การเจริญของเนื้อเยื่อเห็ดธรรมชาติ เห็ดตาปุ๊ เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดโคน อายุ 14 วัน
หัวเชื้อเห็ด ตีนแรด เห็ดตาปุ๊ เห็ดผือ เห็ดโคน อายุ 14 วัน
ชื่อโครงงาน การศึกษาทดลองผลิตเชื้อเห็ดธรรมชาติที่พบในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ
ชื่อผู้ทำโครงงาน
นายจิรวุฒิ เศรษฐดา
นายศวิตร ทองสันเทียะ
นายคมกฤษ นามกิ่ง
นางสาวเรณู ศิรินอก
ครูที่ปรึกษา นายอนันท์ กล้ารอด
ความสำคัญของโครงงาน
เห็ดธรรมชาติที่พบในท้องถิ่นมีหลายชนิดเป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้าน เนื่องจากมีรสชาติดี ให้ผลผลิตปีละครั้งในฤดูฝนส่วนมากพบตามหัวไร่ปลายนาและป่าสงวนโคกใหญ่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของป่า เต็ง รัง ชาวบ้านบางคนมีอาชีพเสริมเก็บเห็ดขายเนื่องจากมีราคาดี ซึ่งเห็ดธรรมชาติดังกล่าวยังไม่มีผู้ใดสามารถนำมาเพาะให้เกิดผลผลิตขึ้นได้ ผู้จัดทำโครงงานจึงได้ทดลองผลิตเชื้อเห็ดชนิดที่เป็นที่นิยมของชาวบ้าน 4 ชนิด คือ เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ ซึ่งจะทำการทดลอง 2 ขั้นตอนคือ การผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์และการผลิตหัวเชื้อ
จุดประสงค์โครงงาน
1. เพื่อศึกษาวงจรชีวิตเห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊
2. ทดลองเพาะเลี้ยงเยื้อ เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ ในอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีส่วนผสมของมันเลือด เพื่อจะได้เชื้อเห็ดบริสุทธิ์
3. ทดลองเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ ในเมล็ดข้าวฟ่างเพื่อผลิตหัวเชื้อ
4. เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ผลิตเชื้อเห็ดชนิดใหม่ ๆ ตลอดจนประสบการณ์ทำงานกลุ่ม
ข้อมูลวิชาการ
1. วงจรชีวิตเห็ดตีนแรด
1. เห็ดตีนแรด วงศ์ Tricholomataceae ชื่อวิทยาศาสตร์ Tricholoma crassum เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่ ภาคเหนือเรียกว่า เห็ดจั่น ภาคกลางเรียกว่า เห็ดตับเต่าขาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่าเห็ดตีนแรด ดอกเห็ดมีสีขาวหม่นหรือสีเหลืองนวล หมวกรูปครึ่งวงกลมหรือรูปกะทะคว่ำ ผิวเรียบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 25 ซ.ม. ดอกอ่อนมีขอบม้วนงอเข้า ดอกแก่แบนลง ก้านดอกยาว 6 – 15 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 –2.5 ซ.ม. โคนโป่งเป็นกระเปาะใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 – 5 ซ.ม. สีขาวนวล ชอบขึ้นตามโคนไม้ผุเป็นกลุ่ม โคนติดกัน กลุ่มละ 3 – 7 ดอก รับประทานได้มีรสหวาน กลิ่นหอม มีความเหนียวเหมือนเห็ดโคน
2. เห็ดโคน , เห็ดปลวก ชื่อวิทยาศาสตร์ Termitomyces robustus
พบได้ทั่วไปในประเทศไทยในฤดูฝน บนพื้นดินที่จอมปลวก หมวกเห็ดมีขนาดตั้งแต่ 2 – 20 ซ.ม. ผิวด้านบนเรียบหรือมีรอยย่นจีบเล็กน้อย สีน้ำตาลดำหรือสีน้ำตาลเข้ม หมวกยอดแหลมคล้ายหมวกจีนและเนื้อหมวกขาว ด้านล่างครีบหมวกสีขาว ก้านดอกยาว 5 – 20 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 – 1.2 ซ.ม. โคนก้านดอกเหนือดินโปร่งเป็นกระเปาะใหญ่ ส่วนที่ลงไปในดินเรียวเล็กคล้ายรากแก้วพืช รับประทานได้
3. เห็ดตาปุ๊ ชื่อวิทยาศาสตร์ Calvatia craniformis เป็นเห็ดขนาดใหญ่ที่รับประทานได้ ขึ้นทั่วไปตามสนามหญ้า ทุ่งนา เห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุมในฤดูฝน ชาวบ้านนิยมนำเห็ดชนิดนี้มาปรุงอาหารเนื่องจากมีเนื้อนุ่มรสชาติดี ดอกอ่อนของเห็ดเป็นก้อนกลมสีขาว ซึ่งขยายโตขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดของดอกประมาณ 5 – 12 ซ.ม. สูงประมาณ 4 – 10 ซ.ม. เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมชมพูจนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนเมื่อเอามือกดจะรู้สึกอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น
4. เห็ดผือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Agrocybe praecox Fr. เห็ดผือเป็นเห็ดที่ชาวบ้านนิยมบริโภคอีกชนิดหนึ่งเนื่องจากมีรสชาติดี พบในฤดูฝนขึ้นตามสนามหญ้าหรือทุ่งนาที่มีต้นกกสามเหลี่ยม ชาวบ้านเรียกต้นผือดอกเห็ดจะขึ้นเป็นกลุ่มจำนวนมากกระจายกันไปในพื้นที่หลายตารางเมตร พบทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดอกเห็ดเป็นรูปกระทะคว่ำ สีขาวนวลหรือสีเหลืองอมน้ำตาล ผิวเรียบเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 5 ซ.ม. ด้านล่างมีครีบสีม่วงอ่อนอมเทาแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วงแก่อมน้ำตาล ก้านดอกยาว 3 – 7 ซ.ม. รูปทรงกระบอกสีขาวเนื้อในก้านดอกมีรูกลวงเล็ก ๆ
2. ศึกษาข้อมูลการเตรียมอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอน ข้อมูลที่ได้
วิธีการเตรียมอาหารวุ้น PDA.
การเตรียมอาหารวุ้น PDA สูตรอาหารที่ใช้กันมากคือ อาหารวุ้น PDA (Potato Dextrose Agar PDA) ซึ่งสามารถเตรียมได้ง่ายและมีราคาถูก มีส่วนผสมดังนี้
มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 200 กรัม
น้ำตาลกลูโคสหรือเดกซ์โทรส 20 กรัม
วุ้นผง 15 – 20 กรัม
น้ำกลั่นหรือน้ำฝน 1,000 กรัม
สำหรับมันฝรั่งอาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทนได้ เช่น เมล็ดข้าว ผักต่างๆ ถั่วฝักยาว น้ำต้มผัก ข้อสำคัญส่วนผสมที่นำมาใช้เมื่อเวลาต้มไฟอ่อนๆ แล้วจะไม่ขุ่นหรือเปื่อยเละไปก่อน
1. มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็กขนาด 1 X 1 X 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ชั่งให้ได้น้ำหนัก 200 กรัม
2. นำมันฝรั่งไปต้มไฟอ่อน ๆ กับน้ำที่ตวงไว้ 1,000 ซีซี. ( 1 ลิตร ) เป็นเวลา 20 นาที อย่าใช้ไฟแรงจะทำให้น้ำต้มมันฝรั่งขุ่น
3. กรองเอาแต่น้ำใสมาใส่วุ้นผงที่ชั่งไว้ 15 กรัม ตั้งไฟอ่อน ๆ คอยคนอยู่เรื่อย ๆ จนวุ้นละลายใช้เวลาประมาณ 20 นาที แล้วแต่ชนิดของวุ้นที่ละลายเร็ว หรือละลายช้า ในการละลายวุ้นระวังอย่าให้ไหม้หรือวุ้นเดือดออกนอกหม้อ
4. ใส่น้ำตาลกลูโคสที่ชั่งไว้ 20 กรัม คนให้น้ำตาลละลาย ยกลงจากไฟ
5. ใช้กระบอกตวงดูถ้าปริมาณไม่ถึง 1 ลิตร ให้เติมน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นลงไปจนครบ 1 ลิตร แล้วคนให้ทั่ว อาหารที่ผสมแล้วควรจะวัดค่าความเป็นกรดด่างของอาหาร เพื่อให้อาหารวุ้นมีค่า pH ประมาณ 5 – 6 ก่อนที่จะนำไปบรรจุหลอดแก้วทดลองหรือขวดแบน
6. กรอกวุ้นที่ได้ใส่หลอดหรือใส่ขวด อย่าให้วุ้นเปื้อนปากหลอดหรือปากขวดเอาสำลีอุดจุกแล้วเอากระดาษหุ้มมัดยางให้แน่น
7. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใช้เวลา 20 นาที
8. เสร็จแล้วนำออกมาทิ้งไว้ประมาณว่าวุ้นเกือบแข็งตัว ก็นำหลอดหรือขวดมาเอียงเพื่อเพิ่มเนื้อที่ผิวอย่าเอียงเร็วเกินไปเพาะจะทำให้มีหยดน้ำเกาะที่ผิววุ้นและข้างหลอดหรือข้างขวดมากเกินไป
3. ศึกษาข้อมูลการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ในอาหารวุ้น จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้
ความหมายของการแยกเชื้อเห็ด
การแยกเชื้อเห็ดคือ การนำเอาดอกเห็ดหรือสปอร์มาเพาะให้เห็ดเจริญขึ้นเป็นเส้นใยเพื่อใช้ขยายพันธุ์ไปทำหัวเชื้อต่อไป งานในขั้นนี้จะเลี้ยงเส้นใยเห็ดบนวุ้น PDA. การแยกเชื้อเห็ดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากสปอร์ วิธีนี้นิยมทำกันเฉพาะนักวิชาการที่ต้องการศึกษาสายพันธุ์เห็ด
และการผสมพันธุ์ โดยการแยกสปอร์เดี่ยวบนอาหารวุ้น โดยเฉพาะเห็ดที่มีดอกบาง เช่น เห็ดหูหนู ไม่นิยมทำกันในระดับฟาร์มหรือเกษตรกร
2. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อ ซึ่งทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อเยื่อในลำต้นเห็ดมาเลี้ยงบน อาหารวุ้น เรียกว่า วิธี “ทิชชูคัลเจอร์” ใช้กับเห็ดดอกขนาดใหญ่ และสามารถตัดเนื้อเยื่อมาเลี้ยงได้ง่ายเหมาะกับเห็ดนางรม - เห็ดนางฟ้า เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากและได้ผลตรงตามพันธุ์เดิมทุกประการ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแยกเชื้อเห็ด
1. เข็มเขี่ยเชื้อ ทำด้วยโลหะผสม ซึ่งมีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว เย็นเร็ว ด้ามทำด้วยอลูมิเนียม เวลาใช้ต้องฆ่าเชื้อเสียก่อน โดยการลนไฟที่ปลายลวดเข็มเขี่ยเชื้อจนร้อนแดง แล้วทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำไปตัดเนื้อเยื่อจากดอกเห็ด
2. ตะเกียงแอลกอฮอล์ ใช้สำหรับลนไฟฆ่าเชื้อเข็มเขี่ยและเครื่องมือในการปฏิบัติงานให้สะอาดโดยใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ เพราะร้อนเร็วไม่มีควัน
3. ตู้เขี่ยเชื้อ เป็นตู้ที่สร้างขึ้นมาสำหรับงานด้านนี้โดยเฉพาะลักษณะของตู้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบ ด้านหน้าตัดเป็นรูปคางหมูและติดกระจกให้สามารถมองเห็นสิ่งของและปฏิบัติงานภายในได้ มีช่องตรงกลางทำเป็นประตูเปิดปิดสำหรับยกขวดเชื้อเข้าออก ด้านข้างของประตูทั้งสองเจาะรูสำหรับใช้มือล้วงเข้าไปปฏิบัติงานในตู้ได้ โดยมีผ้าทำเป็นปลอกสำหรับหุ้มมือ ป้องกันลมภายนอกพัดเข้ามาภายใน
เวลาใช้ก็ยกสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าไปไว้ภายในแล้วปิดช่องเสียไม่ให้ลมพัดเข้าไป แต่ด้านบนของตู้ควรมีช่องให้อากาศหรือลมร้อนระบายออกได้เล็กน้อย ก่อนใช้งานจะต้องเช็ดตู้ฆ่าเชื้อภายในให้ทั่วด้วยแอลกอฮอล์เสียก่อน บางทีอาจใช้หลอดไฟอุลตร้าไวโอเล็ตมาติดภายในตู้เวลาไม่ได้ใช้งาน ก็เป็นการฆ่าเชื้อในตู้นี้ได้อีกมาก แต่ไม่ค่อยนิยมในระดับฟาร์มเห็ดทั่วไปนักเพราะอาจมีอันตรายได้
การเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อภายในก้านดอก
วิธีนี้เหมาะสำหรับเห็ดที่มีก้านใหญ่ และเห็ดที่ไม่มีเปลือกหุ้มดอกอ่อน เช่น เห็ดตับเต่าขาว เห็ดตีนแรด ซึ่งเป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่มาก เห็ดบางชนิดมีก้านดอกใหญ่ก็จริง แต่ภายในก้านดอกจะมีแมลงเข้าไปเจาะไชกินจนพรุนก็ไม่ควรใช้วิธีนี้ เห็ดฟางเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการนี้ก็ได้ผลดีและนิยมทำกันมาก วิธีทำเมื่อคัดเลือกดอกเห็ดตามลักษณะที่ต้องการแล้ว วางในจานแก้ว ใช้มีดที่ฆ่าเชื้อแล้วผ่าเห็ดเป็น 2 ส่วน ใช้ เข็มเขี่ยเชื้อที่ฆ่าเชื้อแล้วกรีดเนื้อเห็ดตรงกลางก้านดอก เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตักขึ้นถ่ายใส่จานอาหารหรือ ขวดอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อ ข้อควรระวังคือความสะอาด ทุกครั้งต้องใช้เข็มเขี่ยเชื้อที่บริสุทธิ์จริง ๆ
4. ศึกษาข้อมูลการทำหัวเชื้อเห็ด จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้
การเลี้ยงเชื้อเห็ดกับเมล็ดข้าวฟ่าง
หัวเชื้อเห็ดเป็นสิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดทุกชนิด ธุรกิจเชื้อเห็ดนอกจากจะมีการทำก้อนเชื้อเห็ดขาย การเพาะให้เกิดดอก อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการผลิตหัวเชื้อเห็ดขาย เมื่อมีการผลิตก้อนเชื้อมากเท่าใดจำนวนหัวเชื้อเห็ดก็ต้องมีการผลิตมากขึ้นตามไปด้วย
การทำหัวเชื้อเห็ดมีขั้นตอนที่ง่ายขึ้นกว่าการเพาะเนื้อเยื่อ โอกาสที่เชื้อจะเสียมีน้อยลงเพราะเส้นใยเห็ดเริ่มอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับวัสดุหมักในธรรมชาติมากขึ้น วัสดุที่จะนำมาใช้ทำหัวเชื้อเห็ดส่วนใหญ่คือเมล็ดพืช ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่าย เช่น เมล็ดข้าวฟ่าง เมล็ดข้าวโพด เมล็ดข้าวเปลือก แต่ที่นิยมและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือเมล็ดข้าวฟ่างเท่านั้น
ขั้นตอนการปฏิบัติการผลิตหัวเชื้อเห็ด
นำเมล็ดข้าวฟ่างมาต้มจนสุกนิ่มพอดีอย่าให้ถึงกับเละ เพราะถ้าเละมากเมื่อกรอกใส่ขวดมักจะเกิดการแฉะก้นขวด และมีโอกาสที่เชื้อราต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อต้มจนสุกพอดีและได้จำนวนตามที่ต้องการแล้ว จึงนำไปใส่ตระแกรงกรองเอาน้ำออกให้หมด ถ้าหากเมล็ดข้าวฟ่างแฉะมากควรเกลี่ยกระจายผึ่งแดดพอแห้ง ก่อนนำมากรอกใส่ขวด หากนำเอาขี้เลื่อยที่แห้งสนิทและร่อนแล้วจำนวนเล็กน้อยค่อย ๆ ผสมลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วร่อนเอาขี้เลื่อยออกครั้งหนึ่งก่อนกรอกลงขวด ก็จะทำให้เมล็ดข้าวฟ่างกรอกลงขวดได้ง่ายขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหาเมล็ดข้าวฟ่างแฉะได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามหากมีความชำนาญในการต้มเมล็ดข้าวฟ่างแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ขี้เลื่อยผสมเลยก็ได้ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหัวเชื้อเห็ดไม่นิยมผสมขี้เลื่อยมักใช้เมล็ดข้าวฟ่างล้วน ๆ
การกรอกเมล็ดข้าวฟ่าง จะกรอกลงไปเพียงครึ่งขวดหรือประมาณ 2 ใน 3 ของขวด เพื่อช่วยให้เส้นใยเจริญได้รวดเร็ว การกรอกเมล็ดข้าวฟ่างใส่ขวดควรใช้กรวยสวมปากขวดจะช่วยให้กรอกได้ง่ายขึ้นและเพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวฟ่างเปื้อนปากขวด ถ้าหากเปื้อนปากขวดก็ควรเช็ดปากขวดให้สะอาดและแห้ง
ใช้สำลีอุดปากขวดให้แน่นพอดี ไม่ให้หลวมหรือคับเกินไปใช้กระดาษหุ้มทับสำลีอีกชั้นหนึ่งแล้วรัดด้วยยางเพื่อป้องกันสำลีเปียกเวลานึ่ง นำขวดเชื้อไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันให้มีความดัน 15 ปอนด์ต่อ ตารางนิ้ว นาน 25 นาที นึ่งเสร็จแล้วจึงนำออกมาปล่อยให้เย็นสนิท เพื่อรอการนำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ที่เลี้ยงในอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ต่อไป
การคัดเลือกเชื้อเห็ดขยายพันธุ์และการถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟฟ่าง
อายุของเชื้อเห็ดที่เหมาะสมในการนำไปใช้
เชื้อเห็ดที่เลี้ยงบนอาหารวุ้นเมื่อมีการเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นก็ยังเป็นเชื้อที่อ่อนอยู่ ไม่ควรนำไปใช้ แต่ถ้าทิ้งไว้หลายวันแล้วเชื้อยังไม่ลามเต็มผิวหน้าวุ้น ซึ่งแสดงว่าเส้นใยเดินผิดปกติ เพราะอาจมีเชื้ออื่นปะปนอยู่ ก็ไม่ควรนำมาใช้เช่นกัน ระยะของเชื้อที่เหมาะจะนำมาใช้คือระหว่าง 7 – 10 วัน ไม่ควรเก็บไว้นานกว่านี้เพราะจะเหนียวแก่อ่อนตัวลง ถ้าเชื้อหมดอายุต้องเริ่มต้นเขี่ยเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดใหม่เหมือนวิธีแรก
การถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง
ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่นึ่งเรียบร้อยแล้ว จะยังเป็นเพียงเมล็ดพืชที่ต้มแล้วเท่านั้นถ้ายังไม่ใส่เชื้อเห็ดลงไป เราจึงต้องเอาเชื้อเห็ดจากขวดอาหารวุ้นที่ได้คัดเลือกและเตรียมไว้แล้ว นำมาถ่ายเชื้อหรือต่อเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างเสียก่อนจึงนำไปใช้ได้
การเขี่ยเชื้อจากอาหารวุ้นลงในขวดเชื้อ การปฏิบัติก็ทำเช่นเดียวกันกับการทำอาหารวุ้น คือต้องทำภายในตู้เขี่ยเชื้อ โดยเลือกขวดเชื้อที่เส้นใยเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นใหม่ ๆ ใช้เข็มเขี่ยลนไฟให้ร้อนแดง ตัดเอาอาหารวุ้นที่มีเส้นใยติดมาด้วยให้ชิ้นมีขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ถ้าชิ้นเล็กไปอาจจะแห้งเสียก่อนที่เชื้อจะเจริญออกมา ทำนองเดียวกันถ้าชิ้นโตเกินไปก็อาจทำให้คับปากขวด ทำให้ทำงานไม่สะดวก นำวุ้นวางลงในขวดตรงกลางเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้วิธีเอนขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างเอนกระจายลงแบนราบเล็กน้อย แล้วจึงวางวุ้นลงไปตรงกลาง พอตั้งขวดเมล็ดข้าวฟ่างก็จะกลบชิ้นวุ้นตรงกลางขวดพอดี
การวางเชื้อวุ้นในเมล็ดข้าวฟ่างลักษณะดังกล่าว เส้นใยเห็ดจะเจริญเป็นวงกลมกระจายกันได้ทั่วทั้งขวด เป็นวิธีที่นิยมมากกว่าการวางวุ้นลงด้านบนของเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งเส้นใยเห็ดจะเจริญลามมาจากด้านบนลงมาใช้สำลีอุดปากขวดเช่นเดิม แล้วใช้กระดาษปิดทับรัดด้วยยางทำเช่นนี้ทุกขวด ตามจำนวนที่ต้องการ
นำขวดเชื้อไปวางเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ เพื่อรอให้เส้นใยเจริญเต็มขวด อาจนำไปวางในห้องที่มืดก็ได้เพราะมีรายงานว่าเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เจริญเติบโตได้ดีในขณะที่ไม่มีแสง ประมาณ 8 – 12 วัน เส้นใยก็จะเจริญเต็มเมล็ดข้าวฟ่าง เชื้อที่เส้นใยเจริญเต็มขวดใหม่ ๆ อยู่ในระยะที่แข็งแรงมากเหมาะที่จะนำไปใช้งาน ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป เพราะจะทำให้ความแข็งแรงลดลงเรียกว่าเชื้อแก่ และยิ่งเก็บไว้นานนอกจากมีโอกาสที่เชื้อจะมีเชื้อปนได้ง่าย เชื้อจะเหนียวมากขึ้น การตัดหรือถ่ายเชื้อเมื่อเวลาใช้ก็ทำได้ไม่ค่อยสะดวก
หัวเชื้อชนิดนี้สามารถที่จะนำไปใช้จำหน่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการนำไปลงในก้อนเชื้อได้ทันทีหรืออาจนำมาใช้ใส่ลงในก้อนเชื้อภายในฟาร์มเองก็ได้ การเพิ่มหรือขยายหัวเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่าง ก็มีหลักการเดียวกันกับการเพิ่มจำนวนเชื้อบนอาหารวุ้น คือไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อวุ้นมาเขี่ยใส่เพื่อให้ได้จำนวนมาก ๆ เพียงแต่ใช้หัวเชื้อจากขวดที่เส้นใยเจริญเต็มที่แล้ว ถ่ายใส่ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ประมาณขวดละ 20 – 30 เมล็ด โดยใช้ช้อนที่มีปากแคบและด้ามยาว ตักหรือเทออกมาจากขวดที่มีเส้นใยเจริญเต็มแล้วลงในขวดเมล็ดข้าวฟ่าง ได้ตามจำนวนที่ต้องการ แต่ต้องทำในตู้เขี่ยเชื้อเช่นกันและที่สำคัญต้องไม่ต่อเชื้อมากรุ่นเกินไปเพราะจะทำให้เชื้ออ่อนลงได้ ถ้าหากเห็นว่าเชื้อเริ่มอ่อนลงแล้ว ก็ควรเอาเชื้อจากอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ใหม่ ทำเช่นนี้เราก็จะได้หัวเชื้อที่อยู่ในสภาพแข็งแรง
การรักษาความสะอาดในการผลิตหัวเชื้อเห็ด
การรักษาความสะอาดในการผลิตหัวเชื้อ ส่วนผสมที่ใช้เป็นอาหารในการผลิตหัวเชื้อจำพวกกากพืช ควรคัดเลือกเฉพาะที่ไม่มีเชื้อโรคติดมา เช่น ฟางไม่ควรมีเชื้อราในดินติดมาด้วย ที่สำคัญคือเชื้อราเพราะจะไประบาดในแปลงได้ นอกจากนี้ ก็อาจพบราเขียวและราดำบางชนิด ซึ่งถ้าพบควรคัดทิ้งเสียควรใช้วัสดุที่ใหม่และสะอาด
วัสดุที่ใช้เพาะเลี้ยงมีส่วนผสมแตกต่างกันไปที่ใช้กันมากได้แก่ ฟางข้าว เมล็ดข้าวฟ่าง ข้าวโพดป่น ขี้เลื่อย ผสมกับอาหารเสริมจำพวกรำข้าว น้ำตาล และปุ๋ยมูลสัตว์ ซึ่งจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะใส่เชื้อบริสุทธิ์ลงไป หัวเชื้อที่มีจำหน่ายในท้องตลาดส่วนมากมีการนึ่งฆ่าเชื้อ ที่ไม่ได้ใช้ความดันไอน้ำและเวลานึ่งที่เพียงพอ ความร้อนจึงฆ่าเชื้อได้ไม่หมด อาหารผสมจึงมีเชื้อชนิดอื่นปะปนหลังจากนึ่ง ฆ่าเชื้อแล้ว ทำให้หัวเชื้อเสียเร็ว ในการนึ่งแต่ละครั้งจำนวนอาหารผสมในภาชนะ ที่นำมานึ่งฆ่าเชื้อนั้นมีจำนวนมาก ความร้อนที่ใช้นึ่งและระยะเวลาที่ใช้ในการนึ่งไม่ได้สัดส่วนกัน ถ้านึ่งครั้งละมาก ๆ ก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยและแก้ไขปรับปรุงให้มีความดันสูงและระยะเวลานานขึ้น สำหรับผู้ที่เตรียมอาหารเพียง เล็กน้อย ควรใช้หม้อนึ่งความดันไอที่มีความร้อน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 30 นาที ถ้าการนึ่งด้วยความร้อนและระยะเวลาไม่เพียงพอจะทำให้เกิดปัญหาหัวเชื้อไม่บริสุทธิ์อยู่เสมอ
ในโรงเรือนที่ผสมหัวเชื้อจะต้องสะอาด ต้องทำความสะอาดทุกครั้งที่ทำงานเสร็จ หัวเชื้อที่ไม่บริสุทธิ์ต้องทำลายและอย่าทิ้งให้เป็นแหล่งสะสมในบริเวณใกล้เคียงกับที่เพาะเชื้อเห็ด
วิธีดำเนินการ
1. ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด หนังสือการเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2. ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
3. จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
4. จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่น วัสดุอุปกรณ์เตรียมอาหารวุ้น วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด วัสดุอุปกรณ์การทำหัวเชื้อเห็ด
5. กำหนดแผนการปฏิบัติงาน
6. ปฏิบัติงานตามขั้นตอน
7. ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน
แผนปฏิบัติงาน
สัปดาห์ที่
รายการกิจกรรม
จำนวนคาบ
หมายเหตุ
1
1.ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด หนังสือการเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2
นอกเวลาเรียน
2
2.ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
2
นอกเวลา
3
3.จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
4
นอกเวลา
4-6
4.จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่น วัสดุอุปกรณ์เตรียมอาหารวุ้น วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด วัสดุอุปกรณ์การทำหัวเชื้อเห็ด
4
นอกเวลา
7-9
5.กำหนดแผนการปฏิบัติงานและปฏิบัติงานตามขั้นตอน
4
นอกเวลา
10
6. ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน
4
นอกเวลา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้รู้วงจรชีวิตเห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊
2. ได้ทักษะและประสบการณ์การผลิตอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊
3. ได้ทักษะและประสบการณ์การผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊
4. ได้ทักษะและประสบการณ์การผลิตหัวเชื้อเห็ด เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ
เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.
ความเห็นครูที่ปรึกษา
โครงงานนี้เป็นความคิดริเริ่มที่ดีถ้าเราสามารถเพาะเห็ดธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นได้ จะมีตลาดรองรับและได้ราคาดี นักเรียนจะได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ เมื่อทำโครงงานแล้วพบปัญหาอะไรให้ปรึกษาครู
รายงานโครงงานเกษตรกรรม
ชื่อโครงงาน การศึกษาทดลองผลิตเชื้อเห็ดธรรมชาติที่พบในท้องถิ่น
ชื่อผู้ทำโครงงาน
นายจิรวุฒิ เศรษฐดา
นายศวิตร ทองสันเทียะ
นายคมกฤษ นามกิ่ง
นางสาวเรณู ศิรินอก
ครูที่ปรึกษา นายอนันท์ กล้ารอด
บทคัดย่อ
จุดมุ่งหมายในการทำโครงงานการศึกษาทดลองผลิตเชื้อเห็ดธรรมชาติที่พบในท้องถิ่น
1. ศึกษาวงจรชีวิตเห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊
2. ทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ ในอาหารวุ้นเพื่อผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์
3. ทดลองเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ ในเมล็ดข้าวฟ่างเพื่อผลิตหัวเชื้อเห็ด
4. สร้างเสริมประสบการณ์ ผลิตเชื้อเห็ดชนิดใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน
เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ ตามธรรมชาติจะพบในบริเวณที่เคยเกิดขึ้นของทุก ๆ ปี ในฤดูฝน เนื่องมาจากมีสปอร์ของเห็ดดังกล่าวร่วงหล่นอยู่ในบริเวณนั้น ๆ เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคือมีความชื้นสูง อินทรีย์วัตถุอุดมสมบูรณ์ อากาศร้อนอบอ้าว สปอร์จะเจริญเติบโตแบ่งเซลเป็นเส้นใยจำนวนมาก เมื่อเส้นใยเห็ดรวมตัวกันจะเป็นก้อนดอกเห็ดเล็ก ๆ และพัฒนาโตขึ้นจนกระทั่งเป็นดอกสมบูร์และปล่อยสปอร์สู่พื้นดินอีกครั้ง
จากการศึกษาทดลองพบว่าเชื้อเห็ดทั้ง 4 ชนิด เจริญเติบโตได้ดีในอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีสูตรมันเลือดเป็นส่วนผสม จนได้เชื้อเห็ดบริสุทธิ์ เมื่อนำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ไปผลิตเป็นหัวเชื้อโดยเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่างที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว พบว่ามีเพียงเชื้อเห็ดตีนแรดเท่านั้นที่เจริญเติบโตได้ดี ส่วนที่เหลือเจริญเติบโตเกิดเส้นใยน้อยมาก โดยเฉพาะเห็ดผือไม่มีการเจริญเติบโตเลย
วิธีการดำเนินงาน
1.การเตรียมอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมได้แก่ มันเลือด น้ำตาลกลูโคส ผงวุ้น น้ำ ขวดแบน สำลี
กระดาษ ยางรัด มีด หม้อ ทับพี เตาแกส ถังแกส หม้อนึ่งความดัน
2. ปอกเปลือกมันเลือดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาด 1 ลบ. เซนติเมตร จำนวน 200 กรัม
3. นำไปต้มไฟอ่อน ๆ กับน้ำ 1 ลิตร เวลา 20 นาที
4. กรองเอาแต่น้ำใสมาใส่ผงวุ้น 15 กรัม ที่ชั่งไว้ตั้งไฟอ่อน ๆ คนให้ทั่วจนวุ้นละลายใช้เวลา 20 นาที ใส่น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม คนให้ละลายเข้ากันตวงปริมาณดูถ้าไม่ครบ 1 ลิตร ให้เติมน้ำร้อนจนครบ 1 ลิตร คนให้เข้ากัน
5. นำอาหารวุ้นที่ได้บรรจุลงในขวดแบน ¼ ของขวดปิดปากขวดด้วยสำลีกระดาษปิดทับยางรัดอีกครั้ง ให้ได้ 20 ขวด
6. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดันให้ได้ 15 ปอนด์ / ตร.นิ้ว เป็นเวลา 20 นาที
7. เมื่อครบกำหนดเวลาให้นำขวดอาหารวุ้นออกจากหม้อนึ่งความดันวางลงบนพื้นที่เอียงเพื่อทำให้ปริมาณ ผิวหน้าวุ้นมากขึ้นปล่อยไว้ให้เย็นแข็งตัว เพื่อนำไปใช้งานต่อไป
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. มันเลือด น้ำตาลกลูโคส ผงวุ้น น้ำ ขวดแบน สำลี กระดาษ ยางรัด มีด หม้อ ทับพี เตาแกส ถังแกส หม้อนึ่งความดัน
ข้อควรระวัง
1. การบรรจุอาหารวุ้นลงขวดพยามยามอย่าให้เปรอะเปื้อนคอขวดหรือปากขวด จะทำให้เชื้อราชนิดอื่นในอากาศที่ไม่ต้องการเจริญลามเข้าไปในขวดได้
2. อย่าลดความดันโดยการเปิดรูระบายไอน้ำออกทันทีจะทำให้อาหารวุ้นเดือดขึ้นมาเปียกจุกสำลีต้องค่อย ๆ ลดความดันลง
2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมได้แก่ ดอกเห็ด เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ ที่สมบูรณ์ไม่แก่เกินไปดอกยังไม่ปล่อย สปอร์ เป็นดอกสะอาดและใหม่ เข็มเขี่ยเชื้อ มีดผ่าตัด ตะเกียงแอลกอฮอร์ ตู้เขี่ยเชื้อ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี ขวดอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
2. ทำการฆ่าเชื้อภายในตู้เขี่ยเชื้อด้วยแอลกอฮอร์เช็ดให้ทั่วและทำการฆ่าเชื้อวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างด้วย แอลกอฮอร์ก่อนนำเข้าตู้เขี่ยเชื้อ รวมทั้งฆ่าเชื้อที่มือด้วย
3. เอาเข็มเขี่ยเชื้อลนไฟจนปลายเข็มแดงทิ้งไว้ให้เย็นขณะที่รอเข็มเย็น ใช้มีดผ่าตัดที่ผ่านการลนไฟฆ่าเชื้อและเย็นแล้ว ผ่าเห็ดทั้ง 4 ชนิด จากขอบดอกลงมาตามแนวยาวให้ดอกแยกออกเป็น 2 ซีก ต้องระวังไม่ให้สิ่งใดๆ สัมผัสส่วนของดอกที่ผ่าออกได้แก่ ก้านดอก ส่วนกลางดอก
4. บริเวณเนื้อเยื่อที่เพิ่งผ่าออกใหม่ๆ ใช้เข็มเขี่ยตัดเนื้อเยื่อดอกเห็ดออกเป็นชิ้นเล็กๆ ตรงบริเวณก้านดอกกับหมวกดอกซึ่งเป็นส่วนสมบูรณ์ที่สุด
5. เมื่อได้เนื้อเยื่อแล้ววางดอกเห็ดที่มือข้างที่จับลงเปลี่ยนมาจับขวดอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แทนใช้มือจับขวดอาหารวุ้นให้ก้นขวดอยู่ในอุ้งมือจากนั้นใช้นิ้วก้อยกับฝ่ามือที่จับเข็มเขี่ยจับเอาจุกสำลีที่ปากขวดดึงออกนำปากขวดลนไฟกับตะเกียงแอลกอฮอร์
6. นำเอาเนื้อเยื่อเห็ดผ่าเปลวไฟอย่างรวดเร็วสอดเข้าไปในขวด วางบนผิวกลางอาหารวุ้นลนไฟที่คอปากขวดอีกครั้งแล้วปิดจุกสำลีเช่นเดิม นำขวดเชื้อเห็ดไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติ ประมาณ 10 วัน เส้นใยเดินเต็มหน้าอาหารวุ้น
7. ปฏิบัติเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดชนิดละ 5 ขวด พร้อมจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเห็ดบนอาหารวุ้น
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. ดอกเห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ที่สมบูรณ์สะอาดและใหม่
2. ขวดอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ มีดผ่าตัด ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี
ข้อควรระวัง
1. การปฏิบัติงานวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดต้องผ่านการฆ่าเชื้อและต้องมั่นใจว่าทุกขั้นตอนในการปฏิบัติงานปลอดเชื้อ
2. ดอกเห็ดต้องสมบูรณ์ สะอาดและใหม่
1. การทำหัวเชื้อเห็ด
1.การเตรียมเมล็ดข้าวฟ่างสำหรับทำหัวเชื้อเห็ด
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. นำวัสดุ อุปกรณ์ เตรียมให้พร้อม เพียงพอสำหรับการทำหัวเชื้อจำนวน 40 ขวด ซึ่งได้แก่ขวดแบน เมล็ดข้าวฟ่าง หม้อต้ม ทัพพี หม้อนึ่งความดัน เตาแกส ถังแกส สำลี กระดาษ ยางรัด กรวย
2. นำเมล็ดข้าวฟ่างมาต้มจนสุก นิ่ม อย่าให้ถึงกับเละถ้าเละเมื่อกรอกใส่ขวดจะเกิดการแฉะที่ก้นขวด มีโอกาสที่เชื้อราต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย
3. นำเมล็ดข้าวฟ่างที่ต้มแล้วใส่ตะแกรงกรองเอาน้ำออกให้หมด นำไปผึ่งแดดพอแห้ง
4. กรอกเมล็ดข้าวฟ่างลงขวดโดยใช้กรวย ให้ได้ปริมาณ 2/3 ของขวด ขณะกรอกต้องพยายามไม่ให้เปื้อน ปากขวด จากนั้นใช้สำลีอุดปากขวดให้แน่นพอดี กระดาษหุ้มทับสำลีอีกชั้นหนึ่งแล้วรัดด้วยยาง
5. นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันให้มีความดันไอน้ำ 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว นาน 25 นาที แล้วนำออกมาปล่อยให้เย็น เพื่อรอการนำเชื้อเห็ดที่เลี้ยงในอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ในวันรุ่งขึ้นต่อไป
6. ทำการเตรียมเมล็ดข้าวฟ่างสำหรับทำหัวเชื้อเห็ด 40 ขวด
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. ขวดแบน เมล็ดข้าวฟ่าง หม้อต้ม ทัพพี หม้อนึ่งความดัน เตาแกส ถังแกส สำลี กระดาษ ยางรัด กรวย
ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรต้มเมล็ดข้าวฟ่างจนเละเพราะจะทำให้เกิดการแฉะที่ก้นขวด อันเป็นสาเหตุการเกิดเชื้อราได้ง่าย
2. การนึ่งฆ่าเชื้อต้องให้ได้ความดัน 15 ปอนด์/ ตารางนิ้ว นาน 25 นาที จึงทำลายจุลินทรีย์ทั้งหมดได้
2. การถ่ายเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. ทำการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งาน ได้แก่ ขวดเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ที่เลี้ยงในอาหารวุ้น เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ ขวดเมล็ดข้าวฟ่าง ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี
2. ทำการฆ่าเชื้อภายในตู้เขี่ยเชื้อ โดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอร์เช็ดให้ทั่ว ฆ่าเชื้อวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดแล้วนำเข้า ตู้เขี่ยเชื้อ ทำความสะอาดมือแล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ
3. ทำการคัดเลือกขวดเชื้อเห็ดที่เส้นใยเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นใหม่ๆ 1 ขวด เช็ดด้วยแอลกอฮอร์ ฆ่าเชื้อ นำเข้าตู้เขี่ยเชื้อ ดึงจุกสำลีปากขวดออกพร้อมกับลนไฟปากขวดให้ร้อน
4. ใช้เข็มเขี่ยเชื้อลนไฟให้ร้อนจนแดง ปล่อยให้เย็นสอดเข้าไปในขวด ตัดเอาอาหารวุ้นที่มีเส้นใยติดมาด้วยให้ชิ้นขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ดึงจุกสำลีปากขวดเมล็ดข้าวฟ่างออก ลนไฟปากขวดให้ร้อน ใช้เข็มเขี่ยเชื้อ นำชิ้นอาหารวุ้นที่มีเส้นใยเห็ด วางลงในขวดตรงกลางเมล็ดข้าวฟ่าง โดยเอนขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายลง แบนราบเล็กน้อยแล้วจึงวางวุ้น ตรงกลางพอตั้งขวดเมล็ดข้าวฟ่างก็จะกลบชิ้นวุ้นตรงกลางขวดพอดี ทำการลนไฟที่ปากขวดเชื้อเห็ดและขวดเมล็ดข้าวฟ่างให้ร้อนแล้วปิดจุกสำลี
5. ปฏิบัติการถ่ายเชื้อเห็ดทั้ง 4 ชนิด ลงในเมล็ดข้าวฟ่างชนิดละ 10 ขวด พร้อมสังเกตบันทึกผลการเปลี่ยนแปลง 10 วัน
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. ขวดเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ที่เลี้ยงในอาหารวุ้น เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
2. ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี
ข้อควรระวัง
1. เชื้อเห็ดบนอาหารวุ้นที่ตัดต้องมีขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ถ้าเล็กไปอาจแห้งเสียก่อนที่เชื้อจะเจริญเติบโต ถ้าชิ้นโตเกินไปทำให้คับปากขวด ไม่สะดวกในการทำงาน
2. ต้องวางชิ้นเชื้อเห็ดตรงกลางเมล็ดข้าวฟ่าง จะทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
ผลการศึกษา
1. ในการเตรียมอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ใช้มันเลือดแทนมันฝรั่งเนื่องจากหาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม่มีขวดเสีย
2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ เพื่อผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์หลังเพาะเลี้ยง 14 วัน พบว่า เห็ดทุกชนิดมีการเจริญเติบโตของเส้นใยลักษณะแข็งแรงสีขาวฟู มีขวดที่เสียจากการทำลายของเชื้อราดำ 4 ขวด
3. การเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์เห็ดโคน เห็ดตีนแรด เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ ในเมล็ดข้าวฟ่างเพื่อผลิตหัวเชื้อ หลังเพาะเลี้ยง 14 วัน พบว่ามีเพียงเชื้อเห็ดตีนแรดเท่านั้นที่เจริญเติบโตได้ดีเส้นใยสีขาวฟูแข็งแรง ส่วนเห็ดโคน เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ เชื้อเห็ดมีการเจริญเติบโตน้อยมากเส้นใยเล็กสีขาวไม่ฟู ไม่สามารถนำไปเพาะเลี้ยงต่อได้ ในขั้นตอนนี้มีขวดเสีย 2 ขวดจากการทำลายของราดำและราเขียว
สรุปและข้อเสนอแนะ
1. เห็ดตีนแรด เห็ดโคน เห็ดผือ เห็ดตาปุ๊ สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเจริญเติบโตได้ดีในอาหารวุ้นที่มีส่วนผสมของมันเลือด
2. การผลิตหัวเชื้อเห็ดมีเพียงเห็ดตีนแรดชนิดเดียวเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ เห็ดโคน เห็ด ผือ เห็ดตาปุ๊ ไม่สามารถผลิตหัวเชื้อโดยเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่างได้ ซึ่งต้องมีการทดลองต่อไปว่าวัสดุชนิดใดที่เหมาะสมในการนำมาผลิตหัวเชื้อเห็ดดังกล่าว
3. การทดลองผลิตเชื้อเห็ดเกิดความเสียจากการทำลายของเชื้อรา เช่น ราดำ ราเขียว ราแดง ราเหลือง เราสามารถป้องกันได้โดยทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงานต้องสะอาดและปลอดเชื้อ
4. ผู้จัดทำโครงงานได้เกิดทักษะและประสบการณ์การผลิตเชื้อเห็ดธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น เมื่อมีโอกาสจะทำการพัฒนาผลงานต่อไป
เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น