ภาพ : อนันท์ กล้ารอด
เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก เป็นเห็ดขนาดเล็กซึ่งเกิดชุกชุมตามขอนไม้ ผุหรือบนลำต้นไม้ที่ตายแล้ว บนท่อนอ้อย ท่อนมันสำปะหลังที่ทิ้งอยู่ในไร่ ตามรั้วบ้านที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ตามท่อนไม้ไผ่ที่ผุเปื่อยหรือตายแล้ว
ลักษณะทั่วไป หมวกเห็ดกว้าง 1 – 3 เซนติเมตร รูปพัด ไม่มีก้าน ดอก ออกดอกข้างท่อนไม้ ด้านบนสีเทาอ่อนหรือขาวหม่น มีขนอ่อนสีเดียวกันปกคลุมบาง ๆ ด้านล่างมีสันนูนคล้ายครีบซึ่งปลายแยกออกเป็นแฉกไปยังขอบดอก หมวกเห็ดสีน้ำตาลหรือเทาปนน้ำตาล
สปอร์ ขนาด 3-5 x 1-1.3 ไมโครเมตร รูปยาวรี สีขาว ผิวเรียบ ผนังบาง ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 25 )
แหล่งที่พบ เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก พบได้ทั่วไปในท้องถิ่น อำเภอเนินสง่า ชอบขึ้นตามกิ่งไม้ ท่อนไม้เนื้ออ่อนที่ตายแล้วเช่น มะม่วง แค ไม้ไผ่ ไม้กระถิน ซึ่งเห็ดแครงสามารถพบได้ตามไร่ นา
ฤดูที่พบ เห็ดชนิดนี้สามารถพบได้จำนวนมากในฤดูฝน เดือน พฤษภาคม – กันยายน นับว่าเป็นเห็ดที่ขึ้นง่ายและขึ้นอยู่ทั่วไป หลังหมดฤดูฝนแล้วยัง
แห้งติดอยู่กับกิ่งไม้ ท่อนไม้ไปอีกระยะหนึ่ง
ประโยชน์ เห็ดตีนตุ๊กแกเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่นำมารับประทานได้ เห็ดชนิดนี้ทางภาคใต้เรียกว่า “เห็ดแครง” คนส่วนมากนิยมนำไปทอดกับไข่ หรือนำไปแกงคั่วกับเนื้อสัตว์โดยใช้เห็ดที่เกิดใหม่ ๆ เพราะยังสดอยู่ มีลักษณะอ่อนนุ่มไม่เหนียวและแข็งเกินไป ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 25 ) ในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่าจากการสำรวจพบว่าไม่มีผู้บริโภคเห็ดชนิดนี้ ตามธรรมชาติเห็ดแครงช่วยย่อยสลายกิ่งไม้ ท่อนไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น