วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เห็ดที่พบในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ

เห็ด ( Mushrooms )

การสำรวจเห็ดที่พบในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ ผู้เขียนและนักเรียนที่เรียน
วิชาการผลิตเชื้อเห็ด การเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม ได้ทำการสำรวจเก็บตัวอย่างเห็ดพร้อมกับบันทึกภาพตัวอย่างเห็ดในปีการศึกษา 2545 – ปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ รู้จักเห็ดชนิดต่าง ๆ มีทั้งกินได้ เห็ดมีพิษ เห็ดสมุนไพร ผู้เขียนได้นำตัวอย่างเห็ดที่เก็บมาจำแนก เปรียบเทียบ กับตัวอย่างเห็ดในหนังสือหลายเล่มเพื่อป้องกันชื่อผิดพลาด พื้นที่ทำการสำรวจ
1. ทุ่งนาตำบลตาเนิน ตำบลหนองฉิม ตำบลรังงาม ลักษณะเป็นพื้นที่
ราบลุ่มระหว่างโคก ( โคกหมายถึงที่ดอน ) ของแต่ละหมู่บ้าน ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีไม้ยืนต้นกระจายกันอยู่ตามแปลงนา
2. ป่าสงวนโคกใหญ่ ลักษณะเป็นที่ดอนเชิงเขาเตี้ย ๆ ดินเป็นดินทราย
ดินลูกรัง หินทราย และดินร่วนปะปนกันไป ป่าไม้เป็นไม้ผลัดใบประกอบด้วย ไม้ แดง มะค่า เต็ง รัง ตะแบก ต้นเพ็คและไม้อื่น ๆ หลากหลายชนิด ฤดูแล้งแห้งแล้ง
3. โรงเรียนเนินสง่าวิทยา เป็นที่ราบสูงพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ ดินเป็น
ดินทราย มีไม้ป่ายืนต้นขึ้นหลากหลายชนิดเช่น ประดู่ มะค่าแต้ ไม้แดง แปลงไม้ปลูกมีสวนป่าสะเดา สวนป่ามะม่วงหิมพานต์
เห็ด ( Mushrooms ) เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่ง ในปัจจุบันเห็ดจัดจำแนกไว้
ในอาณาจักรรา ( Kingdom Fungi หรือ Eumycota ) แตกต่างจากการจัดจำแนกในอดีตที่จัดเห็ดรา เป็นพืชชั้นต่ำที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ ( Chlorophyll ) เหมือนอย่างพืชจึงไม่สามารถใช้แสงแดดมาสังเคราะห์อาหารได้อย่างพืช ราได้รับอาหารจากการดูดซึมอาหารที่ย่อยสลายแล้วด้วยเอนไซม์ เห็ดเป็นราขนาดใหญ่ซึ่งมีการเจริญเติบโตเป็นเส้นใย เมื่อถึงระยะที่จะสืบพันธุ์เส้นใยจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนดอกเห็ด เพื่อสร้างสปอร์ไว้กระจายพันธุ์ต่อไป ดอกเห็ดมีรูปร่างสวยงามแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด เช่น บางชนิด
มีรูปร่างเหมือนร่มกาง บางชนิดมีรูปร่างเหมือนต้นปะการัง บางชนิดมีรูปร่างเหมือนรังนก ดอกเห็ดมีขนาดเล็กตั้งแต่เท่าหัวไม้ขีดไฟ จนถึงขนาดใหญ่เท่าลูกฟุตบอล สี ดอกเห็ดมีทั้งสีสดสวยสะดุดตาและสีกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม บางชนิดมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน แต่บางชนิดมีกลิ่นเหม็นทำให้เวียนศีรษะได้ แหล่งกำเนิดของเห็ดแต่ละชนิดแตกต่างกันไป บางชนิดเกิดในป่าบนภูเขา บนพื้นดิน ในทุ่งนา บนตอไม้ บนพื้นดินที่มีจอมปลวก บนพืชหรือบนเห็ดด้วยกัน เห็ดบางชนิดรับประทานได้ บางชนิดเป็นเห็ดพิษ ถ้าเก็บมารับประทานทำให้เสียชีวิตได้ เพราะพิษของเห็ดเข้าไปในระบบเลือดซึ่งกระจายไปทั่วร่างกาย ไม่ตกค้างในกระเพาะ แต่เห็ดมีพิษบางชนิด ทำให้มึนเมาและอาเจียน ซึ่งมีวิธีแก้ไขโดยทำให้อาเจียนอย่างเร็วทำให้ไม่ถึงกับเสียชีวิต เห็ดบางชนิดมีสารเคมีไปบังคับประสาท ทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพ
หลอนเรียกเห็ดจำพวกนี้ว่าเห็ดโอสถลวงจิต รับประทานแต่น้อยหรือเคี้ยวอมไว้ในปากใช้ในทางไสยศาสตร์ชาวพื้นเมืองเม็กซิโก ส่วนมากเป็นเห็ดในสกุล Psilocybe ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 2) บางชนิดใช้เป็นยาสมุนไพร เช่น เห็ดจิก ซึ่งมีสรรพคุณ ในทางขับถ่ายพยาธิตัวตืดในคน บางชนิดเป็นปรสิตของพืช ทำให้รากของพืชผุเปื่อย จนตาย เห็ดที่มีเนื้อแห้งแข็งเหมือนไม้ หรือเหนียวคล้ายหนังไม่มีผู้นิยมนำมารับ
ประทาน แต่บางชนิดที่มีเนื้ออ่อนหรือกรอบน่ารับประทานจัดเป็นอาหารจำพวกผัก กล่าวกันว่าเห็ดมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่าผัก เพราะดอกเห็ดสดมีน้ำอยู่มากถึง 90 % นอกจากนี้มีโปรตีน ไขมัน เกลือแร่ วิตามินซึ่งมีวิตามินบี 1 และบี 2 มากกว่าวิตามินอื่น ๆ ยกเว้นเห็ดที่มีสีเหลืองมีวิตามินเอมาก เห็ดจัดเป็นอาหารที่ย่อยยากประเภทหนึ่ง ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ไม่ควรรับประทานเห็ดมากเกินไป ควรเลือกเห็ดที่ช่วยชูชาติรสอาหารซึ่งใช้แต่น้อยก็เพียงพอเช่นเห็ดหอม แต่เห็ดบางชนิดมีรสหวานอร่อยมากเช่นเห็ดโคน คนส่วนมากรับประทานแทนผักโดยไม่ได้คำนึงถึงการย่อยยากของเห็ด ผู้ที่ดื่มเหล้าหรือของมึนเมาด้วยแล้วเห็ดยิ่งย่อยยากมากขึ้น เพราะแอลกอฮอล์ทำให้สารอัลบูมินในเห็ดแข็งตัวมากขึ้น
เห็ดทั่ว ๆ ไปชอบขึ้นบนอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อยผุพัง เช่น ตามพื้นดิน
ในป่าที่มีใบไม้ผุเปื่อยตกหล่นอยู่ ตามกองปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือทุ่งนาที่มีหญ้าผุเปื่อย ยกเว้นบางชนิดที่ขึ้นเฉพาะแห่งและต้องมีอาหารพิเศษด้วย เช่น เห็ดโคน ซึ่งขึ้นเฉพาะที่มีรังปลวกอยู่ใต้ดินเท่านั้น เห็ดบางชนิดเจริญร่วมกับรากของพืชแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันโดยเห็ดสามารถช่วยเพิ่มการดูดธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ให้แก่พืช เห็ดส่วนมากนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารที่สังเคราะห์ขึ้นได้ ยกเว้นเห็ดโคนเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเห็ดต้องมีอาหารพิเศษจากปลวก หรืออาจเป็นเพราะเรายังไม่ทราบสูตรอาหารหรือสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของเห็ดชนิดนี้ การศึกษาเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นเห็ดที่อร่อยมาก ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดอื่น ๆ ได้แก่ เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดหอม ซึ่งได้ขยายกิจการอย่างกว้างขวางเห็ดจึงมีทั้งประโยชน์และโทษ เห็ดที่ให้ประโยชน์ได้แก่เห็ดที่นำมารับประทานได้ในรูปของอาหาร สมุนไพรและช่วยการเจริญเติบโตของพืช เห็ดที่ให้โทษได้แก่เห็ดจำพวกมีพิษ ทำลายพืชอาศัยเนื้อไม้ ยังมีรากลุ่มอื่น ๆ อีกที่เจริญเป็นดอกคล้ายดอกเห็ด มองเห็นได้ด้วยตา
เปล่าชัดเจนแบบเห็ด เช่น จำพวกราเมือก ( Slmie molds ) ซึ่งมีโครงสร้างของดอกแตกต่างไปจากโครงสร้างของเห็ด ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 2 )
สภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทยเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดมาก โดยเฉพาะในฤดูฝนจึงมีเห็ดชุกชุมตามภาคต่าง ๆ เห็ดบางชนิดมีกลิ่นหอมและรสหวานไม่แพ้เห็ดฟางหรือเห็ดโคน เช่น เห็ดหอม เห็ดจั่น จึงมีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าการเพาะเห็ดรสดีชนิดอื่น ๆ กันมากขึ้นรวมทั้งการเสาะแสวงหาเห็ดที่จะนำมาใช้ในทางการแพทย์

การทดสอบเห็ดกินได้หรือกินไม่ได้
วิธีสังเกตเห็ดที่มีพิษ
1. มีสีฉูดฉาด เช่นสีแดง ส้ม ดำ
2. มีกลิ่นฉุน กลิ่นเหม็น
3. ลักษณะดอกเห็ดรูปทรงบิด ตัด มีแผ่นหรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ดให้สงสัยว่ามีพิษ
4. มีวงแหวนที่ก้านดอกเห็ด วงแหวนที่ก้านดอกเป็นสัญญาณอันตราย โดย
เฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นวงแหวนที่มีสีเทาและมีขนปุกปุยอย่ากินเป็นอันขาด
วิธีทดสอบเห็ดมีพิษ
1. ต้มเห็ดกับข้าวสาร ถ้าได้ข้าวสารสุกๆ ดิบๆ แสดงว่าเป็นเห็ดพิษกินไม่ได้
2. ต้มเห็ดใส่หัวหอมถ้าหัวหอมมีสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดพิษ
3. ต้มเห็ด คนด้วยช้อนเงิน ถ้าช้อนเงินเป็นสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดพิษ
4. เห็ดมีรอยแมลงกัดกินแสดงว่าเป็นเห็ดกินได้
5. ใช้ปูนกินหมากป้ายหมวกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะมีสีดำ
6. เห็ดที่เกิดขึ้นผิดฤดูส่วนมากเป็นเห็ดมีพิษ
อาการพิษของเห็ดแบ่งได้ 2 ระบบ
1. ระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายท้อง ซึ่งถ้าถ่ายมาก ๆ จะอ่อนเพลีย ช็อคเนื่องจากขาดน้ำ
2. ระบบประสาท มีอาการซึมหรือเพ้อคลั่ง เอะอะ อาละวาด ชัก เกร็ง หมดสติ ส่วนมากจะตายเพราะพิษของเห็ดกดระบบสมอง ประสาททำให้การหายใจการหมุนเวียนของเลือดล้มเหลว




สภาพป่าธรรมชาติของอำเภอเนินสง่าที่มีเห็ดขึ้นชุกชุมทุกปี
ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ไม่มีความคิดเห็น: