วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โครงงานการผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า



ดอกเห็ดนางฟ้าที่มีอายุพร้อมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ





อาหารวุ้น PDA.





การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทำในสภาพปลอดเชื้อ








เชื้อเห็ดนางฟ้าบริสุทธิ์เลี้ยงในอาหารวุ้น PDA.




หัวเชื้อเห็ดนางฟ้า



โครงงานเกษตรกรรมประเภทพัฒนาผลงาน
ชื่อโครงงาน การผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า


ชื่อผู้ทำโครงงาน

1. นางสาวจินตรา บวงขุนทด
2. นางสาวนันทิยา ชาหนองแวง
3. นายสิทธิศักดิ์ โกสุม

ครูที่ปรึกษาโครงงาน นายอนันท์ กล้ารอด


ความสำคัญของโครงงาน
เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่นิยมบริโภค ใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิดรสชาติดี ราคาไม่แพงมากนัก การเพาะทำได้ง่ายทำได้ทั้งปีเป็นพื้นฐานของการเพาะเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่ทำได้ยาก สามารถใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นเพาะได้เช่น ฟางข้าว ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนทั่ว ๆ ไป แต่ในท้องถิ่นไม่มีแหล่งจำหน่ายหัวเชื้อเห็ดนางฟ้าต้องไปซื้อที่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ คณะผู้จัดทำจึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดนางฟ้าในอาหารวุ้นเพาะเลี้ยง จนได้เชื้อเห็ดบริสุทธิ์แล้วนำไปเลี้ยงต่อในเมล็ดข้าวฟ่างเพื่อผลิตหัวเชื้อ

จุดประสงค์
1. เพื่อศึกษาวิธีการผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า
2. เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ
3. ผลิตหัวเชื้อเห็ดนางฟ้า 50 ขวด เพื่อบริการนักเรียนที่เรียนวิชาการเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม
4. เพื่อสร้างเสริมทักษะและประสบการณ์การผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า ตลอดจนการทำงานเป็นกลุ่ม


ข้อมูลวิชาการ
1. ศึกษาข้อมูลเห็ดนางฟ้า จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้
วงจรชีวิตเห็ดนางฟ้าภูฏาน
เห็ดนางฟ้าภูฏาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Pleurotus angustatus เป็นเห็ดหอยนางรมชนิดหนึ่งนำเชื้อเห็ดมาจากประเทศภูฏาน วงจรชีวิตจะเหมือนกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้าภูฏานมีการเพาะเลี้ยงเป็นธุรกิจ ทั่วประเทศ ยกเว้นฤดูหนาวทางภาคเหนือที่เห็ดไม่ออกดอก หมวกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 8 เซนติเมตร รูปกรวย รูปใบพาย หรือรูปพัด ผิวสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหรือม่วงอ่อน ผิวเรียบ เนื่อหมวกสีขาว ด้านล่าง มีครีบแคบและเรียวยาวลงไปจดก้าน ครีบสีขาวมีความยาวต่างกันเป็น 3 ระดับ ก้านอยู่ไม่กึ่งกลางดอก มักค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง ยาว 1 – 4 เซนติเมตร เส้นผ่าศุนย์กลาง 0.3 – 0.8 เซนติเมตร สีขาว โคนเรียวเล็ก ผิวเรียบแต่เป็นสันนูนและร่องเตี้ยๆ ยาวตลอดก้าน เนื้อในก้านสีขาวฟูนุ่ม สปอร์สีขาว ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 7 – 10 X 3 – 4 ไมโครเมตร เห็ดนางฟ้าภูฐานเกิดเป็นกลุ่ม มีโคนเชื่อมติดกันกลุ่มละ 3 – 10 ดอกบนขอนไม้ เป็นเห็ดที่มีผู้นิยมนำมารับประทานมาก มีรสดี ขนาดดอกใหญ่ เพาะเลี้ยงง่าย
2. ศึกษาข้อมูลการเตรียมอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้

วิธีการเตรียมอาหารวุ้น PDA.
การเตรียมอาหารวุ้น PDA สูตรอาหารที่ใช้กันมากคือ อาหารวุ้น PDA (Potato Dextrose Agar PDA) ซึ่งสามารถเตรียมได้ง่ายและมีราคาถูก มีส่วนผสมดังนี้
มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 200 กรัม
น้ำตาลกลูโคสหรือเดกซ์โทรส 20 กรัม
วุ้นผง 15 – 20 กรัม
น้ำกลั่นหรือน้ำฝน 1,000 กรัม
สำหรับมันฝรั่งอาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทนได้ เช่น เมล็ดข้าว ผักต่างๆ ถั่วฝักยาว น้ำต้มผัก ข้อสำคัญส่วนผสมที่นำมาใช้เมื่อเวลาต้มไฟอ่อนๆ แล้วจะไม่ขุ่นหรือเปื่อยเละไปก่อน
1. มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็กขนาด 1 X 1 X 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ชั่งให้ได้น้ำหนัก 200 กรัม
2. นำมันฝรั่งไปต้มไฟอ่อน ๆ กับน้ำที่ตวงไว้ 1,000 ซีซี. ( 1 ลิตร ) เป็นเวลา 20 นาที อย่าใช้ไฟแรงจะทำให้น้ำต้มมันฝรั่งขุ่น
3. กรองเอาแต่น้ำใสมาใส่วุ้นผงที่ชั่งไว้ 15 กรัม ตั้งไฟอ่อน ๆ คอยคนอยู่เรื่อย ๆ จนวุ้นละลายใช้เวลาประมาณ 20 นาที แล้วแต่ชนิดของวุ้นที่ละลายเร็ว หรือละลายช้า ในการละลายวุ้นระวังอย่าให้ไหม้หรือวุ้นเดือดออกนอกหม้อ
4. ใส่น้ำตาลกลูโคสที่ชั่งไว้ 20 กรัม คนให้น้ำตาลละลาย ยกลงจากไฟ
5. ใช้กระบอกตวงดูถ้าปริมาณไม่ถึง 1 ลิตร ให้เติมน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นลงไปจนครบ 1 ลิตร แล้วคนให้ทั่ว อาหารที่ผสมแล้วควรจะวัดค่าความเป็นกรดด่างของอาหาร เพื่อให้อาหารวุ้นมีค่า pH ประมาณ 5 – 6 ก่อนที่จะนำไปบรรจุหลอดแก้วทดลองหรือขวดแบน
6. กรอกวุ้นที่ได้ใส่หลอดหรือใส่ขวด อย่าให้วุ้นเปื้อนปากหลอดหรือปากขวดเอาสำลีอุดจุกแล้วเอากระดาษหุ้มมัดยางให้แน่น
7. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใช้เวลา 20 นาที
8. เสร็จแล้วนำออกมาทิ้งไว้ประมาณว่าวุ้นเกือบแข็งตัว ก็นำหลอดหรือขวดมาเอียงเพื่อเพิ่มเนื้อที่ผิวอย่าเอียงเร็วเกินไปเพาะจะทำให้มีหยดน้ำเกาะที่ผิววุ้นและข้างหลอดหรือข้างขวดมากเกินไป
3. ศึกษาข้อมูลการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ในอาหารวุ้น จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้

ความหมายของการแยกเชื้อเห็ด
การแยกเชื้อเห็ดคือ การนำเอาดอกเห็ดหรือสปอร์มาเพาะให้เห็ดเจริญขึ้นเป็นเส้นใยเพื่อใช้ขยายพันธุ์ไปทำหัวเชื้อต่อไป งานในขั้นนี้จะเลี้ยงเส้นใยเห็ดบนวุ้น PDA. การแยกเชื้อเห็ดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากสปอร์ วิธีนี้นิยมทำกันเฉพาะนักวิชาการที่ต้องการศึกษาสายพันธุ์เห็ด
และการผสมพันธุ์ โดยการแยกสปอร์เดี่ยวบนอาหารวุ้น โดยเฉพาะเห็ดที่มีดอกบาง เช่น เห็ดหูหนู ไม่นิยมทำกันในระดับฟาร์มหรือเกษตรกร
2. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อ ซึ่งทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อเยื่อในลำต้นเห็ดมาเลี้ยงบน อาหารวุ้น เรียกว่า วิธี “ทิชชูคัลเจอร์” ใช้กับเห็ดดอกขนาดใหญ่ และสามารถตัดเนื้อเยื่อมาเลี้ยงได้ง่ายเหมาะกับเห็ดนางรม - เห็ดนางฟ้า เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากและได้ผลตรงตามพันธุ์เดิมทุกประการ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแยกเชื้อเห็ด
1. เข็มเขี่ยเชื้อ ทำด้วยโลหะผสม ซึ่งมีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว เย็นเร็ว ด้ามทำด้วยอลูมิเนียม เวลาใช้ต้องฆ่าเชื้อเสียก่อน โดยการลนไฟที่ปลายลวดเข็มเขี่ยเชื้อจนร้อนแดง แล้วทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำไปตัดเนื้อเยื่อจากดอกเห็ด
2. ตะเกียงแอลกอฮอล์ ใช้สำหรับลนไฟฆ่าเชื้อเข็มเขี่ยและเครื่องมือในการปฏิบัติงานให้สะอาดโดยใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ เพราะร้อนเร็วไม่มีควัน
3. ตู้เขี่ยเชื้อ เป็นตู้ที่สร้างขึ้นมาสำหรับงานด้านนี้โดยเฉพาะลักษณะของตู้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบ ด้านหน้าตัดเป็นรูปคางหมูและติดกระจกให้สามารถมองเห็นสิ่งของและปฏิบัติงานภายในได้ มีช่องตรงกลางทำเป็นประตูเปิดปิดสำหรับยกขวดเชื้อเข้าออก ด้านข้างของประตูทั้งสองเจาะรูสำหรับใช้มือล้วงเข้าไปปฏิบัติงานในตู้ได้ โดยมีผ้าทำเป็นปลอกสำหรับหุ้มมือ ป้องกันลมภายนอกพัดเข้ามาภายใน
เวลาใช้ก็ยกสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าไปไว้ภายในแล้วปิดช่องเสียไม่ให้ลมพัดเข้าไป แต่ด้านบนของตู้ควรมีช่องให้อากาศหรือลมร้อนระบายออกได้เล็กน้อย ก่อนใช้งานจะต้องเช็ดตู้ฆ่าเชื้อภายในให้ทั่วด้วยแอลกอฮอล์เสียก่อน บางทีอาจใช้หลอดไฟอุลตร้าไวโอเล็ตมาติดภายในตู้เวลาไม่ได้ใช้งาน ก็เป็นการฆ่าเชื้อในตู้นี้ได้อีกมาก แต่ไม่ค่อยนิยมในระดับฟาร์มเห็ดทั่วไปนักเพราะอาจมีอันตรายได้
การเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อภายในก้านดอก

วิธีนี้เหมาะสำหรับเห็ดที่มีก้านใหญ่ และเห็ดที่ไม่มีเปลือกหุ้มดอกอ่อน เช่น เห็ดตับเต่าขาว เห็ดตีนแรด ซึ่งเป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่มาก เห็ดบางชนิดมีก้านดอกใหญ่ก็จริง แต่ภายในก้านดอกจะมีแมลงเข้าไปเจาะไชกินจนพรุนก็ไม่ควรใช้วิธีนี้ เห็ดฟางเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการนี้ก็ได้ผลดีและนิยมทำกันมาก วิธีทำเมื่อคัดเลือกดอกเห็ดตามลักษณะที่ต้องการแล้ว วางในจานแก้ว ใช้มีดที่ฆ่าเชื้อแล้วผ่าเห็ดเป็น 2 ส่วน ใช้ เข็มเขี่ยเชื้อที่ฆ่าเชื้อแล้วกรีดเนื้อเห็ดตรงกลางก้านดอก เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตักขึ้นถ่ายใส่จานอาหารหรือ ขวดอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อ ข้อควรระวังคือความสะอาด ทุกครั้งต้องใช้เข็มเขี่ยเชื้อที่บริสุทธิ์จริง ๆ
4. ศึกษาข้อมูลการทำหัวเชื้อเห็ด จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้

การเลี้ยงเชื้อเห็ดกับเมล็ดข้าวฟ่าง

หัวเชื้อเห็ดเป็นสิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดทุกชนิด ธุรกิจเชื้อเห็ดนอกจากจะมีการทำก้อนเชื้อเห็ดขาย
การเพาะให้เกิดดอก อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการผลิตหัวเชื้อเห็ดขาย เมื่อมีการผลิตก้อนเชื้อมากเท่าใดจำนวนหัวเชื้อเห็ดก็ต้องมีการผลิตมากขึ้นตามไปด้วย
การทำหัวเชื้อเห็ดมีขั้นตอนที่ง่ายขึ้นกว่าการเพาะเนื้อเยื่อ โอกาสที่เชื้อจะเสียมีน้อยลงเพราะเส้นใยเห็ดเริ่มอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับวัสดุหมักในธรรมชาติมากขึ้น วัสดุที่จะนำมาใช้ทำหัวเชื้อเห็ดส่วนใหญ่คือเมล็ดพืช ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่าย เช่น เมล็ดข้าวฟ่าง เมล็ดข้าวโพด เมล็ดข้าวเปลือก แต่ที่นิยมและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือเมล็ดข้าวฟ่างเท่านั้น

ขั้นตอนการปฏิบัติการผลิตหัวเชื้อเห็ด
นำเมล็ดข้าวฟ่างมาต้มจนสุกนิ่มพอดีอย่าให้ถึงกับเละ เพราะถ้าเละมากเมื่อกรอกใส่ขวดมักจะเกิดการแฉะก้นขวด และมีโอกาสที่เชื้อราต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อต้มจนสุกพอดีและได้จำนวนตามที่ต้องการแล้ว
จึงนำไปใส่ตระแกรงกรองเอาน้ำออกให้หมด ถ้าหากเมล็ดข้าวฟ่างแฉะมากควรเกลี่ยกระจายผึ่งแดดพอแห้ง ก่อนนำมากรอกใส่ขวด หากนำเอาขี้เลื่อยที่แห้งสนิทและร่อนแล้วจำนวนเล็กน้อยค่อย ๆ ผสมลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วร่อนเอาขี้เลื่อยออกครั้งหนึ่งก่อนกรอกลงขวด ก็จะทำให้เมล็ดข้าวฟ่างกรอกลงขวดได้ง่ายขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหาเมล็ดข้าวฟ่างแฉะได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามหากมีความชำนาญในการต้มเมล็ดข้าวฟ่างแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ขี้เลื่อยผสมเลยก็ได้ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหัวเชื้อเห็ดไม่นิยมผสมขี้เลื่อยมักใช้เมล็ดข้าวฟ่างล้วน ๆ
การกรอกเมล็ดข้าวฟ่าง จะกรอกลงไปเพียงครึ่งขวดหรือประมาณ 2 ใน 3 ของขวด เพื่อช่วยให้เส้นใยเจริญได้รวดเร็ว การกรอกเมล็ดข้าวฟ่างใส่ขวดควรใช้กรวยสวมปากขวดจะช่วยให้กรอกได้ง่ายขึ้นและเพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวฟ่างเปื้อนปากขวด ถ้าหากเปื้อนปากขวดก็ควรเช็ดปากขวดให้สะอาดและแห้ง
ใช้สำลีอุดปากขวดให้แน่นพอดี ไม่ให้หลวมหรือคับเกินไปใช้กระดาษหุ้มทับสำลีอีกชั้นหนึ่งแล้วรัดด้วยยางเพื่อป้องกันสำลีเปียกเวลานึ่ง นำขวดเชื้อไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันให้มีความดัน 15 ปอนด์ต่อ ตารางนิ้ว นาน 25 นาที นึ่งเสร็จแล้วจึงนำออกมาปล่อยให้เย็นสนิท เพื่อรอการนำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ที่เลี้ยงในอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ต่อไป

การคัดเลือกเชื้อเห็ดขยายพันธุ์และการถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟฟ่าง

อายุของเชื้อเห็ดที่เหมาะสมในการนำไปใช้
เชื้อเห็ดที่เลี้ยงบนอาหารวุ้นเมื่อมีการเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นก็ยังเป็นเชื้อที่อ่อนอยู่ ไม่ควรนำไปใช้ แต่ถ้าทิ้งไว้หลายวันแล้วเชื้อยังไม่ลามเต็มผิวหน้าวุ้น ซึ่งแสดงว่าเส้นใยเดินผิดปกติ เพราะอาจมีเชื้ออื่นปะปนอยู่ ก็ไม่ควรนำมาใช้เช่นกัน ระยะของเชื้อที่เหมาะจะนำมาใช้คือระหว่าง 7 – 10 วัน ไม่ควรเก็บไว้นานกว่านี้เพราะจะเหนียวแก่อ่อนตัวลง ถ้าเชื้อหมดอายุต้องเริ่มต้นเขี่ยเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดใหม่เหมือนวิธีแรก

การถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง
ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่นึ่งเรียบร้อยแล้ว จะยังเป็นเพียงเมล็ดพืชที่ต้มแล้วเท่านั้นถ้ายังไม่ใส่เชื้อเห็ดลงไป เราจึงต้องเอาเชื้อเห็ดจากขวดอาหารวุ้นที่ได้คัดเลือกและเตรียมไว้แล้ว นำมาถ่ายเชื้อหรือต่อเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างเสียก่อนจึงนำไปใช้ได้
การเขี่ยเชื้อจากอาหารวุ้นลงในขวดเชื้อ การปฏิบัติก็ทำเช่นเดียวกันกับการทำอาหารวุ้น คือต้องทำภายในตู้เขี่ยเชื้อ โดยเลือกขวดเชื้อที่เส้นใยเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นใหม่ ๆ ใช้เข็มเขี่ยลนไฟให้ร้อนแดง ตัดเอาอาหารวุ้นที่มีเส้นใยติดมาด้วยให้ชิ้นมีขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ถ้าชิ้นเล็กไปอาจจะแห้งเสียก่อนที่เชื้อจะเจริญออกมา ทำนองเดียวกันถ้าชิ้นโตเกินไปก็อาจทำให้คับปากขวด ทำให้ทำงานไม่สะดวก นำวุ้นวางลงในขวดตรงกลางเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้วิธีเอนขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างเอนกระจายลงแบนราบเล็กน้อย แล้วจึงวางวุ้นลงไปตรงกลาง พอตั้งขวดเมล็ดข้าวฟ่างก็จะกลบชิ้นวุ้นตรงกลางขวดพอดี
การวางเชื้อวุ้นในเมล็ดข้าวฟ่างลักษณะดังกล่าว เส้นใยเห็ดจะเจริญเป็นวงกลมกระจายกันได้ทั่วทั้งขวด เป็นวิธีที่นิยมมากกว่าการวางวุ้นลงด้านบนของเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งเส้นใยเห็ดจะเจริญลามมาจากด้านบนลงมาใช้สำลีอุดปากขวดเช่นเดิม แล้วใช้กระดาษปิดทับรัดด้วยยางทำเช่นนี้ทุกขวด ตามจำนวนที่ต้องการ
นำขวดเชื้อไปวางเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ เพื่อรอให้เส้นใยเจริญเต็มขวด อาจนำไปวางในห้องที่มืดก็ได้เพราะมีรายงานว่าเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เจริญเติบโตได้ดีในขณะที่ไม่มีแสง ประมาณ 8 – 12 วัน เส้นใยก็จะเจริญเต็มเมล็ดข้าวฟ่าง เชื้อที่เส้นใยเจริญเต็มขวดใหม่ ๆ อยู่ในระยะที่แข็งแรงมากเหมาะที่จะนำไปใช้งาน ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป เพราะจะทำให้ความแข็งแรงลดลงเรียกว่าเชื้อแก่ และยิ่งเก็บไว้นานนอกจากมีโอกาสที่เชื้อจะมีเชื้อปนได้ง่าย เชื้อจะเหนียวมากขึ้น การตัดหรือถ่ายเชื้อเมื่อเวลาใช้ก็ทำได้ไม่ค่อยสะดวก
หัวเชื้อชนิดนี้สามารถที่จะนำไปใช้จำหน่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการนำไปลงในก้อนเชื้อได้ทันทีหรืออาจนำมาใช้ใส่ลงในก้อนเชื้อภายในฟาร์มเองก็ได้ การเพิ่มหรือขยายหัวเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่าง ก็มีหลักการเดียวกันกับการเพิ่มจำนวนเชื้อบนอาหารวุ้น คือไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อวุ้นมาเขี่ยใส่เพื่อให้ได้จำนวนมาก ๆ เพียงแต่ใช้หัวเชื้อจากขวดที่เส้นใยเจริญเต็มที่แล้ว ถ่ายใส่ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ประมาณขวดละ 20 – 30 เมล็ด โดยใช้ช้อนที่มีปากแคบและด้ามยาว ตักหรือเทออกมาจากขวดที่มีเส้นใยเจริญเต็มแล้วลงในขวดเมล็ดข้าวฟ่าง ได้ตามจำนวนที่ต้องการ แต่ต้องทำในตู้เขี่ยเชื้อเช่นกันและที่สำคัญต้องไม่ต่อเชื้อมากรุ่นเกินไปเพราะจะทำให้เชื้ออ่อนลงได้ ถ้าหากเห็นว่าเชื้อเริ่มอ่อนลงแล้ว ก็ควรเอาเชื้อจากอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ใหม่ ทำเช่นนี้เราก็จะได้หัวเชื้อที่อยู่ในสภาพแข็งแรง
การรักษาความสะอาดในการผลิตหัวเชื้อเห็ด
การรักษาความสะอาดในการผลิตหัวเชื้อ ส่วนผสมที่ใช้เป็นอาหารในการผลิตหัวเชื้อจำพวกกากพืช ควรคัดเลือกเฉพาะที่ไม่มีเชื้อโรคติดมา เช่น ฟางไม่ควรมีเชื้อราในดินติดมาด้วย ที่สำคัญคือเชื้อราเพราะจะไประบาดในแปลงได้ นอกจากนี้ ก็อาจพบราเขียวและราดำบางชนิด ซึ่งถ้าพบควรคัดทิ้งเสียควรใช้วัสดุที่ใหม่และสะอาด
วัสดุที่ใช้เพาะเลี้ยงมีส่วนผสมแตกต่างกันไปที่ใช้กันมากได้แก่ ฟางข้าว เมล็ดข้าวฟ่าง ข้าวโพดป่น ขี้เลื่อย ผสมกับอาหารเสริมจำพวกรำข้าว น้ำตาล และปุ๋ยมูลสัตว์ ซึ่งจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะใส่เชื้อบริสุทธิ์ลงไป หัวเชื้อที่มีจำหน่ายในท้องตลาดส่วนมากมีการนึ่งฆ่าเชื้อ ที่ไม่ได้ใช้ความดันไอน้ำและเวลานึ่งที่เพียงพอ ความร้อนจึงฆ่าเชื้อได้ไม่หมด อาหารผสมจึงมีเชื้อชนิดอื่นปะปนหลังจากนึ่ง ฆ่าเชื้อแล้ว ทำให้หัวเชื้อเสียเร็ว ในการนึ่งแต่ละครั้งจำนวนอาหารผสมในภาชนะ ที่นำมานึ่งฆ่าเชื้อนั้นมีจำนวนมาก ความร้อนที่ใช้นึ่งและระยะเวลาที่ใช้ในการนึ่งไม่ได้สัดส่วนกัน ถ้านึ่งครั้งละมาก ๆ ก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยและแก้ไขปรับปรุงให้มีความดันสูงและระยะเวลานานขึ้น สำหรับผู้ที่เตรียมอาหารเพียง เล็กน้อย ควรใช้หม้อนึ่งความดันไอที่มีความร้อน 15 ปอนด์เป็นเวลา 30 นาที ถ้าการนึ่งด้วยความร้อนและระยะเวลาไม่เพียงพอจะทำให้เกิดปัญหาหัวเชื้อไม่บริสุทธิ์อยู่เสมอ
ในโรงเรือนที่ผสมหัวเชื้อจะต้องสะอาด ต้องทำความสะอาดทุกครั้งที่ทำงานเสร็จ หัวเชื้อที่ไม่บริสุทธิ์ต้องทำลายและอย่าทิ้งให้เป็นแหล่งสะสมในบริเวณใกล้เคียงกับที่เพาะเชื้อเห็ด

วิธีดำเนินการ
1. ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด หนังสือการเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2. ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
3. จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
4. จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่น วัสดุอุปกรณ์เตรียมอาหารวุ้น วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด วัสดุอุปกรณ์การทำหัวเชื้อเห็ด
5. กำหนดแผนการปฏิบัติงาน
6. ปฏิบัติงานตามขั้นตอน
7. ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน


แผนปฏิบัติงาน
สัปดาห์ที่
รายการกิจกรรม
จำนวนคาบ
หมายเหตุ
1
1.ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด หนังสือการเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2

2
2.ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
2

3
3.จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
2

4
4.จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่น วัสดุอุปกรณ์เตรียมอาหารวุ้น วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด วัสดุอุปกรณ์การทำหัวเชื้อเห็ด
4

5-7
5.กำหนดแผนการปฏิบัติงานและปฏิบัติงานตามขั้นตอน
6

8
6. ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน
4


ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ความรู้ ทักษะและประสบการณ์การผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า ตลอดจนการทำงานเป็นกลุ่ม
เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ
2. ผลิตหัวเชื้อเห็ดนางฟ้า 50 ขวด เพื่อบริการนักเรียนที่เรียนวิชาการเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม
3. ได้รับความชื่นชมจากครูและผู้ปกครอง

เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.


ความเห็นของครูที่ปรึกษา
เป็นโครงงานที่น่าสนใจนักเรียนจะได้เกิดทักษะเพิ่มเติมจากการเรียนปกติ ให้สมาชิกตั้งใจทำโครงงานเมื่อเกิดปัญหาให้ปรึกษาครู


รายงานโครงงานเกษตรกรรม
ชื่อโครงงาน การผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า


ชื่อผู้ทำโครงงาน
1. นางสาวจินตรา บวงขุนทด
2. นางสาวนันทิยา ชาหนองแวง
3. นายสิทธิศักดิ์ โกสุม

ชื่อครูที่ปรึกษา นายอนันท์ กล้ารอด

บทคัดย่อ
จุดมุ่งหมายของการทำโครงงานการผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า
1. ศึกษาวิธีการผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า
2. เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ
3. ผลิตหัวเชื้อเห็ดนางฟ้า 50 ขวด เพื่อบริการนักเรียนที่เรียนวิชาการเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม
4. เพื่อสร้างเสริมทักษะและประสบการณ์การผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า ตลอดจนการทำงานเป็นกลุ่ม
จากการศึกษาเอกสารประกอบการเรียนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ใบความรู้ หนังสือเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา พบว่าเห็ดนางฟ้าเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเชื้อราที่มีขนาดใหญ่ อาหารที่เห็ดใช้เพื่อการเจริญเติบโตและสร้างเส้นใย ได้จากสารอินทรีย์ที่เห็ดเกาะอาศัยอยู่ เส้นใยเห็ดที่มากขึ้นแล้วรวมตัวกันอัดแน่นจะกลายเป็นดอกเห็ด เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีการสร้างสปอร์เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป ซึ่งการขยายพันธุ์เห็ดอีกแบบหนึ่งคือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะทำให้เห็ดไม่มีการกลายพันธุ์ในการทำโครงงานครั้งนี้ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ผลการดำเนินงานได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดนางฟ้าโดยใช้เนื้อเยื่อภายในก้านดอกเลี้ยงในอาหารวุ้นที่มีส่วนผสมของมันเลือดเป็นวัสดุ เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะได้เชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากนั้นนำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ไปเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่างที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ทำการเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อก็จะได้หัวเชื้อเห็ดนางฟ้า จำนวน 50 ขวด


วิธีการดำเนินงาน
1.การเตรียมอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมได้แก่ มันเลือด น้ำตาลกลูโคส ผงวุ้น น้ำ ขวดแบน สำลี
กระดาษ ยางรัด มีด หม้อ ทับพี เตาแกส ถังแกส หม้อนึ่งความดัน
2. ปอกเปลือกมันเลือดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาด 1 ลบ. เซนติเมตร จำนวน 200 กรัม
3. นำไปต้มไฟอ่อน ๆ กับน้ำ 1 ลิตร เวลา 20 นาที
4. กรองเอาแต่น้ำใสมาใส่ผงวุ้น 15 กรัม ที่ชั่งไว้ตั้งไฟอ่อน ๆ คนให้ทั่วจนวุ้นละลายใช้เวลา 20 นาที ใส่น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม คนให้ละลายเข้ากันตวงปริมาณดูถ้าไม่ครบ 1 ลิตร ให้เติมน้ำร้อนจนครบ 1 ลิตร คนให้เข้ากัน
5. นำอาหารวุ้นที่ได้บรรจุลงในขวดแบน ¼ ของขวดปิดปากขวดด้วยสำลีกระดาษปิดทับยางรัดอีกครั้ง
ให้ได้ 10 ขวด
6. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดันให้ได้ 15 ปอนด์ / ตร.นิ้ว เป็นเวลา 20 นาที
7. เมื่อครบกำหนดเวลาให้นำขวดอาหารวุ้นออกจากหม้อนึ่งความดันวางลงบนพื้นที่เอียงเพื่อทำให้ปริมาณ ผิวหน้าวุ้นมากขึ้นปล่อยไว้ให้เย็นแข็งตัว เพื่อนำไปใช้งานต่อไป

เครื่องมือและอุปกรณ์
1. มันเลือด น้ำตาลกลูโคส ผงวุ้น น้ำ ขวดแบน สำลี กระดาษ ยางรัด มีด หม้อ ทับพี เตาแกส ถังแกส หม้อนึ่งความดัน

ข้อควรระวัง
1. การบรรจุอาหารวุ้นลงขวดพยามยามอย่าให้เปรอะเปื้อนคอขวดหรือปากขวด จะทำให้เชื้อราชนิดอื่นในอากาศที่ไม่ต้องการเจริญลามเข้าไปในขวดได้
2. อย่าลดความดันโดยการเปิดรูระบายไอน้ำออกทันทีจะทำให้อาหารวุ้นเดือดขึ้นมาเปียกจุกสำลีต้องค่อย ๆ ลดความดันลง


2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดนางฟ้า
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมได้แก่ ดอกเห็ดนางฟ้าที่สมบูรณ์ไม่แก่เกินไปดอกยังไม่ปล่อย สปอร์ เป็นดอกสะอาดและใหม่ เข็มเขี่ยเชื้อ ตะเกียงแอลกอฮอร์ ตู้เขี่ยเชื้อ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี ขวดอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
2. ทำการฆ่าเชื้อภายในตู้เขี่ยเชื้อด้วยแอลกอฮอร์เช็ดให้ทั่วและทำการฆ่าเชื้อวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างด้วย แอลกอฮอร์ก่อนนำเข้าตู้เขี่ยเชื้อ รวมทั้งฆ่าเชื้อที่มือด้วย
3. เอาเข็มเขี่ยเชื้อลนไฟจนปลายเข็มแดงทิ้งไว้ให้เย็นขณะที่รอเข็มเย็น ใช้มืออีกข้างและนิ้วส่วนที่เหลือจากจับเข็มเขี่ยเชื้อจับดอกเห็ดขึ้นมาฉีก จากขอบดอกลงมาตามแนวยาวให้ดอกแยกออกเป็น 2 ซีก ต้องระวังไม่ให้สิ่งใดๆ สัมผัสส่วนของดอกที่ฉีกออกได้แก่ ก้านดอก ส่วนกลางดอก
4. บริเวณเนื้อเยื่อที่เพิ่งฉีกออกใหม่ๆ ใช้เข็มเขี่ยตัดเนื้อเยื่อดอกเห็ดออกเป็นชิ้นเล็กๆ ตรงบริเวณก้านดอกกับหมวกดอกซึ่งเป็นส่วนสมบูรณ์ที่สุด
5. เมื่อได้เนื้อเยื่อแล้ววางดอกเห็ดที่มือข้างที่จับลงเปลี่ยนมาจับขวดอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แทนใช้มือจับขวดอาหารวุ้นให้ก้นขวดอยู่ในอุ้งมือจากนั้นใช้นิ้วก้อยกับฝ่ามือที่จับเข็มเขี่ยจับเอาจุกสำลีที่ปากขวดดึงออกนำปากขวดลนไฟกับตะเกียงแอลกอฮอร์
6. นำเอาเนื้อเยื่อเห็ดสอดเข้าไปในขวด วางบนผิวกลางอาหารวุ้นลนไฟที่คอปากขวดอีกครั้งแล้วปิดจุกสำลีเช่นเดิม นำขวดเชื้อเห็ดไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติ ประมาณ 10 วัน เส้นใยเดินเต็มหน้าอาหารวุ้น
7. ปฏิบัติเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด 5 ขวด พร้อมจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเห็ดบนอาหารวุ้น

เครื่องมือและอุปกรณ์
1. ดอกเห็ดนางฟ้าที่สมบูรณ์
2. ขวดอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี
ข้อควรระวัง
1. การปฏิบัติงานวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดต้องผ่านการฆ่าเชื้อและต้องมั่นใจว่าทุกขั้นตอนในการปฏิบัติงานปลอดเชื้อ
2. ดอกเห็ดต้องสมบูรณ์ สะอาดและใหม่

1. การทำหัวเชื้อเห็ด
1.การเตรียมเมล็ดข้าวฟ่างสำหรับทำหัวเชื้อเห็ด
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. นำวัสดุ อุปกรณ์ เตรียมให้พร้อม เพียงพอสำหรับการทำหัวเชื้อจำนวน 60 ขวด ซึ่งได้แก่ขวดแบน เมล็ดข้าวฟ่าง หม้อต้ม ทัพพี หม้อนึ่งความดัน เตาแกส ถังแกส สำลี กระดาษ ยางรัด กรวย
2. นำเมล็ดข้าวฟ่างมาต้มจนสุก นิ่ม อย่าให้ถึงกับเละถ้าเละเมื่อกรอกใส่ขวดจะเกิดการแฉะที่ก้นขวด มีโอกาสที่เชื้อราต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย
3. นำเมล็ดข้าวฟ่างที่ต้มแล้วใส่ตะแกรงกรองเอาน้ำออกให้หมด นำไปผึ่งแดดพอแห้ง
4. กรอกเมล็ดข้าวฟ่างลงขวดโดยใช้กรวย ให้ได้ปริมาณ 2/3 ของขวด ขณะกรอกต้องพยายามไม่ให้เปื้อน ปากขวด จากนั้นใช้สำลีอุดปากขวดให้แน่นพอดี กระดาษหุ้มทับสำลีอีกชั้นหนึ่งแล้วรัดด้วยยาง
5. นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันให้มีความดันไอน้ำ 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว นาน 25 นาที แล้วนำออกมาปล่อยให้เย็น เพื่อรอการนำเชื้อเห็ดที่เลี้ยงในอาหารวุ้นมาถ่ายใส่ในวันรุ่งขึ้นต่อไป
6. ทำการเตรียมเมล็ดข้าวฟ่างสำหรับทำหัวเชื้อเห็ด 60 ขวด

เครื่องมือและอุปกรณ์
1. ขวดแบน เมล็ดข้าวฟ่าง หม้อต้ม ทัพพี หม้อนึ่งความดัน เตาแกส ถังแกส สำลี กระดาษ ยางรัด กรวย

ข้อควรระวัง

1. ไม่ควรต้มเมล็ดข้าวฟ่างจนเละเพราะจะทำให้เกิดการแฉะที่ก้นขวด อันเป็นสาเหตุการเกิดเชื้อราได้ง่าย

1. ทำการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งาน ได้แก่ ขวดเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ที่เลี้ยงในอาหารวุ้น เห็ดนางฟ้า ขวดเมล็ดข้าวฟ่าง ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี
2. ทำการฆ่าเชื้อภายในตู้เขี่ยเชื้อ โดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอร์เช็ดให้ทั่ว ฆ่าเชื้อวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดแล้วนำเข้า ตู้เขี่ยเชื้อ ทำความสะอาดมือแล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ
3. ทำการคัดเลือกขวดเชื้อเห็ดที่เส้นใยเจริญเต็มผิวหน้าวุ้นใหม่ๆ 1 ขวด เช็ดด้วยแอลกอฮอร์ ฆ่าเชื้อ นำเข้าตู้เขี่ยเชื้อ ดึงจุกสำลีปากขวดออกพร้อมกับลนไฟปากขวดให้ร้อน
4. ใช้เข็มเขี่ยเชื้อลนไฟให้ร้อนจนแดง ปล่อยให้เย็นสอดเข้าไปในขวด ตัดเอาอาหารวุ้นที่มีเส้นใยติดมาด้วยให้ชิ้นขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ดึงจุกสำลีปากขวดเมล็ดข้าวฟ่างออก ลนไฟปากขวดให้ร้อน ใช้เข็มเขี่ยเชื้อ นำชิ้นอาหารวุ้นที่มีเส้นใยเห็ด วางลงในขวดตรงกลางเมล็ดข้าวฟ่าง โดยเอนขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายลง แบนราบเล็กน้อยแล้วจึงวางวุ้น ตรงกลางพอตั้งขวดเมล็ดข้าวฟ่างก็จะกลบชิ้นวุ้นตรงกลางขวดพอดี ทำการลนไฟที่ปากขวดเชื้อเห็ดและขวดเมล็ดข้าวฟ่างให้ร้อนแล้วปิดจุกสำลี
5. ปฏิบัติการถ่ายเชื้อเห็ดลงในเมล็ดข้าวฟ่าง 60 ขวด พร้อมสังเกตบันทึกผลการเปลี่ยนแปลง 10 วัน

เครื่องมือและอุปกรณ์
1. ขวดเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ที่เลี้ยงในอาหารวุ้น เห็ดนางฟ้า ขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
2. ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี

ข้อควรระวัง
1. เชื้อเห็ดบนอาหารวุ้นที่ตัดต้องมีขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ถ้าเล็กไปอาจแห้งเสียก่อนที่เชื้อจะเจริญเติบโต ถ้าชิ้นโตเกินไปทำให้คับปากขวด ไม่สะดวกในการทำงาน
2. ต้องวางชิ้นเชื้อเห็ดตรงกลางเมล็ดข้าวฟ่าง จะทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
ผลการศึกษา
จากการทำโครงงานผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้าทำให้ทราบว่ามีขั้นตอนดังนี้
1. เตรียมอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
2. เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดนางฟ้าในอาหารวุ้นจะได้เชื้อเห็ดบริสุทธิ์
2. ผลิตหัวเชื้อเห็ดโดยนำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์เลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่างที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
ในขั้นตอนที่ 1 เตรียมอาหารวุ้นไม่มีขวดเสียจากการทำลายของจุลินทรีย์
ในขั้นตอนที่ 2 เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดนางฟ้ามีขวดเสีย 3 ขวด จากการทำลายของราดำ 2 ขวด และราแดง 1 ขวด ลักษณะการทำลายเชื้อราดังกล่าวติดมากับชิ้นส่วนเนื้อเยื่อเห็ด หลังเพาะเลี้ยงได้ 10 วัน เส้นใยเจริญเติบโตดีมีสีขาวฟู เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 ซ.ม. เชื้อเห็ดนางฟ้าเจริญเติบโตได้ดีในอาหารวุ้นที่มีมันเลือดเป็นส่วนผสม
ในขั้นตอนที่ 3 ผลิตหัวเชื้อเห็ดนางฟ้า มีขวดเสีย 5 ขวดจากการทำลายของราดำและราเขียว อาจเป็นเพราะขณะปฏิบัติงานรักษาความสะอาดไม่ดีพอ หลังถ่ายเชื้อได้ 10 วันจะสังเกตเห็นเส้นใยเห็ดเจริญเติบโต เป็นวงกลมรอบก้อนวุ้นที่ใส่ลงไปคาดว่าประมาณ 21 วันเส้นใยเห็ดจะเต็มเมล็ดข้าวฟ่างในขวด

สรุปและข้อเสนอแนะ
1. ในการทำโครงงานได้เชื้อเห็ดนางฟ้าที่มีคุณภาพตามเป้าหมายที่วางไว้จำนวน 50 ขวด เชื้อเห็ดที่ได้ไม่มีการกลายพันธุ์เนื่องจากเกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
2. ในการผลิตเชื้อเห็ดเกิดความเสียหายจากเชื้อราหลายชนิด เช่นราดำ ราเขียว ราแดง ราเหลือง ซึ่งจุลินทรีย์พวกนี้มีอยู่ทั่วไปในอากาศ เราสามารถป้องกันได้โดยให้ทุกขั้นตอนการผลิตต้องสะอาดและปลอดเชื้อ
3. ผู้จัดทำโครงงานเกิดทักษะและประสบการณ์มากขึ้น มีความภูมิใจในผลงานสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้

เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.

ไม่มีความคิดเห็น: