วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

เห็ดจิก

เห็ดจิก



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดจิกหรือเห็ดตีนตุ๊กแก ขึ้นเป็นแผ่นบาง ๆ แผ่กาง ออกคล้ายพัด บางดอกเจริญมาเชื่อมติดกันเป็นแถบยาว ผิวดอกเห็ดด้านบนเป็นขนละเอียดมีสีน้ำตาลอ่อน และมีคลื่นเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ผิวด้านนี้ควรเป็นผิวด้านล่างของเห็ดทั่วไป แต่เนื่องจากเห็ดชนิดนี้หงายเอาด้านล่างขึ้น ผิดกับเห็ดอื่น ๆ ด้านล่างซึ่งเป็นส่วนด้านบนของเห็ดชนิดนี้ จึงมีผิวเรียบสีน้ำตาลอมม่วงอ่อน ลักษณะของเห็ดเมื่อแห้งแล้วเหมือนแผ่นหนังแห้งบาง ๆ หรือเหมือนแผ่นกระดาษ ขนาดดอกเห็ดใหญ่ประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร เนื้อเห็ดมีสีน้ำตาลหม่น
สปอร์ รูปรีผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 4.5-5 x 2.5-3 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 81 )
แหล่งที่พบ เห็ดจิกเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่ขึ้นบนต้นจิกและต้นกระโดน เห็ดจิกมีชื่อเรียก อีกชื่อหนึ่งว่า เห็ดตีนตุ๊กแก แต่เห็ดชนิดนี้แตกต่างจากเห็ดตีนตุ๊กแกหรือเห็ดแครงมาก และอยู่ต่างตระกูลด้วย ในอำเภอเนินสง่าพบได้บริเวณที่มี ไม้เต็ง รัง ป่าสงวนโคกใหญ่โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่สวนป่ามะม่วงหิมพานต์ขึ้นกับขอนมะม่วงหิมพานต์
ฤดูที่พบ เห็ดจิกพบในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบ ในช่วงที่มีความชื้นสูงหลังฝนตกอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับขอนไม้ให้เห็นแต่หลังจากนั้นจะถูกแมลงพวกมอดทำลาย
ประโยชน์ เห็ดจิกใช้เป็นยาสมุนไพรกลางบ้าน ทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือนิยมใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ โดยเฉพาะพยาธิตัวแบน เห็ดชนิดนี้มีสาร Polyporic acid ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยาถ่ายพยาธิได้ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 81 ) ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายท่อนไม้ ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

ไม่มีความคิดเห็น: