วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดดันหมี

เห็ดดันหมี





ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดดันหมีดอกเห็ดเป็นก้อนครึ่งวงกลมหรือเกือบเป็นก้อนกลมติดอยู่กับเนื้อไม้ผุ ตอไม้ผุ ขนาดของดอกเห็ดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป มีตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 4 เซนติเมตร สีน้ำตาลอมม่วง ซึ่งต่อไปจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ปกติเกิดเป็นดอกเดียวหรือเกิดรวมกันหลายดอกเป็นกลุ่มก้อนชิดติดกัน ดอกที่แก่เต็มที่จะมีผงสปอร์สีดำอมม่วงฟุ้งกระจายออกมาจากรูขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่ารอบก้อน ถ้าผ่าก้อนเห็ดออกเป็น 2 ซีก จะเห็นเนื้อเยื่อภายในเป็นลายวงกลมซ้อนกันหลายชั้นออกไปจนถึงขอบ และมีเส้นใยละเอียดสีน้ำตาลอัดกันแน่น แต่เปราะง่ายไม่แข็งเหมือนเปลือกหุ้ม
สปอร์ รูปยาวรีสีดำ ผิวเรียบ ขนาด 12-17 x 6-9 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 122 )
แหล่งที่พบ เห็ดดันหมีพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่าตามสวนป่ายูคาลิปตัส เห็ดจะขึ้นกับตอไม้ยูคาลิปตัสที่ผุหรือตามรากไม้ ขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกระจายให้เห็นทั่วไป เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นกับพื้นที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์เช่นดินลูกรัง ดินดาน
ฤดูที่พบ เห็ดดันหมีพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดดันหมีเห็ดชนิดนี้ เป็นเห็ดที่ไม่นำมารับประทานกัน ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายตอไม้ รากไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดนำหมึก

เห็ดน้ำหมึก




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


เห็ดน้ำหมึกมีหลายชนิด ชนิดที่กล่าวถึงนี้ ชอบขึ้นตามสนามหญ้ากองหญ้าแห้ง กองปุ๋ย กองขยะหรือกองมูลสัตว์ เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่มหรือดอกเดี่ยวกระจัดกระจาย ทั่วไปอยู่บนกองปุ๋ย การเจริญเติบโตของเห็ดเป็นไปอย่างรวดเร็วในเวลากลางคืน ฉะนั้นเราจึงเห็นหมวกเห็ดตอนบ่ายหรือตอนเย็นยังตูมอยู่ จะบานกลางคืนและในตอนเช้าเกือบเน่าแล้ว
ลักษณะทั่วไป เห็ดน้ำหมึกหมวกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร รูปร่างดอกเห็ดเมื่อยังไม่บาน เป็นรูปไข่ยาวรีเกือบเป็นรูปทรงกระบอกซึ่งมีส่วนสูงของหมวกประมาณ 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ระยะนี้หมวกเห็ดมีสีเนื้อและมีขนสีขาวปนน้ำตาลอ่อนปกคลุมเป็นเกล็ดเล็ก ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่หมวกเห็ดกางออกมีสีเทา ค่อนข้างบางและมีร่องหยักเป็นเส้นรัศมีตามขอบหมวกเมื่อครีบหมวกเกิดใหม่ ๆ มีสีขาวซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีเทาดำ และย่อยตัวเองเป็นหยดของเหลวสีดำในเวลาอันรวดเร็ว หรือก่อนที่หมวกเห็ดจะบานหรือกางออก ฉะนั้นเมื่อหมวกเห็ดกางออกจึงไม่มีส่วนของครีบหมวกคงเหลือให้เห็นเพราะได้ละลายเป็นน้ำหมึกไปก่อนแล้วก้านดอกเห็ดยาวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ภายในก้านดอกกลวงเปราะหักง่ายและฉีกตามความยาวของก้านดอกได้ง่าย
แหล่งที่พบ เห็ดน้ำหมึกพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ชอบขึ้นตามสนามหญ้า กองฟาง กองหญ้าแห้ง กองปุ๋ย กองขยะหรือกองมูลสัตว์ เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่มหรือดอกเดี่ยว
ฤดูที่พบ เห็ดน้ำหมึกพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ ช่วยย่อยสลายเศษวัชพืช จากการสำรวจพบว่าในอำเภอเนินสง่าไม่มีการบริโภคเห็ดชนิดนี้ เชื่อกันว่าเป็นเห็ดพิษ

เห็ดก้อนกรวด

เห็ดก้อนกรวด




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


เห็ดก้อนกรวด มีลักษณะภายนอกของดอกเห็ดเหมือนก้อนกรวดขนาดปานกลางขึ้นอยู่ตามดินปนทรายในป่าข้างทางเดิน
ลักษณะทั่วไป เห็ดก้อนกรวดดอกเห็ดเป็นก้อนกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร มีฐานเป็นโคนดอกที่มีขนาดเล็กกว่าตอนบนเล็กน้อย ฐานดอกเห็ดกว้างประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร สูงประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ฐานของดอกทำหน้าที่คล้ายก้านดอกที่ฝังลึกลงไปในดิน ดอกเห็ดมีผิวเรียบและมีการเจริญที่ไม่สม่ำเสมอกัน จึงทำให้ผิวบางส่วนนูนขึ้นมาเล็กน้อย มีสีเหลืองปนน้ำตาลแดงซึ่งจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนน้ำตาลแก่และฉีกขาดได้ง่าย เมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่ ภายในดอกเห็ดเต็มไปด้วยรูเล็ก ๆ ขนาด 1 – 3 มิลลิเมตร ภายในมีวัตถุสีเหลืองบรรจุอยู่ในระยะที่เป็นเห็ดอ่อนแต่จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นผงน้ำตาลเมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่ การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มจากตอนบนลงมาตอนล่าง วัตถุสีเหลืองที่เปลี่ยนเป็นผงสีน้ำตาลคือ
สปอร์ของเห็ดชนิดนี้
แหล่งทีพบ เห็ดก้อนกรวดในอำเภอเนินสง่าพบได้ทั่วไปที่ป่าสงวนโคกใหญ่ ชอบขึ้นในบริเวณที่โล่งแจ้งของป่าเต็ง รัง มีหญ้าขึ้นสั้น ๆ ไม่หนาแน่น พื้นดินเป็นดินลูกรังหรือดินทรายขึ้นเป็นดอกเดี่ยว กระจายเป็นกลุ่ม ๆ
ฤดูที่พบ เห็ดก้อนกรวดพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดก้อนกรวดนิยมรับประทานกันในระยะที่เป็นเห็ดอ่อน ส่วนมากใช้เป็นเครื่องปรุงแต่งรสอาหาร เห็ดชนิดนี้มีกลิ่นแรงมาก จึงใช้เพียงเล็กน้อยในการหุงต้ม เพื่อให้อาหารมีกลิ่นเห็ดและสีเหลืองอมน้ำตาล ทำให้อาหารน่ารับประทานยิ่งขึ้น เป็นเห็ดที่รับประทานได้ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 109 ) จากการสำรวจพบว่าในอำเภอเนินสง่าไม่มีการบริโภคเห็ดชนิดนี้เชื่อกันว่าเป็นเห็ดพิษ

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดนางฟ้าภูฏาน

เห็ดนางฟ้าภูฏาน



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดนางฟ้าภูฏาน เป็นเห็ดนางรมชนิดหนึ่งมีการนำเชื้อเห็ดมาจากราชอาณาจักรภูฏาน และมีการเพาะเลี้ยงทั่วประเทศยกเว้นฤดูหนาวทางภาคเหนือที่เห็ดไม่ออกดอก
ลักษณะทั่วไป เห็ดนางฟ้าภูฏานเกิดเป็นกลุ่ม มีโคนเชื่อมติดกันกลุ่มละ 3 – 10 ดอก หมวกเห็ด รูปใบพาย หรือรูปพัด ผิวสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหรือม่วงอ่อน ผิวเรียบ เนื้อหมวกสีขาว ด้านล่างมีครีบแคบและเรียวยาวลงไปจดก้านดอก ครีบสีขาว ก้านดอกอยู่ไม่กึ่งกลางดอกมักค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง ยาว 1 – 4 เซนติเมตร สีขาว โคนเรียวเล็ก ผิวเรียบแต่เป็นสันนูนและร่องเตี้ย ๆ ยาวตลอดก้านดอก เนื้อในก้านดอกสีขาวฟูนิ่ม
สปอร์ สีขาว ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 7-10 x 3-4 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล.2542 : 23 )
แหล่งที่พบ เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยง จากการสำรวจพบว่าอำเภอเนินสง่า มีเกษตรกรที่เพาะเห็ดนางฟ้าเป็นอาชีพอยู่ 1 ราย ที่ตำบลหนองฉิม มีก้อนเห็ดประมาณ 3,000 ก้อน และมีการเพาะเลี้ยงที่โรงเพาะเห็ดโรงเรียนเนินสง่าวิทยา ปัจจุบันนักเรียนสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดนางฟ้าเพื่อขยายพันธุ์ได้แล้วนำมาเพาะเลี้ยงกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราหรือฟางข้าวก็ได้ ในอดีตเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ชาวบ้านเพาะเลี้ยงโดยใช้ท่อนไม้เนื้ออ่อน แต่ปัจจุบันไม้หายากได้ใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราแทน
ฤดูที่พบ เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดเมืองร้อนสามารถเพาะเลี้ยงได้ตลอดปี ยกเว้นฤดูหนาวถ้าอากาศหนาวมากเห็ดจะไม่ออกดอก
ประโยชน์ เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่มีผู้นิยมนำมาบริโภคเนื่องจาก มีรสชาติดี ขนาดดอกใหญ่ ราคาไม่แพง เพาะเลี้ยงง่าย ตามธรรมชาติจะช่วยย่อยสลายกิ่งไม้ท่อนไม้ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป ของเห็ดหลินจือหมวกเห็ดรูปทรงคล้ายไตหรือพัด ผิวด้านบนเรียบมันคล้ายไม้ที่ลงน้ำยาชักเงา มีร่องเป็นลอนโค้งมน สีน้ำตาลหรือสีเหลือง ขนาด 3 – 15 ซ.ม. หนา 3 – 5 มิลลิเมตร ผิวด้านใต้สีครีมและจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองเมื่อแก่ เนื้อเยื่อภายในสีขาวนวล หรือสีเหลืองเข้ม มีลักษณะเป็นเส้นใยประสานตัวกันแน่น
แหล่งที่พบ เห็ดหลินจือพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ชอบขึ้นกับโคนต้นไม้เนื้อแข็งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว เช่น ไม้แดง ตะแบก มะค่าแต้ โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่โคนต้นไม้แดง จำนวน 5 ต้น ภายในโรงเรียน
ฤดูที่พบ เห็ดหลินจือเป็นเห็ดป่าฝนเขตร้อน พบได้ตลอดช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน หลังหมดฤดูฝนดอกเห็ดที่แห้งยังคงมีให้เห็นอยู่ แต่จะถูกแมลงพวกมอดเข้าทำลาย
ประโยชน์ เห็นหลินจือเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เชื่อกันว่าเป็นยาบำรุงร่างกาย ถ้าเห็ดขึ้นกับต้นไม้ที่ไม่มีพิษ ชาวบ้านจะนำมาต้มกินน้ำเห็ดเป็นยาบำรุง

เห็ดฟาง

เห็ดฟาง



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดฟางหรือเห็ดบัวเป็นเห็ดสดชนิดหนึ่งที่ขึ้นง่ายและรู้จักกันดี เห็ดชนิดนี้มีขึ้นตามธรรมชาติ เช่นตามกองฟางข้าว จึงมีชื่อเรียกว่าเห็ดฟาง ต่อมามีการส่งเสริมให้มีการปลูกเห็ดชนิดนี้ขึ้นมาจนเป็นอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยมีวัตถุดิบที่ใช้เพาะเลี้ยงคือ มูลม้า เปลือกบัวและฟางข้าว หรือใช้มูลม้าและเปลือกบัวที่หมักให้ผุเปื่อยแล้ว จึงมีชื่อเรียกเห็ดชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่าเห็ดบัว ปัจจุบันมีผู้ใช้วัตถุดิบอย่างอื่นก็เพาะได้เช่นกัน เช่น ไส้นุ่น เปลือกถั่วเขียว เปลือกมันสำปะหลัง
ลักษณะทั่วไป เห็ดบัวหรือเห็ดฟางเมื่อเริ่มเกิดมีลักษณะเป็นก้อนกลม สีขาว ซึ่งจะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นแล้วแตกออก ภายในมีดอกเห็ดและก้านดอกที่ค่อย ๆ เจริญขึ้นมาในอากาศ คงเหลือส่วนที่ห่อหุ้มเป็นกระเปาะ คล้ายถ้วยรองรับอยู่ที่ฐานดอกเห็ด หมวกเห็ดเมื่อโตเต็มที่จะกางออกมีลักษณะคล้ายร่ม สีเทาอ่อนหรือเทาแก่ ขอบหมวกเรียบด้านล่างของหมวกเห็ดมีครีบหมวกบาง ๆ แผ่เป็นวงรัศมีรอบลำต้น และเรียงแขวนตั้งฉากติดกับเนื้อหมวกเห็ดไม่ยึดติดกับก้านดอก ครีบหมวกเห็ดเมื่อมีอายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วงหรือน้ำตาลอ่อน ก้านหมวกมีสีขาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 3 เซนติเมตร เนื้อภายในละเอียดแน่นและค่อนข้างเปราะเล็กน้อย ก้านดอกสูงประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร และมีผิวเรียบ
สปอร์ ของเห็ดฟางมีลักษณะเป็นรูปวงกลมรี ปลายข้างหนึ่งมีตุ่มเล็ก ๆ หนึ่งตุ่ม สปอร์มีสีชมพู ขนาด 5 x 13.75 ไมโครเมตร
( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 31 )
แหล่งที่พบ เห็ดฟางอำเภอเนินสง่าพบได้ทั่วไปตามกองฟางทุ่งนา ตำบลตาเนิน ตำบลหนองฉิม ตำบลรังงาม กองฟางที่เคยมีเห็ดเมื่อนำฟางมากองทับบนพื้นที่เดิมจะมีเห็ดฟางขึ้นอีก ชาวบ้านนิยมกองฟางไว้เพื่อให้เกิดดอกเห็ดสำหรับบริโภค จากการสำรวจพบว่า มีการเพาะเห็ดฟางโดยใช้เปลือกมันสำปะหลังที่บ้าน โสกคร้อ ซึ่งทำกันเป็นอาชีพจำนวน 5 ราย
ฤดูที่พบ เห็ดฟางเห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุมในฤดูฝน พบได้ในเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว เห็ดฟางที่เกิดจากการเพาะสามารถทำให้เกิดดอกได้ทั้งปี
ประโยชน์ เห็ดฟางเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เมื่อนำไปประกอบอาหารเวลาหุงต้มเนื้อเห็ดจะมีลักษณะเป็นเมือกเล็กน้อย เวลารับประทานมีเนื้อภายในกรอบกรุบและหวานอร่อยเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย

เห็ดผือ

เห็ดผือ


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดแพคหรือเห็ดผือ ดอกเห็ดเป็นรูปกะทะคว่ำ สีขาวนวลหรือเหลืองอมน้ำตาล ผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 5 เซนติเมตร ผิวแห้ง แต่เมื่อเปียกชื้นจะหนืดมือเล็กน้อย เนื้อในสีขาว ด้านล่างมีครีบสีม่วงอ่อนอมเทาแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วงแก่อมน้ำตาล ก้านดอกยาว 3 – 7 เซนติเมตร รูปทรงกระบอกสีขาวโคนใหญ่ บางดอกโป่งเป็นกระเปาะเล็ก ๆ ผิวเรียบ เนื้อในก้านสีขาว มีรูกลวงเล็ก ๆ ยาวเกือบตลอด ก้านดอก
สปอร์ สีน้ำตาลหม่น รูปไข่ ผิวเรียบ ปลายบนมีรูเปิดเล็ก ๆ ขนาด 8-11 x 5-6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 45 )
แหล่งที่พบ เห็ดแพคหรือเห็ดผืออำเภอเนินสง่าพบได้ทั่วไปตามทุ่งนาบ้านหนองผักชี ทุ่งนาบ้านหนองฉิม ทุ่งนาบ้านโสกคร้อ ทุ่งนาเหล่านี้เป็นดินร่วนปนทราย มีต้นกกสามเหลี่ยม ชาวบ้านเรียกต้นผือ ขึ้นอย่างหนาแน่นเห็ดจะขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกระจายเป็นกลุ่ม ๆ บริเวณกว้าง พื้นที่ใดที่พบเห็ดชนิดนี้จะมีให้เห็นทุกปี
ฤดูที่พบ เห็ดแพคหรือเห็ดผือเห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุมในฤดูฝนพบได้ในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดแพคหรือเห็ดผือเป็นเห็ดที่รับประทานได้ชนิดหนึ่งมีรสชาติดีชาวบ้านนิยมบริโภค บางคนมีอาชีพเสริมเก็บเห็ดขาย

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดตับเต่า

เห็ดตับเต่า




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดตับเต่าหมวกเห็ดใหญ่มีสีน้ำตาลเข้ม หรือสี ช็อกโกเลต มองดูลักษณะเป็นมันคล้ายก้อนตับของสัตว์บางชนิด ดอกเห็ดมีผิวด้านบนเรียบสีน้ำตาลแก่หรือสีช็อกโกเลต เวลาเปียกหรือชื้น จะมีลักษณะเป็นมันเงาและเหนียวมือเล็กน้อย เนื้อหมวกเห็ดสีขาวปนเหลืองอ่อน หมวกเห็ดเวลาบานมีขอบม้วนงอเล็กน้อย ผิวด้านบนจะโค้งงอคล้ายกะทะคว่ำ แต่เมื่อบานเต็มที่ขอบดอกก็จะเหยียดตรงออก เห็ดตับเต่ามีก้านดอกใหญ่ประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร และยาวประมาณ
5 – 10 เซนติเมตร ผิวด้านนอกมีสีน้ำตาลเช่นเดียวกับหมวก ตอนโคนใหญ่ออกเป็น กระเปาะและมีรอยย่นหยักเป็นร่องห่าง ๆ รอบโคนต้น เนื้อภายในก้านดอกมีสีขาวปนเหลืองอ่อน สีของเนื้อเยื่อไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อผ่าออกเป็น 2 ซีก เนื้อเยื่อภายในสานกันละเอียดแน่นทึบเช่นเดียวกับเนื้อหมวกเห็ด
สปอร์ รูปไข่เกือบกลมสีน้ำตาล ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 10 x12.5 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 51 )
แหล่งที่พบ เห็ดตับเต่าอำเภอเนินสง่าพบที่ป่าสงวนโคกใหญ่ ขึ้นบน ผิวดินเป็นดอกเดี่ยว กระจายเป็นกลุ่ม บริเวณโคนต้นไม้ หรือใต้พุ่มไม้เล็ก ๆ ดินลูกรังหรือดินร่วนที่เป็นเนินเตี้ย ๆ บริเวณที่เคยพบเห็ดชนิดนี้จะมีให้เห็นทุกปี
ฤดูที่พบ เห็ดตับเต่าเห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุมในฤดูฝนพบได้ใน เดือน พฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดตับเต่าเป็นเห็ดที่รับประทานได้ชนิดหนึ่งมีรสชาติดี ชาวบ้านนิยมบริโภคขายได้ราคาแพง ชาวบ้านบางคนมีอาชีพเสริมเก็บเห็ดป่าขาย

เห็ดตะไคลขาว

เห็ดตะไคลขาว



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว เป็นชื่อเรียกเห็ดรับประทานได้ชนิด หนึ่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่าเห็ดตะไคลหรือเห็ดไคล
ลักษณะทั่วไป เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว เกิดเป็นดอกเดี่ยว ๆ แต่พบอยู่เป็นกลุ่มใกล้ ๆ กัน ดอกเห็ดเมื่อยังตูมอยู่มีหมวกเห็ดด้านบนกลมคล้ายระฆัง
คว่ำ ครีบหมวกเห็ดมีสีขาวนวลเช่นเดียวกันกับหมวกเห็ดและมีผิวเรียบ เมื่อดอกเห็ดกางออกเต็มที่ จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดอกเห็ด ซึ่งวัดได้ตั้งแต่ 3 – 15 เซนติเมตร หมวกเห็ดเวลาบานเต็มที่ตรงกลางหมวกเห็ด จะเว้าลงไปเล็กน้อย ก้านดอกเห็ดยาวประมาณ 3.5 – 5.5 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร ก้านดอกกลมและมีขนาดใหญ่ ก้านดอกเห็ดมักจะมีหนอนเข้าไปกินและอาศัยอยู่ จึงมีลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำตั้งแต่ดอกเห็ดยังตูมอยู่
สปอร์ รูปร่างกลม ผิวมีหนามละเอียด โดยรอบ มีสี ขาวขนาด 7.5 x 7.5 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 58 )
แหล่งที่พบ เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว อำเภอเนินสง่าพบที่ป่า สงวนโคกใหญ่ชาวบ้านเรียกเห็ดตะไคล เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นในป่าหรือบนพื้นดินลูกรัง ดินร่วน บริเวณเนินภูเขาเตี้ย ๆ ของป่าสงวนโคกใหญ่
ฤดูที่พบ เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว เห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุม ในฤดูฝนพบได้ในเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูง อากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว มีผู้นิยมรับประทานกัน มากเพราะมีรสอร่อยหวานกว่าเห็ดอื่นหลายชนิด ดอกเห็ดที่ยังเล็กและตูมอยู่มีราคาแพง

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดถ่านใหญ่

เห็ดถ่านใหญ่


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดถ่าน ดอกเห็ดเวลาบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ เห็ดถ่านมี 2 ชนิด คือเห็ดถ่านใหญ่และเห็ดถ่านเล็ก เห็ดถ่านใหญ่พบในป่า ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป เห็ดถ่านใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 10 - 12 เซนติเมตร รูปร่างเกือบคล้ายกรวยเมื่อเวลาบานเต็มที่ ผิวหมวกเห็ดด้านบนเรียบ เมื่อดอกเห็ดบานใหม่ ๆ มีสีขาวนวลแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อดอกเห็ดบานเต็มที่ครีบหมวกเห็ด มักจะมีรอยฉีกขาดเป็น แห่ง ๆ และขอบหมวกจะเป็นคลื่นบิดงอขึ้นเล็กน้อยหรือรอยขาดด้วย ก้านดอกเห็ดยาวประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง
ประมาณ 1.5 – 2 เซนติเมตร มีสีขาวแต่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำ ผิวเนื้อด้านนอกเรียบ เนื้อภายในก้านดอกมีสีขาว ละเอียดและมีลักษณะยืดหยุ่นน้อย ๆ ดอกเห็ดถ่านมีลักษณะแห้งและเปราะบางกว่าดอกเห็ดฟางเล็กน้อย
สปอร์ ของเห็ด รูปค่อนข้างกลม สีขาว มีหนามละเอียดโดยรอบและมีหนามใหญ่หนึ่งอัน ขนาดสปอร์ 7-8 x 6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 62 )
แหล่งที่พบ เห็ดถ่านใหญ่อำเภอเนินสง่าพบที่ป่าสงวนโคกใหญ่ ชอบขึ้นบนพื้นดินในป่าละเมาะที่เป็นดินลูกรัง ดินร่วน และหน้าดินเป็นธรรมชาติไม่เคยถูกทำลายมาก่อน เห็ดถ่านใหญ่เกิดเป็นดอกเดี่ยวอิสระและอยู่กระจัดกระจายไม่ชุกชุมเหมือนเห็ดอื่น ๆ
ฤดูที่พบ เห็ดถ่านใหญ่พบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดถ่านใหญ่เป็นเห็ดที่รับประทานได้ รสชาติดีเป็นที่ดีเป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้านและขายได้ราคาแพง

เห็ดโคน

เห็ดโคน


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดโคนหรือเห็ดปลวกมีหมวกดอกเห็ดขนาดแตกต่าง กันแล้วแต่ความสมบูรณ์ของดอกเห็ด มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2 – 20 เซนติเมตร ผิวด้านบนเรียบเหมือนมีรอยย่นจีบเล็กน้อย สีน้ำตาลดำหรือน้ำตาลเข้ม กลางหมวกมียอดแหลมคล้ายหมวกจีน เนื้อหมวกขาว ด้านล่างมีครีบหมวกสีขาว ก้านดอกยาว 5 – 20 เซนติเมตร โคนก้านเหนือดินโป่งเป็นกระเปาะใหญ่ โคนก้านดอกมีสีน้ำตาลอ่อน และเรียวเล็กยาวหยั่งลึกลงไปยังจอมปลวกคล้ายรากแก้วของพืช
สปอร์ สีนวลหรือสีเหลืองอมชมพูอ่อนผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 6-8 x 4- 5 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 19 )
แหล่งที่พบ เห็ดโคนหรือเห็ดปลวกพบได้โดยทั่วไปในอำเภอเนินสง่า บนพื้นดินที่มีจอมปลวกหรือบริเวณที่มีปลวกอาศัยชุกชุมจึงเรียกเห็ดชนิดนี้ว่าเห็ดปลวก ภาคกลางเรียกเห็ดโคน ภาคใต้เรียกเห็ดโคนชนิดนี้ว่าเห็ดนมหมู โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบได้ที่หน้าอาคารเรียนผึ้งหลวง ด้านหลังอาคารเกษตรกรรมและสวนป่ามะม่วง
หิมพานต์ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีจอมปลวกและปลวกอาศัยอยู่มากซึ่งพบได้ทุกปี ดอกเห็ดขึ้นกระจายกันทั่วบริเวณ
ฤดูที่พบ เห็ดโคนพบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบ ในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดโคนเป็นเห็ดที่รับประทานได้ รสชาติดีเป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้านและขายได้ราคาแพง

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดตีนแรด

เห็ดตีนแรด



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดสดที่มีขนาดใหญ่ ภาคเหนือเรียกว่า เห็ดจั่น ภาคกลางเรียกว่า เห็ดตับเต่าขาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า เห็ดตีนแรด เห็ดตีนแฮด
ลักษณะทั่วไป เห็ดตีนแรดดอกเห็ดเป็นกลุ่ม โคนติดกันกลุ่มละ 3 – 15 ดอก ดอกเห็ดมีสีขาวหม่นหรือสีเหลืองนวล หมวกเห็ดรูปครึ่งวงกลมหรือรูป
กระทะคว่ำ ผิวเรียบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 25 เซนติเมตร ดอกอ่อนมีขอบม้วนงอเข้า ดอกแก่แบนลง ใต้หมวกมีครีบเป็นแผ่นสีขาวนวล ก้านยาว 6 – 15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางสูง 1 – 2.5 เซนติเมตร โคนโป่งเป็นกระเปาะใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 – 5 เซนติเมตร สีขาวนวล
สปอร์ ของเห็ด เป็นรูปไข่เกือบกลม ขนาด 7-8 x 6-7 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 15 )
แหล่งที่พบ เห็ดตีนแรดพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่าตามไร่ นา ป่าสงวนโคกใหญ่ชอบขึ้นตามโคนไม้ผุ หรือดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ ดอกเห็ดเป็นกลุ่ม โคนติดกันสังเกตได้ง่ายบริเวณที่เคยพบเห็ดชนิดนี้จะมีให้เห็นทุกปี เนื่องจากเห็ดได้ปล่อยสปอร์ไว้
ฤดูที่พบ เห็ดตีนแรดพบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดตีนแรดจัดเป็นเห็ดรับประทานได้ รสหวาน มีกลิ่น รส และความเหนียวไม่แพ้เห็ดโคนและเห็ดหล่ม เป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้านในอำเภอเนินสง่าและตามธรรมชาติยังช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน

เห็ดกระโดง

เห็ดกระโดง



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดกระโดงมีก้านดอกที่ยาวมากเหมือนเสากระโดงเรือจึงเรียกว่าเห็ดกระโดง หมวกเห็ดกว้างใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร ดอกตูมมีสีน้ำตาล อมแดง ดอกบานผิวสีน้ำตาลตามขอบหมวกจะแตกออกเป็นเกล็ด แล้วหลุดหายไปคงเหลือเกล็ดสีน้ำตาลปกคลุมอยู่หนาแน่นเฉพาะตรงกลางหมวกเห็ด เนื้อเยื่อภายในหมวกเห็ดเป็นสีขาวมีความหนาพอควร เวลาดอกเห็ดบานเต็มที่ขอบหมวกมักจะฉีกขาดง่าย ด้านล่างมีครีบหมวกสีขาวซึ่งด้านในไม่ยึดติดกับก้านดอก ครีบหมวกเปราะและแตกง่าย ก้านดอกยาวประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร หรือยาวเป็นประมาณ 2 เท่า ของความกว้างของหมวกเห็ด ผิวก้านดอกเป็นสีน้ำตาล ปลายด้านบนมีวงแหวนสีขาวและสีน้ำตาลอ่อนซ้อนติดกันอยู่ 2 ชั้น ซึ่งทำให้วงแหวนนี้มีขอบ 2 ชั้น สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ไม่ติดกับ ก้านดอก
สปอร์ สีขาวรูปไข่ ผิวเรียบ ขนาด 15-20 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 36 )
แหล่งที่พบ เห็ดกระโดง พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่าตามไร่ นา และป่าสงวนโคกใหญ่ชอบขึ้นในป่าบนพื้นดินที่มีหญ้าแห้งปกคลุม โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่แปลงเกษตรของโรงเรียนซึ่งมีเศษหญ้าแห้งกองอยู่
ฤดูที่พบ เห็ดกระโดง พบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดกระโดงเป็นเห็ดรับประทานได้ชนิดหนึ่ง ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 36 ) จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านอำเภอเนินสง่า ไม่มีการนำเห็ดกระโดงมารับประทาน ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายเศษใบไม้ หญ้าแห้ง ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดหัวกรวดร่มกระ

เห็ดหัวกรวดร่มกระ


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดหัวกรวดร่มกระหรือเห็ดตายเบื่อ ดอกเห็ดมีหมวกเห็ดกางออกเป็นรูปกระทะคว่ำ ผิวด้านบนสีน้ำตาล ซึ่งปริแตกออกเป็นเกล็ดใหญ่กระจายเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น จนเกือบกึ่งกลางดอก มองดูเหมือนกระ หมวกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 – 16 เซนติเมตร มีเนื้อในสีขาว ด้านล่างมีครีบสีขาว ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลอมเหลืองอ่อน ก้านดอกยาว 10 – 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 2 เซนติเมตร บนก้านดอกมีวงแหวนเป็นแผ่นหนา 2 ชั้น เคลื่อนที่ขึ้นลงได้ เนื้อในก้านสีขาว ภายในมีรูกลวงเล็ก ๆ
สปอร์ รูปวงรีสีขาวอมเหลือง ผิวเรียบ ผนังหนา 2 ชั้น ปลายด้านหนึ่งตัดเป็นเส้นตรงขนาด 10-12 x 6-8 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 37 )
แหล่งที่พบ เห็ดหัวกรวดร่มกระพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า เห็ดชนิดนี้เกิดเป็นดอกเดี่ยวบนพื้นดินที่มีใบไม้ หญ้าแห้งปกคลุมตามไร่ นา เป็นที่ดอนไม่มีน้ำขัง สังเกตได้ง่ายโดยดูรูปร่าง ของวงแหวนและไม่มีเกล็ดที่ก้านดอก
ฤดูที่พบ เห็ดหัวกรวดร่มกระพบได้ในฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดหัวกรวดร่มกระตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายเศษใบไม้หญ้าแห้ง ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน เป็นเห็ดที่รับประทานไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อนำไปรับประทานแล้วมีอาการแพ้เกิดอาการมึนเมาอาจถึงแก่ชีวิตได้ จึงไม่แนะนำให้รับประทาน

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดขมิ้นใหญ่

เห็ดขมิ้นใหญ่



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป ผิวหมวกเห็ดด้านบนเรียบสีเหลืองแก่อมส้ม ตรงกลาง หมวกเห็ดเว้าบุ๋มลึกลงไปเป็นแอ่งหรือกรวยตื้นบ้างลึกบ้าง เนื้อเยื่อใต้หมวกเห็ดลงไปมีสีเหลืองอ่อนและค่อนข้างบาง ผิวหมวกเห็ดด้านล่างสีอ่อนกว่าเล็กน้อย และเนื้อเรียบเช่นเดียวดับผิวด้านบนแต่มีสันตื้นห่าง ๆ โดยรอบ ทำหน้าที่คล้ายครีบหมวกเห็ด หมวกเห็ดมีความกว้างประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร สูงประมาณ 4 – 6 เซนติเมตร เนื้อหมวกเห็ดมีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายเห็ดหูหนูแต่ไม่เหนียวเท่า
สปอร์ ของเห็ดชนิดนี้มีรูปร่างกลมรี สีเหลืองอ่อนอมส้มขนาด 8-10 x 5-6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 80 )
แหล่งที่พบ เห็ดขมิ้นใหญ่พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า แหล่งที่พบมากป่าสงวนโคกใหญ่ เห็ดจะขึ้นบนพื้นดินในป่าที่มีใบไม้ตกหล่นปกคลุมสภาพชื้นมีแสงแดดร่ม รำไร และเกิดเป็นดอกเดี่ยว หรือเกิดอยู่รวมเป็นกลุ่มที่อาจจะชิดติดกันเป็นกลุ่มใหญ่โคนเชื่อมติดกันโรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่สวนป่ามะม่วงหิมพานต์เห็ดขึ้นบนพื้นดินที่มีใบของมะม่วงหิมพานต์ปกคลุมอย่างแน่นหนา และมีแสงแดดพอรำไร
ฤดูที่พบ เห็ดขมิ้นใหญ่พบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดขมิ้นใหญ่ความพิเศษของเห็ดชนิดนี้คือมีกลิ่นหอมและรับประทานได้ ตามธรรมชาติเห็ดขมิ้นใหญ่ช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เห็ดขมิ้นเล็ก

เห็ดขมิ้นเล็ก


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดขมิ้นเล็ก หมวกเห็ดมีสีเหลืองเข้ม เวลากางออกเต็ม ที่ตรงกลางจะเว้าลงไปเล็กน้อย ขอบหมวกเห็ดโค้งงอลงและมักเป็นหยักเป็นคลื่นผิว
ด้านบนเรียบ ดอกเห็ดมีความกว้างประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ผิวหมวกเห็ดด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่าด้านบน เป็นสันนูนและมีผนังเชื่อมติดกันบางแห่ง และยาวลงไปเชื่อมติดกับก้านดอก ก้านดอกมีสีเหลืองเข้ม ตรงกลางมีรูกลวงตลอดก้าน เนื้อเยื่อภายในก้านมีสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ 3 – 6 เซนติเมตร
สปอร์ รูปรี สีเหลืองนวล ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 6-11 x 4- 6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 78 )
แหล่งที่พบ เห็ดขมิ้นเล็กพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า แหล่งที่พบ มากป่าสงวนโคกใหญ่ เห็ดจะขึ้นบนพื้นดินที่มีอินทรีวัตถุจำนวนมากในป่าที่ชื้นมีแสงแดดร่ม รำไรและขึ้นเป็นกลุ่มหรือตามโคนต้นไม้ที่มีตอไม้เนื้ออ่อนผุเปื่อย โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่สวนป่ามะม่วงหิมพานต์เห็ดขึ้นบนพื้นดินและตอมะม่วงหิมพานต์ ที่ผุเปื่อย
ฤดูที่พบ เห็ดขมิ้นเล็กพบได้ในฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดขมิ้นเล็กเป็นเห็ดที่รับประทานได้ ทางภาคเหนือ นิยมรับประทาน ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 78 ) จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านอำเภอ
เนินสง่าไม่นิยมบริโภคเห็ดชนิดนี้ แต่จะบริโภคเห็ดมันปูซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน ( วงศ์ Cantharellaceae ) ตามธรรมชาติเห็ดขมิ้นเล็กช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เห็ดตาปุ๊

เห็ดตาปุ๊



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดตาปุ๊หรือเห็ดจาวมะพร้าว เป็นเห็ดขนาดใหญ่ ดอกอ่อนของเห็ดจาวมะพร้าวมีลักษณะเป็นก้อนกลมสีขาว ซึ่งขยายโตขึ้นเรื่อย ๆ ตรงโคนเป็นเหมือนก้านดอก ขนาดของดอกประมาณ 5 – 12 เซนติเมตร และสูงประมาณ 4 – 10 เซนติเมตร ผิวด้านบนของดอกเห็ดอ่อนเรียบ เมื่อโตขึ้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นผิวนูนขรุขระคล้ายผิวสมองคน และสีจะเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลอมชมพูจนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ระยะนี้ถ้าผ่าเนื้อเห็ดจะพบว่า ดอกเห็ดมีเนื้อภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งของดอกส่วนบนมีเนื้อละเอียดกว่าตอนล่าง ในระยะแรกจะมีสีขาวต่อไปจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวหม่นอมเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเขียวหม่น เมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่เนื้อเยื่ออีกครึ่งหนึ่งที่อยู่ตอนล่าง มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ซึ่งหยาบกว่าส่วนบนมีสีขาวเช่นกัน ทำหน้าที่เป็นฐานของดอกเห็ดหรือก้านดอกเห็ด เมื่อเวลาดอกเห็ดแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกต่างจากส่วนบน ระยะที่มีลักษณะเหี่ยวย่นคล้ายสมองคนนี้ ถ้าเอามือกดด้านบนของเห็ดจะรู้สึกอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นกว่าระยะเป็นก้อนกลม ดอกเห็ดเมื่อแก่เต็มที่ผิวด้านบนจะแตกออก สปอร์ที่อยู่ภายในจะฟุ้งกระจายออก มาคล้ายฝุ่นสีน้ำตาลอมเขียว
แหล่งที่พบ เห็ดตาปุ๊พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ตามสนามหญ้า ทุ่งนา ที่เป็นดินทรายมีอินทรีย์วัตถุบ้างเล็กน้อย น้ำไม่ท่วมขังและหน้าดินไม่เคยถูกไถ
มาก่อน บริเวณที่เคยพบเห็ดจะมีให้เห็นทุกปี ในโรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่สนามฟุตบอล
ฤดูที่พบ เห็ดตาปุ๊ออกดอกชุกชุมในฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ของทุกปีหลังจากมีฝนตกและอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดตาปุ๊เป็นเห็ดที่บริโภคได้รสชาติดี เนื้ออ่อนนุ่มชาวบ้าน นิยมบริโภคตามธรรมชาติเห็ดตาปุ๊ช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เห็ดลูกฝุ่น

เห็ดลูกฝุ่น



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดลูกฝุ่นหรือเห็ดกระปุกแป้ง เห็ดชนิดนี้มีขนาดไม่ ใหญ่นัก อยู่รวมกันเป็นกลุ่มกระจายกันอยู่บนสนามหญ้า ดอกเห็ดเมื่อยังอ่อนอยู่เป็นก้อนสีขาว แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาปนน้ำตาลอ่อนเมื่อเป็นดอกเห็ดแก่ผิวด้านบนจะมีตุ่มเล็ก ๆ หนาแน่นตรงกลางและกระจายห่างออกไป เห็ดลูกฝุ่นมีขนาด 2 – 3 เซนติเมตร และสูงจากพื้นดินประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร มีฐานรองรับเป็นโคนใหญ่ ซึ่งเรียวเล็ก กว่าตอนบนเล็กน้อย ผิวด้านบนนูนและแตกออกเป็นรู เพื่อให้ผงสีน้ำตาลอมเขียวหม่น ฟุ้งกระจายออกมาเมื่อเห็ดแก่ การฟุ้งกระจายของผงดังกล่าวนี้มองดูคล้ายควันไฟหรือ ควันบุหรี่ ผงสีน้ำตาลก็คือผงสปอร์ที่บรรจุอยู่ภายในดอกเห็ด
แหล่งที่พบ พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ตามไร่ นา อยู่รวมกันเป็นกลุ่มกระจายกันอยู่บนสนามหญ้าที่มีหญ้าสั้น ๆ ดินเป็นดินทรายมีอินทรีย์วัตถุบ้างเล็กน้อยและไม่มีน้ำขัง โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบได้บริเวณสนามฟุตบอล สวนป่าสะเดาของโรงเรียนซึ่งมีให้เห็นทุกปี
ฤดูที่พบ เห็ดลูกฝุ่นพบมากในฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม จะพบเห็ดชนิดนี้หลังจากฝนตกแล้วมีอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดลูกฝุ่นระยะที่เป็นเห็ดอ่อนซึ่งยังมีเนื้อในเป็นสีขาวอยู่ สามารถนำมารับประทานได้ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 102 ) จากการสำรวจในอำเภอเนินสง่าชาวบ้านไม่บริโภคเห็ดชนิดนี้เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นเห็ดพิษ ตามธรรมชาติเห็ดลูกฝุ่นช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดหูหนูบาง

เห็ดหูหนูบาง



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดหูหนูบางหรือเห็ดหูหนูเสวยเป็นเห็ดหูหนูชนิดที่บางที่สุด เป็นแผ่นวุ้นสีครีมอมชมพูหรือสีน้ำตาลอ่อนอมเหลืองแห้งแล้วบางใสโปร่งแสง ดอกเห็ดกว้าง 3 – 6 เซนติเมตร ยาว 5 – 6 เซนติเมตร หนา 0.5 มิลลิเมตร โคนจีบเล็กน้อยทำให้ดอกงอคล้ายหู ผิวด้านบนมีขนสั้นมาก กระจายบาง ๆ ผิวด้านล่างเรียบ
สปอร์ รูปไส้กรอกใส ไม่มีสี ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 12-14 x 4-5 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 114 )
แหล่งที่พบ พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ตามไร่ นา และป่าสงวนโคกใหญ่ชอบขึ้นกับไม้เนื้ออ่อนที่มีเปลือกหนาบนกิ่งที่ตายแล้ว เช่น สะเดา เสลา โมก ไม้ฟืนที่ชาวบ้านตัดมาจากต้นที่เคยมีเห็ดเมื่อนำมากองไว้ ฝนตกเปียกมีความชื้นจะมีเห็ดให้เห็น ในโรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบเห็ดหูหนูบางขึ้นกับต้นสะเดา ต้นโมก
ฤดูที่พบ เห็ดหูหนูบางพบได้ในฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กันยายน ช่วงที่มีมรสุมพายุฝนเข้าฝนตกติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดสภาพอากาศชื้นจะพบเห็ดหูหนูงอกขึ้นและโตอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 3 วัน เมื่อสภาพอากาศหมดความชื้นดอกเห็ดจะเหี่ยวและแห้งตาย เมื่อมีความชื้นสูงเห็ดจะงอกขึ้นมาใหม่
ประโยชน์ เห็ดหูหนูบางเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เห็ดชนิดนี้สังเกตได้ง่ายเป็นแผ่นวุ้นสีครีมอมชมพู จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านอำเภอเนินสง่า ยังไม่นิยมบริโภคเนื่องจากเห็ดที่พบมีปริมาณไม่มาก เห็ดหูหนูบางยังช่วยย่อยสลายกิ่งไม้ ต้นไม้ที่ตายแล้วให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน