วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดนางฟ้าภูฏาน

เห็ดนางฟ้าภูฏาน



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดนางฟ้าภูฏาน เป็นเห็ดนางรมชนิดหนึ่งมีการนำเชื้อเห็ดมาจากราชอาณาจักรภูฏาน และมีการเพาะเลี้ยงทั่วประเทศยกเว้นฤดูหนาวทางภาคเหนือที่เห็ดไม่ออกดอก
ลักษณะทั่วไป เห็ดนางฟ้าภูฏานเกิดเป็นกลุ่ม มีโคนเชื่อมติดกันกลุ่มละ 3 – 10 ดอก หมวกเห็ด รูปใบพาย หรือรูปพัด ผิวสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหรือม่วงอ่อน ผิวเรียบ เนื้อหมวกสีขาว ด้านล่างมีครีบแคบและเรียวยาวลงไปจดก้านดอก ครีบสีขาว ก้านดอกอยู่ไม่กึ่งกลางดอกมักค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง ยาว 1 – 4 เซนติเมตร สีขาว โคนเรียวเล็ก ผิวเรียบแต่เป็นสันนูนและร่องเตี้ย ๆ ยาวตลอดก้านดอก เนื้อในก้านดอกสีขาวฟูนิ่ม
สปอร์ สีขาว ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 7-10 x 3-4 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล.2542 : 23 )
แหล่งที่พบ เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยง จากการสำรวจพบว่าอำเภอเนินสง่า มีเกษตรกรที่เพาะเห็ดนางฟ้าเป็นอาชีพอยู่ 1 ราย ที่ตำบลหนองฉิม มีก้อนเห็ดประมาณ 3,000 ก้อน และมีการเพาะเลี้ยงที่โรงเพาะเห็ดโรงเรียนเนินสง่าวิทยา ปัจจุบันนักเรียนสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดนางฟ้าเพื่อขยายพันธุ์ได้แล้วนำมาเพาะเลี้ยงกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราหรือฟางข้าวก็ได้ ในอดีตเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ชาวบ้านเพาะเลี้ยงโดยใช้ท่อนไม้เนื้ออ่อน แต่ปัจจุบันไม้หายากได้ใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราแทน
ฤดูที่พบ เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดเมืองร้อนสามารถเพาะเลี้ยงได้ตลอดปี ยกเว้นฤดูหนาวถ้าอากาศหนาวมากเห็ดจะไม่ออกดอก
ประโยชน์ เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่มีผู้นิยมนำมาบริโภคเนื่องจาก มีรสชาติดี ขนาดดอกใหญ่ ราคาไม่แพง เพาะเลี้ยงง่าย ตามธรรมชาติจะช่วยย่อยสลายกิ่งไม้ท่อนไม้ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ไม่มีความคิดเห็น: