง อากาศร้อนอบอ้าว
ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์


1. ก้อนเชื้อเห็ดโต่งฝน เส้นใยมีการเจริญเติบโตที่ช้าอย่างน้อย 35 - 45 วันจึงเดินเต็มถุง ถ้าอากาศหนาวจะช้ากว่านี้อีก วิธีกระตุ้นในฤดูหนาวการพักก้อนเชื้อต้องเป็นห้องที่ป้องกันลมหนาวปะทะก้อนเชื้อเห็ดได้ อากาศเย็นจะทำให้เส้นใยชงักการเจริญ
2. แปลงเพาะเห็ดที่มีอินทรีย์วัตถุมาก ความชื้นพอเหมาะ อากาศที่ร้อนอบอ้าว จะชักนำให้เส้นใยเจริญเติบโตได้ดี ถ้าเพาะลงในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง จะทำให้มีดอกใหญ่ น้ำหนักมาก อินทรียวัตถุต้องผ่านการย่อยสลายที่ดีก่อนนำมาใช้ เนื่องจากจะมีเชื้อราเหลืองและราเขียวปะปนทำให้ผลผลิตลดลงมากหรือไม่มี
3. แปลงเพาะไม่ควรเป็นที่ลุ่ม เพราะจะทำให้น้ำขัง จากการสังเกตพบว่า ถ้ารดน้ำเปียกเกินไป จะทำให้เส้นใยไม่เจริญเติบโต และก้อนเชื้อเห็ดจะเน่าได้





วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

การถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง


การคัดเลือกเชื้อเห็ดขยายพันธุ์และการถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง

เชื้อเห็ดที่เลี้ยงบนอาหารวุ้นเมื่อมีการเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นก็ยังเป็นเชื้อที่อ่อนอยู่ ไม่ควรนำไปใช้ แต่ถ้าทิ้งไว้หลายวันแล้วเชื้อยังไม่ลามเต็มผิวหน้าวุ้น ซึ่งแสดงว่าเส้นใยเดินผิดปกติ เพราะอาจมีเชื้ออื่นปะปนอยู่ ก็ไม่ควรนำมาใช้เช่นกัน ระยะของเชื้อที่เหมาะจะนำมาใช้คือระหว่าง 7 – 10 วัน ไม่ควรเก็บไว้นานกว่านี้เพราะจะเหนียวแก่อ่อนตัวลง ถ้าเชื้อหมดอายุต้องเริ่มต้นเขี่ยเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดใหม่เหมือนวิธีแรก

การถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง

ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่นึ่งเรียบร้อยแล้ว จะยังเป็นเพียงเมล็ดพืชที่ต้มแล้วเท่านั้นถ้ายังไม่ใส่เชื้อเห็ดลงไป เราจึงต้องเอาเชื้อเห็ดจากขวดอาหารวุ้นที่ได้คัดเลือกและเตรียมไว้แล้ว นำมาถ่ายเชื้อหรือต่อเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างเสียก่อนจึงนำไปใช้ได้

การเขี่ยเชื้อจากอาหารวุ้นลงในขวดเชื้อ การปฏิบัติก็ทำเช่นเดียวกันกับการทำอาหารวุ้น คือต้องทำภายในตู้เขี่ยเชื้อ โดยเลือกขวดเชื้อที่เส้นใยเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นใหม่ ๆ ใช้เข็มเขี่ยลนไฟให้ร้อนแดง ตัดเอาอาหารวุ้นที่มีเส้นใยติดมาด้วยให้ชิ้นมีขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ถ้าชิ้นเล็กไปอาจจะแห้งเสียก่อนที่เชื้อจะเจริญออกมา ทำนองเดียวกันถ้าชิ้นโตเกินไปก็อาจทำให้คับปากขวด ทำให้ทำงานไม่สะดวก นำวุ้นวางลงในขวดตรงกลางเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้วิธีเอนขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างเอนกระจายลงแบนราบเล็กน้อย แล้วจึงวางวุ้นลงไปตรงกลาง พอตั้งขวดเมล็ดข้าวฟ่างก็จะกลบชิ้นวุ้นตรงกลางขวดพอดี

การวางเชื้อวุ้นในเมล็ดข้าวฟ่างลักษณะดังกล่าว เส้นใยเห็ดจะเจริญเป็นวงกลมกระจายกันได้ทั่วทั้งขวด เป็นวิธีที่นิยมมากกว่าการวางวุ้นลงด้านบนของเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งเส้นใยเห็ดจะเจริญลามมาจากด้านบนลงมาใช้สำลีอุดปากขวดเช่นเดิม แล้วใช้กระดาษปิดทับรัดด้วยยางทำเช่นนี้ทุกขวด ตามจำนวนที่ต้องการ

นำขวดเชื้อไปวางเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ เพื่อรอให้เส้นใยเจริญเต็มขวด อาจนำไปวางในห้องที่มืดก็ได้เพราะมีรายงานว่าเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เจริญเติบโตได้ดีในขณะที่ไม่มีแสง ประมาณ 8 – 12 วัน เส้นใยก็จะเจริญเต็มเมล็ดข้าวฟ่าง เชื้อที่เส้นใยเจริญเต็มขวดใหม่ ๆ อยู่ในระยะที่แข็งแรงมากเหมาะที่จะนำไปใช้งาน ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป เพราะจะทำให้ความแข็งแรงลดลงเรียกว่าเชื้อแก่ และยิ่งเก็บไว้นานนอกจากมีโอกาสที่เชื้อจะมีเชื้อปนได้ง่าย เชื้อจะเหนียวมากขึ้น การตัดหรือถ่ายเชื้อเมื่อเวลาใช้ก็ทำได้ไม่ค่อยสะดวก

หัวเชื้อชนิดนี้สามารถที่จะนำไปใช้จำหน่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการนำไปลงในก้อนเชื้อได้ทันทีหรืออาจนำมาใช้ใส่ลงในก้อนเชื้อภายในฟาร์มเองก็ได้ การเพิ่มหรือขยายหัวเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่าง ก็มีหลักการเดียวกันกับการเพิ่มจำนวนเชื้อบนอาหารวุ้น คือไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อวุ้นมาเขี่ยใส่เพื่อให้ได้จำนวนมาก ๆ เพียงแต่ใช้หัวเชื้อจากขวดที่เส้นใยเจริญเต็มที่แล้ว ถ่ายใส่ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ประมาณขวดละ 20 – 30 เมล็ด โดยใช้ช้อนที่มีปากแคบและด้ามยาว ตักหรือเทออกมาจากขวดที่มีเส้นใยเจริญเต็มแล้วลงในขวดเมล็ดข้าวฟ่าง ได้ตามจำนวนที่ต้องการ แต่ต้องทำในตู้เขี่ยเชื้อเช่นกันและที่สำคัญต้องไม่ต่อเชื้อมากรุ่นเกินไปเพราะจะทำให้เชื้ออ่อนลงได้ ถ้าหากเห็นว่าเชื้อเริ่มอ่อนลงแล้ว ก็ควรเอาเชื้อจากอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ใหม่ ทำเช่นนี้เราก็จะได้หัวเชื้อที่อยู่ในสภาพแข็งแรง

การเลี้ยงเชื้อเห็ดกับเมล็ดข้าวฟ่าง



การเลี้ยงเชื้อเห็ดกับเมล็ดข้าวฟ่าง

หัวเชื้อเห็ดเป็นสิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดทุกชนิด ธุรกิจเชื้อเห็ดนอกจากจะมีการทำก้อนเชื้อเห็ดขาย

การเพาะให้เกิดดอก อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการผลิตหัวเชื้อเห็ดขาย เมื่อมีการผลิตก้อนเชื้อมากเท่าใดจำนวนหัวเชื้อเห็ดก็ต้องมีการผลิตมากขึ้นตามไปด้วย

การทำหัวเชื้อเห็ดมีขั้นตอนที่ง่ายขึ้นกว่าการเพาะเนื้อเยื่อ โอกาสที่เชื้อจะเสียมีน้อยลงเพราะเส้นใยเห็ดเริ่มอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับวัสดุหมักในธรรมชาติมากขึ้น วัสดุที่จะนำมาใช้ทำหัวเชื้อเห็ดส่วนใหญ่คือเมล็ดพืช ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่าย เช่น เมล็ดข้าวฟ่าง เมล็ดข้าวโพด เมล็ดข้าวเปลือก แต่ที่นิยมและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือเมล็ดข้าวฟ่างเท่านั้น

ขั้นตอนการปฏิบัติการผลิตหัวเชื้อเห็ด

นำเมล็ดข้าวฟ่างมาต้มจนสุกนิ่มพอดีอย่าให้ถึงกับเละ เพราะถ้าเละมากเมื่อกรอกใส่ขวดมักจะเกิดการแฉะก้นขวด และมีโอกาสที่เชื้อราต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อต้มจนสุกพอดีและได้จำนวนตามที่ต้องการแล้ว

จึงนำไปใส่ตระแกรงกรองเอาน้ำออกให้หมด ถ้าหากเมล็ดข้าวฟ่างแฉะมากควรเกลี่ยกระจายผึ่งแดดพอแห้ง ก่อนนำมากรอกใส่ขวด หากนำเอาขี้เลื่อยที่แห้งสนิทและร่อนแล้วจำนวนเล็กน้อยค่อย ๆ ผสมลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วร่อนเอาขี้เลื่อยออกครั้งหนึ่งก่อนกรอกลงขวด ก็จะทำให้เมล็ดข้าวฟ่างกรอกลงขวดได้ง่ายขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหาเมล็ดข้าวฟ่างแฉะได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามหากมีความชำนาญในการต้มเมล็ดข้าวฟ่างแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ขี้เลื่อยผสมเลยก็ได้ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหัวเชื้อเห็ดไม่นิยมผสมขี้เลื่อยมักใช้เมล็ดข้าวฟ่างล้วน ๆ

การกรอกเมล็ดข้าวฟ่าง จะกรอกลงไปเพียงครึ่งขวดหรือประมาณ 2 ใน 3 ของขวด เพื่อช่วยให้เส้นใยเจริญได้รวดเร็ว การกรอกเมล็ดข้าวฟ่างใส่ขวดควรใช้กรวยสวมปากขวดจะช่วยให้กรอกได้ง่ายขึ้นและเพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวฟ่างเปื้อนปากขวด ถ้าหากเปื้อนปากขวดก็ควรเช็ดปากขวดให้สะอาดและแห้ง

ใช้สำลีอุดปากขวดให้แน่นพอดี ไม่ให้หลวมหรือคับเกินไปใช้กระดาษหุ้มทับสำลีอีกชั้นหนึ่งแล้วรัดด้วยยางเพื่อป้องกันสำลีเปียกเวลานึ่ง นำขวดเชื้อไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันให้มีความดัน 15 ปอนด์ต่อ ตารางนิ้ว นาน 30 นาที นึ่งเสร็จแล้วจึงนำออกมาปล่อยให้เย็นสนิท เพื่อรอการนำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ที่เลี้ยงในอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ต่อไป

การผลิตหัวเชื้อเห็ด


เตรียมเมล็ดข้าวฟ่าง บรรจุขวดและฆ่าเชื้อ 121 องศาเซลเซียส เวลา 30 นาที
คัดเลือกเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ

ถ่ายเชื้อเห็ดในสภาพปลอดเชื้อ


การเจริญของเชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่าง


การผลิตหัวเชื้อเห็ด

การทำหัวเชื้อก็เพื่อขยายเชื้อบริสุทธิ์ จากที่เพาะเลี้ยงบนวุ้นให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอและมีสัดส่วนกับวัสดุที่จะใช้เพาะให้เป็นดอกเห็ด วัสดุที่ใช้ทำหัวเชื้อได้แก่กากพืชที่มีจำนวนมากหรือเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว กากถั่ว ขี้เลื่อย เปลือกบัว ซังข้าวโพด ไส้นุ่น ขุยมะพร้าว ผักตบชวาแห้ง เป็นต้น หรือจะใช้เมล็ดธัญพืช เช่น เมล็ดข้าวสาลี เมล็ดข้าวเจ้า เมล็ดข้าวเหนียว วัสดุที่นำมาใช้บางชนิด ต้องเติมอาหารเสริมเพื่อให้มีอาหารที่ช่วยให้เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเร็ว เช่น รำข้าว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ปุ๋ยเคมี วัสดุบางชนิดจำเป็นจะต้องทำการหมักให้เปื่อยเสียก่อน เช่น หัวเชื้อเห็ดฟางส่วนมากนิยมทำจากปุ๋ยหมักโดยใช้เปลือกบัวผสมกับขี้ม้า หมักเปลือกบัวจนเปื่อย การหมักจะต้องหมั่นทำการกลับปุ๋ยบ่อย ๆ เพื่อให้ปุ๋ยเปื่อยเร็วในระหว่างการหมักก็ให้ใส่อาหารเสริมลงไปด้วย เช่น ไส้นุ่น การหมักจะใช้เวลา 3 – 4 อาทิตย์ แล้วบรรจุถุงพลาสติกเพื่อนำไปนึ่งฆ่าเชื้อก่อนที่จะใส่เชื้อบริสุทธิ์ การบรรจุถุงพลาสติกจะต้องอัดให้แน่นพอสมควรและทำช่องว่างตรงกลางโดยเจาะเป็นรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 2 เซนติเมตร ลึกลงไปประมาณ 1/5 ของถุง เพื่อเตรียมหยอดเชื้อบริสุทธิ์ที่จะขยายต่อไป

ถ้าเป็นเมล็ดธัญพืชอาจจะแช่น้ำให้เปลือกนิ่ม หรืออาจจะต้องต้มให้สุกพอนิ่มสำหรับเมล็ดพืชที่มีเปลือกและเนื้อแข็ง เช่น เมล็ดข้าวฟ่าง แล้วจึงบรรจุใส่ขวดนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่ง ฆ่าเชื้อแบบเดียวกับการนึ่งฆ่าเชื้อในการเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ แต่งต้องใช้เวลานานกว่าการนึ่งอาหารวุ้น ( ใช้เวลาประมาณ 30 นาที )

ถ้าเพาะเห็ดหูหนูหรือเห็ดหอม สูตรอาหารก็เปลี่ยนแปลงไปเช่น ใช้ขี้เลื่อยผสมรำ การเปลี่ยนมาใช้ขี้เลื่อยก็เพราะเห็ดหูหนูชอบขึ้นบนไม้ผุจำพวกไม้เนื้ออ่อน ควรจะใช้ขี้เลื่อยชนิดเดียวกับไม้ที่เพาะ แต่ส่วนมากเลือกไม่ได้เพราะเรานำขี้เลื่อยที่เหลือใช้จากการเลื่อยไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งมีปัญหาเห็ดขึ้นได้ไม่ดี เพราะอาจจะเจอขี้เลื่อยไม้เนื้อแข็งหรือขี้เลื่อยของไม้ที่มียางบางชนิด ปัจจุบันมีการใช้จุกไม้แทนขี้เลื่อย เมื่อเชื้อเห็ดเดินเต็มจุกไม้ก็ไปตอกในท่อนไม้ที่เจาะรูไว้

ปัจจุบันการทำหัวเชื้อนิยมใช้หม้อนึ่งแบบลูกทุ่งและบรรจุปุ๋ยหมักในถุงพลาสติก การใช้ความดัน ไอน้ำต่ำกว่า ดังนั้นการใช้หม้อนึ่งชนิดนี้จึงต้องใช้เวลานึ่งนาน ส่วนมากหม้อนึ่งลูกทุ่งนิยมทำด้วยถัง 200 ลิตร

และใช้กาซต้มหรือถ่าน ใช้เวลา 3 – 4 ชั่วโมง ถ้าหม้อนึ่งมีขนาดใหญ่กว่านี้ ก็ต้องเพิ่มเวลาการนึ่ง เป็น 6 – 8 .. เมื่อวัสดุในขวดหรือในถุงพลาสติกผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ต้องทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงใส่ เชื้อบริสุทธิ์ลงไปโดยตัดเชื้อบริสุทธิ์ขนาด 0.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใส่เชื้อเห็ดลงไปอยู่ตรงกลางขวดหรือถุงการใส่ต้องทำอย่างระมัดระวังในห้องสะอาด นำไปเก็บในห้องบ่มเชื้อ 10 – 15 วัน เชื้อจะเดินเต็มขวดหรือถุงพร้อมที่จะนำไปเพาะให้เป็นดอกเห็ด หัวเชื้อเห็ดไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 2 เดือน เพราะเชื้อจะแก่เกินไปควรใช้ภายใน 1 อาทิตย์ หลังจากเชื้อเดินเต็มวัสดุ การทำหัวเชื้อจากเมล็ดธัญพืชเชื้ออาจเดินช้ากว่าปุ๋ยหมักควรเขย่าขวดหลังจากใส่เชื้อบริสุทธิ์แล้ว 4 – 5 วัน


วิธีการรักษาความสะอาดในการผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์

วิธีการรักษาความสะอาดในการผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์

สิ่งที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ด คือ ต้องรักษาความสะอาดตั้งแต่เริ่มต้นถ้าขั้นตอนการผลิตไม่สะอาดจะทำให้เชื้อเห็ดไม่บริสุทธิ์ เมื่อนำไปเพาะให้ออกดอกจึงทำให้ไม่ได้ผลผลิต ตามเป้าหมาย เหตุที่เห็ดไม่ออกดอกเพาะมีเชื้อชนิดอื่นปะปนมา ในการผลิตเห็ดให้ได้มาตรฐานจำเป็นต้องรักษาความสะอาดทั้งในระยะการเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ การเพาะหัวเชื้อ การเพาะในวัสดุหรือแปลง ซึ่งแยกเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

การรักษาความสะอาดในการผลิตเชื้อบริสุทธิ์ ในการผลิตเชื้อบริสุทธิ์จะต้องใช้ห้องเพาะเชื้อที่สะอาด ไม่มีฝุ่นละออง ควรมีตู้กระจกสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อโดยเฉพาะ ซึ่งมีช่องให้มือเข้าไปทำงานได้สะดวก และมีฝาเปิดเพื่อนำเอาเครื่องมือเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์เข้าไปไว้ภายในตู้ก่อนทำการเพาะเลี้ยงเชื้อ เมื่อจะทำการเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์จะต้องเช็ดภายในตู้ให้สะอาด ล้างมือและเช็ดมือให้สะอาดก่อนลงมือทำงาน เครื่องมือทุกชนิดจะต้องสะอาด และทุกครั้งที่มีการใช้เข็มเขี่ยเชื้อ มีด ปากคีบ จะทำการฆ่าเชื้อโดยการจุ่มในแอลกอฮอล์แล้วลนไฟฆ่าเชื้อบริเวณที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ด

เครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น จานแก้ว หลอดแก้ว จะต้องอบฆ่าเชื้อในตู้อบความร้อนแบบอบแห้ง

( hot air oven ) โดยใชความร้อนสูง 120 – 140 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 3 – 4 ชั่วโมง แต่ที่ใช้ทั่วไปคือ 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง หรือจะนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันไอน้ำแบบนึ่งอาหารวุ้น ก็ได้ก่อนนึ่งควรห่อเครื่องมือด้วยกระดาษเสียก่อน

อาหารผสมวุ้นที่ได้เพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ลงไปแล้ว จะต้องนำไปเก็บรักษารอให้เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นเส้นใย ซึ่งจะต้องกินเวลาประมาณ 5 – 7 วัน ก่อนที่จะนำไปใช้ต่อไปซึ่งระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจำเป็นจะต้องหาที่เก็บที่สะอาด เช่นบนชั้นวางของ หรือในตู้เก็บที่มีการป้องกันศัตรูหลายชนิด เช่น มด ไรเห็ด มิให้เข้าไปในอาหาร เพราะศัตรูดังกล่าวนอกจากจะทำลายเส้นใยเห็ดแล้ว ยังนำเอาเชื้อชนิดอื่นปะปนเข้าไปด้วย ทำให้เชื้อเห็ดไม่บริสุทธิ์

ในการเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์โดยการนำเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดวางในจานหรือในขวดอาหารเลี้ยงเชื้อที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว การรักษาความสะอาดเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังให้มาก ในระหว่างการถ่ายเชื้อและเก็บเชื้อบริสุทธิ์ ทุกครั้งที่มีการเขี่ยย้ายเส้นใยเห็ด เข็มเขี่ยจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโดยการจุ่มในแอลกอฮอล์และลนไฟ ข้อสำคัญต้องรอให้เครื่องมือเย็นลงเล็กน้อยจึงจะเขี่ยเชื้อ มิฉะนั้นเส้นใยเห็ดจะถูกความร้อนทำลายได้

ในการเปิดจุกสำลีขวดเพาะเลี้ยงเชื้อ ก็ต้องลนไฟฆ่าเชื้อที่ปากขวดเสียก่อน การเปิดจานแก้วที่มีอาหารเพาะเลี้ยงเชื้ออย่าเปิดกว้างมาก เพราะจะทำให้เชื้อชนิดอื่นในอากาศปะปนเข้าไปได้ง่าย ควรแง้มฝาบนแต่เพียงเล็กน้อยเมื่อจะปิดฝาก็ควรทำด้วยความระมัดระวังและเบามือ ถ้าห้องเก็บเชื้อมีเชื้อชนิดอื่น ๆ และศัตรูมาก ก็ควรทำการอบฆ่าศัตรูต่าง ๆ เสีย โดยใช้ความร้อนจากท่อไอน้ำร้อน หรือแสงอัลตราไวโอเลตหรือสารเคมี

การขยายเชื้อบนอาหารวุ้น

การขยายเชื้อบนอาหารวุ้น

เชื้อเห็ดบนอาหารวุ้นนี้เราจะใช้สำหรับเป็นสต็อคเก็บเชื้อ หรือเพื่อเป็นการขยายพันธุ์เห็ดซึ่งในทางปฏิบัติจะทำกันนาน ๆ ครั้ง และสามารถขยายหรือเพิ่มจำนวนได้การเพิ่มจำนวนเชื้อวุ้นนี้อาจไม่จำเป็นต้องทำไว้มาก ๆ อาจทำไว้พอเพียงแก่การใช้ในครั้งหนึ่ง ๆ และเผื่อเสียเล็กน้อย

ถ้าต้องการเพิ่มจำนวนให้มาก ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นแยกเอามาจากดอกเห็ดอีก แต่จะใช้วิธีตัดเอาเส้นใยในอาหารวุ้นที่เจริญเต็มขวดแล้วประมาณ 1 ตารางเซนติเมตร ใส่ลงบนผิวหน้าขวดวุ้นเปล่า ๆ โดยใช้วิธีการเดียวกับการแยกเนื้อเยื่อ เส้นใยก็จะไปเจริญในขวดเชื้อวุ้นขวดใหม่ต่อไป แต่ข้อควรระวังในการ ถ่ายเชื้อหรือต่อเชื้อเห็ดก็คือ เราไม่ควรต่อเชื้อเกิน 5 – 6 ครั้ง เพราะจะทำให้เชื้ออ่อนลง ดังนั้นการ ถ่ายเชื้อเห็ด เมื่อเห็นว่าได้ทำการต่อเชื้อไปหลายครั้งแล้ว ควรจะต้องใช้เนื้อเยื่อจากดอกเห็ดโดยตรงมาเขี่ยใส่อาหารวุ้นอีกครั้ง มิฉะนั้นแล้วเชื้อจะอ่อนลง จนทำให้ผลผลิตลดลงได้

การนำไปใช้งานตามปกติเราจะไม่ใช้เชื้อวุ้นไปถ่ายลงในก้อนเชื้อในถุงพลาสติกโดยตรงทีเดียว เพราะเป็นวิธีที่สิ้นเปลืองและยุ่งยากมาก มีค่าใช้จ่ายสูงและโอกาสที่เชื้อจะเสียมีมากเพราะเชื้อชนิดนี้มีอาหารที่สมบูรณ์จากแผ่นวุ้น ซึ่งโอกาสที่เชื้ออื่นจะเข้ามาปะปนในขณะที่ถ่ายลงก้อนเชื้อได้ง่าย แต่เราจะนำเอาเชื้อวุ้นไปถ่ายลงในขวดหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างเสียก่อน เพื่อเพิ่มจำนวนเส้นใยเห็ดได้มากไปอีกหลายเท่าตัวก่อนที่จะนำเอาหัวเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่างจำหน่ายหรือไปใช้ในการทำก้อนเชื้อเห็ด