วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เห็ดหูหนูนา

เห็ดหูหนูนา


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


เห็ดหูหนูมีมากมายหลายชนิด ทั้งที่พบตามธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพชื่อเรียกของเห็ดแตกต่างกันไปตามลักษณะของดอกเห็ด เช่น เห็ดหูหนูจีน เห็ดหูหนูรังผึ้ง เห็ดหูหนูช้าง เห็ดหูหนูนา เห็ดหูหนูบาง
ลักษณะทั่วไป เห็ดหูหนูนาหรือเห็ดหูลัวะ เป็นเห็ดหูหนูที่มีเนื้อบางชนิดหนึ่งมีสี น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมเหลือง เนื้อเห็ดเป็นแผ่นวุ้น โคนดอกเห็ดจีบเล็กน้อยทำให้มีรูปโค้งคล้ายหู เวลาแห้งไม่โปร่งแสงดอกเห็ดกว้าง 4 – 10 เซนติเมตร ยาว 4 – 12 เซนติเมตร หนาเพียง 1 มิลลิเมตร ด้านล่างเรียบ ด้านบนมีขนแต่สั้นกว่าเห็ดหูหนูช้าง ซึ่งเป็นข้อแตกต่างของเห็ดทั้งสองชนิด
สปอร์ รูปไส้กรอกใส ไม่มีสี ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 12-15 x 5-6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 113 )
แหล่งที่พบ เห็ดหูหนูนาขึ้นตามขอนไม้หรือกิ่งไม้ยืนต้นที่ตาย ในบริเวณที่มีอากาศร้อนและชื้นแฉะ พบได้ทั่วไปในพื้นที่อำเภอเนินสง่า ตามไร่ นา และป่าสงวนโคกใหญ่บริเวณที่มีเห็ดขึ้นเมื่อถึงฤดูฝนจะมีให้เห็นทุกปี ชอบขึ้นตามกิ่งตายไม้เนื้ออ่อนที่มีเปลือกหนาเนื่องจากจะดูดซับความชื้นได้ดี เช่น สะเดา ในบริเวณโรงเรียนที่พบทุกปีได้แก่ต้นไม้เสลา อินทนิล สะเดา และมีการทดลองเพาะเลี้ยงที่โรงเพาะเห็ดของโรงเรียน
ฤดูที่พบ เห็ดหูหนูนาพบได้ในฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กันยายน ช่วงที่มีมรสุมพายุฝนเข้าฝนตกติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดสภาพอากาศชื้นจะพบเห็ดหูหนูงอกขึ้นและโตอย่างรวดเร็วภายใน 1 -–3 วัน เมื่อสภาพอากาศหมดความชื้นดอกเห็ดจะเหี่ยวและแห้งตายเมื่อมีความชื้นสูงเห็ดจะงอกขึ้นมาใหม่
ประโยชน์ เป็นเห็ดที่รับประทานได้ ประกอบอาหารได้หลายชนิดสามารถทำเป็นเห็ดแห้งเก็บไว้นาน ๆ ได้ ตามธรรมชาติเห็ดหูหนูช่วยย่อยสลายกิ่งไม้
ท่อนไม้ที่ตายแล้วให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก

เห็ดแครง


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก เป็นเห็ดขนาดเล็กซึ่งเกิดชุกชุมตามขอนไม้ ผุหรือบนลำต้นไม้ที่ตายแล้ว บนท่อนอ้อย ท่อนมันสำปะหลังที่ทิ้งอยู่ในไร่ ตามรั้วบ้านที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ตามท่อนไม้ไผ่ที่ผุเปื่อยหรือตายแล้ว
ลักษณะทั่วไป หมวกเห็ดกว้าง 1 – 3 เซนติเมตร รูปพัด ไม่มีก้าน ดอก ออกดอกข้างท่อนไม้ ด้านบนสีเทาอ่อนหรือขาวหม่น มีขนอ่อนสีเดียวกันปกคลุมบาง ๆ ด้านล่างมีสันนูนคล้ายครีบซึ่งปลายแยกออกเป็นแฉกไปยังขอบดอก หมวกเห็ดสีน้ำตาลหรือเทาปนน้ำตาล
สปอร์ ขนาด 3-5 x 1-1.3 ไมโครเมตร รูปยาวรี สีขาว ผิวเรียบ ผนังบาง ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 25 )
แหล่งที่พบ เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก พบได้ทั่วไปในท้องถิ่น อำเภอเนินสง่า ชอบขึ้นตามกิ่งไม้ ท่อนไม้เนื้ออ่อนที่ตายแล้วเช่น มะม่วง แค ไม้ไผ่ ไม้กระถิน ซึ่งเห็ดแครงสามารถพบได้ตามไร่ นา
ฤดูที่พบ เห็ดชนิดนี้สามารถพบได้จำนวนมากในฤดูฝน เดือน พฤษภาคม – กันยายน นับว่าเป็นเห็ดที่ขึ้นง่ายและขึ้นอยู่ทั่วไป หลังหมดฤดูฝนแล้วยัง
แห้งติดอยู่กับกิ่งไม้ ท่อนไม้ไปอีกระยะหนึ่ง
ประโยชน์ เห็ดตีนตุ๊กแกเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่นำมารับประทานได้ เห็ดชนิดนี้ทางภาคใต้เรียกว่า “เห็ดแครง” คนส่วนมากนิยมนำไปทอดกับไข่ หรือนำไปแกงคั่วกับเนื้อสัตว์โดยใช้เห็ดที่เกิดใหม่ ๆ เพราะยังสดอยู่ มีลักษณะอ่อนนุ่มไม่เหนียวและแข็งเกินไป ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 25 ) ในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่าจากการสำรวจพบว่าไม่มีผู้บริโภคเห็ดชนิดนี้ ตามธรรมชาติเห็ดแครงช่วยย่อยสลายกิ่งไม้ ท่อนไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เห็ดนางรม


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดนางรม

วงจรชีวิตของเห็ดนางรม เห็ดนางรมตามธรรมชาติขยายพันธุ์ด้วย สปอร์ เมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่จะปล่อยสปอร์ล่องลอยไปตามลมตกบนกิ่งไม้ ท่อนไม้พอถึงฤดูชุ่มชื้นสปอร์จะงอกเป็นเส้นใยเจริญไปบนอาหารเส้นใยรวมตัวกันสร้างดอกเห็ดขึ้น เมื่อโตเต็มที่จะปล่อยสปอร์ลอยไปตามลมหมุนเวียนเช่นนี้ตลอดไป
เห็ดนางรมมีน้ำย่อยที่ใช้ย่อยสารประกอบเชิงซ้อน จำพวกเซลลูโลสและ ลิกนินได้เป็นอย่างดี ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 21 )
ลักษณะทั่วไป เห็ดนางรมมีหมวกเห็ดคล้ายหอยนางรม ดอกเห็ดมีสี ขาวอมเทา ก้านดอกจะเป็นเนื้อเดียวกันกับหมวก ลักษณะของหมวกดอกเห็ดจะเว้าตรงกลาง ผิวด้านบนโค้งเรียบ อ่อนนุ่ม ขอบดอกจะห้อยย้อยลงมาด้านล่าง เมื่อโตเต็มที่ด้านหลังดอกจะมีลักษณะเป็นครีบ อาจจะเกิดเป็นดอกเดียวหรือเป็นกระจุกก็ได้ เมื่อโตเต็มที่ปกติจะกว้างประมาณ 3 – 6 เซนติเมตร
สปอร์มีลักษณะรูปไข่ ไม่มีสีแต่เมื่ออยู่รวมกันมองเป็นกระจุกสีขาว ขนาดประมาณ 5 x 10 ไมครอน ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล 2542 : 22 )
แหล่งที่พบ เนื่องจากเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยง อำเภอเนินสง่า
มีโรงเพาะเห็ดนางรม 1 ราย จำนวนก้อนเห็ดประมาณ 3,000 ก้อน ที่ตำบลหนองฉิมและโรงเพาะเห็ดโรงเรียนเนินสง่าวิทยา ตามธรรมชาติสามารถพบเห็ดนางรมได้ทั่วไป
ตามไร่ นา ในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า ชาวบ้านเรียกว่าเห็ดมะม่วง เนื่องจากชอบขึ้นกับ
ขอนมะม่วง ตอมะม่วง ที่อยู่กลางแจ้งหรือที่ร่ม รำไร เป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้าน
แต่ดอกเห็ดจะเล็กกว่าเห็ดที่เกิดจากการเพาะ
ฤดูที่พบ เห็ดนางรม สามารถเพาะให้เกิดดอกได้ตลอดปี โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีความชื้นที่พอเหมาะ วัสดุเพาะมีคุณภาพ อากาศไม่หนาวเกินไปเนื่องจากเป็นเห็ดเมืองร้อน ตามธรรมชาติเห็ดมะม่วง ซึ่งเป็นเห็ดประเภท เดียวกันกับเห็ดนางรม จะพบในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม อากาศมีความชื้นสูง
และร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดนางรมเป็นเห็ดที่เพาะง่าย ราคาขายไม่แพงเกินไป เป็นที่นิยมบริโภค เกษตรกรจำนวนมากเพาะเป็นอาชีพ ด้านคุณค่าทางอาหารเป็นเห็ดที่มีไขมันต่ำบริโภคแล้วไม่อ้วน ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายต้นไม้ กิ่งไม้ที่ตายแล้วให้ เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดที่พบในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ

เห็ด ( Mushrooms )

การสำรวจเห็ดที่พบในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ ผู้เขียนและนักเรียนที่เรียน
วิชาการผลิตเชื้อเห็ด การเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม ได้ทำการสำรวจเก็บตัวอย่างเห็ดพร้อมกับบันทึกภาพตัวอย่างเห็ดในปีการศึกษา 2545 – ปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ รู้จักเห็ดชนิดต่าง ๆ มีทั้งกินได้ เห็ดมีพิษ เห็ดสมุนไพร ผู้เขียนได้นำตัวอย่างเห็ดที่เก็บมาจำแนก เปรียบเทียบ กับตัวอย่างเห็ดในหนังสือหลายเล่มเพื่อป้องกันชื่อผิดพลาด พื้นที่ทำการสำรวจ
1. ทุ่งนาตำบลตาเนิน ตำบลหนองฉิม ตำบลรังงาม ลักษณะเป็นพื้นที่
ราบลุ่มระหว่างโคก ( โคกหมายถึงที่ดอน ) ของแต่ละหมู่บ้าน ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีไม้ยืนต้นกระจายกันอยู่ตามแปลงนา
2. ป่าสงวนโคกใหญ่ ลักษณะเป็นที่ดอนเชิงเขาเตี้ย ๆ ดินเป็นดินทราย
ดินลูกรัง หินทราย และดินร่วนปะปนกันไป ป่าไม้เป็นไม้ผลัดใบประกอบด้วย ไม้ แดง มะค่า เต็ง รัง ตะแบก ต้นเพ็คและไม้อื่น ๆ หลากหลายชนิด ฤดูแล้งแห้งแล้ง
3. โรงเรียนเนินสง่าวิทยา เป็นที่ราบสูงพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ ดินเป็น
ดินทราย มีไม้ป่ายืนต้นขึ้นหลากหลายชนิดเช่น ประดู่ มะค่าแต้ ไม้แดง แปลงไม้ปลูกมีสวนป่าสะเดา สวนป่ามะม่วงหิมพานต์
เห็ด ( Mushrooms ) เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่ง ในปัจจุบันเห็ดจัดจำแนกไว้
ในอาณาจักรรา ( Kingdom Fungi หรือ Eumycota ) แตกต่างจากการจัดจำแนกในอดีตที่จัดเห็ดรา เป็นพืชชั้นต่ำที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ ( Chlorophyll ) เหมือนอย่างพืชจึงไม่สามารถใช้แสงแดดมาสังเคราะห์อาหารได้อย่างพืช ราได้รับอาหารจากการดูดซึมอาหารที่ย่อยสลายแล้วด้วยเอนไซม์ เห็ดเป็นราขนาดใหญ่ซึ่งมีการเจริญเติบโตเป็นเส้นใย เมื่อถึงระยะที่จะสืบพันธุ์เส้นใยจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนดอกเห็ด เพื่อสร้างสปอร์ไว้กระจายพันธุ์ต่อไป ดอกเห็ดมีรูปร่างสวยงามแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด เช่น บางชนิด
มีรูปร่างเหมือนร่มกาง บางชนิดมีรูปร่างเหมือนต้นปะการัง บางชนิดมีรูปร่างเหมือนรังนก ดอกเห็ดมีขนาดเล็กตั้งแต่เท่าหัวไม้ขีดไฟ จนถึงขนาดใหญ่เท่าลูกฟุตบอล สี ดอกเห็ดมีทั้งสีสดสวยสะดุดตาและสีกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม บางชนิดมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน แต่บางชนิดมีกลิ่นเหม็นทำให้เวียนศีรษะได้ แหล่งกำเนิดของเห็ดแต่ละชนิดแตกต่างกันไป บางชนิดเกิดในป่าบนภูเขา บนพื้นดิน ในทุ่งนา บนตอไม้ บนพื้นดินที่มีจอมปลวก บนพืชหรือบนเห็ดด้วยกัน เห็ดบางชนิดรับประทานได้ บางชนิดเป็นเห็ดพิษ ถ้าเก็บมารับประทานทำให้เสียชีวิตได้ เพราะพิษของเห็ดเข้าไปในระบบเลือดซึ่งกระจายไปทั่วร่างกาย ไม่ตกค้างในกระเพาะ แต่เห็ดมีพิษบางชนิด ทำให้มึนเมาและอาเจียน ซึ่งมีวิธีแก้ไขโดยทำให้อาเจียนอย่างเร็วทำให้ไม่ถึงกับเสียชีวิต เห็ดบางชนิดมีสารเคมีไปบังคับประสาท ทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพ
หลอนเรียกเห็ดจำพวกนี้ว่าเห็ดโอสถลวงจิต รับประทานแต่น้อยหรือเคี้ยวอมไว้ในปากใช้ในทางไสยศาสตร์ชาวพื้นเมืองเม็กซิโก ส่วนมากเป็นเห็ดในสกุล Psilocybe ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 2) บางชนิดใช้เป็นยาสมุนไพร เช่น เห็ดจิก ซึ่งมีสรรพคุณ ในทางขับถ่ายพยาธิตัวตืดในคน บางชนิดเป็นปรสิตของพืช ทำให้รากของพืชผุเปื่อย จนตาย เห็ดที่มีเนื้อแห้งแข็งเหมือนไม้ หรือเหนียวคล้ายหนังไม่มีผู้นิยมนำมารับ
ประทาน แต่บางชนิดที่มีเนื้ออ่อนหรือกรอบน่ารับประทานจัดเป็นอาหารจำพวกผัก กล่าวกันว่าเห็ดมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่าผัก เพราะดอกเห็ดสดมีน้ำอยู่มากถึง 90 % นอกจากนี้มีโปรตีน ไขมัน เกลือแร่ วิตามินซึ่งมีวิตามินบี 1 และบี 2 มากกว่าวิตามินอื่น ๆ ยกเว้นเห็ดที่มีสีเหลืองมีวิตามินเอมาก เห็ดจัดเป็นอาหารที่ย่อยยากประเภทหนึ่ง ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ไม่ควรรับประทานเห็ดมากเกินไป ควรเลือกเห็ดที่ช่วยชูชาติรสอาหารซึ่งใช้แต่น้อยก็เพียงพอเช่นเห็ดหอม แต่เห็ดบางชนิดมีรสหวานอร่อยมากเช่นเห็ดโคน คนส่วนมากรับประทานแทนผักโดยไม่ได้คำนึงถึงการย่อยยากของเห็ด ผู้ที่ดื่มเหล้าหรือของมึนเมาด้วยแล้วเห็ดยิ่งย่อยยากมากขึ้น เพราะแอลกอฮอล์ทำให้สารอัลบูมินในเห็ดแข็งตัวมากขึ้น
เห็ดทั่ว ๆ ไปชอบขึ้นบนอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อยผุพัง เช่น ตามพื้นดิน
ในป่าที่มีใบไม้ผุเปื่อยตกหล่นอยู่ ตามกองปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือทุ่งนาที่มีหญ้าผุเปื่อย ยกเว้นบางชนิดที่ขึ้นเฉพาะแห่งและต้องมีอาหารพิเศษด้วย เช่น เห็ดโคน ซึ่งขึ้นเฉพาะที่มีรังปลวกอยู่ใต้ดินเท่านั้น เห็ดบางชนิดเจริญร่วมกับรากของพืชแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันโดยเห็ดสามารถช่วยเพิ่มการดูดธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ให้แก่พืช เห็ดส่วนมากนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารที่สังเคราะห์ขึ้นได้ ยกเว้นเห็ดโคนเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเห็ดต้องมีอาหารพิเศษจากปลวก หรืออาจเป็นเพราะเรายังไม่ทราบสูตรอาหารหรือสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของเห็ดชนิดนี้ การศึกษาเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นเห็ดที่อร่อยมาก ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดอื่น ๆ ได้แก่ เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดหอม ซึ่งได้ขยายกิจการอย่างกว้างขวางเห็ดจึงมีทั้งประโยชน์และโทษ เห็ดที่ให้ประโยชน์ได้แก่เห็ดที่นำมารับประทานได้ในรูปของอาหาร สมุนไพรและช่วยการเจริญเติบโตของพืช เห็ดที่ให้โทษได้แก่เห็ดจำพวกมีพิษ ทำลายพืชอาศัยเนื้อไม้ ยังมีรากลุ่มอื่น ๆ อีกที่เจริญเป็นดอกคล้ายดอกเห็ด มองเห็นได้ด้วยตา
เปล่าชัดเจนแบบเห็ด เช่น จำพวกราเมือก ( Slmie molds ) ซึ่งมีโครงสร้างของดอกแตกต่างไปจากโครงสร้างของเห็ด ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 2 )
สภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทยเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดมาก โดยเฉพาะในฤดูฝนจึงมีเห็ดชุกชุมตามภาคต่าง ๆ เห็ดบางชนิดมีกลิ่นหอมและรสหวานไม่แพ้เห็ดฟางหรือเห็ดโคน เช่น เห็ดหอม เห็ดจั่น จึงมีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าการเพาะเห็ดรสดีชนิดอื่น ๆ กันมากขึ้นรวมทั้งการเสาะแสวงหาเห็ดที่จะนำมาใช้ในทางการแพทย์

การทดสอบเห็ดกินได้หรือกินไม่ได้
วิธีสังเกตเห็ดที่มีพิษ
1. มีสีฉูดฉาด เช่นสีแดง ส้ม ดำ
2. มีกลิ่นฉุน กลิ่นเหม็น
3. ลักษณะดอกเห็ดรูปทรงบิด ตัด มีแผ่นหรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ดให้สงสัยว่ามีพิษ
4. มีวงแหวนที่ก้านดอกเห็ด วงแหวนที่ก้านดอกเป็นสัญญาณอันตราย โดย
เฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นวงแหวนที่มีสีเทาและมีขนปุกปุยอย่ากินเป็นอันขาด
วิธีทดสอบเห็ดมีพิษ
1. ต้มเห็ดกับข้าวสาร ถ้าได้ข้าวสารสุกๆ ดิบๆ แสดงว่าเป็นเห็ดพิษกินไม่ได้
2. ต้มเห็ดใส่หัวหอมถ้าหัวหอมมีสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดพิษ
3. ต้มเห็ด คนด้วยช้อนเงิน ถ้าช้อนเงินเป็นสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดพิษ
4. เห็ดมีรอยแมลงกัดกินแสดงว่าเป็นเห็ดกินได้
5. ใช้ปูนกินหมากป้ายหมวกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะมีสีดำ
6. เห็ดที่เกิดขึ้นผิดฤดูส่วนมากเป็นเห็ดมีพิษ
อาการพิษของเห็ดแบ่งได้ 2 ระบบ
1. ระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายท้อง ซึ่งถ้าถ่ายมาก ๆ จะอ่อนเพลีย ช็อคเนื่องจากขาดน้ำ
2. ระบบประสาท มีอาการซึมหรือเพ้อคลั่ง เอะอะ อาละวาด ชัก เกร็ง หมดสติ ส่วนมากจะตายเพราะพิษของเห็ดกดระบบสมอง ประสาททำให้การหายใจการหมุนเวียนของเลือดล้มเหลว




สภาพป่าธรรมชาติของอำเภอเนินสง่าที่มีเห็ดขึ้นชุกชุมทุกปี
ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดเป๋าฮื้อ

เห็ดเป๋าฮื้อ



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดเป๋าฮื้อจัดเป็นเห็ดนางรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผู้นำเชื้อมาจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะในประเทศไต้หวันมีการเพาะเลี้ยงกันมาก และจำหน่ายสดแล้วนำไปแปรรูปเป็นอาหารกระป๋องเห็ดชนิดนี้เมื่อต้มสุกแล้ว จะมีเนื้อเหนียวนุ่มคล้ายหอยโข่งทะเลหรือเป๋าฮื้อ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 22 )
ลักษณะทั่วไป เห็ดเป๋าฮื้อจะขึ้นเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 – 5 ดอก มีหมวก
เห็ดรูปร่างคล้ายพัด ขนาดใหญ่และหนากว่าเห็ดนางรมมาก หมวกเห็ดยาว 3 – 8 เซนติเมตร กว้าง 2 – 5 เซนติเมตร ก้านดอกอยู่ติดขอบหมวกด้านใดด้านหนึ่ง ผิวหมวกเรียบสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลดำ มีรูปร่างคล้ายพัด กลางหมวกเว้าตื้น บางดอก จะมีขนละเอียดแบบกำมะหยี่สีน้ำตาลดำ ซึ่งจะหลุดหายไปเมื่อเป็นดอกแก่ ด้านล่างมีครีบสีขาวนวลเรียวยาวลงไปติดก้าน และมีผนังเชื่อมติดกันบางแห่ง ก้านดอกสีขาวหม่นหรือสีน้ำตาลอมเทายาว 4 – 6 เซนติเมตร เห็ดชนิดนี้เมื่อนำมาเลี้ยงบนอาหารวุ้น นักเรียนสามารถสังเกตความแตกต่างจากเห็ดชนิดอื่นได้ง่าย โดยดูจากสปอร์จะรวมกัน เป็นกลุ่ม ๆ คล้ายหยดน้ำหมึกบนปลายเส้นใยเห็ด
สปอร์รูปวงรีสีขาวขนาด 4.5 x 10-13 ไมโครเมตร ผิวเรียบ ผนังบาง
เห็ดชนิดนี้ในภาวะที่อยู่บนอาหารวุ้นจะสร้างสปอร์อีกชนิดหนึ่งมีขนาด 5-6 x 14-15 ไมโครเมตร เกิดเป็นกลุ่มสีดำ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 23 )
แหล่งที่พบ ในอำเภอเนินสง่าจากการสำรวจไม่พบว่ามีเกษตรกรรายใด เพาะเห็ดชนิดนี้เนื่องจากเพาะยากกว่าเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า มีเพาะเลี้ยงแห่งเดียวที่โรงเพาะเห็ดโรงเรียนเนินสง่าวิทยา ปัจจุบันนักเรียนสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดเป๋าฮื้อ เพื่อขยายพันธุ์เองได้ วัสดุที่ใช้เพาะเป็น ขี้เลื่อยไม้ยางพาราและกำลังทดลองใช้ฟางข้าว เพาะเห็ดเป๋าฮื้อ สูตรอาหารเพาะเห็ดใช้สูตรเดียวกับเห็ดนางรม
ฤดูที่พบ เห็ดเป๋าฮื้อสามารถเพาะให้เกิดดอกได้ตลอดปี โดยจัดสภาพ
แวดล้อมให้เหมาะสมมีความชื้นที่พอเหมาะ วัสดุเพาะมีคุณภาพ อากาศไม่หนาวเกินไปเนื่องจากเป็นเห็ดเมืองร้อน
ประโยชน์ เห็ดเป๋าฮื้อเป็นเห็ดที่มีดอกใหญ่เนื้อหนานุ่มเป็นที่นิยม บริโภคราคาแพงกว่าเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายต้นไม้ กิ่งไม้ที่ตายแล้ว ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน