หมักฟางก่อนบรรจุถุงเพาะ
ก้อนเชื้อเห็ดจากฟางข้าว
เห็ดนางฟ้าเพาะจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา
เห็ดนางฟ้าเพาะจากฟางข้าว
โครงงานเกษตรกรรมประเภทศึกษาค้นคว้าทดลอง
ชื่อโครงงาน การทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าโดยใช้วัสดุฟางข้าวเปรียบเทียบกับขี้เลื่อยไม้ยางพารา
ชื่อผู้ทำโครงงาน
1. นางสาวอมรรัตน์ ศรีบูรา
2. นางสาวมุกดา ทองสถิต
3. นางสาวรสริน แดงดา
4. นายสมบูรณ์ แตงทรัพย์
ครูที่ปรึกษา นายอนันท์ กล้ารอด
ความสำคัญของโครงงาน
เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่เพาะง่ายนิยมบริโภคตามธรรมชาติเห็ดนางฟ้าจะขึ้นได้ดีกับไม้เนื้ออ่อนที่ตายแล้วตามป่าเขตร้อนทั่วๆ ไป ต่อมาได้นำมาเพาะโดยใช้ท่อนไม้เนื้ออ่อน เมื่อไม้หาอยากได้พัฒนามาใช้ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนแทนเช่น ไม้ยางพารา ซึ่งได้ผลดีแต่ปัจจุบันขี้เลื่อยไม้ยางพารามีราคาแพงรถละ 18,000 บาท เนื่องจากอยู่ไกลแหล่งผลิต ผู้จัดทำโครงงานเห็นว่าในท้องถิ่นมีฟางข้าวจำนวนมากน่าจะนำมาเพาะเห็ดได้ จึงได้จัดทำโครงงานนี้
จุดประสงค์
1. ศึกษาวงจรชีวิตเห็ดนางฟ้า
2. ทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าโดยใช้ฟางข้าวเปรียบเทียบกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพื่อหาผลผลิตและปัญหาที่พบ
3. เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์เพาะเห็ดนางฟ้าโดยใช้ฟางข้าว
ข้อมูลวิชาการ
1. ศึกษาข้อมูลเห็ดนางฟ้า จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้
วงจรชีวิตเห็ดนางฟ้าภูฏาน
เห็ดนางฟ้าภูฏาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Pleurotus angustatus เป็นเห็ดหอยนางรมชนิดหนึ่งนำเชื้อเห็ดมาจากประเทศภูฏาน วงจรชีวิตจะเหมือนกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้าภูฏานมีการเพาะเลี้ยงเป็นธุรกิจ ทั่วประเทศ ยกเว้นฤดูหนาวทางภาคเหนือที่เห็ดไม่ออกดอก หมวกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 8 เซนติเมตร รูปกรวย รูปใบพาย หรือรูปพัด ผิวสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหรือม่วงอ่อน ผิวเรียบ เนื้อหมวกสีขาว ด้านล่าง มีครีบแคบและเรียวยาวลงไปจดก้าน ครีบสีขาวมีความยาวต่างกันเป็น 3 ระดับ ก้านอยู่ไม่กึ่งกลางดอก มักค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง ยาว 1 – 4 เซนติเมตร เส้นผ่าศุนย์กลาง 0.3 – 0.8 เซนติเมตร สีขาว โคนเรียวเล็ก ผิวเรียบแต่เป็นสันนูนและร่องเตี้ยๆ ยาวตลอดก้าน เนื้อในก้านสีขาวฟูนุ่ม สปอร์สีขาว ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 7 – 10 X 3 – 4 ไมโครเมตร เห็ดนางฟ้าภูฐานเกิดเป็นกลุ่ม มีโคนเชื่อมติดกันกลุ่มละ 3 – 10 ดอกบนขอนไม้ เป็นเห็ดที่มีผู้นิยมนำมารับประทานมาก มีรสดี ขนาดดอกใหญ่ เพาะเลี้ยงง่าย
2. ศึกษาข้อมูลการทำก้อนเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้
วัสดุที่ใช้ในการเพาะเห็ด
วัสดุที่ใช้เพาะเห็ด สามารถเพาะได้ด้วยวิธีง่าย ๆ โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทาง การเกษตรที่มีอยู่มากมายหลายชนิด นำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพาะได้ อาจใช้วัตถุดิบเดี่ยว ๆ หรืออาจใช้วัตถุดิบผสมกันหลาย ๆ อัตราส่วนเป็นวัสดุเพาะ เช่น ฟาง ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว ไส้นุ่น เศษใบไม้ใบหญ้า
นอกจากนี้เราอาจเติมอาหารเสริมลงไปคลุกเคล้าผสมด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้น อาหารเสริมก็มี รำละเอียด รำหยาบ กากถั่วป่น ในอัตราประมาณ 3 – 10 % โดยน้ำหนัก
การเติมสารเคมีบางชนิดในรูปของเกลืออนินทรีย์ เช่น แมกนีเซียมซัลเฟต แอมโมเนียมซัลเฟต ยิปซั่ม และปุ๋ยดับเบิลซุปเปอร์ฟอสเฟต ลงไปในกองปุ๋ยหมักเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเห็ดนั้นแม้ว่าโดยหลักการแล้วเห็ดไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง แต่เมื่อเติมปุ๋ยเหล่านี้ลงไปในกองปุ๋ยหมักแล้วจุลินทรีย์จำพวกแบคทีเรียหลายชนิดจะเจริญได้ดีขึ้นและบางส่วนของปุ๋ยได้กลายเป็นอินทรีย์วัตถุในตัวของแบคทีเรีย ซึ่งเห็ดสามารถนำไปใช้ได้ในภายหลัง
การเตรียมวัสดุเพาะเห็ด
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำก้อนเชื้อเห็ดมีดังต่อไปนี้
1. วัสดุเพาะ โดยทั่วไปจะใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน ฟางข้าว ชานอ้อย
1. ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 7 x 12 นิ้ว หรือ ขนาด 8 x 12 นิ้ว
2. คอถุงพลาสติก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ½ นิ้ว
4. สำลี ยางรัด
3. หม้อนึ่งเชื้อเห็ด
4. โรงเรือนบ่มเส้นใย
5. โรงเรือนเปิดดอก
สูตรอาหารก้อนเชื้อเห็ด สูตรที่ 1
ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ( ไม่ต้องหมัก ) 100 ก.ก.
รำละเอียด 5 ก.ก.
ปูนขาว 1 ก.ก.
ยิปซั่ม 2 ก.ก.
ดีเกลือ 0.2 ก.ก.
ปรับความชื้นในวัสดุเพาะประมาณ 60 – 65 %
สูตรอาหารก้อนเชื้อเห็ด สูตรที่ 2
ฟางข้าว ( หมัก 1 คืน ) 100 ก.ก.
รำละเอียด 5 ก.ก.
ปูนขาว 1 ก.ก.
ยิปซั่ม 2 ก.ก.
ดีเกลือ 0.2 ก.ก.
ปรับความชื้นในวัสดุเพาะประมาณ 60 – 65 %
ขั้นตอนการผลิตก้อนเชื้อเห็ด
1. นำส่วนผสมข้างต้นผสมให้เข้ากันด้วยมือหรือเครื่องผสมปรับความชื้นประมาณ 60 – 65 %
โดยการเติมน้ำลงไปพอประมาณ
2. ใช้มือกำขี้เลื่อยขึ้นมาบีบให้แน่น แล้วสังเกตว่าถ้ามีน้ำซึมออกมาตามร่องนิ้วมือแสดงว่าเปียกไป (ให้เติมขี้เลื่อยแห้ง ) ถ้าไม่มีน้ำซึมให้แบมือออก ขี้เลื่อยจะรวมกันเป็นก้อนแล้วแตกออก 2 – 3 ส่วน แสดงว่าใช้ได้ ( ความชื้น 60 – 65 % ) แต่ถ้าแบมือแล้วขี้เลื่อยไม่รวมตัวกันเป็นก้อนแสดงว่าแห้งไปให้เติมน้ำ ลงไปอีก
3. เมื่อผสมคลุกเคล้าส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ให้บรรจุขี้เลื่อยใส่ถุงพลาสติกทนร้อนน้ำหนัก 8 – 10 ขีด บรรจุ 2 ใน 3 ของถุงกดและทุบให้แน่นพอประมาณ ใส่คอถุง จุกสำลี ปิดทับด้วยกระดาษ รัดด้วยยาง
4. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่ 100 องศา เซลเซียส ใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมง
5. นำถุงออกมาพักให้เย็นในที่สะอาด เปิดจุกสำลี ต่อเชื้อที่ต้องการลงไปตรงคอถุง
6. นำถุงเชื้อเห็ดไปบ่มไว้ในที่สะอาด มีอากาศถ่ายเทสะดวก จนกระทั่งเส้นใยเห็ดเดินเต็มถุงซึ่งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด
7. เมื่อเส้นใยเดินเต็มถุงแล้ว คัดเอาเฉพาะถุงที่ไม่มีการปนเปื้อน มาเปิดในโรงเรือนเปิดดอก เพื่อให้เกิดดอกเห็ดต่อไป ภายในโรงเรือนต้องสะอาด มีการถ่ายเทอากาศดี มีแสงสว่างพอสมควรและเก็บความชื้นได้ดีพอสมควร ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนประมาณ 70 % ขึ้นไป
การนึ่งฆ่าเชื้อถุงวัสดุเพาะเห็ด
การสเตอริไรส์
การฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้เป็นการฆ่าเชื้อศัตรูเห็ดให้ตายหมดอย่างสิ้นเชิง ปกติจะใช้หม้อนึ่งความดันไอน้ำเท่านั้นไม่สามารถใช้หม้อนึ่งลูกทุ่งได้โดยนึ่งที่ความดันไอน้ำ 15 ปอนด์ / ตารางนิ้ว เวลา 15 นาที ขึ้นไป แต่ถ้าจำนวนก้อนเชื้อมีมาก ก็ต้องนึ่งใช้เวลานานกว่านี้ เช่น ถ้านึ่งขวดอาหารวุ้นใช้เวลา 15 นาที ความดัน 15 ปอนด์ / ตารางนิ้ว ถ้านึ่งหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างต้องใช้เวลา 25 – 30 นาที ที่ความดัน 15 ปอนด์ / ตารางนิ้ว
การพาสเจอร์ไรส์
ในการเพาะเห็ดเราจะพาสเจอร์ไรส์อาหาร ปุ๋ยหมักหรือก้อนเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อและเห็ดอื่น ๆ ที่จะเป็นศัตรูต่อเห็ด ซึ่งรวมทั้งแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ในถุงวัสดุเพาะ โดยการใช้หม้อนึ่ง ซึ่งอาจเป็นหม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง หม้อนึ่งแบบดัดแปลงหรือหม้อนึ่งความดันแบบต่าง ๆ โดยการต้มน้ำให้เดือดขึ้นเป็นไอไปฆ่าเชื้อก้อนเชื้อที่วางไว้ด้านบน การฆ่าเชื้อจะใช้ความร้อน 80 – 100 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาอย่างต่ำ 2 ชั่วโมง
หม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง
หม้อนึ่งชนิดนี้มีราคาถูก เหมาะสำหรับฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นเครื่องมืที่ราคาถูกทำขึ้นเองได้ นิยมใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร แต่หนากว่าและมีฝาแยกออกมาเป็นอิสระพร้อมเข็มขัดรัดฝา ใช้ยางหุ้มปากถังแทนประเก็นเพื่อให้สามารถปิดได้สนิท ตรงกลางฝาเจาะรูด้วยตะปูขนาด 3 นิ้ว เพื่อทำเป็นที่ระบายไอน้ำ ก้นถังทำเป็นตะแกรงรองวัสดุนึ่ง ให้สามารถยกเข้าออกได้สำหรับใช้วางก้อนเชื้อไม่ให้เปียกน้ำโดยทำให้สูงจากก้นถังประมาณ 20 ซ.ม.
การนึ่งก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับหม้อนึ่งความดันแบบทั่วไปคือ ใส่น้ำลงไปจนปริ่มตะแกรง แต่ก่อนนำก้อนเชื้อลงวางเรียงควรใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองรอบ ๆ ขอบถังเสียก่อนเพื่อไม่ให้ถุงพลาสติกจากก้อนเชื้อละลายติดกับหม้อนึ่งเมื่ออุณหภูมิร้อนจัด เมื่อวางก้อนเชื้อจนเต็มแล้วปิดฝาและรัดสายรัดให้แน่น ต้มน้ำให้เดือดจนไอน้ำพุ่งออกมาจากรูที่เจาะตรงกลางฝาอย่างสม่ำเสมอแล้วนึ่งไปนานประมาณ 3 ชั่วโมง เชื้อเพลิง ที่นำมาใช้ทำความร้อนให้กับหม้อนึ่งชนิดนี้ อาจใช้ไม้ฟืนหรือแกลบก็ได้โดยการทำเตาแบบเตาเศรษฐกิจ การนึ่งก้อนเชื้อเห็ดจำนวนมากต้องระมัดระวังและแน่ใจว่าสามารถฆ่าเชื้อได้ทั่วถึง
หลังจากนึ่งเรียบร้อยแล้ว นำก้อนเชื้อออกมาวางเรียงกันให้เย็นสนิทเสียก่อน เพื่อรอการเขี่ยเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่างลงถุงต่อไป
3. ศึกษาข้อมูลการเขี่ยเชื้อเห็ดลงถุงวัสดุเพาะ จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้
ลักษณะของเชื้อเห็ดที่ดี
1. ลักษณะของเชื้อเห็ดที่ดี
1.1 ต้องมีความบริสุทธิ์ในสายพันธุ์
1.2 เส้นใยเชื้อเห็ดเดินขาวเต็มขวด
1.3 เชื้อเห็ดไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป
1.4 อาหารที่ใช้เลี้ยงเชื้อเห็ดมีคุณภาพดีและเหมาะสม
1.5 ไม่มีเชื้อราอื่นปะปน
2. การเลือกซื้อเชื้อเห็ด
2.1 เชื้อเห็ดอยู่ในภาชนะที่สะอาดเหมาะสม สภาพเรียบร้อย
2.2 เชื้อเห็ดมีเส้นใยขาวฟูเดินเต็มขวด
2.3 เชื้อเห็ดบริสุทธิ์ไม่มีเชื้อราอื่นเจือปน
2.4 เชื้อเห็ดไม่มีความชื้นมากเกินไปโดยดูจากน้ำที่เกิดขึ้นในภาชนะที่บรรจุ
2.5 อายุเหมาะสมในการนำไปเพาะไม่แก่ ไม่อ่อนเกินไป
การเขี่ยเชื้อเห็ดลงถุงวัสดุเพาะ
การเขี่ยเชื้อเห็ดจากหัวเชื้อลงในถุงวัสดุเพาะ ( ถุงก้อนเชื้อ ) ก้อนเชื้อที่ได้จากการนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ยังถือว่าเป็นเพียงก้อนเชื้อเปล่า ๆ หรือเป็นเพียงถุงขี้เลื่อยธรรมดา เท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้เพาะเอาดอกได้ จนกว่าจะมีการนำเอาหัวเชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่างที่ทำขึ้นหรือ ซื้อเตรียมไว้ล่วงหน้า มาเขี่ยลงไปในก้อนเชื้อนี้เสียก่อน
หัวเชื้อที่ดีนั้น ควรเป็นหัวเชื้อที่เส้นใยเห็ดเจริญเต็มขวดใหม่ ๆ ไม่มีเชื้อราสีต่าง ๆ ปน ไม่เป็น เชื้อแก่จนเส้นใยย่อยตัวเองเป็นน้ำสีเหลือง ตามปกติการถ่ายเชื้อจากขวดเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างนั้น จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการแยกเนื้อเยื่อ หรือการถ่ายเชื้อจากวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่าง คือต้องปฏิบัติภายในตู้เขี่ยเชื้อ แต่เนื่องจากการทำก้อนเชื้อจำนวนมากอาจมีจำนวนหลายหลายร้อยหรือหลายพันก้อนต่อครั้ง ก้อนเชื้อยังมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ดังนั้นจึงไม่นิยมทำในตู้เขี่ยเชื้อและเชื่อว่าหัวเชื้อที่เจริญบนเมล็ดข้าวฟ่างนั้นมีสภาพแวดล้อมของอาหารที่ใกล้เคียงกับเส้นใยเห็ดบนวัตถุธรรมชาติ ซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่าที่เจริญบนวุ้น การถ่ายเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่างลงในถุงก้อนเชื้อ จึงไม่จำเป็นต้องทำในตู้เขี่ยเชื้อ เพียงแต่ควรเป็นที่สะอาดและลมสงบ ส่วนใหญ่จะทำในห้องกั้นพิเศษสำหรับเขี่ยเชื้อโดยตรงเพื่อที่จะป้องกันลมและรักษาความสะอาดได้ง่าย
การปฏิบัติ วางก้อนเชื้อเรียงกันเป็นแถวให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เปิดเอากระดาษที่หุ้มสำลีออก แต่ยังไม่ต้องเปิดจุกสำลีและระวังไม่ให้สำลีหลุดออกจากคอขวด ควรเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ให้ทั่ว นำเอาขวดหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างที่คัดเลือกไว้แล้ว ใช้มือเขย่าในขณะที่ยังปิดจุกสำลีอยู่ เพื่อให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายดีเสียก่อน ถอดจุกสำลีที่ขวดเมล็ดข้าวฟ่างออก นำปากขวดไปลนไฟจากตะเกียงแอลกอฮอล์ ในช่วงนี้ถ้าเมล็ดข้าวฟ่างในขวดยังไม่ร่วน จะใช้ช้อนตักเข้าไปในขวดเพื่อเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างในขณะที่ปากขวดยังลนไฟอยู่ มืออีกข้างหนึ่งเปิดจุกสำลีก้อนเชื้อ แล้วเทหัวเชื้อลงไปในถุงประมาณ 10 – 20 เมล็ด จากนั้นจึงรีบปิดจุกสำลีทันที ใช้กระดาษปิดทับรัดด้วยยาง เมื่อทำได้ 3 – 4 ถุงควรลนปากขวดด้วยตะเกียงแอลกอฮอล์อีกครั้งหัวเชื้อที่เปิดขวดออกมาแล้วควรใช้ให้หมดหากมีเหลือไม่ควรนำมาใช้ต่อไปอีก เพราะเชื้ออาจเสียได้ เฉลี่ยแล้วหัวเชื้อ 1 ขวด จะใช้เขี่ยเชื้อลงถุงได้ประมาณ 50 – 60 ถุง หรือบางแห่งอาจได้ 25 – 30 ก้อน ทั้งนี้เพื่อให้เชื้อเจริญดีและเสียน้อย
การพักถุงก้อนเชื้อเห็ด
การพักถุงก้อนเชื้อเห็ด ก้อนเชื้อเห็ดหลังจากที่เขี่ยเชื้อแล้ว เราจะนำก้อนเชื้อนี้ไปบ่มเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ หรือในโรงบ่มที่ทำไว้โดยเฉพาะเพื่อรอให้เส้นใยเจริญเติบโตลามเต็มถุง ปกติจะใช้เวลานานประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด เช่นเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ มีรายงานจากบางฟาร์มว่าเห็ดนางรมในระยะบ่มเชื้อจะเจริญได้ดีในห้องที่ไม่มีลมโกรกและมีกาซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปกติ ส่วนเห็ดนางฟ้าภูฐานโรงเรือนควรมีแสงสว่างน้อย หากมีแสงมากการเกิดดอกจะเร็วกว่าปกติ เห็ดที่ออกยังไม่ค่อยสมบูรณ์ระยะบ่มที่มาตรฐานคือประมาณ 22 – 28 วัน ยกเว้นฤดูหนาวใช้เวลาเพียง 15 – 20 วัน เท่านั้นก้อนเชื้อที่ดีเส้นใยเห็ดจะเจริญลามอย่างสม่ำเสมอเป็นสีขาวทั่วทั้งก้อน หากเส้นใยเดินชะงักหรือไม่เดินลงมา ซึ่งอาจเกิดจากมีเชื้อราต่าง ๆ ขึ้นปะปนจากการนึ่งไม่ทั่วถึงหรือในระหว่างการเขี่ยเชื้อ ซึ่งแสดงว่าเชื้อเสียลักษณะก้อนเชื้อที่แฉะบริเวณก้นถุง ก็เป็นก้อนเชื้อที่เสียแล้วเช่นกันควรคัดออกทิ้งไป
4. ศึกษาข้อมูล สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดอกเห็ด
จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้
สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดอกเห็ด
อุณหภูมิภายในโรงเรือนเปิดดอก ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 20 – 30 องศาเซลเซียส ดอกเห็ดจะเจริญได้ดีที่สุด ความชื้นภายในโรงเพาะเห็ดควรมีไม่ต่ำกว่า 80 % ถ้าไม่มีความชำนาญในการสังเกตอาจใช้เครื่องมือวัดความชื้นที่เรียกว่า ไฮโดรมิเตอร์ แล้วนำตัวเลขที่เครื่องไปเปรียบเทียบกับตาราง ก็สามารถอ่านค่าของความชื้นได้ความชื้นมากเกินไป ทั้งความชื้นที่อยู่บนวัสดุเพาะหรือในอากาศ โดยเฉพาะในกรณีแรกย่อมมีผลในด้านการชะงักการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดคืออาจทำให้ขาดออกซิเจนได้ เส้นใยก็ไม่เจริญเติบโตหรือตายได้ทำนองเดียวกันกับที่ปล่อยให้แห้งเกินไปจนขาดน้ำสำหรับการละลายสารอาหารในก้อนเชื้อ
การถ่ายเทอากาศ เห็ดทุกชนิดในขณะที่กำลังสร้างเส้นใยและเกิดดอก เห็ดต้องการออกซิเจนสูงมากแต่ในระยะที่สร้างเส้นใยจะทนการขาดออกซิเจนได้ดีกว่าระยะที่เกิดดอกเห็ด โรงเรือนที่ดีจะต้องจัดให้อากาศถ่ายเทได้ดีโดยเฉพาะโรงเรือนขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้มีการสะสมของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ มากเกินไป ถ้ามีกาซนี้มากดอกเห็ดจะมีลักษณะลำต้นยืดยาว ดอกอาจหุบหรือไม่ยอมบานออก
แสง เห็ดหลายชนิดไม่จำเป็นต้องได้รับแสงเลย เพราะมันไม่สามารถปรุงอาหารเองได้อย่างไรก็ตามแสงมีความจำเป็นต่อการทให้ดอกเห็ดสมบูรณ์หรือเพื่อให้เกิดดอกเห็ดเร็วขึ้น เห็ดนางรม – นางฟ้า เมื่อได้รับแสงจะปล่อย สปอร์ จากดอกเห็ดได้ดีแต่ถ้าไม่ได้รับแสงก้านดอกจะยาวออกดอกเล็กและให้ผลผลิตต่ำ
ฤดูปลูก เห็ดนางรม – นางฟ้า ขึ้นได้ดีในหน้าฝนและหน้าหนาว แต่ไม่ควรหนาวจัดเกินไปฤดูปลูกเห็ดชนิดนี้ภาคกลางทำได้ทั้งปี ส่วนภาคเหนือและอีสานดีเฉพาะหน้าฝนหน้าร้อนผลผลิตจะลดลง ส่วนภาคใต้เพาะได้ตลอดปี เห็ดนางฟ้าภูฏานไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศมาก ถ้าอากาศเย็นดอกเห็ดจะออกดอกเร็วมีสีเข้ม แต่ถ้าอากาศร้อนการออกดอกจะช้าลงและมีสีซีด
วิธีดำเนินการ
1. ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม หนังสือการเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2. ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
3. จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
4. จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่น วัสดุอุปกรณ์การทำก้อนเชื้อเห็ด วัสดุอุปกรณ์การถ่ายเชื้อเห็ดลงถุงวัสดุเพาะ เตรียมโรงเพาะเห็ด
5. กำหนดแผนการปฏิบัติงาน
6. ปฏิบัติงานตามขั้นตอน
7. ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน
แผนปฏิบัติงาน
สัปดาห์ที่
รายการกิจกรรม
จำนวนคาบ
หมายเหตุ
1
1.ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม หนังสือการเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2
นอกเวลาเรียน
2
2.ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
2
นอกเวลา
2
3.จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
4
นอกเวลา
3
4.จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่น วัสดุอุปกรณ์ทำก้อนเชื้อเห็ด การถ่ายเชื้อเห็ดลงวัสดุเพาะ โรงเพาะเห็ด
4
นอกเวลา
4 - 15
5.กำหนดแผนการปฏิบัติงานและปฏิบัติงานตามขั้นตอน
14
นอกเวลา
16
6. ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน
4
นอกเวลา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ความรู้วงจรชีวิตเห็ดนางฟ้า
2. ข้อมูลความเหมาะสมของการใช้ฟางข้าวเพาะเห็ดนางฟ้าแทนขี้เลื่อยไม้ยางพารา
3. ได้ทักษะและประสบการณ์ การเพาะเห็ดนางฟ้าโดยใช้ฟางข้าวแทนขี้เลื่อยไม้ยางพารา
4. ได้รับความชื่นชมจากครูและผู้ปกครอง
เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.
ความเห็นครูที่ปรึกษา
การทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าโดยใช้ฟางข้าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจเนื่องจากในท้องถิ่นมีฟางที่ได้จากการทำนาเป็นจำนวนมาก ถ้าสามารถเพาะเห็ดได้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของฟางข้าว ชาวบ้านจะได้มีอาชีพเสริมหลังการทำนาและเป็นการนำหัวเชื้อเห็ดนางฟ้าที่ได้จากภาคเรียนที่แล้วมาเพาะให้เกิดดอกเห็ดด้วย เมื่อนักเรียนมีข้อสงสัยให้ปรึกษาครู
รายงานโครงงานเกษตรกรรม
ชื่อโครงงาน การทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าโดยใช้วัสดุฟางข้าวเปรียบเทียบกับขี้เลื่อยไม้ยางพารา
ชื่อผู้ทำโครงงาน
1. นางสาวอมรรัตน์ ศรีบูรา
2. นางสาวมุกดา ทองสถิต
3. นางสาวรสริน แดงดา
4. นายสมบูรณ์ แตงทรัพย์
ชื่อครูที่ปรึกษา นายอนันท์ กล้ารอด
บทคัดย่อ
จุดมุ่งหมายของการทำโครงงานการทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าโดยใช้วัสดุฟางข้าวเปรียบเทียบกับ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา
1. ศึกษาวงจรชีวิตเห็ดนางฟ้า
2. ทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าโดยใช้ฟางข้าวเปรียบเทียบกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพื่อหาผลผลิตและปัญหาที่พบ
3. เสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ การเพาะเห็ดนางฟ้าโดยใช้ฟางข้าว
เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดเพาะง่ายนิยมบริโภคโดยทั่วไปการเพาะเห็ดใช้วัสดุขี้เลื่อยไม้ยางพารา แต่ในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ ไม่มีขี้เลื่อยดังกล่าวต้องซื้อแต่ราคาแพงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ผู้จัดทำโครงงานเห็นว่าในท้องถิ่นมีฟางข้าวมากไม่มีการซื้อขายชาวบ้านเผาทิ้ง จึงนำมาทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าเปรียบเทียบกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราโดยทดลองเพาะชนิดละ 100 ก้อน ใช้สูตรผสมเดียวกันแต่แตกต่างกันที่วัสดุ ( ฟางหรือขี้เลื่อย ) แล้วเก็บข้อมูลผลผลิต 2 เดือน จากการทดลองพบว่า วัสดุเพาะที่ใช้ฟางข้าว 100 ก้อน ระยะเวลา 2 เดือนให้ผลผลิต 20 ก.ก. วัสดุเพาะที่ใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 ก้อน ระยะเวลา 2 เดือน ให้ผลผลิต 30 ก.ก. อายุการเก็บผลผลิตก้อนเชื้อเห็ดที่ทำจากขี้เลื่อยให้ผลผลิตที่นานกว่า
วิธีดำเนินการ
1. การเตรียมก้อนเชื้อเห็ด
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ในการเพาะเห็ดได้แก่ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ฟางข้าว รำละเอียด ยิปซั่ม ปูนขาว ดีเกลือ สารภูไมท์ น้ำ ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 8 x 12 นิ้ว คอถุง ฝาปิดคอถุง สำลี กระดาษ ยางรัด ให้เพียงพอสำหรับการผลิตก้อนเชื้อเห็ด 100 ก้อน
2. ทำการผสมวัสดุเพาะเห็ดตามสัดส่วนดังนี้
สูตรที่ 1 ขี้เลื่อยไม้ยางพารา
ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 ก.ก. ( ไม่ต้องหมัก )
รำละเอียด 5 ก.ก.
ปูนขาว 1 ก.ก.
ยิปซั่ม 2 ก.ก.
ดีเกลือ 0.2 ก.ก.
สูตรที่ 2 ฟางข้าว
ฟางข้าว 100 ก.ก. ( หมัก 1 คืน )
รำละเอียด 5 ก.ก.
ปูนขาว 1 ก.ก.
ยิปซั่ม 2 ก.ก.
ดีเกลือ 0.2 ก.ก.
ปรับความชื้นในวัสดุเพาะ 60 – 65 % ทดสอบโดยการใช้มือกำขี้เลื่อยขึ้นมาบีบให้แน่นแล้วสังเกต ถ้ามีน้ำซึมออกมาตามร่องนิ้วแสดงว่าเปียกไปให้เติมขี้เลื่อยแห้งลงไป ถ้าไม่มีน้ำซึมออกขี้เลื่อยรวมกันเป็นก้อนแล้วแตกออก 2 ใน 3 ส่วน แสดงว่าใช้ได้ ( ความชื้น 60 – 65 % ) แต่ถ้าแบมือออกแล้วขี้เลื่อยไม่รวมตัวกัน เป็นก้อนแสดงว่าแห้งไปให้เติมน้ำอีก
3. บรรจุขี้เลื่อยลงถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 8 x 12 นิ้ว บรรจุ 2 ใน 3 ของถุงกดทุบให้แน่นพอประมาณใส่คอถุงแล้วปิดฝาถ้าไม่มีฝาปิด ใช้จุกสำลีอุดปิดทับด้วยกระดาษแล้วรัดยาง
4. ทำการผลิตก้อนเชื้อเห็ดจำนวน 100 ก้อน
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. วัสดุในการทำก้อนเชื้อเห็ดได้แก่ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา รำละเอียด ปูนขาว ยิปซั่ม ดีเกลือ สารภูไมท์ น้ำ
2. อุปกรณ์ได้แก่ ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 8x12 นิ้ว คอถุง ฝาปิดคอถุง สำลี ยางรัด ถังนึ่งก้อนเชื้อเห็ด จอบ
ข้อควรระวัง
1. วัสดุเพาะเห็ดต้องใหม่และไม่เสื่อมคุณภาพ
2. อุปกรณ์ทุกชนิดต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น ถังนึ่งฆ่าเชื้อ
3. ส่วนผสมวัสดุเพาะต้องไม่เปียกแฉะ ถ้าความชื้นมากเกินไปทำให้เส้นใยเห็ดไม่เดิน
4. การอัดวัสดุเพาะแน่นเกินไปทำให้ถุงแตกได้
5. การบรรจุวัสดุเพาะเห็ดลงถุงไม่แน่นทำให้เส้นใยเห็ดเดินไม่ดี
2. การนึ่งฆ่าเชื้อถุงวัสดุเพาะ
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์การนึ่งฆ่าเชื้อได้แก่ เตา ถังนึ่ง ชั้นวาง ถุงวัสดุเพาะเห็ด ฝาปิดถัง ไม้ฟืน ถัง น้ำ
2. ใส่น้ำในถังนึ่ง 25 ซ.ม. แล้วใส่ชั้นวาง วางถุงวัสดุเพาะบนชั้นวางเป็นชั้น ๆ จนเต็มถังแล้วปิดฝาอย่าให้แน่นจนเกินไป ก่อนวางถุงวัสดุเพาะด้านในของถัง ต้องบุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อน
3. ทำการก่อไฟโดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำให้เดือด เริ่มจับเวลาตั้งแต่น้ำเดือดเป็นไอพุ่งออกมา เป็นเวลา 3 ช.ม. ( อุณหภูมิ 100 เซลเซียส เป็นเวลา 3 ช.ม. )
4. เมื่อครบ 3 ช.ม. นำถุงวัสดุเพาะเห็ดออกวาง ในที่อากาศถ่ายเทได้ดีปล่อยให้เย็นเพื่อรอใส่เชื้อเห็ด ในรุ่งขึ้นต่อไป
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. เตา ถังนึ่ง ชั้นวางวัสดุเพาะเห็ด ฝาปิด ฟืน ถัง น้ำ
2. ถุงวัสดุเพาะเห็ด
ข้อควรระวัง
1. ห้ามปิดฝาถังแน่นเกินไปเพราะถ้าไอน้ำร้อนออกไม่ได้ทำให้ถังระเบิดได้
2. การจับเวลา 3 ช.ม. ต้องเริ่มจับตั้งแต่น้ำเดือดเป็นต้นไปและให้น้ำเดือดต่อเนื่อง
3. การใส่น้ำต้องให้ได้ 25 ซ.ม. เพราะน้ำเดือด 1 ช.ม. ปริมาณน้ำลดลงไป 5 ซ.ม.
4. ด้านในของถังต้องบุด้วยกระดาษให้หนา เพื่อป้องกันถุงวัสดุเพาะเปื่อยเนื่องจากความร้อน
3. การเขี่ยเชื้อเห็ดลงถุงวัสดุเพาะ
ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่ ขวดหัวเชื้อเห็ดนางฟ้าที่เลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง 10 ขวด ถุงวัสดุเพาะเห็ดที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ช้อนทองเหลืองด้ามยาว ตะเกียงแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ สำลี
2. คัดเลือกเชื้อเห็ดที่ ซึ่งมีลักษณะดังนี้ เส้นใยสีขาวฟูเดินเต็มเมล็ดข้าวฟ่าง
ไม่มีราเขียว ราเหลือง ราแดงปะปน ไม่มีการรวมตัวของเส้นใยเห็ดเป็นก้อนหรือตุ่มดอก ขวดเชื้อเห็ดอยู่ในสภาพไม่สกปรก
3. ทำความสะอาดห้องต่อเชื้อนำถุงวัสดุเพาะเห็ดที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี ช้อนทองเหลืองด้ามยาว อุปกรณ์ทุกชิ้นทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอร์ ปิดประตูหน้าต่างให้ห้อง อยู่ในสภาพอากาศนิ่ง
4. ใช้แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อที่มือช้อนตักทองเหลือง ดึงจุกสำลีขวดเชื้อเห็ดออก ลนไฟที่ปากขวดยกขึ้นเหนือเปลวไฟ ใช้ช้อนคนเมล็ดข้าวฟ่างให้กระจายกัน
5. เปิดฝาปิดถุงวัสดุเพาะเห็ดพร้อมกับหยอดหรือใช้ช้อนตักเชื้อเห็ดที่เลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง ลงถุงละ 20 – 30 เมล็ด ทำอย่างรวดเร็วแล้วปิดฝาถุงวัสดุเพาะเห็ด
6. ทำการเขี่ยเชื้อลงถุง 200 ถุง ก้อนวัสดุฟาง 100 ก้อน ก้อนวัสดุขี้เลื่อย 100 ก้อน แล้วนำไปบ่มในที่สะอาดมีอากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิ 23 – 28 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 21 วัน เส้นใยจะเดินเต็มถุงพร้อมเปิดดอก
7. บันทึกผลการเปลี่ยนแปลงก้อนเชื้อเห็ดในวันที่ 21
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. ขวดเชื้อเห็ดนางฟ้า ถุงวัสดุเพาะเห็ดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
2. ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี ช้อนทองเหลืองด้ามยาว ห้องต่อเชื้อ โรงเรือนบ่มเชื้อเห็ด
ข้อควรระวัง
1. เชื้อเห็ดที่ดีเส้นใยต้องไม่รวมตัวกันเป็นก้อน ตุ่มดอก เส้นใยสีขาวฟู
2. เชื้อเห็ดที่มีราชนิดอื่นปะปน เมื่อนำมาเขี่ยเชื้อทำให้ก้อนเชื้อเห็ดที่ได้เสีย
3. ห้องต่อเชื้อสภาพอากาศต้องนิ่ง เพราะจุลินทรีย์จะมากับฝุ่นละอองในอากาศทุกขั้นตอนปฏิบัติงาน ต้องปลอดเชื้อ การบ่มเชื้อเห็ดต้องระวังไม่ให้ถูกแสงและมีอากาศถ่ายเทดี เชื้อเห็ดจึงเจริญเติบโตดี
4. การดูแลรักษาก้อนเชื้อเห็ด
ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
1. ก้อนเชื้อเห็ดเมื่อเส้นใยเดินเต็มถุงแล้วทำการเปิดปากถุงจัดวางก้อนเห็ดตามแนวนอนที่ชั้นวางชนิด 100 ก้อน
2. เตรียมอุปกรณ์การให้น้ำ ได้แก่ กระบอกฉีดน้ำ ถังน้ำ น้ำ
3. การให้น้ำก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า ต้องฉีดพ่นละอองน้ำในโรงเรือนเพาะเห็ดวันละ 3 ครั้ง เช้า เที่ยง เย็น ให้มีความชื้นสัมพัทธ์ ในโรงเรือน 80 %
4. ห้ามฉีดน้ำเข้าปากถุง ทำให้น้ำขังข้างในถุงได้ ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดเน่าเสีย
5. จัดเวรให้น้ำเห็ด
เครื่องมือ / อุปกรณ์
1. กระบอกฉีดน้ำ ถังน้ำ น้ำ ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า 2. โรงเรือนเพาะเห็ด
ข้อควรระวัง
1. ห้ามฉีดพ่นน้ำเข้าปากถุงก้อนเชื้อเห็ด ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดเน่าได้
ผลการศึกษา
1. การเตรียมวัสดุและบรรจุถุงสูตรใช้ขี้เลื่อยทำได้สะดวกรวดเร็ว ใช้ฟางข้าวบรรจุถุงทำได้ช้า การผสมรำ ปูนขาว ยิปซั่ม ทำได้ลำบากเนื่องจากฟางเป็นเส้นยาว
2. การเดินของเส้นใยเห็ดหลังใส่เชื้อเห็ด วัสดุที่เป็นขี้เลื่อยเส้นใยเดินสม่ำเสมอ ก้อนเชื้อที่ใช้ฟางข้าวเส้นใยเดินไม่สม่ำเสมอส่วนถุงที่บรรจุอัดแน่นเส้นใยจะเดินเป็นปกติดี
3. เมื่อเส้นใยเดินเต็มก้อนพร้อมเปิดดอกนำเข้าโรงเรือนเปิดดอก สภาพแวดล้อมเดียวกันพบว่า เวลา 2 เดือน ก้อนเห็ดที่ใช้ขี้เลื่อย 100 ก้อน ให้ผลผลิต 30 ก.ก. ส่วนก้อนเห็ดที่ใช้ฟาง ข้าว 100 ก้อน ให้ผลผลิต 20 ก.ก.
4. ระยะเวลาให้ดอกเห็ดก้อนเห็ดที่ใช้ฟางข้าวเก็บดอกได้ 40 วัน ส่วนก้อนเห็ดที่ใช้ขี้เลื่อยสามารถเก็บได้ 60 วัน
สรุปและข้อเสนอแนะ
1. ผลผลิตเห็ดนางฟ้าจากการเพาะโดยใช้วัสดุฟางข้าว ก้อนเชื้อเห็ด 1 ก้อน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 200 กรัม จากการเพาะโดยใช้วัสดุขี้เลื่อยไม้ยางพารา ก้อนเชื้อเห็ด 1 ก้อน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 300 กรัม
2. ระยะเวลาให้ผลผลิตของก้อนเชื้อเห็ด ก้อนเชื้อที่ใช้วัสดุขี้เลื่อยจะให้ผลผลิตยาวนานกว่าก้อนเชื้อที่ใช้ฟางข้าว
3. ฟางข้าวเป็นวัสดุเพาะเห็ดที่เหมาะสมของท้องถิ่นใช้แทนขี้เลื่อยเพาะเห็ดนางฟ้าได้ เนื่องจากไม่ได้ซื้อทำให้ต้นทุนน้อย ชาวบ้านสามารถใช้เพาะเห็ดไว้บริโภคหรือเป็นอาชีพเสริมได้โดยรับบริการหัวเชื้อเห็ดจากทางโรงเรียน
4. ควรมีการพัฒนาเครื่องอัดฟางบรรจุถุงเพาะซึ่งจะทำให้ก้อนเชื้อแน่นส่งผลให้เก็บผลผลิตได้นานขึ้น
เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณ
แสดงความคิดเห็น