วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2550

โครงงานการศึกษาเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดจาก มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง


ดอกเห็ดตีนแรดที่นำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ




มันเห็บ มันเลือด มันเทศ มันสำปะหลัง





น้ำอาหารวุ้นจากมันชนิดต่าง ๆ


กรอกอาหารวุ้นลงขวด



อาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ผ่านการฆ่าเชื้อ 121 องศาเซลเซียส 30 นาที





เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในสภาพปลอดเชื้อ






การเจริญของเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นชนิดต่าง ๆ เมื่ออายุ 2 วัน







การเจริญของเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นชนิดต่าง ๆ เมื่ออายุ 14 วัน




โครงงานเกษตรกรรมประเภทศึกษาค้นคว้าทดลอง
ชื่อโครงงาน การศึกษาเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดจาก มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง

ชื่อผู้ทำโครงงาน

1. นางสาวจิรวรรณ ทองสุขนอก
2. นางสาวสุปราณี เอกบัว
3. นางสาวประภาภรณ์ เที่ยงกินรี
4. นายทศพร ดาผง

ครูที่ปรึกษาโครงงาน นายอนันท์ กล้ารอด

ความสำคัญของโครงงาน
เห็ดตีนแรดเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ พบในฤดูฝนปีละ 1 ครั้งเท่านั้นมีดอกขนาดใหญ่ รสชาติอร่อยเป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อต้องการขยายพันธุ์จึงจำเป็นต้องเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ไว้ในอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อต้องการเพิ่มปริมาณก็นำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ไปเลี้ยงต่อในเมล็ดข้าวฟ่างและนำหัวเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่างไปเลี้ยงในวัสดุเพาะเพื่อให้เกิดดอกเห็ด ซึ่งจะทำให้เพาะเห็ดได้ตลอดปี
ในการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ของเห็ดตีนแรด จำเป็นต้องศึกษาให้ทราบว่าเชื้อเห็ดตีนแรดเจริญเติบโตได้ดีในอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีวัสดุใดเป็นส่วนผสม เนื่องจาก เห็ดเป็นราขนาดใหญ่ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงเองได้แบบพืชที่มีสีเขียว โดยทั่วไปอาหารที่เห็ดได้จากซากพืชก็คือ น้ำตาลในรูปของน้ำตาลกลูโคส เซลลูโลส แป้ง อาหารจะถูกดูดซึมเข้าทางผนังเซลล์ นอกจากน้ำตาลแล้วก็มีโปรตีนและแร่ธาตุอื่น ๆ

จุดประสงค์
1. ศึกษาสูตรอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดชนิดต่างๆ
2. ทดลองทำสูตรอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เห็ดโดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมได้แก่ มันสำปะหลัง มันเลือด มันเทศ แทนมันฝรั่งซึ่งไม่มีในท้องถิ่น
3. เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นที่ใช้วัสดุ มันสำปะหลัง มันเลือด มันเทศ เปรียบเทียบกับสูตรที่มีมันฝรั่ง เป็นส่วนผสม

ข้อมูลทางวิชาการ
1. ศึกษาข้อมูลการเตรียมอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ด จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้ วัสดุที่ใช้ในการผลิตเชื้อเห็ด เห็ดเป็นราขนาดใหญ่ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงเองได้แบบพืชที่มี สีเขียว โดยทั่วไปอาหารที่เห็ดได้จากซากพืชก็คือ น้ำตาลในรูปของน้ำตาลกลูโคส เซลลูโลส แป้ง อาหารจะถูกดูดซึมเข้าทางผนังเซลล์ นอกจากน้ำตาลแล้วก็มีโปรตีนและแร่ธาตุอื่น ๆ อีกในการเตรียมอาหารเลี้ยง เชื้อบริสุทธิ์ นั้นจำเป็นต้องผสมวุ้นลงไปด้วยเพื่อทำหน้าที่พยุงเส้นใยให้เจริญบนผิวและให้ความชื้นในระหว่างการเจริญเติบโต วัสดุที่ใช้ในการผลิตเชื้อเห็ดมีดังนี้
มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรืออาจใช้มันชนิดอื่นก็ได้ เช่น มันเลือด มันเห็บ ผลการทดลองการแบ่งเซลล์ของเชื้อเห็ดใกล้เคียงมันฝรั่ง ( อนันท์ กล้ารอด และคณะ 2544 )
น้ำตาลกลูโคส หรือเดกซ์โทรส
ผงวุ้น
น้ำกลั่น หรือน้ำฝน
ดอกเห็ดที่สมบูรณ์สะอาด คุณภาพดี ดอกเห็ดควรเป็นดอกอ่อนยังไม่มีการปล่อยสปอร์

วิธีการเตรียมอาหารวุ้น PDA.

การเตรียมอาหารวุ้น PDA สูตรอาหารที่ใช้กันมากคือ อาหารวุ้น PDA (Potato Dextrose Agar PDA) ซึ่งสามารถเตรียมได้ง่ายและมีราคาถูก มีส่วนผสมดังนี้
มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 200 กรัม
น้ำตาลกลูโคสหรือเดกซ์โทรส 20 กรัม
วุ้นผง 15 – 20 กรัม
น้ำกลั่นหรือน้ำฝน 1,000 กรัม
สำหรับมันฝรั่งอาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทนได้ เช่น เมล็ดข้าว ผักต่างๆ ถั่วฝักยาว น้ำต้มผัก ข้อสำคัญส่วนผสมที่นำมาใช้เมื่อเวลาต้มไฟอ่อนๆ แล้วจะไม่ขุ่นหรือเปื่อยเละไปก่อน
1. มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็กขนาด 1 X 1 X 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ชั่งให้ได้น้ำหนัก 200 กรัม
2. นำมันฝรั่งไปต้มไฟอ่อน ๆ กับน้ำที่ตวงไว้ 1,000 ซีซี. ( 1 ลิตร ) เป็นเวลา 20 นาที อย่าใช้ไฟแรงจะทำให้น้ำต้มมันฝรั่งขุ่น
3. กรองเอาแต่น้ำใสมาใส่วุ้นผงที่ชั่งไว้ 15 กรัม ตั้งไฟอ่อน ๆ คอยคนอยู่เรื่อย ๆ จนวุ้นละลายใช้เวลาประมาณ 20 นาที แล้วแต่ชนิดของวุ้นที่ละลายเร็ว หรือละลายช้า ในการละลายวุ้นระวังอย่าให้ไหม้หรือวุ้นเดือดออกนอกหม้อ
4. ใส่น้ำตาลกลูโคสที่ชั่งไว้ 20 กรัม คนให้น้ำตาลละลาย ยกลงจากไฟ
5. ใช้กระบอกตวงดูถ้าปริมาณไม่ถึง 1 ลิตร ให้เติมน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นลงไปจนครบ 1 ลิตร แล้วคนให้ทั่ว อาหารที่ผสมแล้วควรจะวัดค่าความเป็นกรดด่างของอาหาร เพื่อให้อาหารวุ้นมีค่า pH ประมาณ 5 – 6 ก่อนที่จะนำไปบรรจุหลอดแก้วทดลองหรือขวดแบน
6. กรอกวุ้นที่ได้ใส่หลอดหรือใส่ขวด อย่าให้วุ้นเปื้อนปากหลอดหรือปากขวดเอาสำลีอุดจุกแล้วเอากระดาษหุ้มมัดยางให้แน่น
7. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใช้เวลา 20 นาที
8. เสร็จแล้วนำออกมาทิ้งไว้ประมาณว่าวุ้นเกือบแข็งตัว ก็นำหลอดหรือขวดมาเอียงเพื่อเพิ่มเนื้อที่ผิวอย่าเอียงเร็วเกินไปเพาะจะทำให้มีหยดน้ำเกาะที่ผิววุ้นและข้างหลอดหรือข้างขวดมากเกินไป

2. ศึกษาข้อมูลการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ในอาหารวุ้น จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้
ความหมายของการแยกเชื้อเห็ด

การแยกเชื้อเห็ดคือ การนำเอาดอกเห็ดหรือสปอร์มาเพาะให้เห็ดเจริญขึ้นเป็นเส้นใยเพื่อใช้ขยายพันธุ์ไปทำหัวเชื้อต่อไป งานในขั้นนี้จะเลี้ยงเส้นใยเห็ดบนวุ้น PDA. การแยกเชื้อเห็ดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากสปอร์ วิธีนี้นิยมทำกันเฉพาะนักวิชาการที่ต้องการศึกษาสายพันธุ์เห็ด
และการผสมพันธุ์ โดยการแยกสปอร์เดี่ยวบนอาหารวุ้น โดยเฉพาะเห็ดที่มีดอกบาง เช่น เห็ดหูหนู ไม่นิยมทำกันในระดับฟาร์มหรือเกษตรกร
2. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อ ซึ่งทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อเยื่อในลำต้นเห็ดมาเลี้ยงบน อาหารวุ้น เรียกว่า วิธี “ทิชชูคัลเจอร์” ใช้กับเห็ดดอกขนาดใหญ่ และสามารถตัดเนื้อเยื่อมาเลี้ยงได้ง่ายเหมาะกับเห็ดนางรม - เห็ดนางฟ้า เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากและได้ผลตรงตามพันธุ์เดิมทุกประการ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแยกเชื้อเห็ด

1. เข็มเขี่ยเชื้อ ทำด้วยโลหะผสม ซึ่งมีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว เย็นเร็ว ด้ามทำด้วยอลูมิเนียม เวลาใช้ต้องฆ่าเชื้อเสียก่อน โดยการลนไฟที่ปลายลวดเข็มเขี่ยเชื้อจนร้อนแดง แล้วทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำไปตัดเนื้อเยื่อจากดอกเห็ด
2. ตะเกียงแอลกอฮอล์ ใช้สำหรับลนไฟฆ่าเชื้อเข็มเขี่ยและเครื่องมือในการปฏิบัติงานให้สะอาดโดยใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ เพราะร้อนเร็วไม่มีควัน
3. ตู้เขี่ยเชื้อ เป็นตู้ที่สร้างขึ้นมาสำหรับงานด้านนี้โดยเฉพาะลักษณะของตู้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบ ด้านหน้าตัดเป็นรูปคางหมูและติดกระจกให้สามารถมองเห็นสิ่งของและปฏิบัติงานภายในได้ มีช่องตรงกลางทำเป็นประตูเปิดปิดสำหรับยกขวดเชื้อเข้าออก ด้านข้างของประตูทั้งสองเจาะรูสำหรับใช้มือล้วงเข้าไปปฏิบัติงานในตู้ได้ โดยมีผ้าทำเป็นปลอกสำหรับหุ้มมือ ป้องกันลมภายนอกพัดเข้ามาภายใน
เวลาใช้ก็ยกสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าไปไว้ภายในแล้วปิดช่องเสียไม่ให้ลมพัดเข้าไป แต่ด้านบนของตู้ควรมีช่องให้อากาศหรือลมร้อนระบายออกได้เล็กน้อย ก่อนใช้งานจะต้องเช็ดตู้ฆ่าเชื้อภายในให้ทั่วด้วยแอลกอฮอล์เสียก่อน บางทีอาจใช้หลอดไฟอุลตร้าไวโอเล็ตมาติดภายในตู้เวลาไม่ได้ใช้งาน ก็เป็นการฆ่าเชื้อในตู้นี้ได้อีกมาก แต่ไม่ค่อยนิยมในระดับฟาร์มเห็ดทั่วไปนักเพราะอาจมีอันตรายได้
การเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อภายในก้านดอก
วิธีนี้เหมาะสำหรับเห็ดที่มีก้านใหญ่ และเห็ดที่ไม่มีเปลือกหุ้มดอกอ่อน เช่น เห็ดตับเต่าขาว เห็ดตีนแรด ซึ่งเป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่มาก เห็ดบางชนิดมีก้านดอกใหญ่ก็จริง แต่ภายในก้านดอกจะมีแมลงเข้าไปเจาะไชกินจนพรุนก็ไม่ควรใช้วิธีนี้ เห็ดฟางเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการนี้ก็ได้ผลดีและนิยมทำกันมาก วิธีทำเมื่อคัดเลือกดอกเห็ดตามลักษณะที่ต้องการแล้ว วางในจานแก้ว ใช้มีดที่ฆ่าเชื้อแล้วผ่าเห็ดเป็น 2 ส่วน ใช้ เข็มเขี่ยเชื้อที่ฆ่าเชื้อแล้วกรีดเนื้อเห็ดตรงกลางก้านดอก เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตักขึ้นถ่ายใส่จานอาหารหรือ ขวดอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อ ข้อควรระวังคือความสะอาด ทุกครั้งต้องใช้เข็มเขี่ยเชื้อที่บริสุทธิ์จริง ๆ


วิธีดำเนินการ
1. ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด หนังสือการเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2 ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
3. จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
4. จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่น วัสดุอุปกรณ์เตรียมอาหารวุ้น PDA. วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด
5. กำหนดแผนการปฏิบัติงาน
6. ปฏิบัติงานตามขั้นตอน
7. ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน


แผนปฏิบัติงาน


1.ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียน หนังสือเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2.ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
3.จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
4.จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่นวัสดุ อุปกรณ์ การเตรียมอาหารวุ้น PDA. วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด
5.กำหนดแผนการปฏิบัติงานและปฏิบัติงานตามขั้นตอน
6.ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน


ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เรื่องการเตรียมอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดและการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์
2. ได้อาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดที่ใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น
3. ได้อาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดตีนแรด
4. ได้รับความชื่นชมจากครูและผู้ปกครอง

เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.

ความเห็นของครูที่ปรึกษา
เป็นโครงงานที่น่าสนใจ นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรร ในการปฏิบัติงานกลุ่มให้มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เมื่อมีปัญหาให้ปรึกษาครู


รายงานโครงงาน เกษตรกรรม
ชื่อโครงงาน การศึกษาเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดจาก มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง

ชื่อผู้ทำโครงงาน

1. นางสาวจิรวรรณ ทองสุขนอก
2. นางสาวสุปราณี เอกบัว
3. นางสาวประภาภรณ์ เที่ยงกินรี
4. นายทศพร ดาผง

ครูที่ปรึกษา นายอนันท์ กล้ารอด

บทคัดย่อ
จุดมุ่งหมายของการทำโครงงานการศึกษาเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดจาก มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง มี 3 ประการคือ
1. ศึกษาสูตรอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดชนิดต่างๆ
2. ทดลองทำสูตรอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เห็ดโดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมได้แก่ มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง แทนมันฝรั่งซึ่งไม่มีในท้องถิ่น
3. เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นที่ใช้วัสดุ มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง เปรียบเทียบกับสูตรที่มีมันฝรั่ง เป็นส่วนผสม
จากการศึกษา ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียน หนังสือเพาะเห็ดปรึกษาครูผู้สอน พบว่า สูตรอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ ที่ใช้กับเห็ดทั่วๆ ไปประกอบด้วย
มันฝรั่ง 200 กรัม
น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม
ผงวุ้น 15 กรัม
น้ำสะอาด 1 ลิตร
ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำสูตรอาหารวุ้น 4 สูตรด้วยกัน โดยสูตรที่ 1 ใช้มันฝรั่งตามปกติ ส่วนสูตรที่ 2 – 4 ใช้มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัสดุที่มีในท้องถิ่นแทนมันฝรั่ง ในอัตราส่วนเท่ากัน ทำการทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในสูตรอาหารที่ 1 – 4 เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดตีนแรดในสูตรอาหารต่าง ๆ จากผลการทดลองพบว่าเชื้อเห็ดตีนแรดเจริญเติบโตได้ดีในสูตรอาหารที่ใช้ มันเลือด มันเทศ มันฝรั่งและ มันสำปะหลังตามลำดับ



วิธีการดำเนินงาน

1. การเตรียมอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรด
สูตรที่ 1
- มันฝรั่ง 200 กรัม
- น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม
- ผงวุ้น 15 กรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร
สูตรที่ 2
-มันเทศ 200 กรัม
-นำตาลกลูโคส 20 กรัม
-ผงวุ้น 15 กรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร
สูตรที่ 3
- มันเลือด 200 กรัม
- น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม
- ผงวุ้น 15 กรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร
สูตรที่ 4
-มันสำปะหลัง 200 กรัม
-นำตาลกลูโคส 20 กรัม
-ผงวุ้น 15 กรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร

เครื่องมือและอุปกรณ์
1. มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง น้ำตาลกลูโคส ผงวุ้น น้ำ ขวดแบน สำลี กระดาษ ยางรัด มีด หม้อ ทับพี เตาแกส ถังแกส หม้อนึ่งความดัน

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมได้แก่ มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง น้ำตาลกลูโคส ผงวุ้น น้ำ ขวดแบน สำลี กระดาษ ยางรัด มีด หม้อ ทับพี เตาแกส ถังแกส หม้อนึ่งความดัน
2. ปอกเปลือกมันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาด 1 ลบ. เซนติเมตร จำนวน 200 กรัม
3. นำไปต้มไฟอ่อน ๆ กับน้ำ 1 ลิตร เวลา 20 นาที
4. กรองเอาแต่น้ำใสมาใส่ผงวุ้น 15 กรัม ที่ชั่งไว้ตั้งไฟอ่อน ๆ คนให้ทั่วจนวุ้นละลายใช้เวลา 20 นาที ใส่น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม คนให้ละลายเข้ากันตวงปริมาณดูถ้าไม่ครบ 1 ลิตร ให้เติมน้ำร้อนจนครบ 1 ลิตร คนให้เข้ากัน
5. นำอาหารวุ้นที่ได้บรรจุลงในขวดแบน ¼ ของขวดปิดปากขวดด้วยสำลีกระดาษปิดทับยางรัดอีกครั้ง ให้ได้สูตรละ 5 ขวด
6. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดันให้ได้ 15 ปอนด์ / ตร.นิ้ว เป็นเวลา 20 นาที
7. เมื่อครบกำหนดเวลาให้นำขวดอาหารวุ้นออกจากหม้อนึ่งความดันวางลงบนพื้นที่เอียงเพื่อทำให้ปริมาณ ผิวหน้าวุ้นมากขึ้นปล่อยไว้ให้เย็นแข็งตัว เพื่อนำไปใช้งานต่อไป


2. การเพาะเลี้ยงเยื้อเห็ดตีนแรดในสูตรอาหารวุ้นต่างๆ

เครื่องมือและอุปกรณ์
1. ดอกเห็ดตีนแรด ที่สมบูรณ์ สะอาดและใหม่ ยังไม่ปล่อยสปอร์ ขวดอาหารวุ้น สูตรต่างๆ สูตรละ 5 ขวด
2. ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี

ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ให้พร้อมใช้งาน ได้แก่ ดอกเห็ดตีนแรด ที่สมบูรณ์ ยังไม่มีการปล่อยสปอร์ ดอกสะอาดและใหม่ ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ มีดผ่าตัด ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี ขวดอาหารวุ้น สูตรต่างๆ สูตรละ 5 ขวด
2. ทำการฆ่าเชื้อภายในตู้เขี่ยเชื้อโดยใช้แอลกอฮอร์ชุบสำลีเช็ดให้ทั่ว ฆ่าเชื้อวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดแล้วนำเข้า ตู้เขี่ยเชื้อ ทำความสะอาดมือแล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอร์
3. เอาเข็มเขี่ยเชื้อ มีดผ่าตัด ลนไฟให้แดงแล้วปล่อยให้เย็น ใช้มีดผ่าตัดผ่า ดอกเห็ด ก้านดอกเห็ดแยกออก เป็น 2 ซีก ต้องระวังไม่ให้สัมผัส ส่วนของกลางดอก ก้านดอก ที่ผ่าออก
4. บริเวณเนื้อเยื่อก้านดอกที่เพิ่งออกใหม่ๆ ใช้เข็มเขี่ยตัดเนื้อเยื่อดอกเห็ดตรงบริเวณก้านดอกซึ่งเป็นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดออกเป็นชิ้นเล็กๆ
5. เมื่อได้เนื้อเยื่อแล้ว จับขวดอาหารวุ้นให้ก้นขวดอยู่ในอุ้งมือ จากนั้นใช้นิ้วก้อยกับฝ่ามือที่จับเข็มเขี่ยเชื้อจับเอาจุกสำลีที่ปากขวดดึงออก นำปากขวดลนไฟตะเกียงแอลกอฮอร์
6. ใช้เข็มเขี่ยเชื้อที่ผ่านการฆ่าเชื้อโดยลนไฟให้แดงแล้วปล่อยให้เย็น นำเนื้อเยื่อเห็ด ผ่านเปลวไฟอย่างรวดเร็วไปวางตรงกลางบนอาหารวุ้น ภายในขวด ลนไฟปากขวดอีกครั้งนำจุกสำลีปิดปากขวด จากนั้นนำขวดเชื้อเห็ดเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติภายใน 14 วัน เส้นใยจะเดินเต็มผิวหน้าอาหารวุ้น
7. เพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์เห็ดตีนแรด บนอาหารวุ้น ชนิดละ 5 ขวด พร้อมบันทึก การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเห็ดบนอาหารวุ้น 14 วัน


ผลการศึกษา
จากการทดลองศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นทั้ง 4 สูตร ในระยะเวลา 13 วัน พบว่า สูตรที่ 1 เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นวงกลมได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.75 ซ.ม. สูตรที่ 2 เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นวงกลมได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.88 ซ.ม. สูตรที่ 3 เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นวงกลมได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.33 ซ.ม. สูตรที่ 4 เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นวงกลมได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.10 ซ.ม. ลักษณะของเส้นใยเห็ดตีนแรด สูตรที่ 1 – 3 มีสีขาว และฟูแข็งแรง สูตรที่ 4 เส้นใยมีสีขาวไม่ค่อยฟูมีลักษณะไม่แข็งแรง

สรุปและข้อเสนอแนะ
1. การศึกษาสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดทั้ง 4 สูตร ทำให้เราทราบว่าสูตรที่มีมันเลือดเป็นส่วนผสมเชื้อเห็ดตีนแรดเจริญเติบโตได้ดีที่สุด รองลงมาเป็นสูตรที่มี มันเทศ มันฝรั่ง เป็นส่วนผสมตามลำดับ ส่วนสูตรที่มีมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดตีนแรด
2. ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดตีนแรด เราสามารถใช้มันเลือด มันเทศ แทนมันฝรั่งในสูตรอาหาร ได้ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีในท้องถิ่น ส่วนมันฝรั่งต้องซื้อในตัวเมืองถึงมีขาย
3. เชื้อเห็ดตีนแรดบริสุทธิ์ที่ได้ สามารถเก็บไว้ได้นาน 3 ปี โดยเก็บไว้ในตู้เย็นเมื่อเราต้องการเพาะให้เกิดดอก ก็นำมาเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่างทำเป็นหัวเชื้อเห็ด จากนั้นนำมาเลี้ยงในวัสดุเพาะเพื่อให้เกิดดอกเห็ดต่อไป การเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดทุกขั้นตอนต้องสะอาดและปลอดเชื้อ

เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.

1 ความคิดเห็น:

เห็ดนางฟ้า กล่าวว่า...

ดีใจและชื่นชมอาจารย์ 3 ผู้ไม่หวงวิชา (บางคนเขาหวงเพราะเขาว่าเขาสร้างยากกว่าจะออกมาเป็นผลงานอย่างที่ปรากฎ ถ้าให้เขาลอกแล้วเงินประจำตำแหน่งลดลงก็ไม่ว่าหรอกเนาะ ฮิฮิ นานาจิตตัง)....
ฉันชอบเพาะเห็ด เพราะสบายใจเมื่อเห็นเห็ดออกดอก และสร้างรายได้ค่อนข้างยั่งยืนให้กับเรา แต่ฉันไม่ใช่ครูเกษตร ที่สอนเพราะใจรัก คิดจะทำผลงานอาจารย์ 3 รายวิชา การเพาะเห็ดจากวัสดุผสม (เพาะเห็ดนางฟ้า) ทดลองเพาะเมื่อปี 2547 แบบลองผิดลองถูก ภาคปฏิบัติสู้ ๆ ๆ แต่ภาคทฤษฏีไม่เก่ง สร้างเอกสารประกอบการเรียนไว้บ้าง ฉันมีปัญหาบางเรื่องยังขาดข้อสอบอัตนัย อยากขอความอนุเคราะห์จากอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยค่ะ...