เห็ดฟาง
ภาพ : อนันท์ กล้ารอด
เห็ดฟางหรือเห็ดบัวเป็นเห็ดสดชนิดหนึ่งที่ขึ้นง่ายและรู้จักกันดี เห็ดชนิดนี้มีขึ้นตามธรรมชาติ เช่นตามกองฟางข้าว จึงมีชื่อเรียกว่าเห็ดฟาง ต่อมามีการส่งเสริมให้มีการปลูกเห็ดชนิดนี้ขึ้นมาจนเป็นอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยมีวัตถุดิบที่ใช้เพาะเลี้ยงคือ มูลม้า เปลือกบัวและฟางข้าว หรือใช้มูลม้าและเปลือกบัวที่หมักให้ผุเปื่อยแล้ว จึงมีชื่อเรียกเห็ดชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่าเห็ดบัว ปัจจุบันมีผู้ใช้วัตถุดิบอย่างอื่นก็เพาะได้เช่นกัน เช่น ไส้นุ่น เปลือกถั่วเขียว เปลือกมันสำปะหลัง
ลักษณะทั่วไป เห็ดบัวหรือเห็ดฟางเมื่อเริ่มเกิดมีลักษณะเป็นก้อนกลม สีขาว ซึ่งจะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นแล้วแตกออก ภายในมีดอกเห็ดและก้านดอกที่ค่อย ๆ เจริญขึ้นมาในอากาศ คงเหลือส่วนที่ห่อหุ้มเป็นกระเปาะ คล้ายถ้วยรองรับอยู่ที่ฐานดอกเห็ด หมวกเห็ดเมื่อโตเต็มที่จะกางออกมีลักษณะคล้ายร่ม สีเทาอ่อนหรือเทาแก่ ขอบหมวกเรียบด้านล่างของหมวกเห็ดมีครีบหมวกบาง ๆ แผ่เป็นวงรัศมีรอบลำต้น และเรียงแขวนตั้งฉากติดกับเนื้อหมวกเห็ดไม่ยึดติดกับก้านดอก ครีบหมวกเห็ดเมื่อมีอายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วงหรือน้ำตาลอ่อน ก้านหมวกมีสีขาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 3 เซนติเมตร เนื้อภายในละเอียดแน่นและค่อนข้างเปราะเล็กน้อย ก้านดอกสูงประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร และมีผิวเรียบ
สปอร์ ของเห็ดฟางมีลักษณะเป็นรูปวงกลมรี ปลายข้างหนึ่งมีตุ่มเล็ก ๆ หนึ่งตุ่ม สปอร์มีสีชมพู ขนาด 5 x 13.75 ไมโครเมตร
( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 31 )
แหล่งที่พบ เห็ดฟางอำเภอเนินสง่าพบได้ทั่วไปตามกองฟางทุ่งนา ตำบลตาเนิน ตำบลหนองฉิม ตำบลรังงาม กองฟางที่เคยมีเห็ดเมื่อนำฟางมากองทับบนพื้นที่เดิมจะมีเห็ดฟางขึ้นอีก ชาวบ้านนิยมกองฟางไว้เพื่อให้เกิดดอกเห็ดสำหรับบริโภค จากการสำรวจพบว่า มีการเพาะเห็ดฟางโดยใช้เปลือกมันสำปะหลังที่บ้าน โสกคร้อ ซึ่งทำกันเป็นอาชีพจำนวน 5 ราย
ฤดูที่พบ เห็ดฟางเห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุมในฤดูฝน พบได้ในเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว เห็ดฟางที่เกิดจากการเพาะสามารถทำให้เกิดดอกได้ทั้งปี
ประโยชน์ เห็ดฟางเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เมื่อนำไปประกอบอาหารเวลาหุงต้มเนื้อเห็ดจะมีลักษณะเป็นเมือกเล็กน้อย เวลารับประทานมีเนื้อภายในกรอบกรุบและหวานอร่อยเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น