วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดนำหมึก

เห็ดน้ำหมึก




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


เห็ดน้ำหมึกมีหลายชนิด ชนิดที่กล่าวถึงนี้ ชอบขึ้นตามสนามหญ้ากองหญ้าแห้ง กองปุ๋ย กองขยะหรือกองมูลสัตว์ เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่มหรือดอกเดี่ยวกระจัดกระจาย ทั่วไปอยู่บนกองปุ๋ย การเจริญเติบโตของเห็ดเป็นไปอย่างรวดเร็วในเวลากลางคืน ฉะนั้นเราจึงเห็นหมวกเห็ดตอนบ่ายหรือตอนเย็นยังตูมอยู่ จะบานกลางคืนและในตอนเช้าเกือบเน่าแล้ว
ลักษณะทั่วไป เห็ดน้ำหมึกหมวกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร รูปร่างดอกเห็ดเมื่อยังไม่บาน เป็นรูปไข่ยาวรีเกือบเป็นรูปทรงกระบอกซึ่งมีส่วนสูงของหมวกประมาณ 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ระยะนี้หมวกเห็ดมีสีเนื้อและมีขนสีขาวปนน้ำตาลอ่อนปกคลุมเป็นเกล็ดเล็ก ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่หมวกเห็ดกางออกมีสีเทา ค่อนข้างบางและมีร่องหยักเป็นเส้นรัศมีตามขอบหมวกเมื่อครีบหมวกเกิดใหม่ ๆ มีสีขาวซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีเทาดำ และย่อยตัวเองเป็นหยดของเหลวสีดำในเวลาอันรวดเร็ว หรือก่อนที่หมวกเห็ดจะบานหรือกางออก ฉะนั้นเมื่อหมวกเห็ดกางออกจึงไม่มีส่วนของครีบหมวกคงเหลือให้เห็นเพราะได้ละลายเป็นน้ำหมึกไปก่อนแล้วก้านดอกเห็ดยาวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ภายในก้านดอกกลวงเปราะหักง่ายและฉีกตามความยาวของก้านดอกได้ง่าย
แหล่งที่พบ เห็ดน้ำหมึกพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ชอบขึ้นตามสนามหญ้า กองฟาง กองหญ้าแห้ง กองปุ๋ย กองขยะหรือกองมูลสัตว์ เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่มหรือดอกเดี่ยว
ฤดูที่พบ เห็ดน้ำหมึกพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ ช่วยย่อยสลายเศษวัชพืช จากการสำรวจพบว่าในอำเภอเนินสง่าไม่มีการบริโภคเห็ดชนิดนี้ เชื่อกันว่าเป็นเห็ดพิษ

ไม่มีความคิดเห็น: