วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2550

โครงงานการศึกษาเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดจาก มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง


ดอกเห็ดตีนแรดที่นำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ




มันเห็บ มันเลือด มันเทศ มันสำปะหลัง





น้ำอาหารวุ้นจากมันชนิดต่าง ๆ


กรอกอาหารวุ้นลงขวด



อาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ผ่านการฆ่าเชื้อ 121 องศาเซลเซียส 30 นาที





เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในสภาพปลอดเชื้อ






การเจริญของเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นชนิดต่าง ๆ เมื่ออายุ 2 วัน







การเจริญของเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นชนิดต่าง ๆ เมื่ออายุ 14 วัน




โครงงานเกษตรกรรมประเภทศึกษาค้นคว้าทดลอง
ชื่อโครงงาน การศึกษาเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดจาก มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง

ชื่อผู้ทำโครงงาน

1. นางสาวจิรวรรณ ทองสุขนอก
2. นางสาวสุปราณี เอกบัว
3. นางสาวประภาภรณ์ เที่ยงกินรี
4. นายทศพร ดาผง

ครูที่ปรึกษาโครงงาน นายอนันท์ กล้ารอด

ความสำคัญของโครงงาน
เห็ดตีนแรดเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ พบในฤดูฝนปีละ 1 ครั้งเท่านั้นมีดอกขนาดใหญ่ รสชาติอร่อยเป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อต้องการขยายพันธุ์จึงจำเป็นต้องเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ไว้ในอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อต้องการเพิ่มปริมาณก็นำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ไปเลี้ยงต่อในเมล็ดข้าวฟ่างและนำหัวเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่างไปเลี้ยงในวัสดุเพาะเพื่อให้เกิดดอกเห็ด ซึ่งจะทำให้เพาะเห็ดได้ตลอดปี
ในการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ของเห็ดตีนแรด จำเป็นต้องศึกษาให้ทราบว่าเชื้อเห็ดตีนแรดเจริญเติบโตได้ดีในอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีวัสดุใดเป็นส่วนผสม เนื่องจาก เห็ดเป็นราขนาดใหญ่ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงเองได้แบบพืชที่มีสีเขียว โดยทั่วไปอาหารที่เห็ดได้จากซากพืชก็คือ น้ำตาลในรูปของน้ำตาลกลูโคส เซลลูโลส แป้ง อาหารจะถูกดูดซึมเข้าทางผนังเซลล์ นอกจากน้ำตาลแล้วก็มีโปรตีนและแร่ธาตุอื่น ๆ

จุดประสงค์
1. ศึกษาสูตรอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดชนิดต่างๆ
2. ทดลองทำสูตรอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เห็ดโดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมได้แก่ มันสำปะหลัง มันเลือด มันเทศ แทนมันฝรั่งซึ่งไม่มีในท้องถิ่น
3. เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นที่ใช้วัสดุ มันสำปะหลัง มันเลือด มันเทศ เปรียบเทียบกับสูตรที่มีมันฝรั่ง เป็นส่วนผสม

ข้อมูลทางวิชาการ
1. ศึกษาข้อมูลการเตรียมอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ด จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้ วัสดุที่ใช้ในการผลิตเชื้อเห็ด เห็ดเป็นราขนาดใหญ่ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงเองได้แบบพืชที่มี สีเขียว โดยทั่วไปอาหารที่เห็ดได้จากซากพืชก็คือ น้ำตาลในรูปของน้ำตาลกลูโคส เซลลูโลส แป้ง อาหารจะถูกดูดซึมเข้าทางผนังเซลล์ นอกจากน้ำตาลแล้วก็มีโปรตีนและแร่ธาตุอื่น ๆ อีกในการเตรียมอาหารเลี้ยง เชื้อบริสุทธิ์ นั้นจำเป็นต้องผสมวุ้นลงไปด้วยเพื่อทำหน้าที่พยุงเส้นใยให้เจริญบนผิวและให้ความชื้นในระหว่างการเจริญเติบโต วัสดุที่ใช้ในการผลิตเชื้อเห็ดมีดังนี้
มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรืออาจใช้มันชนิดอื่นก็ได้ เช่น มันเลือด มันเห็บ ผลการทดลองการแบ่งเซลล์ของเชื้อเห็ดใกล้เคียงมันฝรั่ง ( อนันท์ กล้ารอด และคณะ 2544 )
น้ำตาลกลูโคส หรือเดกซ์โทรส
ผงวุ้น
น้ำกลั่น หรือน้ำฝน
ดอกเห็ดที่สมบูรณ์สะอาด คุณภาพดี ดอกเห็ดควรเป็นดอกอ่อนยังไม่มีการปล่อยสปอร์

วิธีการเตรียมอาหารวุ้น PDA.

การเตรียมอาหารวุ้น PDA สูตรอาหารที่ใช้กันมากคือ อาหารวุ้น PDA (Potato Dextrose Agar PDA) ซึ่งสามารถเตรียมได้ง่ายและมีราคาถูก มีส่วนผสมดังนี้
มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 200 กรัม
น้ำตาลกลูโคสหรือเดกซ์โทรส 20 กรัม
วุ้นผง 15 – 20 กรัม
น้ำกลั่นหรือน้ำฝน 1,000 กรัม
สำหรับมันฝรั่งอาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทนได้ เช่น เมล็ดข้าว ผักต่างๆ ถั่วฝักยาว น้ำต้มผัก ข้อสำคัญส่วนผสมที่นำมาใช้เมื่อเวลาต้มไฟอ่อนๆ แล้วจะไม่ขุ่นหรือเปื่อยเละไปก่อน
1. มันฝรั่งปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็กขนาด 1 X 1 X 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ชั่งให้ได้น้ำหนัก 200 กรัม
2. นำมันฝรั่งไปต้มไฟอ่อน ๆ กับน้ำที่ตวงไว้ 1,000 ซีซี. ( 1 ลิตร ) เป็นเวลา 20 นาที อย่าใช้ไฟแรงจะทำให้น้ำต้มมันฝรั่งขุ่น
3. กรองเอาแต่น้ำใสมาใส่วุ้นผงที่ชั่งไว้ 15 กรัม ตั้งไฟอ่อน ๆ คอยคนอยู่เรื่อย ๆ จนวุ้นละลายใช้เวลาประมาณ 20 นาที แล้วแต่ชนิดของวุ้นที่ละลายเร็ว หรือละลายช้า ในการละลายวุ้นระวังอย่าให้ไหม้หรือวุ้นเดือดออกนอกหม้อ
4. ใส่น้ำตาลกลูโคสที่ชั่งไว้ 20 กรัม คนให้น้ำตาลละลาย ยกลงจากไฟ
5. ใช้กระบอกตวงดูถ้าปริมาณไม่ถึง 1 ลิตร ให้เติมน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นลงไปจนครบ 1 ลิตร แล้วคนให้ทั่ว อาหารที่ผสมแล้วควรจะวัดค่าความเป็นกรดด่างของอาหาร เพื่อให้อาหารวุ้นมีค่า pH ประมาณ 5 – 6 ก่อนที่จะนำไปบรรจุหลอดแก้วทดลองหรือขวดแบน
6. กรอกวุ้นที่ได้ใส่หลอดหรือใส่ขวด อย่าให้วุ้นเปื้อนปากหลอดหรือปากขวดเอาสำลีอุดจุกแล้วเอากระดาษหุ้มมัดยางให้แน่น
7. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใช้เวลา 20 นาที
8. เสร็จแล้วนำออกมาทิ้งไว้ประมาณว่าวุ้นเกือบแข็งตัว ก็นำหลอดหรือขวดมาเอียงเพื่อเพิ่มเนื้อที่ผิวอย่าเอียงเร็วเกินไปเพาะจะทำให้มีหยดน้ำเกาะที่ผิววุ้นและข้างหลอดหรือข้างขวดมากเกินไป

2. ศึกษาข้อมูลการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ในอาหารวุ้น จากใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด ครูผู้สอนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด ข้อมูลที่ได้
ความหมายของการแยกเชื้อเห็ด

การแยกเชื้อเห็ดคือ การนำเอาดอกเห็ดหรือสปอร์มาเพาะให้เห็ดเจริญขึ้นเป็นเส้นใยเพื่อใช้ขยายพันธุ์ไปทำหัวเชื้อต่อไป งานในขั้นนี้จะเลี้ยงเส้นใยเห็ดบนวุ้น PDA. การแยกเชื้อเห็ดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากสปอร์ วิธีนี้นิยมทำกันเฉพาะนักวิชาการที่ต้องการศึกษาสายพันธุ์เห็ด
และการผสมพันธุ์ โดยการแยกสปอร์เดี่ยวบนอาหารวุ้น โดยเฉพาะเห็ดที่มีดอกบาง เช่น เห็ดหูหนู ไม่นิยมทำกันในระดับฟาร์มหรือเกษตรกร
2. การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อ ซึ่งทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อเยื่อในลำต้นเห็ดมาเลี้ยงบน อาหารวุ้น เรียกว่า วิธี “ทิชชูคัลเจอร์” ใช้กับเห็ดดอกขนาดใหญ่ และสามารถตัดเนื้อเยื่อมาเลี้ยงได้ง่ายเหมาะกับเห็ดนางรม - เห็ดนางฟ้า เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากและได้ผลตรงตามพันธุ์เดิมทุกประการ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแยกเชื้อเห็ด

1. เข็มเขี่ยเชื้อ ทำด้วยโลหะผสม ซึ่งมีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว เย็นเร็ว ด้ามทำด้วยอลูมิเนียม เวลาใช้ต้องฆ่าเชื้อเสียก่อน โดยการลนไฟที่ปลายลวดเข็มเขี่ยเชื้อจนร้อนแดง แล้วทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำไปตัดเนื้อเยื่อจากดอกเห็ด
2. ตะเกียงแอลกอฮอล์ ใช้สำหรับลนไฟฆ่าเชื้อเข็มเขี่ยและเครื่องมือในการปฏิบัติงานให้สะอาดโดยใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ เพราะร้อนเร็วไม่มีควัน
3. ตู้เขี่ยเชื้อ เป็นตู้ที่สร้างขึ้นมาสำหรับงานด้านนี้โดยเฉพาะลักษณะของตู้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบ ด้านหน้าตัดเป็นรูปคางหมูและติดกระจกให้สามารถมองเห็นสิ่งของและปฏิบัติงานภายในได้ มีช่องตรงกลางทำเป็นประตูเปิดปิดสำหรับยกขวดเชื้อเข้าออก ด้านข้างของประตูทั้งสองเจาะรูสำหรับใช้มือล้วงเข้าไปปฏิบัติงานในตู้ได้ โดยมีผ้าทำเป็นปลอกสำหรับหุ้มมือ ป้องกันลมภายนอกพัดเข้ามาภายใน
เวลาใช้ก็ยกสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าไปไว้ภายในแล้วปิดช่องเสียไม่ให้ลมพัดเข้าไป แต่ด้านบนของตู้ควรมีช่องให้อากาศหรือลมร้อนระบายออกได้เล็กน้อย ก่อนใช้งานจะต้องเช็ดตู้ฆ่าเชื้อภายในให้ทั่วด้วยแอลกอฮอล์เสียก่อน บางทีอาจใช้หลอดไฟอุลตร้าไวโอเล็ตมาติดภายในตู้เวลาไม่ได้ใช้งาน ก็เป็นการฆ่าเชื้อในตู้นี้ได้อีกมาก แต่ไม่ค่อยนิยมในระดับฟาร์มเห็ดทั่วไปนักเพราะอาจมีอันตรายได้
การเพาะเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อภายในก้านดอก
วิธีนี้เหมาะสำหรับเห็ดที่มีก้านใหญ่ และเห็ดที่ไม่มีเปลือกหุ้มดอกอ่อน เช่น เห็ดตับเต่าขาว เห็ดตีนแรด ซึ่งเป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่มาก เห็ดบางชนิดมีก้านดอกใหญ่ก็จริง แต่ภายในก้านดอกจะมีแมลงเข้าไปเจาะไชกินจนพรุนก็ไม่ควรใช้วิธีนี้ เห็ดฟางเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการนี้ก็ได้ผลดีและนิยมทำกันมาก วิธีทำเมื่อคัดเลือกดอกเห็ดตามลักษณะที่ต้องการแล้ว วางในจานแก้ว ใช้มีดที่ฆ่าเชื้อแล้วผ่าเห็ดเป็น 2 ส่วน ใช้ เข็มเขี่ยเชื้อที่ฆ่าเชื้อแล้วกรีดเนื้อเห็ดตรงกลางก้านดอก เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตักขึ้นถ่ายใส่จานอาหารหรือ ขวดอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อ ข้อควรระวังคือความสะอาด ทุกครั้งต้องใช้เข็มเขี่ยเชื้อที่บริสุทธิ์จริง ๆ


วิธีดำเนินการ
1. ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียนการผลิตเชื้อเห็ด หนังสือการเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2 ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
3. จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
4. จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่น วัสดุอุปกรณ์เตรียมอาหารวุ้น PDA. วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด
5. กำหนดแผนการปฏิบัติงาน
6. ปฏิบัติงานตามขั้นตอน
7. ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน


แผนปฏิบัติงาน


1.ศึกษาข้อมูลจาก ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียน หนังสือเพาะเห็ด ครูที่ปรึกษา
2.ศึกษาวิธีการเขียนโครงงาน
3.จัดทำโครงงานเสนอครูที่ปรึกษา
4.จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่นวัสดุ อุปกรณ์ การเตรียมอาหารวุ้น PDA. วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด
5.กำหนดแผนการปฏิบัติงานและปฏิบัติงานตามขั้นตอน
6.ประเมินผลและเขียนรายงานโครงงาน


ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เรื่องการเตรียมอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดและการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์
2. ได้อาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดที่ใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น
3. ได้อาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดตีนแรด
4. ได้รับความชื่นชมจากครูและผู้ปกครอง

เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.

ความเห็นของครูที่ปรึกษา
เป็นโครงงานที่น่าสนใจ นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรร ในการปฏิบัติงานกลุ่มให้มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เมื่อมีปัญหาให้ปรึกษาครู


รายงานโครงงาน เกษตรกรรม
ชื่อโครงงาน การศึกษาเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดจาก มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง

ชื่อผู้ทำโครงงาน

1. นางสาวจิรวรรณ ทองสุขนอก
2. นางสาวสุปราณี เอกบัว
3. นางสาวประภาภรณ์ เที่ยงกินรี
4. นายทศพร ดาผง

ครูที่ปรึกษา นายอนันท์ กล้ารอด

บทคัดย่อ
จุดมุ่งหมายของการทำโครงงานการศึกษาเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดจาก มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง มี 3 ประการคือ
1. ศึกษาสูตรอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดชนิดต่างๆ
2. ทดลองทำสูตรอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เห็ดโดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมได้แก่ มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง แทนมันฝรั่งซึ่งไม่มีในท้องถิ่น
3. เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นที่ใช้วัสดุ มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง เปรียบเทียบกับสูตรที่มีมันฝรั่ง เป็นส่วนผสม
จากการศึกษา ใบความรู้ เอกสารประกอบการเรียน หนังสือเพาะเห็ดปรึกษาครูผู้สอน พบว่า สูตรอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ ที่ใช้กับเห็ดทั่วๆ ไปประกอบด้วย
มันฝรั่ง 200 กรัม
น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม
ผงวุ้น 15 กรัม
น้ำสะอาด 1 ลิตร
ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำสูตรอาหารวุ้น 4 สูตรด้วยกัน โดยสูตรที่ 1 ใช้มันฝรั่งตามปกติ ส่วนสูตรที่ 2 – 4 ใช้มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัสดุที่มีในท้องถิ่นแทนมันฝรั่ง ในอัตราส่วนเท่ากัน ทำการทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดในสูตรอาหารที่ 1 – 4 เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดตีนแรดในสูตรอาหารต่าง ๆ จากผลการทดลองพบว่าเชื้อเห็ดตีนแรดเจริญเติบโตได้ดีในสูตรอาหารที่ใช้ มันเลือด มันเทศ มันฝรั่งและ มันสำปะหลังตามลำดับ



วิธีการดำเนินงาน

1. การเตรียมอาหารวุ้นสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรด
สูตรที่ 1
- มันฝรั่ง 200 กรัม
- น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม
- ผงวุ้น 15 กรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร
สูตรที่ 2
-มันเทศ 200 กรัม
-นำตาลกลูโคส 20 กรัม
-ผงวุ้น 15 กรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร
สูตรที่ 3
- มันเลือด 200 กรัม
- น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม
- ผงวุ้น 15 กรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร
สูตรที่ 4
-มันสำปะหลัง 200 กรัม
-นำตาลกลูโคส 20 กรัม
-ผงวุ้น 15 กรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร

เครื่องมือและอุปกรณ์
1. มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง น้ำตาลกลูโคส ผงวุ้น น้ำ ขวดแบน สำลี กระดาษ ยางรัด มีด หม้อ ทับพี เตาแกส ถังแกส หม้อนึ่งความดัน

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมได้แก่ มันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง น้ำตาลกลูโคส ผงวุ้น น้ำ ขวดแบน สำลี กระดาษ ยางรัด มีด หม้อ ทับพี เตาแกส ถังแกส หม้อนึ่งความดัน
2. ปอกเปลือกมันฝรั่ง มันเทศ มันเลือด มันสำปะหลัง แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาด 1 ลบ. เซนติเมตร จำนวน 200 กรัม
3. นำไปต้มไฟอ่อน ๆ กับน้ำ 1 ลิตร เวลา 20 นาที
4. กรองเอาแต่น้ำใสมาใส่ผงวุ้น 15 กรัม ที่ชั่งไว้ตั้งไฟอ่อน ๆ คนให้ทั่วจนวุ้นละลายใช้เวลา 20 นาที ใส่น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม คนให้ละลายเข้ากันตวงปริมาณดูถ้าไม่ครบ 1 ลิตร ให้เติมน้ำร้อนจนครบ 1 ลิตร คนให้เข้ากัน
5. นำอาหารวุ้นที่ได้บรรจุลงในขวดแบน ¼ ของขวดปิดปากขวดด้วยสำลีกระดาษปิดทับยางรัดอีกครั้ง ให้ได้สูตรละ 5 ขวด
6. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดันให้ได้ 15 ปอนด์ / ตร.นิ้ว เป็นเวลา 20 นาที
7. เมื่อครบกำหนดเวลาให้นำขวดอาหารวุ้นออกจากหม้อนึ่งความดันวางลงบนพื้นที่เอียงเพื่อทำให้ปริมาณ ผิวหน้าวุ้นมากขึ้นปล่อยไว้ให้เย็นแข็งตัว เพื่อนำไปใช้งานต่อไป


2. การเพาะเลี้ยงเยื้อเห็ดตีนแรดในสูตรอาหารวุ้นต่างๆ

เครื่องมือและอุปกรณ์
1. ดอกเห็ดตีนแรด ที่สมบูรณ์ สะอาดและใหม่ ยังไม่ปล่อยสปอร์ ขวดอาหารวุ้น สูตรต่างๆ สูตรละ 5 ขวด
2. ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี

ขั้นตอนและการปฏิบัติงาน
1. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ให้พร้อมใช้งาน ได้แก่ ดอกเห็ดตีนแรด ที่สมบูรณ์ ยังไม่มีการปล่อยสปอร์ ดอกสะอาดและใหม่ ตู้เขี่ยเชื้อ เข็มเขี่ยเชื้อ มีดผ่าตัด ตะเกียงแอลกอฮอร์ แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อ สำลี ขวดอาหารวุ้น สูตรต่างๆ สูตรละ 5 ขวด
2. ทำการฆ่าเชื้อภายในตู้เขี่ยเชื้อโดยใช้แอลกอฮอร์ชุบสำลีเช็ดให้ทั่ว ฆ่าเชื้อวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดแล้วนำเข้า ตู้เขี่ยเชื้อ ทำความสะอาดมือแล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอร์
3. เอาเข็มเขี่ยเชื้อ มีดผ่าตัด ลนไฟให้แดงแล้วปล่อยให้เย็น ใช้มีดผ่าตัดผ่า ดอกเห็ด ก้านดอกเห็ดแยกออก เป็น 2 ซีก ต้องระวังไม่ให้สัมผัส ส่วนของกลางดอก ก้านดอก ที่ผ่าออก
4. บริเวณเนื้อเยื่อก้านดอกที่เพิ่งออกใหม่ๆ ใช้เข็มเขี่ยตัดเนื้อเยื่อดอกเห็ดตรงบริเวณก้านดอกซึ่งเป็นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดออกเป็นชิ้นเล็กๆ
5. เมื่อได้เนื้อเยื่อแล้ว จับขวดอาหารวุ้นให้ก้นขวดอยู่ในอุ้งมือ จากนั้นใช้นิ้วก้อยกับฝ่ามือที่จับเข็มเขี่ยเชื้อจับเอาจุกสำลีที่ปากขวดดึงออก นำปากขวดลนไฟตะเกียงแอลกอฮอร์
6. ใช้เข็มเขี่ยเชื้อที่ผ่านการฆ่าเชื้อโดยลนไฟให้แดงแล้วปล่อยให้เย็น นำเนื้อเยื่อเห็ด ผ่านเปลวไฟอย่างรวดเร็วไปวางตรงกลางบนอาหารวุ้น ภายในขวด ลนไฟปากขวดอีกครั้งนำจุกสำลีปิดปากขวด จากนั้นนำขวดเชื้อเห็ดเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติภายใน 14 วัน เส้นใยจะเดินเต็มผิวหน้าอาหารวุ้น
7. เพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทธิ์เห็ดตีนแรด บนอาหารวุ้น ชนิดละ 5 ขวด พร้อมบันทึก การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเห็ดบนอาหารวุ้น 14 วัน


ผลการศึกษา
จากการทดลองศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดตีนแรดในอาหารวุ้นทั้ง 4 สูตร ในระยะเวลา 13 วัน พบว่า สูตรที่ 1 เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นวงกลมได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.75 ซ.ม. สูตรที่ 2 เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นวงกลมได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.88 ซ.ม. สูตรที่ 3 เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นวงกลมได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.33 ซ.ม. สูตรที่ 4 เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเป็นวงกลมได้เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.10 ซ.ม. ลักษณะของเส้นใยเห็ดตีนแรด สูตรที่ 1 – 3 มีสีขาว และฟูแข็งแรง สูตรที่ 4 เส้นใยมีสีขาวไม่ค่อยฟูมีลักษณะไม่แข็งแรง

สรุปและข้อเสนอแนะ
1. การศึกษาสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดตีนแรดทั้ง 4 สูตร ทำให้เราทราบว่าสูตรที่มีมันเลือดเป็นส่วนผสมเชื้อเห็ดตีนแรดเจริญเติบโตได้ดีที่สุด รองลงมาเป็นสูตรที่มี มันเทศ มันฝรั่ง เป็นส่วนผสมตามลำดับ ส่วนสูตรที่มีมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดตีนแรด
2. ในการทำอาหารวุ้นเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดตีนแรด เราสามารถใช้มันเลือด มันเทศ แทนมันฝรั่งในสูตรอาหาร ได้ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีในท้องถิ่น ส่วนมันฝรั่งต้องซื้อในตัวเมืองถึงมีขาย
3. เชื้อเห็ดตีนแรดบริสุทธิ์ที่ได้ สามารถเก็บไว้ได้นาน 3 ปี โดยเก็บไว้ในตู้เย็นเมื่อเราต้องการเพาะให้เกิดดอก ก็นำมาเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่างทำเป็นหัวเชื้อเห็ด จากนั้นนำมาเลี้ยงในวัสดุเพาะเพื่อให้เกิดดอกเห็ดต่อไป การเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดทุกขั้นตอนต้องสะอาดและปลอดเชื้อ

เอกสารอ้างอิง
อนันท์ กล้ารอด. เอกสารประกอบการเรียนวิชาการผลิตเชื้อเห็ด. ชัยภูมิ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา. , 2546.
อนงค์ จันทร์ศรีกุล. เห็ดเมืองไทยเทคโนโลยีการเพาะเห็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2542
บรรณ บูรณชนบท. การเพาะเห็ดนางรม – นางฟ้า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม. , 2541.
จุลจักร โนพันธ์. โครงงานเกษตรกรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. , 2540.

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

เห็ดจิก

เห็ดจิก



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดจิกหรือเห็ดตีนตุ๊กแก ขึ้นเป็นแผ่นบาง ๆ แผ่กาง ออกคล้ายพัด บางดอกเจริญมาเชื่อมติดกันเป็นแถบยาว ผิวดอกเห็ดด้านบนเป็นขนละเอียดมีสีน้ำตาลอ่อน และมีคลื่นเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ผิวด้านนี้ควรเป็นผิวด้านล่างของเห็ดทั่วไป แต่เนื่องจากเห็ดชนิดนี้หงายเอาด้านล่างขึ้น ผิดกับเห็ดอื่น ๆ ด้านล่างซึ่งเป็นส่วนด้านบนของเห็ดชนิดนี้ จึงมีผิวเรียบสีน้ำตาลอมม่วงอ่อน ลักษณะของเห็ดเมื่อแห้งแล้วเหมือนแผ่นหนังแห้งบาง ๆ หรือเหมือนแผ่นกระดาษ ขนาดดอกเห็ดใหญ่ประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร เนื้อเห็ดมีสีน้ำตาลหม่น
สปอร์ รูปรีผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 4.5-5 x 2.5-3 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 81 )
แหล่งที่พบ เห็ดจิกเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่ขึ้นบนต้นจิกและต้นกระโดน เห็ดจิกมีชื่อเรียก อีกชื่อหนึ่งว่า เห็ดตีนตุ๊กแก แต่เห็ดชนิดนี้แตกต่างจากเห็ดตีนตุ๊กแกหรือเห็ดแครงมาก และอยู่ต่างตระกูลด้วย ในอำเภอเนินสง่าพบได้บริเวณที่มี ไม้เต็ง รัง ป่าสงวนโคกใหญ่โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่สวนป่ามะม่วงหิมพานต์ขึ้นกับขอนมะม่วงหิมพานต์
ฤดูที่พบ เห็ดจิกพบในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบ ในช่วงที่มีความชื้นสูงหลังฝนตกอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับขอนไม้ให้เห็นแต่หลังจากนั้นจะถูกแมลงพวกมอดทำลาย
ประโยชน์ เห็ดจิกใช้เป็นยาสมุนไพรกลางบ้าน ทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือนิยมใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ โดยเฉพาะพยาธิตัวแบน เห็ดชนิดนี้มีสาร Polyporic acid ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยาถ่ายพยาธิได้ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 81 ) ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายท่อนไม้ ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดหนังขนอ่อน

เห็ดหนังขนอ่อน




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดหนังขนอ่อนดอกเห็ดไม่มีก้านดอก หมวกเห็ด เจริญออกมาเป็นรูปครึ่งวงกลมจากขอนไม้ และขึ้นซ้อนกันมีลักษณะคล้ายชายคาบ้านหลายชายคาพร้อมกัน เนื้อเห็ดสดเหนียวคล้ายหนังสด เวลาแห้งแล้วเป็นก้อนแข็งเล็กน้อย ผิวด้านบนเป็นสีขาวหรือสีเหลืองหม่นและมีขนละเอียดขึ้นปกคลุมบาง ๆ โดยเฉพาะแถวบริเวณฐานดอกจะมีขนหยาบกว่าส่วนอื่น ผิวหมวกด้านบนไม่เรียบ มองเห็นมีลายวงกลมซ้อนกันหลายชั้น แต่ไม่ชัดเจนเหมือนเห็ดอื่น ๆ เนื้อหมวกเห็ดมีสีขาวหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร ขอบหมวกบางกว่าเล็กน้อย ด้านล่างสุดเป็นชั้นของรูเห็ดซึ่งเรียงเป็นแถวเดี่ยวและมีสีขาว มีลักษณะเป็นเหลี่ยม
สปอร์ เป็นรูปทรงกระบอก ผิวเรียบ ผนังบางใส และไม่มีสี ขนาด 5-8 x 2 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 83 )
แหล่งที่พบ เห็ดหนังขนอ่อนเป็นเห็ดขอนอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งชอบขึ้นบนขอนไม้ผุและเกิดอยู่รวมเป็นกลุ่มและเป็นชั้นซ้อนกัน ดอกเห็ดเจริญเชื่อมติดกันยาวหลายเซนติเมตร ในอำเภอเนินสง่าพบได้ทั่วไปในป่าตามไร่ นา และบริเวณป่าสงวนโคกใหญ่
ฤดูที่พบ เห็ดหนังขนอ่อนพบในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงฝนตกอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับขอนไม้ให้เห็น แต่หลังจากนั้นจะถูกแมลงพวกมอดทำลาย
ประโยชน์ เห็ดหนังขนอ่อนเป็นเห็ดขอนชนิดหนึ่งที่รับประทานไม่ได้ ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายท่อนไม้ ตอไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดหนังขนอุย

เห็ดหนังขนอุย









ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดหนังขนอุยเห็ดชนิดนี้ไม่มีก้านดอก รูปร่างคล้ายพัดงอกออกมาจากขอนไม้ เนื้อเห็ดสดมีลักษณะเหนียวคล้ายแผ่นหนังสัตว์ซึ่งแห้งแล้ว
จะแข็งขึ้น ผิวด้านบนมีสีเทา สีเหลือง และสีน้ำตาลสลับเป็นวงกลมซ้อนกันอยู่หลายชั้นและมีขนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุมด้วย กลางดอกมีสีดำกว่าส่วนอื่น ๆ เนื้อเยื่อหมวกเห็ดที่อยู่ใต้ผิวชั้นนี้มีสีขาวและหนาประมาณ 1 – 5 มิลลิเมตร ขอบบางกว่า หมวกเห็ดงอขึ้นเล็กน้อย ถัดลงไปเป็นชั้นของรูซึ่งมีสีขาวหม่น ปากรูค่อนข้างกลม
สปอร์ ของเห็ดชนิดนี้เป็นรูปเห็ดทรงกระบอก ผิวเรียบ ผนังหนา และ ใสไม่มีสี ขนาด 4-7 x 2 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 83 )
แหล่งที่พบ เห็ดหนังขนอุยเป็นเห็ดหิ้งชนิดหนึ่ง เห็ดชนิดนี้ชอบ ขึ้นบนขอนไม้ผุจำพวกไม้ผลัดใบและพบขึ้นอยู่ทั่วไป ในอำเภอเนินสง่าพบได้ในป่าตามไร่ นา และบริเวณป่าสงวนโคกใหญ่
ฤดูที่พบ เห็ดหนังขนอุยพบในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับขอนไม้ให้เห็นแต่หลังจากนั้นจะถูกแมลงพวกมอดทำลาย
ประโยชน์ เห็ดหนังขนอุยเป็นเห็ดหิ้งชนิดหนึ่งที่รับประทานไม่ได้ ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายท่อนไม้ ตอไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดกระด้างสีขาว

เห็ดกระด้างสีขาว










ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดกระด้างมีสีขาวผิวด้านบนเรียบ ขอบหมวกมีรอยวง กลมซ้อนกัน 2 – 3 วง ดอกเห็ดไม่มีก้านดอกเหมือนเห็ดทั่วไป ลักษณะของดอกเห็ดเจริญเป็นแผ่นแผ่ออกไปคล้ายรูปพัดกางหรือรูปครึ่งวงกลมติดอยู่ข้าง ๆ ขอนไม้ ด้านล่างของหมวกเห็ดมีลักษณะแตกต่างจากด้านบนซึ่งมีลักษณะเป็นครีบหมวก หรือเป็นรูยาวคดเคี้ยวหรือมีครีบหมวกเชื่อมติดกันเป็นแห่ง ๆ เมื่อดอกเห็ดออกใหม่ ๆ มีลักษณะเนื้อเยื่อค่อนข้างแข็งและเหนียวกว่าเห็ดทั่วไป เนื้อเยื่อมีสีขาว สีนวลหรือสีน้ำตาลอ่อน ครีบหมวกมีความหนาพอสมควร เมื่อดอกเห็ดแก่หรือแห้งขอบของครีบหมวก มักแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อน
สปอร์ มีรูปร่างทรงกระบอก ผิวเรียบ ผนังบาง ใสไม่มีสี ขนาด 2 x 7.9 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 93 )
แหล่งที่พบ เห็ดกระด้างสีขาวเป็นเห็ดขอนชนิดหนึ่ง เห็ดชนิดนี้มักขึ้นตามขอนไม้ที่ตัดทิ้งไว้โดยเฉพาะขอนไม้เนื้อแข็ง ในอำเภอเนินสง่า พบได้ทั่วไปในป่าตามไร่ นา และบริเวณป่าสงวนโคกใหญ่
ฤดูที่พบ เห็ดกระด้างสีขาวพบในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับ
กิ่งไม้ ขอนไม้ให้เห็นแต่หลังจากนั้นจะถูกแมลงทำลาย
ประโยชน์ เห็ดกระด้างสีขาวเป็นเห็ดขอนชนิดหนึ่งที่ไม่นำมารับ ประทานกัน ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายท่อนไม้ กิ่งไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน
เห็ดหลุบเหลือง




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดหลุบเหลืองเป็นเห็ดประเภทที่ไม่มีก้านดอก และมักขึ้นฉาบหรือนาบเป็นแผ่นบางติดกับขอนไม้ผุ โดยมีผิวดอกเห็ดด้านบนติดอยู่กับเนื้อไม้หงายเอาด้านล่าง ซึ่งมีสีเหลืองขึ้น สังเกตได้ง่ายเพราะมีลักษณะเป็นรู รูบางส่วนเอนลู่ไปรวมกันเป็นกลุ่ม ทำให้ปากรูไม่เป็นวงกลมและมีความยาวของปากรูไม่เท่ากันคล้ายซี่ฟัน ผิวด้านนี้จึงขรุขระเหนียวและนูนเป็นแห่ง ๆ สปอร์ของเห็ดเกิดในรูดังกล่าว เห็ดหลุบเหลืองมีสีขอบขาวโดยรอบ และบางแห่งมีเส้นใยขึ้นเป็นกลุ่มก้อนสีขาวคล้ายก้อนสำลีบนส่วนนี้ด้วย
สปอร์ รูปรีเกือบกลม ผิวเรียบ ผนังบางใส ไม่มีสี ขนาด 4-5 x 2-3 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 94 )
แหล่งที่พบ เห็ดหลุบเหลืองในอำเภอเนินสง่า พบได้ทั่วไปมักขึ้น ฉาบหรือนาบเป็นแผ่นบางติดกับขอนไม้ผุ ไม้เนื้ออ่อนในป่าตามไร่ นา และบริเวณป่าสงวนโคกใหญ่
ฤดูที่พบ เห็ดหลุบเหลืองพบในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับกิ่งไม้ให้เห็นแต่หลังจากนั้นจะถูกแมลงพวกมอดทำลาย
ประโยชน์ เห็ดหลุบเหลืองจัดเป็นเห็ดที่รับประทานไม่ได้ ตาม ธรรมชาติช่วยย่อยสลายท่อนไม้ กิ่งไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550

เห็ดกระด้าง

เห็ดกระด้าง





ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดกระด้างเป็นเห็ดขอนไม้ชนิดหนึ่ง ดอกอ่อนมีสี ขาวหม่นรูปกรวย ขอบม้วนงอลงเล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 – 10 เซนติเมตร ผิวมีขนสีน้ำตาลอ่อนอมเหลืองเมื่อดอกแก่ ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง เนื้อเห็ดบาง ด้านล่างมีครีบสีน้ำตาลอ่อน แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่อมแดงเมื่อดอกแก่ ครีบหมวกแคบบางเรียวเล็กลง ไปเชื่อมติดก้านดอกเกือบถึงโคนก้านดอก ครีบบางครีบเชื่อมติดกัน ก้านดอกสั้นเหนียวและแข็งเมื่อเป็นดอกแก่มีสีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบยาว 1 – 2 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 – 1 เซนติเมตร ก้านดอกอยู่ค่อนไปด้านใดด้านหนึ่งของดอก ไม่อยู่กึ่งกลางดอก เนื้อในเหนียวสีขาวหรือขาวอมเหลือง
สปอร์ รูปรีสีขาว ผิวเรียบ ผนังบาง โค้งงอเล็กน้อย ขนาด 2.5-3 x 6-9 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 97 )
แหล่งที่พบ เห็ดกระด้างเป็นเห็ดขอนไม้ชนิดหนึ่ง ในอำเภอเนินสง่า พบทั่วไปในป่าไม้เต็ง รัง บริเวณป่าสงวนโคกใหญ่ เกิดเป็นดอกเดี่ยวอยู่ใกล้กันเป็นกลุ่มบนขอนไม้ กิ่งไม้แห้ง
ฤดูที่พบ เห็ดกระด้างพบในช่วงปลายฤดูฝนเดือนกันยายน – พฤศจิกายน พบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว ท้องฟ้าสลัวทางภาคอิสานเรียกว่าแดดบด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเห็ดบด เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับกิ่งไม้ให้เห็น แต่หลังจากนั้นจะถูกแมลงพวกมอดทำลาย
ประโยชน์ เห็ดกระด้างจัดเป็นเห็ดขอนชนิดหนึ่ง ที่รับประทานได้ ทั้งดอกอ่อนและดอกแก่ สามารถเก็บไว้ได้นาน ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายท่อนไม้ กิ่งไม้ ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดกรวยทองตากู

เห็ดกรวยทองตากู










ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดกรวยทองตากูเห็ดขอนชนิดนี้มีลักษณะ เป็นรูป กรวยปากกว้างเนื้อเยื่อบางและเหนียว ดอกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 6 เซนติเมตร ผิวหมวกเห็ดด้านบนมีสี น้ำตาลอมเหลืองหรือสีน้ำตาลแดง หมวกเห็ดมีสีอ่อนแก่สลับกันจึงเห็นมีลักษณะเป็นลายวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ก้านดอกยาวประมาณ 1 – 3 เซนติเมตร มีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอมเหลือง ผิวเรียบเหนียวและแข็งโคนก้านดอกมีฐานเป็นแป้งเล็ก ๆ ไว้ยึดติดกับขอนไม้ เนื้อในก้านสีขาว
สปอร์ รูป ไข่ผิวเรียบ ผนังบางใส ไม่มีสี ขนาดประมาณ 5 x 2 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 89 )
แหล่งที่พบ เห็ดกรวยทองตากูพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ชอบ ขึ้นบนกิ่งไม้ผุ ขอนไม้ผุ ที่เป็นไม้เนื้ออ่อน และเกิดเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มใกล้ชิดกัน เนื่องจากเห็ดชนิดนี้แห้งและคงรูปอยู่ได้นาน จึงมีผู้เก็บมาตกแต่งประดับบ้านดูเป็นของแปลกและสวยงามดี โรงเรียนเนินสง่าวิทยา พบที่สวนป่ามะม่วงหิมพานต์ขึ้นกับกิ่งแห้งมะม่วงหิมพานต์
ฤดูที่พบ เห็ดกรวยทองตากูพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับกิ่งไม้ให้เห็น
ประโยชน์ เห็ดกรวยทองตากูจัดเป็นเห็ดขอนชนิดหนึ่ง ที่รับประทาน ไม่ได้และไม่มีผู้นำมารับประทาน เพราะเห็ดมีเนื้อเยื่อแห้งและเหนียว ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายท่อนไม้ กิ่งไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดหิ้งสีเหลือง

เห็ดหิ้งสีเหลือง



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดหิ้งสีเหลือง เป็นเห็ดจำพวกที่ไม่มีครีบหมวกแต่มีรู แทน ดอกเห็ดเมื่อโตเต็มที่มีลักษณะแข็งเหนียว ดอกมีสีเหลืองไปจนถึงสีส้ม ดอกเห็ดออกเป็นกลุ่มและเรียงซ้อนกันคล้ายหิ้งหรือชั้นวางของหลาย ๆ ชั้น ขึ้นซ้อนกัน รูปร่างของดอกเห็ดเมื่อโตเต็มที่เป็นแผ่นแผ่ออกคล้ายพัดที่มีด้าม ด้านที่แคบติดอยู่กับลำต้นไม้เห็ดบางกลุ่มเกิดจากโคนดอกเดียวกัน เห็ดชนิดนี้เจริญเติบโตเร็ว เมื่อยังอ่อนอยู่เปราะง่ายแต่แก่แล้วแข็งและเหนียว ดอกเห็ดขนาดยาวประมาณ 5 – 20 เซนติเมตร ผิวด้านบนเป็นรอยวงซ้อนกันอยู่ ดอกเห็ดมีขอบสีขาว ด้านล่างดอกเห็ดมีลักษณะเป็นรูมีสีเหลืองอ่อนขึ้นมันคล้ายผ้าไหมเล็กน้อย สีของดอกเห็ดจางซีดเกือบเป็นสีขาวเมื่อนำมาตากแห้ง
สปอร์ ของเห็ดมีสีเหลืองอ่อนรูปไข่ ผิวเรียบ ผนังบางใส ไม่มีสี ขนาด 6 x 4 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 87 )
แหล่งที่พบ เห็ดหิ้งสีเหลืองพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่าเป็นเห็ดที่ขึ้น ตามตอไม้หรือโคนต้นของพืชจำพวกไม้เนื้อแข็งยืนต้น เช่น ไม้สน ไม้แดง มะค่า เห็ดชนิดนี้ขึ้นได้บนต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่หรือตอไม้ที่ผุเปื่อย โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่โคนต้นไม้แดงสวนป่ามะม่วงหิมพานต์
ฤดูที่พบ เห็ดหิ้งสีเหลืองพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับกิ่งไม้ให้เห็น แต่หลังจากนั้นจะถูกแมลงจำพวกมอดเข้าทำลาย
ประโยชน์ เห็ดหิ้งสีเหลืองจัดเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่รับประทานได้ เมื่อ เป็นดอกอ่อนหรือเกิดใหม่ ๆ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 28 ) จากการสำรวจอำเภอเนินสง่าไม่มีชาวบ้านบริโภคเห็ดชนิดนี้ ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายท่อนไม้ ตอไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดรวงผึ้ง


เห็ดรวงผึ้ง




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด




ลักษณะทั่วไป เห็ดรวงผึ้งดอกเห็ดสีขาวนวลอมชมพู รูปพัด หรือ รูปใบพายหรือเกือบกลมขนาดยาว 3 – 10 เซนติเมตร กว้าง 3 – 6 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีขนละเอียดและมีแถบวงกลม ซ้อนกระจายบาง ๆ ไปยังขอบหมวก ขอบบางและหยักเป็นคลื่น ด้านล่างสีขาวเต็มไปด้วนรูรูปหกเหลี่ยมหรือรูปเหลี่ยมยาวคล้ายรวงผึ้ง เนื้อเห็ดสีขาว เมื่อแห้งเหนียวคล้ายหนังสัตว์ เห็ดชนิดนี้เส้นใยเจริญแต่ไม่มีเส้นใยเชื่อมระหว่างเซลล์ ก้านดอกเห็ดไม่อยู่กึ่งกลางดอกและเกือบเป็นรูปทรงกระบอกสีขาวแข็ง ยาว 0.5 – 1 เซนติเมตร บางดอกไม่มีก้านดอก เห็ดชนิดนี้ขึ้นเป็นดอกเดี่ยวอยู่ใกล้กันและเหลื่อมซ้อนกันเป็นกลุ่มหรือกระจาย
สปอร์ ใสรูปรีหรือยาวรี ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 8-10 x 4-5 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 122 )
แหล่งทีพบ เห็ดรวงผึ้งพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่าตามไร่ นา บน ขอนไม้หรือกิ่งไม้แห้งที่เป็นไม้เนื้ออ่อน ในโรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่สวนป่ามะม่วง
หิมพานต์ บนกิ่งแห้งของมะม่วงหิมพานต์ กิ่งแห้งแคฝรั่ง ซึ่งมีให้เห็นทุกปี
ฤดูที่พบ เห็ดรวงผึ้งพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบ ในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อหมดฤดูฝนก็ยังมีดอกเห็ดแห้งติดกับกิ่งไม้
ให้เห็น
ประโยชน์ เห็ดรวงผึ้งไม่นิยมนำมารับประทาน ตามธรรมชาติช่วย ย่อยสลายกิ่งไม้ท่อนไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดดันหมี

เห็ดดันหมี





ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดดันหมีดอกเห็ดเป็นก้อนครึ่งวงกลมหรือเกือบเป็นก้อนกลมติดอยู่กับเนื้อไม้ผุ ตอไม้ผุ ขนาดของดอกเห็ดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป มีตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 4 เซนติเมตร สีน้ำตาลอมม่วง ซึ่งต่อไปจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ปกติเกิดเป็นดอกเดียวหรือเกิดรวมกันหลายดอกเป็นกลุ่มก้อนชิดติดกัน ดอกที่แก่เต็มที่จะมีผงสปอร์สีดำอมม่วงฟุ้งกระจายออกมาจากรูขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่ารอบก้อน ถ้าผ่าก้อนเห็ดออกเป็น 2 ซีก จะเห็นเนื้อเยื่อภายในเป็นลายวงกลมซ้อนกันหลายชั้นออกไปจนถึงขอบ และมีเส้นใยละเอียดสีน้ำตาลอัดกันแน่น แต่เปราะง่ายไม่แข็งเหมือนเปลือกหุ้ม
สปอร์ รูปยาวรีสีดำ ผิวเรียบ ขนาด 12-17 x 6-9 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 122 )
แหล่งที่พบ เห็ดดันหมีพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่าตามสวนป่ายูคาลิปตัส เห็ดจะขึ้นกับตอไม้ยูคาลิปตัสที่ผุหรือตามรากไม้ ขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกระจายให้เห็นทั่วไป เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นกับพื้นที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์เช่นดินลูกรัง ดินดาน
ฤดูที่พบ เห็ดดันหมีพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดดันหมีเห็ดชนิดนี้ เป็นเห็ดที่ไม่นำมารับประทานกัน ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายตอไม้ รากไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดนำหมึก

เห็ดน้ำหมึก




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


เห็ดน้ำหมึกมีหลายชนิด ชนิดที่กล่าวถึงนี้ ชอบขึ้นตามสนามหญ้ากองหญ้าแห้ง กองปุ๋ย กองขยะหรือกองมูลสัตว์ เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่มหรือดอกเดี่ยวกระจัดกระจาย ทั่วไปอยู่บนกองปุ๋ย การเจริญเติบโตของเห็ดเป็นไปอย่างรวดเร็วในเวลากลางคืน ฉะนั้นเราจึงเห็นหมวกเห็ดตอนบ่ายหรือตอนเย็นยังตูมอยู่ จะบานกลางคืนและในตอนเช้าเกือบเน่าแล้ว
ลักษณะทั่วไป เห็ดน้ำหมึกหมวกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร รูปร่างดอกเห็ดเมื่อยังไม่บาน เป็นรูปไข่ยาวรีเกือบเป็นรูปทรงกระบอกซึ่งมีส่วนสูงของหมวกประมาณ 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ระยะนี้หมวกเห็ดมีสีเนื้อและมีขนสีขาวปนน้ำตาลอ่อนปกคลุมเป็นเกล็ดเล็ก ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่หมวกเห็ดกางออกมีสีเทา ค่อนข้างบางและมีร่องหยักเป็นเส้นรัศมีตามขอบหมวกเมื่อครีบหมวกเกิดใหม่ ๆ มีสีขาวซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีเทาดำ และย่อยตัวเองเป็นหยดของเหลวสีดำในเวลาอันรวดเร็ว หรือก่อนที่หมวกเห็ดจะบานหรือกางออก ฉะนั้นเมื่อหมวกเห็ดกางออกจึงไม่มีส่วนของครีบหมวกคงเหลือให้เห็นเพราะได้ละลายเป็นน้ำหมึกไปก่อนแล้วก้านดอกเห็ดยาวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ภายในก้านดอกกลวงเปราะหักง่ายและฉีกตามความยาวของก้านดอกได้ง่าย
แหล่งที่พบ เห็ดน้ำหมึกพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ชอบขึ้นตามสนามหญ้า กองฟาง กองหญ้าแห้ง กองปุ๋ย กองขยะหรือกองมูลสัตว์ เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่มหรือดอกเดี่ยว
ฤดูที่พบ เห็ดน้ำหมึกพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ ช่วยย่อยสลายเศษวัชพืช จากการสำรวจพบว่าในอำเภอเนินสง่าไม่มีการบริโภคเห็ดชนิดนี้ เชื่อกันว่าเป็นเห็ดพิษ

เห็ดก้อนกรวด

เห็ดก้อนกรวด




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


เห็ดก้อนกรวด มีลักษณะภายนอกของดอกเห็ดเหมือนก้อนกรวดขนาดปานกลางขึ้นอยู่ตามดินปนทรายในป่าข้างทางเดิน
ลักษณะทั่วไป เห็ดก้อนกรวดดอกเห็ดเป็นก้อนกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร มีฐานเป็นโคนดอกที่มีขนาดเล็กกว่าตอนบนเล็กน้อย ฐานดอกเห็ดกว้างประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร สูงประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ฐานของดอกทำหน้าที่คล้ายก้านดอกที่ฝังลึกลงไปในดิน ดอกเห็ดมีผิวเรียบและมีการเจริญที่ไม่สม่ำเสมอกัน จึงทำให้ผิวบางส่วนนูนขึ้นมาเล็กน้อย มีสีเหลืองปนน้ำตาลแดงซึ่งจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนน้ำตาลแก่และฉีกขาดได้ง่าย เมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่ ภายในดอกเห็ดเต็มไปด้วยรูเล็ก ๆ ขนาด 1 – 3 มิลลิเมตร ภายในมีวัตถุสีเหลืองบรรจุอยู่ในระยะที่เป็นเห็ดอ่อนแต่จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นผงน้ำตาลเมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่ การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มจากตอนบนลงมาตอนล่าง วัตถุสีเหลืองที่เปลี่ยนเป็นผงสีน้ำตาลคือ
สปอร์ของเห็ดชนิดนี้
แหล่งทีพบ เห็ดก้อนกรวดในอำเภอเนินสง่าพบได้ทั่วไปที่ป่าสงวนโคกใหญ่ ชอบขึ้นในบริเวณที่โล่งแจ้งของป่าเต็ง รัง มีหญ้าขึ้นสั้น ๆ ไม่หนาแน่น พื้นดินเป็นดินลูกรังหรือดินทรายขึ้นเป็นดอกเดี่ยว กระจายเป็นกลุ่ม ๆ
ฤดูที่พบ เห็ดก้อนกรวดพบในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดก้อนกรวดนิยมรับประทานกันในระยะที่เป็นเห็ดอ่อน ส่วนมากใช้เป็นเครื่องปรุงแต่งรสอาหาร เห็ดชนิดนี้มีกลิ่นแรงมาก จึงใช้เพียงเล็กน้อยในการหุงต้ม เพื่อให้อาหารมีกลิ่นเห็ดและสีเหลืองอมน้ำตาล ทำให้อาหารน่ารับประทานยิ่งขึ้น เป็นเห็ดที่รับประทานได้ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 109 ) จากการสำรวจพบว่าในอำเภอเนินสง่าไม่มีการบริโภคเห็ดชนิดนี้เชื่อกันว่าเป็นเห็ดพิษ

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดนางฟ้าภูฏาน

เห็ดนางฟ้าภูฏาน



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดนางฟ้าภูฏาน เป็นเห็ดนางรมชนิดหนึ่งมีการนำเชื้อเห็ดมาจากราชอาณาจักรภูฏาน และมีการเพาะเลี้ยงทั่วประเทศยกเว้นฤดูหนาวทางภาคเหนือที่เห็ดไม่ออกดอก
ลักษณะทั่วไป เห็ดนางฟ้าภูฏานเกิดเป็นกลุ่ม มีโคนเชื่อมติดกันกลุ่มละ 3 – 10 ดอก หมวกเห็ด รูปใบพาย หรือรูปพัด ผิวสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหรือม่วงอ่อน ผิวเรียบ เนื้อหมวกสีขาว ด้านล่างมีครีบแคบและเรียวยาวลงไปจดก้านดอก ครีบสีขาว ก้านดอกอยู่ไม่กึ่งกลางดอกมักค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง ยาว 1 – 4 เซนติเมตร สีขาว โคนเรียวเล็ก ผิวเรียบแต่เป็นสันนูนและร่องเตี้ย ๆ ยาวตลอดก้านดอก เนื้อในก้านดอกสีขาวฟูนิ่ม
สปอร์ สีขาว ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 7-10 x 3-4 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล.2542 : 23 )
แหล่งที่พบ เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยง จากการสำรวจพบว่าอำเภอเนินสง่า มีเกษตรกรที่เพาะเห็ดนางฟ้าเป็นอาชีพอยู่ 1 ราย ที่ตำบลหนองฉิม มีก้อนเห็ดประมาณ 3,000 ก้อน และมีการเพาะเลี้ยงที่โรงเพาะเห็ดโรงเรียนเนินสง่าวิทยา ปัจจุบันนักเรียนสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดนางฟ้าเพื่อขยายพันธุ์ได้แล้วนำมาเพาะเลี้ยงกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราหรือฟางข้าวก็ได้ ในอดีตเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ชาวบ้านเพาะเลี้ยงโดยใช้ท่อนไม้เนื้ออ่อน แต่ปัจจุบันไม้หายากได้ใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราแทน
ฤดูที่พบ เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดเมืองร้อนสามารถเพาะเลี้ยงได้ตลอดปี ยกเว้นฤดูหนาวถ้าอากาศหนาวมากเห็ดจะไม่ออกดอก
ประโยชน์ เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่มีผู้นิยมนำมาบริโภคเนื่องจาก มีรสชาติดี ขนาดดอกใหญ่ ราคาไม่แพง เพาะเลี้ยงง่าย ตามธรรมชาติจะช่วยย่อยสลายกิ่งไม้ท่อนไม้ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป ของเห็ดหลินจือหมวกเห็ดรูปทรงคล้ายไตหรือพัด ผิวด้านบนเรียบมันคล้ายไม้ที่ลงน้ำยาชักเงา มีร่องเป็นลอนโค้งมน สีน้ำตาลหรือสีเหลือง ขนาด 3 – 15 ซ.ม. หนา 3 – 5 มิลลิเมตร ผิวด้านใต้สีครีมและจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองเมื่อแก่ เนื้อเยื่อภายในสีขาวนวล หรือสีเหลืองเข้ม มีลักษณะเป็นเส้นใยประสานตัวกันแน่น
แหล่งที่พบ เห็ดหลินจือพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ชอบขึ้นกับโคนต้นไม้เนื้อแข็งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว เช่น ไม้แดง ตะแบก มะค่าแต้ โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่โคนต้นไม้แดง จำนวน 5 ต้น ภายในโรงเรียน
ฤดูที่พบ เห็ดหลินจือเป็นเห็ดป่าฝนเขตร้อน พบได้ตลอดช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน หลังหมดฤดูฝนดอกเห็ดที่แห้งยังคงมีให้เห็นอยู่ แต่จะถูกแมลงพวกมอดเข้าทำลาย
ประโยชน์ เห็นหลินจือเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เชื่อกันว่าเป็นยาบำรุงร่างกาย ถ้าเห็ดขึ้นกับต้นไม้ที่ไม่มีพิษ ชาวบ้านจะนำมาต้มกินน้ำเห็ดเป็นยาบำรุง

เห็ดฟาง

เห็ดฟาง



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดฟางหรือเห็ดบัวเป็นเห็ดสดชนิดหนึ่งที่ขึ้นง่ายและรู้จักกันดี เห็ดชนิดนี้มีขึ้นตามธรรมชาติ เช่นตามกองฟางข้าว จึงมีชื่อเรียกว่าเห็ดฟาง ต่อมามีการส่งเสริมให้มีการปลูกเห็ดชนิดนี้ขึ้นมาจนเป็นอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยมีวัตถุดิบที่ใช้เพาะเลี้ยงคือ มูลม้า เปลือกบัวและฟางข้าว หรือใช้มูลม้าและเปลือกบัวที่หมักให้ผุเปื่อยแล้ว จึงมีชื่อเรียกเห็ดชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่าเห็ดบัว ปัจจุบันมีผู้ใช้วัตถุดิบอย่างอื่นก็เพาะได้เช่นกัน เช่น ไส้นุ่น เปลือกถั่วเขียว เปลือกมันสำปะหลัง
ลักษณะทั่วไป เห็ดบัวหรือเห็ดฟางเมื่อเริ่มเกิดมีลักษณะเป็นก้อนกลม สีขาว ซึ่งจะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นแล้วแตกออก ภายในมีดอกเห็ดและก้านดอกที่ค่อย ๆ เจริญขึ้นมาในอากาศ คงเหลือส่วนที่ห่อหุ้มเป็นกระเปาะ คล้ายถ้วยรองรับอยู่ที่ฐานดอกเห็ด หมวกเห็ดเมื่อโตเต็มที่จะกางออกมีลักษณะคล้ายร่ม สีเทาอ่อนหรือเทาแก่ ขอบหมวกเรียบด้านล่างของหมวกเห็ดมีครีบหมวกบาง ๆ แผ่เป็นวงรัศมีรอบลำต้น และเรียงแขวนตั้งฉากติดกับเนื้อหมวกเห็ดไม่ยึดติดกับก้านดอก ครีบหมวกเห็ดเมื่อมีอายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วงหรือน้ำตาลอ่อน ก้านหมวกมีสีขาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 3 เซนติเมตร เนื้อภายในละเอียดแน่นและค่อนข้างเปราะเล็กน้อย ก้านดอกสูงประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร และมีผิวเรียบ
สปอร์ ของเห็ดฟางมีลักษณะเป็นรูปวงกลมรี ปลายข้างหนึ่งมีตุ่มเล็ก ๆ หนึ่งตุ่ม สปอร์มีสีชมพู ขนาด 5 x 13.75 ไมโครเมตร
( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 31 )
แหล่งที่พบ เห็ดฟางอำเภอเนินสง่าพบได้ทั่วไปตามกองฟางทุ่งนา ตำบลตาเนิน ตำบลหนองฉิม ตำบลรังงาม กองฟางที่เคยมีเห็ดเมื่อนำฟางมากองทับบนพื้นที่เดิมจะมีเห็ดฟางขึ้นอีก ชาวบ้านนิยมกองฟางไว้เพื่อให้เกิดดอกเห็ดสำหรับบริโภค จากการสำรวจพบว่า มีการเพาะเห็ดฟางโดยใช้เปลือกมันสำปะหลังที่บ้าน โสกคร้อ ซึ่งทำกันเป็นอาชีพจำนวน 5 ราย
ฤดูที่พบ เห็ดฟางเห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุมในฤดูฝน พบได้ในเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว เห็ดฟางที่เกิดจากการเพาะสามารถทำให้เกิดดอกได้ทั้งปี
ประโยชน์ เห็ดฟางเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เมื่อนำไปประกอบอาหารเวลาหุงต้มเนื้อเห็ดจะมีลักษณะเป็นเมือกเล็กน้อย เวลารับประทานมีเนื้อภายในกรอบกรุบและหวานอร่อยเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย

เห็ดผือ

เห็ดผือ


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดแพคหรือเห็ดผือ ดอกเห็ดเป็นรูปกะทะคว่ำ สีขาวนวลหรือเหลืองอมน้ำตาล ผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 5 เซนติเมตร ผิวแห้ง แต่เมื่อเปียกชื้นจะหนืดมือเล็กน้อย เนื้อในสีขาว ด้านล่างมีครีบสีม่วงอ่อนอมเทาแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วงแก่อมน้ำตาล ก้านดอกยาว 3 – 7 เซนติเมตร รูปทรงกระบอกสีขาวโคนใหญ่ บางดอกโป่งเป็นกระเปาะเล็ก ๆ ผิวเรียบ เนื้อในก้านสีขาว มีรูกลวงเล็ก ๆ ยาวเกือบตลอด ก้านดอก
สปอร์ สีน้ำตาลหม่น รูปไข่ ผิวเรียบ ปลายบนมีรูเปิดเล็ก ๆ ขนาด 8-11 x 5-6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 45 )
แหล่งที่พบ เห็ดแพคหรือเห็ดผืออำเภอเนินสง่าพบได้ทั่วไปตามทุ่งนาบ้านหนองผักชี ทุ่งนาบ้านหนองฉิม ทุ่งนาบ้านโสกคร้อ ทุ่งนาเหล่านี้เป็นดินร่วนปนทราย มีต้นกกสามเหลี่ยม ชาวบ้านเรียกต้นผือ ขึ้นอย่างหนาแน่นเห็ดจะขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกระจายเป็นกลุ่ม ๆ บริเวณกว้าง พื้นที่ใดที่พบเห็ดชนิดนี้จะมีให้เห็นทุกปี
ฤดูที่พบ เห็ดแพคหรือเห็ดผือเห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุมในฤดูฝนพบได้ในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดแพคหรือเห็ดผือเป็นเห็ดที่รับประทานได้ชนิดหนึ่งมีรสชาติดีชาวบ้านนิยมบริโภค บางคนมีอาชีพเสริมเก็บเห็ดขาย

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดตับเต่า

เห็ดตับเต่า




ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดตับเต่าหมวกเห็ดใหญ่มีสีน้ำตาลเข้ม หรือสี ช็อกโกเลต มองดูลักษณะเป็นมันคล้ายก้อนตับของสัตว์บางชนิด ดอกเห็ดมีผิวด้านบนเรียบสีน้ำตาลแก่หรือสีช็อกโกเลต เวลาเปียกหรือชื้น จะมีลักษณะเป็นมันเงาและเหนียวมือเล็กน้อย เนื้อหมวกเห็ดสีขาวปนเหลืองอ่อน หมวกเห็ดเวลาบานมีขอบม้วนงอเล็กน้อย ผิวด้านบนจะโค้งงอคล้ายกะทะคว่ำ แต่เมื่อบานเต็มที่ขอบดอกก็จะเหยียดตรงออก เห็ดตับเต่ามีก้านดอกใหญ่ประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร และยาวประมาณ
5 – 10 เซนติเมตร ผิวด้านนอกมีสีน้ำตาลเช่นเดียวกับหมวก ตอนโคนใหญ่ออกเป็น กระเปาะและมีรอยย่นหยักเป็นร่องห่าง ๆ รอบโคนต้น เนื้อภายในก้านดอกมีสีขาวปนเหลืองอ่อน สีของเนื้อเยื่อไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อผ่าออกเป็น 2 ซีก เนื้อเยื่อภายในสานกันละเอียดแน่นทึบเช่นเดียวกับเนื้อหมวกเห็ด
สปอร์ รูปไข่เกือบกลมสีน้ำตาล ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 10 x12.5 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 51 )
แหล่งที่พบ เห็ดตับเต่าอำเภอเนินสง่าพบที่ป่าสงวนโคกใหญ่ ขึ้นบน ผิวดินเป็นดอกเดี่ยว กระจายเป็นกลุ่ม บริเวณโคนต้นไม้ หรือใต้พุ่มไม้เล็ก ๆ ดินลูกรังหรือดินร่วนที่เป็นเนินเตี้ย ๆ บริเวณที่เคยพบเห็ดชนิดนี้จะมีให้เห็นทุกปี
ฤดูที่พบ เห็ดตับเต่าเห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุมในฤดูฝนพบได้ใน เดือน พฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดตับเต่าเป็นเห็ดที่รับประทานได้ชนิดหนึ่งมีรสชาติดี ชาวบ้านนิยมบริโภคขายได้ราคาแพง ชาวบ้านบางคนมีอาชีพเสริมเก็บเห็ดป่าขาย

เห็ดตะไคลขาว

เห็ดตะไคลขาว



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว เป็นชื่อเรียกเห็ดรับประทานได้ชนิด หนึ่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่าเห็ดตะไคลหรือเห็ดไคล
ลักษณะทั่วไป เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว เกิดเป็นดอกเดี่ยว ๆ แต่พบอยู่เป็นกลุ่มใกล้ ๆ กัน ดอกเห็ดเมื่อยังตูมอยู่มีหมวกเห็ดด้านบนกลมคล้ายระฆัง
คว่ำ ครีบหมวกเห็ดมีสีขาวนวลเช่นเดียวกันกับหมวกเห็ดและมีผิวเรียบ เมื่อดอกเห็ดกางออกเต็มที่ จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดอกเห็ด ซึ่งวัดได้ตั้งแต่ 3 – 15 เซนติเมตร หมวกเห็ดเวลาบานเต็มที่ตรงกลางหมวกเห็ด จะเว้าลงไปเล็กน้อย ก้านดอกเห็ดยาวประมาณ 3.5 – 5.5 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร ก้านดอกกลมและมีขนาดใหญ่ ก้านดอกเห็ดมักจะมีหนอนเข้าไปกินและอาศัยอยู่ จึงมีลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำตั้งแต่ดอกเห็ดยังตูมอยู่
สปอร์ รูปร่างกลม ผิวมีหนามละเอียด โดยรอบ มีสี ขาวขนาด 7.5 x 7.5 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 58 )
แหล่งที่พบ เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว อำเภอเนินสง่าพบที่ป่า สงวนโคกใหญ่ชาวบ้านเรียกเห็ดตะไคล เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นในป่าหรือบนพื้นดินลูกรัง ดินร่วน บริเวณเนินภูเขาเตี้ย ๆ ของป่าสงวนโคกใหญ่
ฤดูที่พบ เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว เห็ดชนิดนี้ออกดอกชุกชุม ในฤดูฝนพบได้ในเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูง อากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดตะไคลขาวหรือเห็ดหล่มขาว มีผู้นิยมรับประทานกัน มากเพราะมีรสอร่อยหวานกว่าเห็ดอื่นหลายชนิด ดอกเห็ดที่ยังเล็กและตูมอยู่มีราคาแพง

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดถ่านใหญ่

เห็ดถ่านใหญ่


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดถ่าน ดอกเห็ดเวลาบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ เห็ดถ่านมี 2 ชนิด คือเห็ดถ่านใหญ่และเห็ดถ่านเล็ก เห็ดถ่านใหญ่พบในป่า ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป เห็ดถ่านใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 10 - 12 เซนติเมตร รูปร่างเกือบคล้ายกรวยเมื่อเวลาบานเต็มที่ ผิวหมวกเห็ดด้านบนเรียบ เมื่อดอกเห็ดบานใหม่ ๆ มีสีขาวนวลแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อดอกเห็ดบานเต็มที่ครีบหมวกเห็ด มักจะมีรอยฉีกขาดเป็น แห่ง ๆ และขอบหมวกจะเป็นคลื่นบิดงอขึ้นเล็กน้อยหรือรอยขาดด้วย ก้านดอกเห็ดยาวประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง
ประมาณ 1.5 – 2 เซนติเมตร มีสีขาวแต่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำ ผิวเนื้อด้านนอกเรียบ เนื้อภายในก้านดอกมีสีขาว ละเอียดและมีลักษณะยืดหยุ่นน้อย ๆ ดอกเห็ดถ่านมีลักษณะแห้งและเปราะบางกว่าดอกเห็ดฟางเล็กน้อย
สปอร์ ของเห็ด รูปค่อนข้างกลม สีขาว มีหนามละเอียดโดยรอบและมีหนามใหญ่หนึ่งอัน ขนาดสปอร์ 7-8 x 6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 62 )
แหล่งที่พบ เห็ดถ่านใหญ่อำเภอเนินสง่าพบที่ป่าสงวนโคกใหญ่ ชอบขึ้นบนพื้นดินในป่าละเมาะที่เป็นดินลูกรัง ดินร่วน และหน้าดินเป็นธรรมชาติไม่เคยถูกทำลายมาก่อน เห็ดถ่านใหญ่เกิดเป็นดอกเดี่ยวอิสระและอยู่กระจัดกระจายไม่ชุกชุมเหมือนเห็ดอื่น ๆ
ฤดูที่พบ เห็ดถ่านใหญ่พบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดถ่านใหญ่เป็นเห็ดที่รับประทานได้ รสชาติดีเป็นที่ดีเป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้านและขายได้ราคาแพง

เห็ดโคน

เห็ดโคน


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดโคนหรือเห็ดปลวกมีหมวกดอกเห็ดขนาดแตกต่าง กันแล้วแต่ความสมบูรณ์ของดอกเห็ด มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2 – 20 เซนติเมตร ผิวด้านบนเรียบเหมือนมีรอยย่นจีบเล็กน้อย สีน้ำตาลดำหรือน้ำตาลเข้ม กลางหมวกมียอดแหลมคล้ายหมวกจีน เนื้อหมวกขาว ด้านล่างมีครีบหมวกสีขาว ก้านดอกยาว 5 – 20 เซนติเมตร โคนก้านเหนือดินโป่งเป็นกระเปาะใหญ่ โคนก้านดอกมีสีน้ำตาลอ่อน และเรียวเล็กยาวหยั่งลึกลงไปยังจอมปลวกคล้ายรากแก้วของพืช
สปอร์ สีนวลหรือสีเหลืองอมชมพูอ่อนผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 6-8 x 4- 5 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 19 )
แหล่งที่พบ เห็ดโคนหรือเห็ดปลวกพบได้โดยทั่วไปในอำเภอเนินสง่า บนพื้นดินที่มีจอมปลวกหรือบริเวณที่มีปลวกอาศัยชุกชุมจึงเรียกเห็ดชนิดนี้ว่าเห็ดปลวก ภาคกลางเรียกเห็ดโคน ภาคใต้เรียกเห็ดโคนชนิดนี้ว่าเห็ดนมหมู โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบได้ที่หน้าอาคารเรียนผึ้งหลวง ด้านหลังอาคารเกษตรกรรมและสวนป่ามะม่วง
หิมพานต์ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีจอมปลวกและปลวกอาศัยอยู่มากซึ่งพบได้ทุกปี ดอกเห็ดขึ้นกระจายกันทั่วบริเวณ
ฤดูที่พบ เห็ดโคนพบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบ ในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดโคนเป็นเห็ดที่รับประทานได้ รสชาติดีเป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้านและขายได้ราคาแพง

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดตีนแรด

เห็ดตีนแรด



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดสดที่มีขนาดใหญ่ ภาคเหนือเรียกว่า เห็ดจั่น ภาคกลางเรียกว่า เห็ดตับเต่าขาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า เห็ดตีนแรด เห็ดตีนแฮด
ลักษณะทั่วไป เห็ดตีนแรดดอกเห็ดเป็นกลุ่ม โคนติดกันกลุ่มละ 3 – 15 ดอก ดอกเห็ดมีสีขาวหม่นหรือสีเหลืองนวล หมวกเห็ดรูปครึ่งวงกลมหรือรูป
กระทะคว่ำ ผิวเรียบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 25 เซนติเมตร ดอกอ่อนมีขอบม้วนงอเข้า ดอกแก่แบนลง ใต้หมวกมีครีบเป็นแผ่นสีขาวนวล ก้านยาว 6 – 15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางสูง 1 – 2.5 เซนติเมตร โคนโป่งเป็นกระเปาะใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 – 5 เซนติเมตร สีขาวนวล
สปอร์ ของเห็ด เป็นรูปไข่เกือบกลม ขนาด 7-8 x 6-7 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 15 )
แหล่งที่พบ เห็ดตีนแรดพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่าตามไร่ นา ป่าสงวนโคกใหญ่ชอบขึ้นตามโคนไม้ผุ หรือดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ ดอกเห็ดเป็นกลุ่ม โคนติดกันสังเกตได้ง่ายบริเวณที่เคยพบเห็ดชนิดนี้จะมีให้เห็นทุกปี เนื่องจากเห็ดได้ปล่อยสปอร์ไว้
ฤดูที่พบ เห็ดตีนแรดพบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดตีนแรดจัดเป็นเห็ดรับประทานได้ รสหวาน มีกลิ่น รส และความเหนียวไม่แพ้เห็ดโคนและเห็ดหล่ม เป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้านในอำเภอเนินสง่าและตามธรรมชาติยังช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน

เห็ดกระโดง

เห็ดกระโดง



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดกระโดงมีก้านดอกที่ยาวมากเหมือนเสากระโดงเรือจึงเรียกว่าเห็ดกระโดง หมวกเห็ดกว้างใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร ดอกตูมมีสีน้ำตาล อมแดง ดอกบานผิวสีน้ำตาลตามขอบหมวกจะแตกออกเป็นเกล็ด แล้วหลุดหายไปคงเหลือเกล็ดสีน้ำตาลปกคลุมอยู่หนาแน่นเฉพาะตรงกลางหมวกเห็ด เนื้อเยื่อภายในหมวกเห็ดเป็นสีขาวมีความหนาพอควร เวลาดอกเห็ดบานเต็มที่ขอบหมวกมักจะฉีกขาดง่าย ด้านล่างมีครีบหมวกสีขาวซึ่งด้านในไม่ยึดติดกับก้านดอก ครีบหมวกเปราะและแตกง่าย ก้านดอกยาวประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร หรือยาวเป็นประมาณ 2 เท่า ของความกว้างของหมวกเห็ด ผิวก้านดอกเป็นสีน้ำตาล ปลายด้านบนมีวงแหวนสีขาวและสีน้ำตาลอ่อนซ้อนติดกันอยู่ 2 ชั้น ซึ่งทำให้วงแหวนนี้มีขอบ 2 ชั้น สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ไม่ติดกับ ก้านดอก
สปอร์ สีขาวรูปไข่ ผิวเรียบ ขนาด 15-20 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 36 )
แหล่งที่พบ เห็ดกระโดง พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่าตามไร่ นา และป่าสงวนโคกใหญ่ชอบขึ้นในป่าบนพื้นดินที่มีหญ้าแห้งปกคลุม โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่แปลงเกษตรของโรงเรียนซึ่งมีเศษหญ้าแห้งกองอยู่
ฤดูที่พบ เห็ดกระโดง พบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดกระโดงเป็นเห็ดรับประทานได้ชนิดหนึ่ง ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 36 ) จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านอำเภอเนินสง่า ไม่มีการนำเห็ดกระโดงมารับประทาน ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายเศษใบไม้ หญ้าแห้ง ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดหัวกรวดร่มกระ

เห็ดหัวกรวดร่มกระ


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดหัวกรวดร่มกระหรือเห็ดตายเบื่อ ดอกเห็ดมีหมวกเห็ดกางออกเป็นรูปกระทะคว่ำ ผิวด้านบนสีน้ำตาล ซึ่งปริแตกออกเป็นเกล็ดใหญ่กระจายเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น จนเกือบกึ่งกลางดอก มองดูเหมือนกระ หมวกเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 – 16 เซนติเมตร มีเนื้อในสีขาว ด้านล่างมีครีบสีขาว ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลอมเหลืองอ่อน ก้านดอกยาว 10 – 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 2 เซนติเมตร บนก้านดอกมีวงแหวนเป็นแผ่นหนา 2 ชั้น เคลื่อนที่ขึ้นลงได้ เนื้อในก้านสีขาว ภายในมีรูกลวงเล็ก ๆ
สปอร์ รูปวงรีสีขาวอมเหลือง ผิวเรียบ ผนังหนา 2 ชั้น ปลายด้านหนึ่งตัดเป็นเส้นตรงขนาด 10-12 x 6-8 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 37 )
แหล่งที่พบ เห็ดหัวกรวดร่มกระพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า เห็ดชนิดนี้เกิดเป็นดอกเดี่ยวบนพื้นดินที่มีใบไม้ หญ้าแห้งปกคลุมตามไร่ นา เป็นที่ดอนไม่มีน้ำขัง สังเกตได้ง่ายโดยดูรูปร่าง ของวงแหวนและไม่มีเกล็ดที่ก้านดอก
ฤดูที่พบ เห็ดหัวกรวดร่มกระพบได้ในฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดหัวกรวดร่มกระตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายเศษใบไม้หญ้าแห้ง ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน เป็นเห็ดที่รับประทานไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อนำไปรับประทานแล้วมีอาการแพ้เกิดอาการมึนเมาอาจถึงแก่ชีวิตได้ จึงไม่แนะนำให้รับประทาน

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดขมิ้นใหญ่

เห็ดขมิ้นใหญ่



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป ผิวหมวกเห็ดด้านบนเรียบสีเหลืองแก่อมส้ม ตรงกลาง หมวกเห็ดเว้าบุ๋มลึกลงไปเป็นแอ่งหรือกรวยตื้นบ้างลึกบ้าง เนื้อเยื่อใต้หมวกเห็ดลงไปมีสีเหลืองอ่อนและค่อนข้างบาง ผิวหมวกเห็ดด้านล่างสีอ่อนกว่าเล็กน้อย และเนื้อเรียบเช่นเดียวดับผิวด้านบนแต่มีสันตื้นห่าง ๆ โดยรอบ ทำหน้าที่คล้ายครีบหมวกเห็ด หมวกเห็ดมีความกว้างประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร สูงประมาณ 4 – 6 เซนติเมตร เนื้อหมวกเห็ดมีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายเห็ดหูหนูแต่ไม่เหนียวเท่า
สปอร์ ของเห็ดชนิดนี้มีรูปร่างกลมรี สีเหลืองอ่อนอมส้มขนาด 8-10 x 5-6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 80 )
แหล่งที่พบ เห็ดขมิ้นใหญ่พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า แหล่งที่พบมากป่าสงวนโคกใหญ่ เห็ดจะขึ้นบนพื้นดินในป่าที่มีใบไม้ตกหล่นปกคลุมสภาพชื้นมีแสงแดดร่ม รำไร และเกิดเป็นดอกเดี่ยว หรือเกิดอยู่รวมเป็นกลุ่มที่อาจจะชิดติดกันเป็นกลุ่มใหญ่โคนเชื่อมติดกันโรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่สวนป่ามะม่วงหิมพานต์เห็ดขึ้นบนพื้นดินที่มีใบของมะม่วงหิมพานต์ปกคลุมอย่างแน่นหนา และมีแสงแดดพอรำไร
ฤดูที่พบ เห็ดขมิ้นใหญ่พบได้ในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดขมิ้นใหญ่ความพิเศษของเห็ดชนิดนี้คือมีกลิ่นหอมและรับประทานได้ ตามธรรมชาติเห็ดขมิ้นใหญ่ช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เห็ดขมิ้นเล็ก

เห็ดขมิ้นเล็ก


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดขมิ้นเล็ก หมวกเห็ดมีสีเหลืองเข้ม เวลากางออกเต็ม ที่ตรงกลางจะเว้าลงไปเล็กน้อย ขอบหมวกเห็ดโค้งงอลงและมักเป็นหยักเป็นคลื่นผิว
ด้านบนเรียบ ดอกเห็ดมีความกว้างประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ผิวหมวกเห็ดด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่าด้านบน เป็นสันนูนและมีผนังเชื่อมติดกันบางแห่ง และยาวลงไปเชื่อมติดกับก้านดอก ก้านดอกมีสีเหลืองเข้ม ตรงกลางมีรูกลวงตลอดก้าน เนื้อเยื่อภายในก้านมีสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ 3 – 6 เซนติเมตร
สปอร์ รูปรี สีเหลืองนวล ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 6-11 x 4- 6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 78 )
แหล่งที่พบ เห็ดขมิ้นเล็กพบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า แหล่งที่พบ มากป่าสงวนโคกใหญ่ เห็ดจะขึ้นบนพื้นดินที่มีอินทรีวัตถุจำนวนมากในป่าที่ชื้นมีแสงแดดร่ม รำไรและขึ้นเป็นกลุ่มหรือตามโคนต้นไม้ที่มีตอไม้เนื้ออ่อนผุเปื่อย โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่สวนป่ามะม่วงหิมพานต์เห็ดขึ้นบนพื้นดินและตอมะม่วงหิมพานต์ ที่ผุเปื่อย
ฤดูที่พบ เห็ดขมิ้นเล็กพบได้ในฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม – กันยายน จะพบในช่วงที่มีความชื้นสูงอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดขมิ้นเล็กเป็นเห็ดที่รับประทานได้ ทางภาคเหนือ นิยมรับประทาน ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 78 ) จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านอำเภอ
เนินสง่าไม่นิยมบริโภคเห็ดชนิดนี้ แต่จะบริโภคเห็ดมันปูซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน ( วงศ์ Cantharellaceae ) ตามธรรมชาติเห็ดขมิ้นเล็กช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เห็ดตาปุ๊

เห็ดตาปุ๊



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดตาปุ๊หรือเห็ดจาวมะพร้าว เป็นเห็ดขนาดใหญ่ ดอกอ่อนของเห็ดจาวมะพร้าวมีลักษณะเป็นก้อนกลมสีขาว ซึ่งขยายโตขึ้นเรื่อย ๆ ตรงโคนเป็นเหมือนก้านดอก ขนาดของดอกประมาณ 5 – 12 เซนติเมตร และสูงประมาณ 4 – 10 เซนติเมตร ผิวด้านบนของดอกเห็ดอ่อนเรียบ เมื่อโตขึ้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นผิวนูนขรุขระคล้ายผิวสมองคน และสีจะเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลอมชมพูจนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ระยะนี้ถ้าผ่าเนื้อเห็ดจะพบว่า ดอกเห็ดมีเนื้อภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งของดอกส่วนบนมีเนื้อละเอียดกว่าตอนล่าง ในระยะแรกจะมีสีขาวต่อไปจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวหม่นอมเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเขียวหม่น เมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่เนื้อเยื่ออีกครึ่งหนึ่งที่อยู่ตอนล่าง มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ซึ่งหยาบกว่าส่วนบนมีสีขาวเช่นกัน ทำหน้าที่เป็นฐานของดอกเห็ดหรือก้านดอกเห็ด เมื่อเวลาดอกเห็ดแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกต่างจากส่วนบน ระยะที่มีลักษณะเหี่ยวย่นคล้ายสมองคนนี้ ถ้าเอามือกดด้านบนของเห็ดจะรู้สึกอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นกว่าระยะเป็นก้อนกลม ดอกเห็ดเมื่อแก่เต็มที่ผิวด้านบนจะแตกออก สปอร์ที่อยู่ภายในจะฟุ้งกระจายออก มาคล้ายฝุ่นสีน้ำตาลอมเขียว
แหล่งที่พบ เห็ดตาปุ๊พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ตามสนามหญ้า ทุ่งนา ที่เป็นดินทรายมีอินทรีย์วัตถุบ้างเล็กน้อย น้ำไม่ท่วมขังและหน้าดินไม่เคยถูกไถ
มาก่อน บริเวณที่เคยพบเห็ดจะมีให้เห็นทุกปี ในโรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบที่สนามฟุตบอล
ฤดูที่พบ เห็ดตาปุ๊ออกดอกชุกชุมในฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ของทุกปีหลังจากมีฝนตกและอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดตาปุ๊เป็นเห็ดที่บริโภคได้รสชาติดี เนื้ออ่อนนุ่มชาวบ้าน นิยมบริโภคตามธรรมชาติเห็ดตาปุ๊ช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เห็ดลูกฝุ่น

เห็ดลูกฝุ่น



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


ลักษณะทั่วไป เห็ดลูกฝุ่นหรือเห็ดกระปุกแป้ง เห็ดชนิดนี้มีขนาดไม่ ใหญ่นัก อยู่รวมกันเป็นกลุ่มกระจายกันอยู่บนสนามหญ้า ดอกเห็ดเมื่อยังอ่อนอยู่เป็นก้อนสีขาว แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาปนน้ำตาลอ่อนเมื่อเป็นดอกเห็ดแก่ผิวด้านบนจะมีตุ่มเล็ก ๆ หนาแน่นตรงกลางและกระจายห่างออกไป เห็ดลูกฝุ่นมีขนาด 2 – 3 เซนติเมตร และสูงจากพื้นดินประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร มีฐานรองรับเป็นโคนใหญ่ ซึ่งเรียวเล็ก กว่าตอนบนเล็กน้อย ผิวด้านบนนูนและแตกออกเป็นรู เพื่อให้ผงสีน้ำตาลอมเขียวหม่น ฟุ้งกระจายออกมาเมื่อเห็ดแก่ การฟุ้งกระจายของผงดังกล่าวนี้มองดูคล้ายควันไฟหรือ ควันบุหรี่ ผงสีน้ำตาลก็คือผงสปอร์ที่บรรจุอยู่ภายในดอกเห็ด
แหล่งที่พบ พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ตามไร่ นา อยู่รวมกันเป็นกลุ่มกระจายกันอยู่บนสนามหญ้าที่มีหญ้าสั้น ๆ ดินเป็นดินทรายมีอินทรีย์วัตถุบ้างเล็กน้อยและไม่มีน้ำขัง โรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบได้บริเวณสนามฟุตบอล สวนป่าสะเดาของโรงเรียนซึ่งมีให้เห็นทุกปี
ฤดูที่พบ เห็ดลูกฝุ่นพบมากในฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม จะพบเห็ดชนิดนี้หลังจากฝนตกแล้วมีอากาศร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดลูกฝุ่นระยะที่เป็นเห็ดอ่อนซึ่งยังมีเนื้อในเป็นสีขาวอยู่ สามารถนำมารับประทานได้ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 102 ) จากการสำรวจในอำเภอเนินสง่าชาวบ้านไม่บริโภคเห็ดชนิดนี้เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นเห็ดพิษ ตามธรรมชาติเห็ดลูกฝุ่นช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เห็ดหูหนูบาง

เห็ดหูหนูบาง



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

ลักษณะทั่วไป เห็ดหูหนูบางหรือเห็ดหูหนูเสวยเป็นเห็ดหูหนูชนิดที่บางที่สุด เป็นแผ่นวุ้นสีครีมอมชมพูหรือสีน้ำตาลอ่อนอมเหลืองแห้งแล้วบางใสโปร่งแสง ดอกเห็ดกว้าง 3 – 6 เซนติเมตร ยาว 5 – 6 เซนติเมตร หนา 0.5 มิลลิเมตร โคนจีบเล็กน้อยทำให้ดอกงอคล้ายหู ผิวด้านบนมีขนสั้นมาก กระจายบาง ๆ ผิวด้านล่างเรียบ
สปอร์ รูปไส้กรอกใส ไม่มีสี ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 12-14 x 4-5 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 114 )
แหล่งที่พบ พบได้ทั่วไปในอำเภอเนินสง่า ตามไร่ นา และป่าสงวนโคกใหญ่ชอบขึ้นกับไม้เนื้ออ่อนที่มีเปลือกหนาบนกิ่งที่ตายแล้ว เช่น สะเดา เสลา โมก ไม้ฟืนที่ชาวบ้านตัดมาจากต้นที่เคยมีเห็ดเมื่อนำมากองไว้ ฝนตกเปียกมีความชื้นจะมีเห็ดให้เห็น ในโรงเรียนเนินสง่าวิทยาพบเห็ดหูหนูบางขึ้นกับต้นสะเดา ต้นโมก
ฤดูที่พบ เห็ดหูหนูบางพบได้ในฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กันยายน ช่วงที่มีมรสุมพายุฝนเข้าฝนตกติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดสภาพอากาศชื้นจะพบเห็ดหูหนูงอกขึ้นและโตอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 3 วัน เมื่อสภาพอากาศหมดความชื้นดอกเห็ดจะเหี่ยวและแห้งตาย เมื่อมีความชื้นสูงเห็ดจะงอกขึ้นมาใหม่
ประโยชน์ เห็ดหูหนูบางเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เห็ดชนิดนี้สังเกตได้ง่ายเป็นแผ่นวุ้นสีครีมอมชมพู จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านอำเภอเนินสง่า ยังไม่นิยมบริโภคเนื่องจากเห็ดที่พบมีปริมาณไม่มาก เห็ดหูหนูบางยังช่วยย่อยสลายกิ่งไม้ ต้นไม้ที่ตายแล้วให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เห็ดหูหนูนา

เห็ดหูหนูนา


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด


เห็ดหูหนูมีมากมายหลายชนิด ทั้งที่พบตามธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพชื่อเรียกของเห็ดแตกต่างกันไปตามลักษณะของดอกเห็ด เช่น เห็ดหูหนูจีน เห็ดหูหนูรังผึ้ง เห็ดหูหนูช้าง เห็ดหูหนูนา เห็ดหูหนูบาง
ลักษณะทั่วไป เห็ดหูหนูนาหรือเห็ดหูลัวะ เป็นเห็ดหูหนูที่มีเนื้อบางชนิดหนึ่งมีสี น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมเหลือง เนื้อเห็ดเป็นแผ่นวุ้น โคนดอกเห็ดจีบเล็กน้อยทำให้มีรูปโค้งคล้ายหู เวลาแห้งไม่โปร่งแสงดอกเห็ดกว้าง 4 – 10 เซนติเมตร ยาว 4 – 12 เซนติเมตร หนาเพียง 1 มิลลิเมตร ด้านล่างเรียบ ด้านบนมีขนแต่สั้นกว่าเห็ดหูหนูช้าง ซึ่งเป็นข้อแตกต่างของเห็ดทั้งสองชนิด
สปอร์ รูปไส้กรอกใส ไม่มีสี ผิวเรียบ ผนังบาง ขนาด 12-15 x 5-6 ไมโครเมตร ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 113 )
แหล่งที่พบ เห็ดหูหนูนาขึ้นตามขอนไม้หรือกิ่งไม้ยืนต้นที่ตาย ในบริเวณที่มีอากาศร้อนและชื้นแฉะ พบได้ทั่วไปในพื้นที่อำเภอเนินสง่า ตามไร่ นา และป่าสงวนโคกใหญ่บริเวณที่มีเห็ดขึ้นเมื่อถึงฤดูฝนจะมีให้เห็นทุกปี ชอบขึ้นตามกิ่งตายไม้เนื้ออ่อนที่มีเปลือกหนาเนื่องจากจะดูดซับความชื้นได้ดี เช่น สะเดา ในบริเวณโรงเรียนที่พบทุกปีได้แก่ต้นไม้เสลา อินทนิล สะเดา และมีการทดลองเพาะเลี้ยงที่โรงเพาะเห็ดของโรงเรียน
ฤดูที่พบ เห็ดหูหนูนาพบได้ในฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กันยายน ช่วงที่มีมรสุมพายุฝนเข้าฝนตกติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดสภาพอากาศชื้นจะพบเห็ดหูหนูงอกขึ้นและโตอย่างรวดเร็วภายใน 1 -–3 วัน เมื่อสภาพอากาศหมดความชื้นดอกเห็ดจะเหี่ยวและแห้งตายเมื่อมีความชื้นสูงเห็ดจะงอกขึ้นมาใหม่
ประโยชน์ เป็นเห็ดที่รับประทานได้ ประกอบอาหารได้หลายชนิดสามารถทำเป็นเห็ดแห้งเก็บไว้นาน ๆ ได้ ตามธรรมชาติเห็ดหูหนูช่วยย่อยสลายกิ่งไม้
ท่อนไม้ที่ตายแล้วให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก

เห็ดแครง


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก เป็นเห็ดขนาดเล็กซึ่งเกิดชุกชุมตามขอนไม้ ผุหรือบนลำต้นไม้ที่ตายแล้ว บนท่อนอ้อย ท่อนมันสำปะหลังที่ทิ้งอยู่ในไร่ ตามรั้วบ้านที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ตามท่อนไม้ไผ่ที่ผุเปื่อยหรือตายแล้ว
ลักษณะทั่วไป หมวกเห็ดกว้าง 1 – 3 เซนติเมตร รูปพัด ไม่มีก้าน ดอก ออกดอกข้างท่อนไม้ ด้านบนสีเทาอ่อนหรือขาวหม่น มีขนอ่อนสีเดียวกันปกคลุมบาง ๆ ด้านล่างมีสันนูนคล้ายครีบซึ่งปลายแยกออกเป็นแฉกไปยังขอบดอก หมวกเห็ดสีน้ำตาลหรือเทาปนน้ำตาล
สปอร์ ขนาด 3-5 x 1-1.3 ไมโครเมตร รูปยาวรี สีขาว ผิวเรียบ ผนังบาง ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 25 )
แหล่งที่พบ เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก พบได้ทั่วไปในท้องถิ่น อำเภอเนินสง่า ชอบขึ้นตามกิ่งไม้ ท่อนไม้เนื้ออ่อนที่ตายแล้วเช่น มะม่วง แค ไม้ไผ่ ไม้กระถิน ซึ่งเห็ดแครงสามารถพบได้ตามไร่ นา
ฤดูที่พบ เห็ดชนิดนี้สามารถพบได้จำนวนมากในฤดูฝน เดือน พฤษภาคม – กันยายน นับว่าเป็นเห็ดที่ขึ้นง่ายและขึ้นอยู่ทั่วไป หลังหมดฤดูฝนแล้วยัง
แห้งติดอยู่กับกิ่งไม้ ท่อนไม้ไปอีกระยะหนึ่ง
ประโยชน์ เห็ดตีนตุ๊กแกเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่นำมารับประทานได้ เห็ดชนิดนี้ทางภาคใต้เรียกว่า “เห็ดแครง” คนส่วนมากนิยมนำไปทอดกับไข่ หรือนำไปแกงคั่วกับเนื้อสัตว์โดยใช้เห็ดที่เกิดใหม่ ๆ เพราะยังสดอยู่ มีลักษณะอ่อนนุ่มไม่เหนียวและแข็งเกินไป ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 25 ) ในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่าจากการสำรวจพบว่าไม่มีผู้บริโภคเห็ดชนิดนี้ ตามธรรมชาติเห็ดแครงช่วยย่อยสลายกิ่งไม้ ท่อนไม้ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เห็ดนางรม


ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดนางรม

วงจรชีวิตของเห็ดนางรม เห็ดนางรมตามธรรมชาติขยายพันธุ์ด้วย สปอร์ เมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่จะปล่อยสปอร์ล่องลอยไปตามลมตกบนกิ่งไม้ ท่อนไม้พอถึงฤดูชุ่มชื้นสปอร์จะงอกเป็นเส้นใยเจริญไปบนอาหารเส้นใยรวมตัวกันสร้างดอกเห็ดขึ้น เมื่อโตเต็มที่จะปล่อยสปอร์ลอยไปตามลมหมุนเวียนเช่นนี้ตลอดไป
เห็ดนางรมมีน้ำย่อยที่ใช้ย่อยสารประกอบเชิงซ้อน จำพวกเซลลูโลสและ ลิกนินได้เป็นอย่างดี ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 21 )
ลักษณะทั่วไป เห็ดนางรมมีหมวกเห็ดคล้ายหอยนางรม ดอกเห็ดมีสี ขาวอมเทา ก้านดอกจะเป็นเนื้อเดียวกันกับหมวก ลักษณะของหมวกดอกเห็ดจะเว้าตรงกลาง ผิวด้านบนโค้งเรียบ อ่อนนุ่ม ขอบดอกจะห้อยย้อยลงมาด้านล่าง เมื่อโตเต็มที่ด้านหลังดอกจะมีลักษณะเป็นครีบ อาจจะเกิดเป็นดอกเดียวหรือเป็นกระจุกก็ได้ เมื่อโตเต็มที่ปกติจะกว้างประมาณ 3 – 6 เซนติเมตร
สปอร์มีลักษณะรูปไข่ ไม่มีสีแต่เมื่ออยู่รวมกันมองเป็นกระจุกสีขาว ขนาดประมาณ 5 x 10 ไมครอน ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล 2542 : 22 )
แหล่งที่พบ เนื่องจากเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยง อำเภอเนินสง่า
มีโรงเพาะเห็ดนางรม 1 ราย จำนวนก้อนเห็ดประมาณ 3,000 ก้อน ที่ตำบลหนองฉิมและโรงเพาะเห็ดโรงเรียนเนินสง่าวิทยา ตามธรรมชาติสามารถพบเห็ดนางรมได้ทั่วไป
ตามไร่ นา ในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า ชาวบ้านเรียกว่าเห็ดมะม่วง เนื่องจากชอบขึ้นกับ
ขอนมะม่วง ตอมะม่วง ที่อยู่กลางแจ้งหรือที่ร่ม รำไร เป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้าน
แต่ดอกเห็ดจะเล็กกว่าเห็ดที่เกิดจากการเพาะ
ฤดูที่พบ เห็ดนางรม สามารถเพาะให้เกิดดอกได้ตลอดปี โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีความชื้นที่พอเหมาะ วัสดุเพาะมีคุณภาพ อากาศไม่หนาวเกินไปเนื่องจากเป็นเห็ดเมืองร้อน ตามธรรมชาติเห็ดมะม่วง ซึ่งเป็นเห็ดประเภท เดียวกันกับเห็ดนางรม จะพบในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม อากาศมีความชื้นสูง
และร้อนอบอ้าว
ประโยชน์ เห็ดนางรมเป็นเห็ดที่เพาะง่าย ราคาขายไม่แพงเกินไป เป็นที่นิยมบริโภค เกษตรกรจำนวนมากเพาะเป็นอาชีพ ด้านคุณค่าทางอาหารเป็นเห็ดที่มีไขมันต่ำบริโภคแล้วไม่อ้วน ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายต้นไม้ กิ่งไม้ที่ตายแล้วให้ เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน

เห็ดที่พบในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ

เห็ด ( Mushrooms )

การสำรวจเห็ดที่พบในท้องถิ่นอำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ ผู้เขียนและนักเรียนที่เรียน
วิชาการผลิตเชื้อเห็ด การเพาะเห็ดด้วยวัสดุผสม ได้ทำการสำรวจเก็บตัวอย่างเห็ดพร้อมกับบันทึกภาพตัวอย่างเห็ดในปีการศึกษา 2545 – ปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ รู้จักเห็ดชนิดต่าง ๆ มีทั้งกินได้ เห็ดมีพิษ เห็ดสมุนไพร ผู้เขียนได้นำตัวอย่างเห็ดที่เก็บมาจำแนก เปรียบเทียบ กับตัวอย่างเห็ดในหนังสือหลายเล่มเพื่อป้องกันชื่อผิดพลาด พื้นที่ทำการสำรวจ
1. ทุ่งนาตำบลตาเนิน ตำบลหนองฉิม ตำบลรังงาม ลักษณะเป็นพื้นที่
ราบลุ่มระหว่างโคก ( โคกหมายถึงที่ดอน ) ของแต่ละหมู่บ้าน ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีไม้ยืนต้นกระจายกันอยู่ตามแปลงนา
2. ป่าสงวนโคกใหญ่ ลักษณะเป็นที่ดอนเชิงเขาเตี้ย ๆ ดินเป็นดินทราย
ดินลูกรัง หินทราย และดินร่วนปะปนกันไป ป่าไม้เป็นไม้ผลัดใบประกอบด้วย ไม้ แดง มะค่า เต็ง รัง ตะแบก ต้นเพ็คและไม้อื่น ๆ หลากหลายชนิด ฤดูแล้งแห้งแล้ง
3. โรงเรียนเนินสง่าวิทยา เป็นที่ราบสูงพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ ดินเป็น
ดินทราย มีไม้ป่ายืนต้นขึ้นหลากหลายชนิดเช่น ประดู่ มะค่าแต้ ไม้แดง แปลงไม้ปลูกมีสวนป่าสะเดา สวนป่ามะม่วงหิมพานต์
เห็ด ( Mushrooms ) เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่ง ในปัจจุบันเห็ดจัดจำแนกไว้
ในอาณาจักรรา ( Kingdom Fungi หรือ Eumycota ) แตกต่างจากการจัดจำแนกในอดีตที่จัดเห็ดรา เป็นพืชชั้นต่ำที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ ( Chlorophyll ) เหมือนอย่างพืชจึงไม่สามารถใช้แสงแดดมาสังเคราะห์อาหารได้อย่างพืช ราได้รับอาหารจากการดูดซึมอาหารที่ย่อยสลายแล้วด้วยเอนไซม์ เห็ดเป็นราขนาดใหญ่ซึ่งมีการเจริญเติบโตเป็นเส้นใย เมื่อถึงระยะที่จะสืบพันธุ์เส้นใยจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนดอกเห็ด เพื่อสร้างสปอร์ไว้กระจายพันธุ์ต่อไป ดอกเห็ดมีรูปร่างสวยงามแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด เช่น บางชนิด
มีรูปร่างเหมือนร่มกาง บางชนิดมีรูปร่างเหมือนต้นปะการัง บางชนิดมีรูปร่างเหมือนรังนก ดอกเห็ดมีขนาดเล็กตั้งแต่เท่าหัวไม้ขีดไฟ จนถึงขนาดใหญ่เท่าลูกฟุตบอล สี ดอกเห็ดมีทั้งสีสดสวยสะดุดตาและสีกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม บางชนิดมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน แต่บางชนิดมีกลิ่นเหม็นทำให้เวียนศีรษะได้ แหล่งกำเนิดของเห็ดแต่ละชนิดแตกต่างกันไป บางชนิดเกิดในป่าบนภูเขา บนพื้นดิน ในทุ่งนา บนตอไม้ บนพื้นดินที่มีจอมปลวก บนพืชหรือบนเห็ดด้วยกัน เห็ดบางชนิดรับประทานได้ บางชนิดเป็นเห็ดพิษ ถ้าเก็บมารับประทานทำให้เสียชีวิตได้ เพราะพิษของเห็ดเข้าไปในระบบเลือดซึ่งกระจายไปทั่วร่างกาย ไม่ตกค้างในกระเพาะ แต่เห็ดมีพิษบางชนิด ทำให้มึนเมาและอาเจียน ซึ่งมีวิธีแก้ไขโดยทำให้อาเจียนอย่างเร็วทำให้ไม่ถึงกับเสียชีวิต เห็ดบางชนิดมีสารเคมีไปบังคับประสาท ทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพ
หลอนเรียกเห็ดจำพวกนี้ว่าเห็ดโอสถลวงจิต รับประทานแต่น้อยหรือเคี้ยวอมไว้ในปากใช้ในทางไสยศาสตร์ชาวพื้นเมืองเม็กซิโก ส่วนมากเป็นเห็ดในสกุล Psilocybe ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 2) บางชนิดใช้เป็นยาสมุนไพร เช่น เห็ดจิก ซึ่งมีสรรพคุณ ในทางขับถ่ายพยาธิตัวตืดในคน บางชนิดเป็นปรสิตของพืช ทำให้รากของพืชผุเปื่อย จนตาย เห็ดที่มีเนื้อแห้งแข็งเหมือนไม้ หรือเหนียวคล้ายหนังไม่มีผู้นิยมนำมารับ
ประทาน แต่บางชนิดที่มีเนื้ออ่อนหรือกรอบน่ารับประทานจัดเป็นอาหารจำพวกผัก กล่าวกันว่าเห็ดมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่าผัก เพราะดอกเห็ดสดมีน้ำอยู่มากถึง 90 % นอกจากนี้มีโปรตีน ไขมัน เกลือแร่ วิตามินซึ่งมีวิตามินบี 1 และบี 2 มากกว่าวิตามินอื่น ๆ ยกเว้นเห็ดที่มีสีเหลืองมีวิตามินเอมาก เห็ดจัดเป็นอาหารที่ย่อยยากประเภทหนึ่ง ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ไม่ควรรับประทานเห็ดมากเกินไป ควรเลือกเห็ดที่ช่วยชูชาติรสอาหารซึ่งใช้แต่น้อยก็เพียงพอเช่นเห็ดหอม แต่เห็ดบางชนิดมีรสหวานอร่อยมากเช่นเห็ดโคน คนส่วนมากรับประทานแทนผักโดยไม่ได้คำนึงถึงการย่อยยากของเห็ด ผู้ที่ดื่มเหล้าหรือของมึนเมาด้วยแล้วเห็ดยิ่งย่อยยากมากขึ้น เพราะแอลกอฮอล์ทำให้สารอัลบูมินในเห็ดแข็งตัวมากขึ้น
เห็ดทั่ว ๆ ไปชอบขึ้นบนอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อยผุพัง เช่น ตามพื้นดิน
ในป่าที่มีใบไม้ผุเปื่อยตกหล่นอยู่ ตามกองปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือทุ่งนาที่มีหญ้าผุเปื่อย ยกเว้นบางชนิดที่ขึ้นเฉพาะแห่งและต้องมีอาหารพิเศษด้วย เช่น เห็ดโคน ซึ่งขึ้นเฉพาะที่มีรังปลวกอยู่ใต้ดินเท่านั้น เห็ดบางชนิดเจริญร่วมกับรากของพืชแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันโดยเห็ดสามารถช่วยเพิ่มการดูดธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ให้แก่พืช เห็ดส่วนมากนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารที่สังเคราะห์ขึ้นได้ ยกเว้นเห็ดโคนเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเห็ดต้องมีอาหารพิเศษจากปลวก หรืออาจเป็นเพราะเรายังไม่ทราบสูตรอาหารหรือสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของเห็ดชนิดนี้ การศึกษาเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นเห็ดที่อร่อยมาก ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดอื่น ๆ ได้แก่ เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดหอม ซึ่งได้ขยายกิจการอย่างกว้างขวางเห็ดจึงมีทั้งประโยชน์และโทษ เห็ดที่ให้ประโยชน์ได้แก่เห็ดที่นำมารับประทานได้ในรูปของอาหาร สมุนไพรและช่วยการเจริญเติบโตของพืช เห็ดที่ให้โทษได้แก่เห็ดจำพวกมีพิษ ทำลายพืชอาศัยเนื้อไม้ ยังมีรากลุ่มอื่น ๆ อีกที่เจริญเป็นดอกคล้ายดอกเห็ด มองเห็นได้ด้วยตา
เปล่าชัดเจนแบบเห็ด เช่น จำพวกราเมือก ( Slmie molds ) ซึ่งมีโครงสร้างของดอกแตกต่างไปจากโครงสร้างของเห็ด ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 2 )
สภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทยเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดมาก โดยเฉพาะในฤดูฝนจึงมีเห็ดชุกชุมตามภาคต่าง ๆ เห็ดบางชนิดมีกลิ่นหอมและรสหวานไม่แพ้เห็ดฟางหรือเห็ดโคน เช่น เห็ดหอม เห็ดจั่น จึงมีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าการเพาะเห็ดรสดีชนิดอื่น ๆ กันมากขึ้นรวมทั้งการเสาะแสวงหาเห็ดที่จะนำมาใช้ในทางการแพทย์

การทดสอบเห็ดกินได้หรือกินไม่ได้
วิธีสังเกตเห็ดที่มีพิษ
1. มีสีฉูดฉาด เช่นสีแดง ส้ม ดำ
2. มีกลิ่นฉุน กลิ่นเหม็น
3. ลักษณะดอกเห็ดรูปทรงบิด ตัด มีแผ่นหรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ดให้สงสัยว่ามีพิษ
4. มีวงแหวนที่ก้านดอกเห็ด วงแหวนที่ก้านดอกเป็นสัญญาณอันตราย โดย
เฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นวงแหวนที่มีสีเทาและมีขนปุกปุยอย่ากินเป็นอันขาด
วิธีทดสอบเห็ดมีพิษ
1. ต้มเห็ดกับข้าวสาร ถ้าได้ข้าวสารสุกๆ ดิบๆ แสดงว่าเป็นเห็ดพิษกินไม่ได้
2. ต้มเห็ดใส่หัวหอมถ้าหัวหอมมีสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดพิษ
3. ต้มเห็ด คนด้วยช้อนเงิน ถ้าช้อนเงินเป็นสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดพิษ
4. เห็ดมีรอยแมลงกัดกินแสดงว่าเป็นเห็ดกินได้
5. ใช้ปูนกินหมากป้ายหมวกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะมีสีดำ
6. เห็ดที่เกิดขึ้นผิดฤดูส่วนมากเป็นเห็ดมีพิษ
อาการพิษของเห็ดแบ่งได้ 2 ระบบ
1. ระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายท้อง ซึ่งถ้าถ่ายมาก ๆ จะอ่อนเพลีย ช็อคเนื่องจากขาดน้ำ
2. ระบบประสาท มีอาการซึมหรือเพ้อคลั่ง เอะอะ อาละวาด ชัก เกร็ง หมดสติ ส่วนมากจะตายเพราะพิษของเห็ดกดระบบสมอง ประสาททำให้การหายใจการหมุนเวียนของเลือดล้มเหลว




สภาพป่าธรรมชาติของอำเภอเนินสง่าที่มีเห็ดขึ้นชุกชุมทุกปี
ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดเป๋าฮื้อ

เห็ดเป๋าฮื้อ



ภาพ : อนันท์ กล้ารอด

เห็ดเป๋าฮื้อจัดเป็นเห็ดนางรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผู้นำเชื้อมาจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะในประเทศไต้หวันมีการเพาะเลี้ยงกันมาก และจำหน่ายสดแล้วนำไปแปรรูปเป็นอาหารกระป๋องเห็ดชนิดนี้เมื่อต้มสุกแล้ว จะมีเนื้อเหนียวนุ่มคล้ายหอยโข่งทะเลหรือเป๋าฮื้อ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 22 )
ลักษณะทั่วไป เห็ดเป๋าฮื้อจะขึ้นเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 – 5 ดอก มีหมวก
เห็ดรูปร่างคล้ายพัด ขนาดใหญ่และหนากว่าเห็ดนางรมมาก หมวกเห็ดยาว 3 – 8 เซนติเมตร กว้าง 2 – 5 เซนติเมตร ก้านดอกอยู่ติดขอบหมวกด้านใดด้านหนึ่ง ผิวหมวกเรียบสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลดำ มีรูปร่างคล้ายพัด กลางหมวกเว้าตื้น บางดอก จะมีขนละเอียดแบบกำมะหยี่สีน้ำตาลดำ ซึ่งจะหลุดหายไปเมื่อเป็นดอกแก่ ด้านล่างมีครีบสีขาวนวลเรียวยาวลงไปติดก้าน และมีผนังเชื่อมติดกันบางแห่ง ก้านดอกสีขาวหม่นหรือสีน้ำตาลอมเทายาว 4 – 6 เซนติเมตร เห็ดชนิดนี้เมื่อนำมาเลี้ยงบนอาหารวุ้น นักเรียนสามารถสังเกตความแตกต่างจากเห็ดชนิดอื่นได้ง่าย โดยดูจากสปอร์จะรวมกัน เป็นกลุ่ม ๆ คล้ายหยดน้ำหมึกบนปลายเส้นใยเห็ด
สปอร์รูปวงรีสีขาวขนาด 4.5 x 10-13 ไมโครเมตร ผิวเรียบ ผนังบาง
เห็ดชนิดนี้ในภาวะที่อยู่บนอาหารวุ้นจะสร้างสปอร์อีกชนิดหนึ่งมีขนาด 5-6 x 14-15 ไมโครเมตร เกิดเป็นกลุ่มสีดำ ( อนงค์ จันทร์ศรีกุล. 2542 : 23 )
แหล่งที่พบ ในอำเภอเนินสง่าจากการสำรวจไม่พบว่ามีเกษตรกรรายใด เพาะเห็ดชนิดนี้เนื่องจากเพาะยากกว่าเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า มีเพาะเลี้ยงแห่งเดียวที่โรงเพาะเห็ดโรงเรียนเนินสง่าวิทยา ปัจจุบันนักเรียนสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดเป๋าฮื้อ เพื่อขยายพันธุ์เองได้ วัสดุที่ใช้เพาะเป็น ขี้เลื่อยไม้ยางพาราและกำลังทดลองใช้ฟางข้าว เพาะเห็ดเป๋าฮื้อ สูตรอาหารเพาะเห็ดใช้สูตรเดียวกับเห็ดนางรม
ฤดูที่พบ เห็ดเป๋าฮื้อสามารถเพาะให้เกิดดอกได้ตลอดปี โดยจัดสภาพ
แวดล้อมให้เหมาะสมมีความชื้นที่พอเหมาะ วัสดุเพาะมีคุณภาพ อากาศไม่หนาวเกินไปเนื่องจากเป็นเห็ดเมืองร้อน
ประโยชน์ เห็ดเป๋าฮื้อเป็นเห็ดที่มีดอกใหญ่เนื้อหนานุ่มเป็นที่นิยม บริโภคราคาแพงกว่าเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายต้นไม้ กิ่งไม้ที่ตายแล้ว ให้เป็นอินทรีย์วัตถุบำรุงดิน