ภาพ : อนันท์ กล้ารอด
เห็ดหูหนูมีมากมายหลายชนิด ทั้งที่พบตามธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพชื่อเรียกของเห็ดแตกต่างกันไปตามลักษณะของดอกเห็ด เช่น เห็ดหูหนูจีน เห็ดหูหนูรังผึ้ง เห็ดหูหนูช้าง เห็ดหูหนูนา เห็ดหูหนูบาง
ลักษณะทั่วไป เห็ดหูหนูนาหรือเห็ดหูลัวะ เป็นเห็ดหูหนูที่มีเนื้อบางชนิดหนึ่งมีสี น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมเหลือง เนื้อเห็ดเป็นแผ่นวุ้น โคนดอกเห็ดจีบเล็กน้อยทำให้มีรูปโค้งคล้ายหู เวลาแห้งไม่โปร่งแสงดอกเห็ดกว้าง 4 – 10 เซนติเมตร ยาว 4 – 12 เซนติเมตร หนาเพียง 1 มิลลิเมตร ด้านล่างเรียบ ด้านบนมีขนแต่สั้นกว่าเห็ดหูหนูช้าง ซึ่งเป็นข้อแตกต่างของเห็ดทั้งสองชนิด
สปอร์ รูปไส้กรอกใส ไม่มีสี ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 12-15 x 5-6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 113 )
แหล่งที่พบ เห็ดหูหนูนาขึ้นตามขอนไม้หรือกิ่งไม้ยืนต้นที่ตาย ในบริเวณที่มีอากาศร้อนและชื้นแฉะ พบได้ทั่วไปในพื้นที่อำเภอเนินสง่า ตามไร่ นา และป่าสงวนโคกใหญ่บริเวณที่มีเห็ดขึ้นเมื่อถึงฤดูฝนจะมีให้เห็นทุกปี ชอบขึ้นตามกิ่งตายไม้เนื้ออ่อนที่มีเปลือกหนาเนื่องจากจะดูดซับความชื้นได้ดี เช่น สะเดา ในบริเวณโรงเรียนที่พบทุกปีได้แก่ต้นไม้เสลา อินทนิล สะเดา และมีการทดลองเพาะเลี้ยงที่โรงเพาะเห็ดของโรงเรียน
ฤดูที่พบ เห็ดหูหนูนาพบได้ในฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กันยายน ช่วงที่มีมรสุมพายุฝนเข้าฝนตกติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดสภาพอากาศชื้นจะพบเห็ดหูหนูงอกขึ้นและโตอย่างรวดเร็วภายใน 1 -–3 วัน เมื่อสภาพอากาศหมดความชื้นดอกเห็ดจะเหี่ยวและแห้งตายเมื่อมีความชื้นสูงเห็ดจะงอกขึ้นมาใหม่
ประโยชน์ เป็นเห็ดที่รับประทานได้ ประกอบอาหารได้หลายชนิดสามารถทำเป็นเห็ดแห้งเก็บไว้นาน ๆ ได้ ตามธรรมชาติเห็ดหูหนูช่วยย่อยสลายกิ่งไม้
ท่อนไม้ที่ตายแล้วให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น