วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดหัวกรวดร่มกระ

เห็ดหัวกรวดร่มกระ


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดหัวกรวดร่มกระหรือเห็ดตายเบื่อ ดอกเห็ดมีหมวกเห็ดกางออกเป็นรูปกระทะคว่ำ ผิวด้านบนสีน้ำตาล ซึ่งปริแตกออกเป็นเกล็ดใหญ่กระจายเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น จนเกือบกึ่งกลางดอก มองดูเหมือนกระ หมวกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 – 16 เซนติเมตร มีเนื้อในสีขาว ด้านล่างมีครีบสีขาว ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลอมเหลืองอ่อน ก้านดอกยาว 10 – 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 2 เซนติเมตร บนก้านดอกมีวงแหวนเป็นแผ่นหนา 2 ชั้น เคลื่อนที่ขึ้นลงได้ เนื้อในก้านสีขาว ภายในมีรูกลวงเล็ก ๆ
สปอร์ รูปวงรีสีขาวอมเหลือง ผิวเรียบ ผนังหนา 2 ชั้น ปลายด้านหนึ่งตัดเป็นเส้นตรงขนาด 10-12 x 6-8 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 37 )
แหล่งที่พบ เห็ดหัวกรวดร่มกระพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า เห็ดชนิดนี้เกิดเป็นดอกเดี่ยวบนพื้นดินที่มีใบไม้ หญ้าแห้งปกคลุมตามไร่ นา เป็นที่ดอนไม่มีน้ำขัง สังเกตได้ง่ายโดยดูรูปร่าง ของวงแหวนและไม่มีเกล็ดที่ก้านดอก
ฤดูที่พบ เห็ดหัวกรวดร่มกระพบได้ในฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดหัวกรวดร่มกระตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายเศษใบไม้หญ้าแห้ง ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน เป็นเห็ดที่รับประทานไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อนำไปรับประทานแล้วมีอาการแพ้เกิดอาการมึนเมาอาจถึงแก่ชีวิตได้ จึงไม่แนะนำให้รับประทาน

ไม่มีความคิดเห็น: