วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

โรคและแมลงศัตรูเห็ดที่เพาะในถุงพลาสติก




ราดำทำลายก้อนเชื้อเห็ด


โรคและแมลงศัตรูเห็ดที่เพาะในถุงพลาสติก
การเพาะเห็ดในถุงพลาสติกย่อมมีโรคแมลงศัตรูเห็ดระบาดไม่มากก็น้อย รวมทั้งเชื้อราปนเปื้อน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากถุงเห็ดชำรุดมาก่อนปัญหาที่พบเสมอได้แก่
1. เชื้อราปนเปื้อนที่พบได้แก่ ราเขียว Trichoderma sp. ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบรวดเร็ว ทำให้เชื้อเห็ดชะงักการเจริญเติบโต ราดำ Aspergillus niger เกิดในถุงที่มีอาหารเสริมสูง ราสีส้ม Neurospora และราเมือกสีเหลือง
Physarum polycepharum พบตามถุงเห็ดที่วัสดุเพาะเน่าและภายในโรงเห็ดมีความชื้นสูง โรงเพาะเห็ดไม่มีอากาศถ่ายเทพอ ถ้ามีราปนเปื้อนมากควรงดใส่น้ำตาลและแป้ง
2. หนอนแมลงหวี่เซียริดหรือแมลงหวี่เห็ดปีกดำ พวกนี้มีลำตัวสีขาวใสหรือสีเขียวอ่อน หัวมีสีดำยาวประมาณ 5 – 7 ซ.ม. เคลื่อนไหวเร็วและกินจุมาก ตัวอ่อนจะกัดกินเส้นใยเห็ด
3. ศัตรูอื่นๆ มีระบาดบ้างแต่ละท้องถิ่น เช่นเห็ดหมื่นปีหรือเห็ดหลินจือมีเพลี้ยไฟชนิดหนึ่งระบาด ทำให้ดอกเหี่ยวและสีคล้ำและมีด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่งเจาะดอกเห็ด

ศัตรูเห็ดนางรม - นางฟ้า
เห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้า มีคุณสมบัติทางกลิ่นที่ดึงดูดโรคและแมลงศัตรูเห็ดได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมีศัตรูเห็ดรบกวนหลายชนิด เช่น
1. หนูและแมลงสาบ เริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ระยะเชื้อและดอกเห็ดการกำจัดควรใช้ยาเบื่อหรือกาวดัก
2. ไร ตัวไรจะดูดกินน้ำเลี้ยงระยะก้อนเชื้อและดอกเห็ด ทำให้ผลผลิตลดลง พบว่าการระบาดของไรมีมากเมื่อความ ชื้นต่ำ จึงควรให้ความชื้นอย่างสม่ำเสมอ การไม่ปล่อยให้เกิดการหมักหมมของก้อนเชื้อบริเวณโรงเพาะ ก็เป็นการลดจำนวนไรได้ทางหนึ่ง การปราบไรควรเน้นเรื่องความสะอาดและการป้องกันมากกว่าการใช้สารเคมีเพราะจะเป็นอันตรายมาถึงคนกินเห็ดได้
3. แมลงหวี่ เกิดกับดอกเห็ดที่อายุมากแมลงหวี่จะเข้ามาตอมและวางไข่เป็นหนอนแล้วแพร่พันธุ์ ควรนำก้อนเชื้อชนิดนี้ออกจากโรงเพาะ
4. โรคจุดเหลือง พบในเห็ดที่มีอายุมากที่ตกค้างในการเก็บหรือเป็นเพราะน้ำที่ใช้รดสกปรก โดยเฉพาะเมื่ออากาศร้อนจัด
5. ราเมือก มีลักษณะเป็นสายสีเหลือง มีกลิ่นคาวจัด สามารถระบาดโดยสปอร์ได้ ควรป้องกันโดยการเอาก้อนเชื้อที่หมดอายุและเศษวัสดุในเรือนเพาะออกอย่าให้เกิดการหมักหมม

ปัญหาที่พบเสมอในการเพาะเห็ดนางรม - เห็ดนางฟ้า
ในการเพาะเห็ดนางรม – เห็ดนางฟ้า ก็มีปัญหาเช่นเดียวกับการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ ซึ่งพอจะจำแนกได้ดังนี้
1. เส้นใยไม่เจริญลงในถุงขี้เลื่อย หลังจากที่ได้ใส่เชื้อเห็ดลงไปสาเหตุเกิดจาก
- หัวเชื้อเห็ดไม่มีคุณภาพหรือหมดอายุ
- ปุ๋ยหมักมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเห็ด ตลอดจนมีความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป
- ปุ๋ยหมักแฉะเกินไปและเกิดจุลินทรีย์อื่นๆ ขึ้นปะปน
2. เส้นใยเดินบางมาก ในบางครั้งหลังจากบ่มเชื้อแล้วเส้นใยเจริญทั่วก้อนแต่เดินบางมาก ทำให้เกิดดอกเห็ดได้น้อย อาจเกิดจาก
- การขาดอาหารเสริมอาหารน้อยเกินไป
- การนึ่งฆ่าเชื้อไม่หมดยังมีเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ เจริญอยู่
- ใช้วัสดุเพาะที่ไม่เหมาะกับเห็ดชนิดนี้
3. เส้นใยเดินเพียงครึ่งถุง แล้วไม่เดินต่อไปอีก
- ปุ๋ยหมักก้นถุงชื้นหรือเปียกแฉะเกินไป
4. ออกดอกช้าเกิดจาก
- นำก้อนเชื้อไปเปิดดอกในขณะที่เส้นใยยังไม่รัดตัว
- การถ่ายเทอากาศไม่ดี
- เชื้อเห็ดอ่อนเกินไป จากการต่อเชื้อมาแล้วหลายครั้ง
- ความชื้นไม่เพียงพอ
5. ดอกเห็ดเล็กไม่โตและให้ผลผลิตต่ำ
- เชื้ออ่อนแอ ต้องคัดหรือเลี้ยงเนื้อเยื่อใหม่
- อาหารภายในถุงไม่เพียงพอเพราะดอกเห็ดเกิดเป็นดอกเล็กๆ ขึ้นจำนวนมาก
6. เกิดเป็นดอกช้าและไม่เจริญเติบโต มีอาการเหี่ยวเฉาตาย
- เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายขณะเปิดถุงเนื่องจากโรงเรือนสกปรก
- มีน้ำขังในถุงมากเกินไป

การแก้ปัญหาการเพาะเห็ดในโรงเรือน
1. ควรมีการพักโรงบ่มและโรงเพาะเห็ดประมาณ 1 เดือนหมุนเวียนกัน ล้างโรงเห็ดให้สะอาด
2. ฉีดพ่นยาป้องกันศัตรูเห็ดเป็นครั้งคราวเมื่อพักโรงเห็ด
3. ใช้ปูนขาวโรยพื้นเป็นครั้งคราว
4. เก็บถุงเห็ดที่หมดสภาพแล้วนำไปทิ้งให้ไกลจากสถานที่ ที่เพาะเห็ด วัสดุเพาะเห็ดที่หมดสภาพแล้วของเห็ดบางชนิดนำไปเป็นปุ๋ยต้นไม้ได้เลย เช่นวัสดุเพาะเห็ดนางรม เป็นต้น แต่วัสดุที่เพาะเห็ดหลินจือมีความเสี่ยงต่อการไปทำลายต้นไม้ยืนต้น จึงไม่ควรนำไปใช้เป็นปุ๋ย ควรนำไปใช้อย่างอื่นหรือเผาทำลาย
การเพาะเห็ดในถุงปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากสิ่งต่างๆ ดังนี้
1. ถุงพลาสติกมักมีตำหนิทำให้มีเชื้อปนเปื้อนสูง
2. การนึ่งยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีเชื้อปนเปื้อนมาก
3. โรงพักก้อนเชื้อไม่สะอาด มีไรไข่ปลาระบาดทั่วไปในก้อนถุง
4. ก้อนเชื้อรดน้ำมาก น้ำเข้าไปขังแฉะทำให้ก้อนเชื้อภายในถุงเน่า หนอนแมลงวันวางไข่ ตัวอ่อนกัดกินทำลายเส้ยใยและดอกเห็ด
5. โรงเพาะเห็ดมีการถ่ายเทอากาศไม่เพียงพอ ความชื้นสูงมีราเมือกระบาด
6. ไม่มีการพักโรงเรือนเพาะเห็ด ทำให้มีศัตรูเห็ดสะสม

การเก็บดอกเห็ด




การเก็บดอกเห็ด
การเกิดดอกเห็ด ก้อนเชื้อเห็ดหลังจากที่ได้ทำการรดน้ำในโรงเพาะไปแล้ว ประมาณ 1 – 3 สัปดาห์ ก็จะเกิดเป็นดอกเล็กๆ ขึ้น ในช่วงนี้การรดน้ำทำได้ตามปกติ หลังจากนั้นประมาณ 4 – 5 วัน ดอกเห็ดจะโตเต็มที่ให้เก็บได้ ดอกเห็ดในช่วงนี้การรดน้ำต้องระมัดระวังด้วยคือ ต้องรดน้ำน้อยลงไม่ควรฉีดน้ำมากเกินไปจนเปียกเพราะดอกเห็ดจะฉ่ำมากทำให้คุณภาพไม่ดีเมื่อส่งตลาดทั้งยังเสียเร็วและเก็บไว้ได้ไม่
การเก็บดอกเห็ด วิธีสังเกตดอกเห็ดที่โตพอดี อาจสังเกตได้จากขอบดอกคือดอกที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ ดอกเห็ดจะม้วนตัวเข้าหากัน แต่เมื่อโตเต็มที่ก็จะคลี่ออกควรเก็บในช่วงนี้ การเก็บจะถอนออกมาแล้วแล้วค่อยแต่งที่โคนต้น ด้วยการตัดเศษทิ้งไปแต่เห็ดมักมีรอยช้ำตอนจับลำต้นขึ้นมาจึงอาจใช้วิธีตัดแทน การตัดอาจใช้ได้ทั้งมีดคมหรือกรรไกร เมื่อตัดแล้วจึงเอาเศษที่โคนต้นออกออกจากก้อนเชื้อหรือไม่เอาออกก็ได้
การเก็บรักษาดอกเห็ดสด เห็ดนางรมเก็บได้ไม่นาน ควรใช้ทำอาหารในวันเดียวหลังจากที่ตัดมาแล้ว การเก็บควรนำเข้าตู้เย็นโดยเอาถุงพลาสติกอย่างขุ่นมาขยี้แล้วใส่น้ำเขย่า เพื่อให้มีหยดน้ำเล็กติดภายในถุงเทน้ำทิ้งแล้วเอาดอกเห็ดใส่รัดด้วยยาง ถ้าเก็บในห้องธรรมดาหรือใส่ถุงวางขาย ควรเจาะถุงพลาสติกให้เป็นรูระบายอากาศและไอน้ำจะเก็บได้นานขึ้น สำหรับเห็ดนางฟ้าภูฐานนั้นจะเก็บได้นานกว่าเห็ดนางรม คือสามารถเก็บข้ามวันในตู้เย็นได้ 3 – 4 วันอย่างไรก็ตาม เห็ดทั้ง 2 ชนิดนี้การเก็บข้ามวันจะทำให้รสชาติด้อยลงคือขมและสีออกเหลืองขึ้น
สำหรับเห็ดหูหนู ถ้าดูแลได้เหมาะสมตั้งแต่กรีดถุงจนถึงเก็บดอกเห็ด จะใช้เวลา 10 – 15 วัน ก็เก็บเห็ดได้ เห็ดหูหนูที่แก่ได้ที่แล้วควรรีบเก็บทันทีเวลาเก็บจะต้องใช้มือเด็ดออกมาทั้งโคนเห็ดด้วย แล้วใช้มีดเฉือนตัดเอาส่วนโคนที่มีวัสดุเพาะเลี้ยงติดมาด้วยทิ้งไป นำไปตากแดดหรืออบแห้งทันที ถุงก้อนเชื้อที่เก็บเห็ดหมดแล้วให้หยุดฉีดน้ำชั่วคราวเพื่อรักษาความชื้นให้เหมาะสม ช่วยให้หน่อเห็ดใหม่งอกได้เร็วขึ้นอีก ระยะเวลาการผลิตเห็ดหูหนูแต่ละรุ่นใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ปกติถุงก้อนเชื้อ 1 ก.ก. จะได้ผลผลิต 300 – 600 กรัม ให้ผลผลิตมากกว่าการเพาะเลี้ยงด้วยท่อนไม้ถึง 3 เท่าขึ้นไป
ผลผลิตเห็ดนางรม – นางฟ้า ในปัจจุบันนิยมใช้ก้อนเชื้อขนาด 1 ก.ก. จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 4 – 6 รุ่น บางกรณีอาจมากกว่านี้ รุ่นที่ 2 – 3 ขึ้นไป ดอกเห็ดจะสมบูรณ์และผลผลิตสูงกว่ารุ่นแรกและรุ่นหลังนี้ ผลผลิตเห็ดที่ควรได้รับโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ระหว่าง 300 – 350 กรัมต่อถุง การดูแลรักษาและเก็บดอกเห็ดจะทำกันประมาณ 2 - 3 เดือน หรือจนกว่าจะหมดอายุอาหารในก้อนเชื้อ ก้อนที่หมดอายุแล้วจะมีสีดำนิ่มเหลวเละควรนำออกไปจากโรงเพาะเห็ด ล้างทำความสะอาดโรงเพาะให้สะอาดเสียก่อน แล้วจึงเอารุ่นใหม่เข้ามาแทน มีรายงานว่าวิธีการเติมปุ๋ยยูเรียกับดับเบิลซุปเปอร์ฟอสเฟตอัตราปุ๋ย 1 ขีด ต่อน้ำ 10 ลิตร ละลายในน้ำรดเห็ดนางรมที่เริ่มสร้างดอก เพียงวันละครั้งสลับไปพร้อมๆ กับน้ำธรรมดา จนกระทั่งดอกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว จึงงดการให้ปุ๋ย จะทำให้ได้ผลผลิตเห็ดโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การพักก้อนเชื้อระยะหนึ่ง หลังจากที่เก็บดอกเห็ดแล้วเพื่อให้เส้นใยส่วนที่ถูกใช้ไปเจริญเติบโตได้ปกติ แล้วรดน้ำตามเดิมก็จะช่วยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

การจัดการในระยะเก็บดอกเห็ดและหลังการเก็บดอกเห็ด
การเพาะเห็ดสิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษก็คือความสะอาด ทุกขั้นตอนจะต้องรักษาความสะอาดอย่าให้เกิดความหมักหมม มิฉะนั้นจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงการจัดการด้านนี้ครอบคลุมไปถึงกระทั่งวัสดุเพาะที่หมดอายุและทิ้งไปแล้ว โดยเฉพาะโรงเรือน ถ้าหากมีการระบาดของศัตรูเห็ดได้อย่างรวดเร็ว โรงเรือนที่เป็นโรงเดี่ยวขนาดใหญ่แม้ว่าจะสะดวกแต่เมื่อเกิดโรคระบาดแล้วความเสียหายจะเร็วและลุกลามได้มากกว่าโรงเรือนที่แยกเป็นโรงๆ
ก้อนเชื้อที่หมดอายุแล้วมักจะเป็นที่สะสมของเชื้อศัตรูเห็ดต่างๆ การหมักหมมก้อนเชื้อนี้ไว้ใกล้โรงเพาะจำนวนมากๆ มักจะส่งผลถึงความเสียหายในระยะยาว จึงควรจัดการของเหลือทั้งหมดนี้โดยการนำไปทิ้งในที่ไกลๆ
จากโรงเพาะหรืออย่างน้อยควรหาวิธีแปรสภาพให้เป็นปุ๋ยสำหรับใช้ปลูกพืชต่อไป
การเกิดลักษณะที่ผิดปกติของดอกเห็ด เท่าที่พบในเมืองไทยมี 2 แบบคือ ดอกเห็ดเป็นหลอดยาวขึ้น พบได้ประปราย ซึ่งเกิดจากการเก็บก้อนเชื้อไว้ในที่มีกาซคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาก แบบที่สองดอกมีขนาดโต แต่ดอกหุบอยู่ไม่บานออกหรือบานออกเพียงเล็กน้อย สาเหตุเกิดจากกาซชนิดนี้เช่นกัน การแก้ไขต้องทำให้โรงเรือนมีการถ่ายเทอากาศ โดยทำที่ระบายให้กาซนี้ระบายออกเสียบ้าง ดอกเห็ดรุ่นต่อไปก็จะมีสภาพปกติเช่นเดิม

การกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ในการเพาะเห็ด



การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในถุงวัสดุเพาะเห็ด


การกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ในการเพาะเห็ด
การเพาะเห็ดทุกชนิดและทุกขั้นตอน จะต้องทำโดยปราศจากเชื้อศัตรูเห็ดทุกชนิด เพราะถ้ามีเชื้ออื่นเข้ามามันจะขึ้นแข่งขันแย่งอาหารหรือสร้างสารที่จะเป็นอันตรายต่อเห็ดได้ต้องระมัดระวังเรื่องรักษาความสะอาด มิฉะนั้นการเพาะเห็ดอาจล้มเหลวได้ดังนั้นผู้เพาะเห็ดจำเป็นต้องทราบถึงเทคนิคและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเห็ด
เชื้อและการกำจัดเชื้อ ในการเพาะเห็ดมีเชื้ออยู่ 2 พวกใหญ่ที่พบและเกี่ยวข้องกับการเพาะเห็ดมากที่สุดคือเชื้อราและบัคเตรี เชื้อรามีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งในอากาศ โดยปลิวไปตามลม ฝุ่นละอองเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในรูปของสปอร์ ซึ่งอาหารของเห็ดทุกชนิด มีสภาพความเหมาะสมที่จะเกิดเชื้อราได้ง่ายอยู่แล้ว ราเจริญโดยต่อกันเป็นเส้นใยแบบเห็ด จึงเจริญได้บนอาหารที่เป็นชิ้นเล็กๆ และไม่เปียกมาก ในลักษณะเดียวกับการเจริญของเห็ด ทั้งยังทนกับความแห้งแล้งและทนแสงได้ แต่เราสามารถกำจัดเชื้อราได้โดยความร้อนให้หมดสิ้นได้ในน้ำเดือดธรรมดาที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส
การเพาะเห็ดนางฟ้า - นางรม มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อราและต้องกำจัดคือ การฆ่าเชื้อในปุ๋ยหมัก ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ 3 ของการเพาะเห็ดเราไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อให้หมดจดเสียทีเดียว อาจฆ่าเฉพาะที่จะเป็นผลเสียกับเห็ดในขั้นตอนนี้เท่านั้น การฆ่าเชื้อแบบนี้เรียกว่า การพาสเจอร์ไรส์ ส่วนบัคเตรีนั้นมักแพร่กระจายในน้ำและฝุ่นละอองเป็นส่วนใหญ่ บัคเตรีเจริญได้ในอาหารที่เปียกหรือมีน้ำมาก ถ้าอาหารแห้งหรือหมาดก็ไม่สามารถเจริญได้อย่างเห็ดรา สปอร์ของบัคเตรีสามารถทนความร้อนได้มากกว่าเชื้อรา ดังนั้นการกำจัดด้วยความร้อนก็ต้องใช้ความร้อนที่มีขนาดและเวลาแตกต่างกันออกไป
การกำจัดบัคเตรีที่ทนร้อนเป็นพิเศษ จะต้องใช้ความร้อน 121 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที ขึ้นไปจึงกำจัดได้ในการเพาะเห็ดนางรม - นาง ฟ้า มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อบัคเตรีเพื่อให้เชื้อนี้หมดคือ การฆ่าเชื้อบนอาหารวุ้นสำหรับเลี้ยงเชื้อเห็ดและใช้ในการฆ่าเชื้อหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 1 และ 2 ของงานเพาะเห็ด อันเป็นการฆ่าเชื้อบัคเตรีทุกชนิดให้ตายไปโดยสิ้นเชิง เรียกว่าการ สเตอริไรส์
นอกจากนี้แล้ว เรายังมีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นภาชนะในการปฏิบัติงาน เช่นตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ มีดหรือแม้กระทั่งมือของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากเราจะใช้ไฟจากตะเกียงแอลกอฮอล์ เป็นตัวฆ่าแล้ว ยังนำแอลกอฮอล์มาเช็ดอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย
การฆ่าเชื้อด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ใช้ฆ่าเชื้อในตู้เขี่ยเชื้อหรือตามผิวสิ่งต่างๆ ที่มีการทะลวงของแสงมีน้อย แต่ในทางปฏิบัติจริงยังมีน้อยจึงไม่นิยมกระทำในระดับฟาร์มทั่วๆ ไป
การพาสเจอร์ไรส์ ในการเพาะเห็ดเราจะพาสเจอร์ไรส์อาหาร ปุ๋ยหมักหรือก้อนเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อและเห็ดอื่นๆ ที่จะเป็นศัตรูต่อเห็ดนางรม – นางฟ้า ได้ซึ่งรวมทั้งแมลงและสัตว์เล็กๆ ในถุงปุ๋ยด้วยโดยการใช้หม้อนึ่ง ซึ่งอาจเป็นหม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง หม้อนึ่งแบบดัดแปลง หรือหม้อนึ่งความดันแบบต่างๆ โดยการต้มน้ำให้เดือดขึ้นเป็นไอไปฆ่าเชื้อก้อนเชื้อที่วางไว้ด้านบน การฆ่าเชื้อจะใช้ความร้อน 80 – 100 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาอย่างต่ำ 2 ช.ม.
การสเตอริไรส์ การฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้ เป็นการฆ่าเชื้อศัตรูเห็ดให้ตายหมดอย่างสิ้นเชิง ปกติจะใช้หม้อนึ่งความดันไอน้ำเท่านั้นไม่สามารถใช้หม้อนึ่งลูกทุ่งได้ โดยนึ่งที่ความดันไอน้ำให้มีความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นาน 15 นาทีขึ้นไปแต่ถ้าจำนวนเชื้อมีมากก็ต้องนึ่งให้นานกว่านี้เช่น ถ้านึ่งขวดอาหารวุ้นจะใช้เวลานึ่งที่ความดันขนาดนี้ 15 นาที ถ้านึ่งหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างต้องใช้เวลา 25 – 30 นาทีเป็นต้น
หม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง หม้อนึ่งชนิดนี้มีราคาถูกเหมาะสำหรับฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลาง เป็นเครื่องมือที่สามารถทำขึ้นเองได้ นิยมใช้ถังจารบีที่มีขนาดเดียวกับถังน้ำมันสองร้อยลิตรแต่หนากว่าและมีฝาแยกออกมาเป็นอิสระพร้อมเข็มเข็ดรัดฝา สามารถซื้อหาได้ตามร้านอุปกรณ์เพาะเห็ด ควรใช้ยางในรถจักรยานยนต์ที่ไม่ใช้แล้วมาผ่าใช้หุ้มปากถังแทนปะเก็น เพื่อให้สามารถปิดได้สนิทขึ้น ตรงกลางฝาเจาะรูด้วยตะปูขนาด 3 นิ้ว เพื่อทำเป็นที่ระบายไอน้ำ ก้นถังทำเป็นตะแกรงรองวัสดุนึ่ง ให้สามารถยกเข้าออกได้สำหรับวางก้อนเชื้อไม่ให้เปียกน้ำโดยทำให้สูงจากก้นถังประมาณ 10 ซ.ม. การนึ่งปฏิบัติเช่นเดียวกับหม้อนึ่งความดันแบบทั่วไปคือ ใส่น้ำลงไปจนปริ่มตะแกรง แต่ก่อนนำก้อนเชื้อลงวางเรียงควรใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองรอบๆ ขอบถังเสียก่อนเพื่อไม่ให้ถุงพลาสติกจากก้อนเชื้อละลายติดกับหม้อนึ่งเมื่ออุณหภูมิร้อนจัด
เมื่อวางก้อนเชื้อจนเต็มแล้ว ปิดฝาและรัดสายรัดให้แน่นต้มน้ำให้เดือดจนไอพุ่งออกจากรูที่เจาะตรงกลางฝาอย่างสม่ำเสมอแล้วนึ่งไปนานประมาณ 1 ช.ม. เมื่อครบกำหนดแล้วก็ให้นำก้อนเชื้อออกมาวางในอุณหภูมิปกติเป็นเวลา 12 ช.ม. แล้วนำไปนึ่งอีกทำเหมือนเดิมอีก 2 ครั้ง รวมเป็น 3 ครั้ง ก็จะสามารถฆ่าเชื้อต่างๆ ที่เป็นศัตรูเห็ดได้เช่นเดียวกับหม้อนึ่งความดันเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ทำความร้อนอาจใช้ไม้ฟืน หรือใช้แกลบโดนการทำเตาแบบเตาเศรษฐกิจซึ่งใช้ได้ผลดี
การนึ่งฆ่าเชื้อถุงวัสดุเพาะเห็ด เมื่อเตรียมถุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันหรือหม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง เพื่อฆ่าเชื้อต่างๆ ที่เป็นศัตรูเห็ดเวลาในการนึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของหม้อนึ่งและจำนวนก้อนเชื้อ อาจนึ่งเพียง 2 ช.ม. สำหรับการนึ่งเชื้อจำนวนน้อยและนึ่ง 4 – 6 ช.ม. สำหรับจำนวนเชื้อมากการนึ่งเชื้อจำนวนมากต้องระวังและแน่ใจว่าสามารถฆ่าเชื้อได้ทั่วถึง หลังจากนึ่งเรียบร้อยแล้ว นำก้อนเชื้อออกมาวางเรียงกันให้เย็นสนิทเสียก่อน เพื่อรอการเขี่ยเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่างลงถุงต่อไป

หลักการและขั้นตอนเพาะเห็ด

หลักการและขั้นตอนเพาะเห็ด
หลักในการเพาะเห็ดเบื้องต้นก็คือ การศึกษาสภาพต่างๆ ในธรรมชาติของเห็ดนั้นๆ แล้วนำเห็ดนั้นมาเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันกับธรรมชาติ แต่เนื่องจากการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดที่เราเพาะ ต้องมีการแข่งขันกับเชื้อเห็ดที่มีอยู่ในธรรมชาติด้วย มันอาจเจริญแข่งขันสู้กับเห็ดอื่นๆ ในธรรมชาติไม่ได้ ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้เส้นใยเห็ดที่เราต้องการเพาะชนะเห็ดอื่นๆ ก็คือเราจะต้องกำจัดเห็ดอื่นให้น้อยลงหรือใส่เชื้อเห็ดที่ต้องการลงไปมากหรือทั้งสองวิธีควบคู่กับไป เราจึงได้มีการทำเชื้อเห็ดเพื่อใช้ในการนี้ขึ้น
การเพาะเห็ดแบ่งขั้นตอนการเพาะออกเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน
1. การแยกเชื้อเห็ดและเลี้ยงเชื้อเห็ดบนอาหารวุ้น
2. การทำหัวเชื้อเห็ดเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง
3. การทำก้อนเชื้อวัสดุเพาะเห็ดในถุงพลาสติก
4. การเพาะให้เกิดดอก
แม้ว่าการเพาะเห็ดจะมีขั้นตอนใหญ่ๆ 4 ขั้นตอนซึ่งแต่ละขั้นตอนก็มีลักษณะของการใช้งานที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของมันเอง แต่ต้องเข้าใจว่าผู้เพาะเห็ดไม่จำเป็นต้องทำทุกขั้นตอนดังกล่าวนี้ ในปัจจุบันฟาร์มเห็ดต่างๆ จะเป็นฟาร์มใหญ่ที่ผลิตก้อนเชื้อจำนวนมากก็ไม่ได้ทำเช่นนี้ เพราะงานด้านนี้ได้มีการแบ่งงานกันทำอย่างมีระบบอยู่แล้ว ผู้ที่จะเพาะเห็ดใหม่จึงไม่จำเป็นต้องทำเองทุกขั้นตอน งานบางขั้นตอนอาจเป็นงานที่ยุ่งยากแต่นำมาใช้งานได้น้อย เช่น การแยกเชื้อเห็ดบนอาหารวุ้น การลดขั้นตอนที่ยุ่งยากนี้ก็ทำได้โดยเพียงแต่หาซื้อจากผู้ผลิตเชื้อชนิดนี้เท่านั้น เท่าที่เป็นอยู่จะพบว่าผู้ผลิตหัวเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างมีหน้าที่ผลิตเชื้อนี้จำหน่ายให้แก่ผู้ทำก้อนเชื้อ และจะแยกเชื้อเห็ดบนอาหารวุ้นไว้ใช้เฉพาะในการขยายหรือปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น
ส่วนผู้ผลิตก้อนเชื้อ ก็มีหน้าที่ผลิตก้อนเชื้อ สำหรับใช้เพาะเอาดอกเห็ดหรือเพื่อจำหน่ายก้อนให้แก่ผู้ที่จะนำไปเปิดเอาดอกรายย่อยมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ผลิตทั้งก้อนเชื้อและหัวเชื้อ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเพาะเห็ด อาจเชื้อก้อนเชื้อเห็ดเพียงจำนวนน้อยมาทดลองเพาะก่อนเมื่อมีความชำนาญดีแล้วจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น


ขั้นตอนการผลิตก้อนเชื้อเห็ด
สูตรอาหารก้อนเชื้อเห็ด
ขี้เลื่อยไม้ยางพารา (ไม่ต้องหมัก) 100 ก.ก.
รำละเอียด 5 ก.ก.
ปูนขาว 1 ก.ก.
ยิปซัม 2 ก.ก.
ดีเกลือ 0.2 ก.ก.
ปรับความชื้นในวัสดุเพาะประมาณ 60 – 65 %

1. นำส่วนผสมข้างต้นผสมให้เข้ากันด้วยมือหรือเครื่องผสม ปรับความชื้นประมาณ 60 - 65 % โดยการเติมน้ำลงไปพอประมาณ
2. ใช้มือกำขี้เลื่อยขึ้นมาบีบให้แน่น แล้วสังเกตว่าถ้ามีน้ำซึมออกมาตามร่องนิ้วแสดงว่าเปียกไป ให้เติมขี้เลื่อยแห้ง ถ้าไม่มีน้ำซึมให้แบมือออก ขี้เลื่อยจะรวมกันเป็นก้อนแล้วแตกออก 2 – 3 ส่วนแสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าแบมือแล้วขี้เลื่อยไม่รวมตัวกันเป็นก้อน แสดงว่าแห้งไปให้เติมน้ำลงไปอีก
3. เมื่อผสมคลุกเคล้าส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ให้บรรจุขี้เลื่อยใส่ถุงพลาสติกทนร้อน น้ำหนักบรรจุ 8 – 10 ขีด 2 ใน 3 ของถุงกดและทุบให้แน่นพอประมาณ ใส่คอขวด(คอถุง) รัดด้วยหนังยาง จุกสำลี
4. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ช.ม.
5. นำถุงออกมาพักให้เย็นในที่สะอาด เปิดจุกสำลี ต่อเชื้อที่ต้องการลงตรงคอถุง
6. นำถุงเชื้อเห็ดไปบ่มไว้ในที่สะอาด มีการถ่ายเทอากาศสะดวกพ่นยาฆ่าแมลงวันเส้นใยจะเดินจนเต็มถุงระยะเวลาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด
7. เมื่อเส้นใยเดินเต็มถุงแล้ว คัดเอาเฉพาะถุงที่ไม่มีการการปนเปื้อนมาเปิดในโรงเรือนเปิดดอก เพื่อให้เกิดดอกเห็ดต่อไป ภายในโรงเรือนต้องสะอาด มีการถ่ายเทอากาศดี มีแสงสว่างพอสมควร และเก็บความชื้นได้ดีพอสมควร ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนประมาณ 70 % ขึ้นไป

การเลือกซื้อหัวเชื้อเห็ด




การเลือกซื้อหัวเชื้อเห็ด

1. ลักษณะของเชื้อเห็ดที่ดี
1.1 ต้องมีความบริสุทธิ์ในสายพันธุ์
1.2 เส้นใยเชื้อเห็ดเดินขาวเต็มขวด
1.3 เชื้อเห็ดไม่แก่ - อ่อนเกินไป
1.4 อาหารที่ใช้เลี้ยงเชื้อเห็ดต้องมีคุณภาพดี
1.5 ไม่มีเชื้อราอื่นปะปน
2. การเลือกซื้อเชื้อเห็ด
2.1 เชื้อเห็ดอยู่ในภาชนะที่สะอาด เหมาะสม
2.2 เชื้อเห็ดมีเส้นใยขาวฟูเดินเต็มขวด
2.3 เลือกซื้อเชื้อเห็ดที่บริสุทธิ์ ไม่มีราอื่นปะปน
2.4 เลือกซื้อเชื้อเห็ดที่ไม่มีความชื้นมากเกินไป ดูจากน้ำที่เกิดขึ้นภายในภาชนะบรรจุเชื้อเห็ด
2.5 เลือกซื้อเชื้อเห็ดในขนาดอายุที่เหมาะสมนำไปเพาะ ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป

การเขี่ยเชื้อเห็ดจากหัวเชื้อลงถุงวัสดุเพาะเห็ด

ก้อนเชื้อที่ได้จากการนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ยังถือว่าเป็นเพียงก้อนเชื้อเปล่าๆ หรือเป็นเพียงถุงขี้เลื่อยธรรมดาเท่านั้นไม่สามารถนำไปใช้เพาะเอาดอกได้ จนกว่าจะมีการนำเอาหัวเชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่างที่ทำขึ้นหรือซื้อเตรียมไว้ล่วงหน้า มาเขี่ยลงไปในก้อนเชื้อนี้เสียก่อน
หัวเชื้อที่ดีนั้น ควรเป็นหัวเชื้อที่เส้นใยเห็ดเจริญเต็มขวดใหม่ๆ ไม่มีราสีต่างๆ ปนไม่เป็นเชื้อแก่จนเส้นใยย่อยตัวเองเป็นน้ำสีเหลืองตามปกติการถ่ายเชื้อจากขวดเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างนั้น จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการแยกเนื้อเยื่อ หรือการถ่ายเชื้อจากวุ้นลงในเมล็ดข้าวฟ่างคือจะต้องปฏิบัติภายในตู้เขี่ยเชื้อ แต่เนื่องจากการทำก้อนเชื้อจำนวนมากอาจมีจำนวนหลายร้อยหลายพันก้อนต่อครั้ง ก้อนเชื้อยังมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ดังนั้นจึงไม่นิยมทำในตู้เขี่ยเชื้อ อีกประการหนึ่งเชื่อว่าหัวเชื้อที่เจริญบนเมล็ดข้างฟ่างและที่เจริญบนก้อนเชื้อนั้น มีสภาพแวดล้อมของอาหารที่ใกล้เคียงกับเส้นใยเห็ดบนวัตถุธรรมชาติ ซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่าที่เจริญบนวุ้น การถ่ายเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่างลงในถุงก้อนเชื้อ จึงไม่จำเป็นต้องทำกันในตู้เขี่ยเชื้อ เพียงแต่เป็นที่สะอาดและลมสงบส่วนใหญ่มักทำกันในฟาร์ม บางฟาร์มอาจมีห้องกั้นพิเศษสำหรับเขี่ยเชื้อโดยตรง
การปฏิบัติ วางก้อนเชื้อเรียงกันเป็นแถวให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก เปิดเอากระดาษที่หุ้มสำลีอยู่ออก แต่ยังไม่ต้องเปิดจุกสำลีและระวังไม่ให้สำลีหลุดออกจากคอขวด ควรเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ให้ทั่ว นำเอาขวดหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างที่คัดเลือกไว้แล้วใช้มือเขย่าในขณะที่ยังปิดจุกสำลีอยู่ เพื่อให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายดีเสียก่อน ถอดจุกสำลีที่ขวดเมล็ดข้าวฟ่างออกนำปากขวดไปลนไฟจากตะเกียงแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ถ้าเมล็ดข้าวฟ่างในขวดยังไม่ร่วน จะใช้ช้อนตักเข้าไปในขวดเพื่อเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างในขณะที่ปากขวดยังลนไฟอยู่ ในมืออีกข้างหนึ่งเปิดจุกสำลีก้อนเชื้อ แล้วเทหัวเชื้อลงไปในถุงประมาณ 10 – 20 เมล็ด จากนั้นจึงรีบปิดจุกสำลีทันทีไม่ต้องใช้กระดาษปิดทับ แต่ควรแน่ใจว่าปิดจุกสำลีได้แน่นพอ ถุงต่อไปก็ทำเช่นเดียวกันทุก 3 – 4 ถุงควรลนปากขวดด้วยตะเกียงแอลกอฮอล์อีกครั้งหนึ่ง หัวเชื้อที่เปิดขวดออกมาแล้วควรใช้ให้หมดหากมีเหลือไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป เพราะเชื้ออาจเสียได้ เฉลี่ยแล้วหัวเชื้อขวดหนึ่งๆ จะใช้เขี่ยเชื้อลงถุงได้ประมาณ 50 - 60 ถุงสำหรับเห็ดนางฟ้าภูฐาน บางแห่งจะใช้หัวเชื้อมากกวานี้คือประมาณ 25 – 30 ก้อนต่อเชื้อหนึ่งขวด ทั้งนี้เพื่อให้เชื้อเจริญแล้วและเชื้อเสียน้อย

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหูหนู

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหูหนู
1. อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดหูหนูคือ 28 – 38 องศาเซลเซียส
2. การฉีดน้ำ หลังจากกรีดถุงแล้วต้องเอาใจใส่ และรักษาความชื้นในโรงเรือนให้ดี ความชื้นสัมพัทธ์ต้องอยู่ที่ประมาณ 85 % อาจใช้ผ้าพลาสติกล้อมปิดรอบๆ ชั้นเพาะเลี้ยงเพื่อรักษาความชื้นโดยต้องคอยเลิกผ้าพลาสติกวันละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อให้ระบายอากาศได้ดีขึ้น แต่ไม่ต้องฉีดน้ำตั้งแต่กรีดถุงจนถึงระยะที่เกิดตุ่มดอก ที่สำคัญคือ ภายในห้องต้องมีความชื้นมากขึ้น และเมื่อดอกเห็ดโตแล้วให้ฉีดน้ำตามความเหมาะสมปริมาณน้ำที่ฉีดต้องให้อยู่ในระดับที่กลีบดอกชุ่มชื้น ขอบกลีบเห็ดไม่เหี่ยว
3. แสงแดด แสงแดดที่เพียงพอ จะช่วยให้ดอกเห็ดหูหนูมีสีเข้มแข็งแรงและโตเร็ว แต่ต้องเป็นแสงแดดที่สาดกระจาย

สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดอกเห็ดเมืองร้อน
อุณหภูมิภายในโรงเรือนเปิดดอก ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 20 – 30 องศาเซลเซียส ดอกเห็ดจะเจริญได้ดีที่สุด ความชื้นภายในโรงเพาะเห็ดควรมีไม่ต่ำกว่า 80 % ถ้าไม่มีความชำนาญในการสังเกตอาจใช้เครื่องมือวัดความชื้นที่เรียกว่า ไฮโดรมิเตอร์ แล้วนำตัวเลขที่เครื่องไปเปรียบเทียบกับตาราง ก็สามารถอ่านค่าของความชื้นได้ความชื้นมากเกินไป ทั้งความชื้นที่อยู่บนวัสดุเพาะหรือในอากาศ โดยเฉพาะในกรณีแรกย่อมมีผลในด้านการชะงักการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดคืออาจทำให้ขาดออกซิเจนได้ เส้นใยก็ไม่เจริญเติบโตหรือตายได้ทำนองเดียวกันกับที่ปล่อยให้แห้งเกินไปจนขาดน้ำสำหรับการละลายสารอาหารในก้อนเชื้อ
การถ่ายเทอากาศ เห็ดทุกชนิดในขณะที่กำลังสร้างเส้นใยและเกิดดอก เห็ดต้องการออกซิเจนสูงมากแต่ในระยะที่สร้างเส้นใยจะทนการขาดออกซิเจนได้ดีกว่าระยะที่เกิดดอกเห็ด โรงเรือนที่ดีจะต้องจัดให้อากาศถ่ายเทได้ดีโดยเฉพาะโรงเรือนขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้มีการสะสมของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ มากเกินไป ถ้ามีกาซนี้มากดอกเห็ดจะมีลักษณะลำต้นยืดยาว ดอกอาจหุบหรือไม่ยอมบานออก
แสง เห็ดหลายชนิดไม่จำเป็นต้องได้รับแสงเลย เพราะมันไม่สามารถปรุงอาหารเองได้อย่างไรก็ตามแสงมีความจำเป็นต่อการทำให้ดอกเห็ดสมบูรณ์หรือเพื่อให้เกิดดอกเห็ดเร็วขึ้น เห็ดนางรม – นางฟ้า เมื่อได้รับแสงจะปล่อย สปอร์ จากดอกเห็ดได้ดีแต่ถ้าไม่ได้รับแสงก้านดอกจะยาวออกดอกเล็กและให้ผลผลิตต่ำ
ฤดูปลูก เห็ดนางรม – นางฟ้า ขึ้นได้ดีในหน้าฝนและหน้าหนาว แต่ไม่ควรหนาวจัดเกินไปฤดูปลูกเห็ดชนิดนี้ภาคกลางทำได้ทั้งปี ส่วนภาคเหนือและอีสานดีเฉพาะหน้าฝนหน้าร้อนผลผลิตจะลดลง ส่วนภาคใต้เพาะได้ตลอดปี เห็ดนางฟ้าภูฐานไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศมาก ถ้าอากาศเย็นดอกเห็ดจะออกดอกเร็วมีสีเข้ม แต่ถ้าอากาศร้อนการออกดอกจะช้าลงและมีสีซีด

การพักถุงก้อนเชื้อเห็ด




การพักถุงก้อนเชื้อ
ก้อนเชื้อเห็ดหลังจากที่เขี่ยเชื้อแล้ว เราจะนำก้อนเชื้อนี้ไปบ่มเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ หรือในโรงบ่มที่ทำไว้โดยเฉพาะเพื่อรอให้เส้นใยเจริญเติบโตลามเต็มถุง ปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ แล้วแต่ชนิดของเห็ดมีรายงานจากบางฟาร์มว่าเห็ดนารมในระยะบ่มเชื้อจะเจริญได้ดีในห้องที่ไม่มีลมโกรกและมีกาซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปกติ ส่วนเห็ดนางฟ้าภูฐานโรงเรือนควรมีแสงสว่างน้อย หากมีแสงมากการเกิดดอกจะเร็วกว่าปกติ เห็ดที่ออกยังไม่ค่อยสมบูรณ์ ระยะบ่มที่มาตราฐานคือ 22 – 28 วัน ยกเว้นในฤดูหนาวใช้เวลาเพียง 15 – 20 วันเท่านั้นก้อนเชื้อที่ดีเส้นใยเห็ดจะเจริญลามอย่างสม่ำเสมอเป็นสีขาวทั่วทั้งก้อน หากเส้นใยเดินชะงักหรือไม่เดินลงมา ซึ่งอาจเกิดจากมีเชื้อราต่างๆ ขึ้นปะปนจากการนึ่งไม่ทั่วถึงหรือในระหว่างการเขี่ยเชื้อ ซึ่งแสดงว่าเชื้อเสียลักษณะก้อนเชื้อที่แฉะบริเวณก้นถุง ก็เป็นก้อนเชื้อที่เสียแล้วเช่นกันควรคัดออกทิ้งไป

การเปิดถุงก้อนเชื้อเห็ด
การเปิดถุงก้อนเชื้อเห็ด ก่อนนำก้อนเชื้อที่เจริญดีแล้วไปเพาะและรดน้ำ จะต้องทำการเปิดถุงซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกันคือ
1. การพับหรือม้วนปากถุงลงมา โดยพับให้ปากถุงลงมาจนกว่าก้อนเชื้ออาหารโผล่เล็กน้อยแล้วรดน้ำ การทำแบบนี้ได้ผลดีเมื่อเป็นหน้าฝนหรือหน้าหนาวที่อากาศชื้น ถ้าเป็นหน้าแล้งอาจได้ผลน้อย
2. การเปิดปากถุงโดยใช้มีดตัดปากถุงใต้คอขวด ซึ่งเมื่อตัดแล้วจะเหลือเฉพาะถุงพลาสติกบริเวณปากถุงที่แคบลง วิธีนี้พบว่าได้ดอกเห็ดน้อยกว่าวิธีแรก แต่ดอกเห็ดมีน้ำหนักดีกว่า
3. การกรีดข้างถุง เป็นวิธีที่นิยมพอๆ กับวิธีแรกโดยใช้มีดกรีดข้างถุงให้เป็นทางยาวลงมา หรือกรีดเป็นรูปกากบาท 4 – 7 แห่งกระจายรอบถุง ข้อดีของวิธีนี้คือน้ำมักไม่ขังและมีโรคแมลงรบกวนน้อย วางบนชั้นได้ทั้งแบบตั้ง วางธรรมดาและแขวนไว้กับเชือกห้อยลงมาก็ได้
4. การเจาะรูก้อนเชื้อ ใช้มีดที่มีปลายแหลมเจาะข้างๆ ถุงรอยเล็กๆ พอเส้นใยรัดตัวมันก็จะสร้างดอกเห็ดตามรอยที่เจาะไว้ มักได้ดอกเห็ดที่สมบูรณ์และขาวสะอาด
5. การเปิดก้อนเชื้อทั้งก้อน นำก้อนเชื้อที่เปลือยทั้งก้อนไปวางไว้บนชั้นหรือในภาชนะพวกตระกร้าแล้วรดน้ำได้เลยดอกเห็ดจะออกดอกได้ทุกส่วนรอบก้อนแต่ก้อนจะแห้งเร็วมากจึงต้องรดน้ำบ่อย บางครั้งต้องเอาฟางหรือต้นข้าวโพดป่นวางทับเพื่อเก็บความชื้น การเกิดดอกเห็ดจะเร็วและหมดไปเร็วด้วยเช่นกัน
6. การเปิดเอาเฉพาะสำลีและคอถุงออก แล้วทำปากถุงให้เหมือนเดิม เป็นวิธีที่ใช้กับเห็ดนางฟ้าภูฐานมาก แต่ควรกรีดข้างถุงสัก 2 รอยเพื่อป้องกันน้ำขัง

การเกิดดอกเห็ดในธรรมชาติของเห็ดนางรม-เห็ดนางฟ้า

การเกิดดอกเห็ดในธรรมชาติของเห็ดนางรม - นางฟ้า
เมื่อสปอร์ของดอกเห็ดจากดอกที่แก่จัด ปลิวไปตามลมตกในที่ชื้นมันก็จะงอกออกมาถ้าหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมและมีอาหารเพียงพอเส้นใยงอกจากสปอร์ก็จะเจริญและพัฒนาต่อไป จนกระทั่งสามารถสร้างดอกเห็ดได้อีกแต่ในธรรมชาตินั้นมีเห็ดชนิดอื่นๆ อยู่อย่างมากมายและมีการแข่งขันแย่งอาหารกันเสมอ ถ้าเห็ดนางรม – นางฟ้าเจริญดีชนะเห็ดอื่นๆ มันก็จะสร้างดอกเห็ดได้ จึงเป็นเหตุให้มีเห็ดขึ้นเป็นฤดูกาลไป มากน้อยตามช่วงเวลาที่ต่างกัน ในด้านการเพาะเราจึงหาวิธีปรับภาวะที่เหมาะสมให้กับเห็ดชนิดนี้เพื่อจะเพาะให้ได้มากที่สุด มันก็จะเจริญดีหรือช่วยกำจัดคู่แข่งขันให้ก็จะทำให้ได้เห็ดที่เพาะขึ้นไดตามต้องการ

การรดน้ำและให้ความชื้น
การรดน้ำและให้ความชื้น การรดน้ำในโรงเรือนควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศแห้งก็ควรรดน้ำมากขึ้นเพื่อรักษาความชื้นในโรงเรือนให้ได้นานที่สุด
เครื่องมือรดน้ำใช้ได้ทั้งฝักบัวฝอยละเอียดตักรดหรือใช้สายยางธรรมดาแต่มีฝักบัวติดอยู่ที่ปลาย สเปรย์ฝอยละเอียดก็ใช้ได้การรดน้ำไม่ควรรดมากจนโชกหรือมีน้ำขังเพราะจะทำให้ก้อนเชื้อเน่า ถ้ามีน้ำขังต้องกรีดถุงก้อนเชื้อหรือเทน้ำทิ้ง
เห็ดนางฟ้าภูฐานต้องการความชื้นสูงมากกว่าเห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้าพันธุ์ธรรมดาดังนั้นผู้เพาะเห็ดต้องคำนึงถึงข้อนี้ด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางรม-เห็ดนางฟ้า

1. อุณหภูมิ ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยคือ 28 – 38 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของดอกเห็ดคือ 28 – 35 องศาเซลเซียส เห็ดจะเจริญเติบโตเร็วและจะเจริญเติบโตช้าลงเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส
2. ความชื้น ในระยะการเจริญเติบโตของเส้นใย ต้องหมั่นดูให้วัสดุเพาะเลี้ยงมีน้ำอยู่ประมาณ 60 – 70 % ส่วนในระยะออกดอกจะต้องการความชื้น 70 – 75 % และระยะที่กำลังเจริญเติบโตเป็นดอกเห็ดต้องการความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 80 – 90 % ถ้าในอากาศมีความชื้นต่ำ เห็ดจะชะงักการเจริญเติบโต ดอกเห็ดจะมีขนาดเล็กและบาง ผิวแห้งแตก
3. อากาศ ถ้าอยู่ในสภาพที่มีกาซออกซิเจนไม่เพียงพอและมีกาซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นมาก เส้นใยเห็ดจะไม่สามารถก่อตัวเป็นตุ่มดอกเห็ดได้ หรือไม่ก้านเห็ดก็เล็กเรียวยาว มีการแตกกิ่งก้านไม่พัฒนาเป็นดอกเห็ดหรือดอกเห็ดอาจมีรูปร่างผิดปกติได้
4. แสงแดด เส้นใยเห็ดไม่ต้องการแสงแดดเพื่อการเจริญเติบโต แต่ระยะที่เป็นตุ่มดอกเห็ดกลับต้องการแสงสว่างสำหรับการเจริญเติบโต ถ้าไม่ได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอ เห็ดจะงอกแต่ก้านเห็ดเรียวยาว ดอกเห็ดจะมีสีซีดและบางครั้งอาจมีก้านเห็ดงอกจากบนก้านเห็ดอีกที
5. ความเป็นกรดด่าง (ค่าpH) เห็ดนางรมชอบสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเป็นกรด ค่าpH ที่เหมาะสมที่สุดคือ 5.5
6. สารอาหาร เห็ดนางรมมีความสามารถในการย่อยสลายเส้นใยของพืชมาเป็นอาหารได้ดีมาก วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น เปลือกนุ่น เศษฝ้าย เศษไม้ ชานอ้อย ฟางข้าว ล้วนแต่นำมาใช้เป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ได้ทั้งนั้น